Sunday, March 17, 2019

MY ECHO, MY SHADOW AND ME (2009, Wattanapume Laisuwanchai, documentary, 52min, A+30)


KRUNGKLUEA (2018, Natthanun Tiammek, 90min, A+30)
นิราศกรุงเกลือ

1.ชอบความหลอน ความ David Lynch ของหนังมากๆ ตอนแรกที่เห็นหนังมันเริ่มหลอนๆ เราจะนึกถึงหนังเรื่องอื่นๆของม.บูรพาที่มันมีความหลอนคล้ายๆกัน อย่างเช่น รำพัน (2016, Somchai Tidsanawoot), PUSSY’S THRONE (2016, Sukrit Wongsrikaew), PRAYOON (2016, Somchai Tidsanawoot) และ YANEE, THE GIRL WHO IS TRYING TO OVERCOME HER FEARS (2015, Anuwat Amnajkasem) ซึ่งหนัง 4 เรื่องนี้มันมีความการเมืองอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นตอนช่วงแรกๆที่เราดูนิราศกรุงเกลือ เราก็เลยนึกไปว่า หนังมันน่าจะการเมืองเหมือนๆกับหนัง 4 เรื่องนี้

2.แต่ดูไปดูมา แล้วเริ่มตีความมันในแง่การเมืองไม่ออก ก็เลยคิดว่าหนังมันอาจจะไม่การเมืองก็ได้ 555 บางทีมันอาจจะเป็นแค่หนังเกี่ยวกับผู้ชายโรคจิตคนนึง โดยที่หนังพยายามเจาะลึกสภาพจิตวิปริตของผู้ชายคนนี้ แบบเดียวกับหนังอย่าง SPIDER (2002, David Cronenberg) ที่เจาะลึกสภาพจิตของผู้ชายโรคจิตออกมาได้อย่างหลอกหลอนและทรงพลังเหมือนๆกัน

3.ชอบการตัดต่อของหนังมากๆ เพราะหนังเรื่องนี้มันมีเสน่ห์ที่การไม่เล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา แต่ตัดสลับระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และเรื่องจริงกับเรื่องในจินตนาการเข้าด้วยกัน เหมือนหนังมันประณีตมากเรื่องการเลือกว่าจะเอาซีนอะไรมาต่อกับซีนอะไร เวลาตัดสลับระหว่างอดีต-ปัจจุบัน, เรื่องจริง-จินตนาการ

4.การถ่ายภาพ การจัดแสงอะไรก็สวยงามมากๆ

5.แทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นผู้กำกับคนเดียวกับ “มองถาด: ผีแจ๊ะหัว” กับ สำนักสงฆ์จ่าบอย trilogy เพราะสไตล์มันไม่เหมือนกัน 555 คือเราว่ามองถาดกับสำนักสงฆ์จ่าบอย มันเป็นหนังที่มีเสน่ห์แบบหนัง cult ห่ามๆน่ะ เหมือนอยู่ในหนังตระกูล John Waters, Khavn de la Cruz, Bruce La Bruce, Seijun Suzuki แต่นิราศกรุงเกลือ มันออกมาดูแช่มช้อย ประณีต แบบ SPIDERS ของ David Cronenberg ก็เลยทึ่งมากๆที่ผู้กำกับคนเดียวกันสามารถทำหนังออกมาแตกต่างกันขนาดนี้ได้ และก็เป็นหนังที่เราชอบสุดๆทั้งสามเรื่อง

MY ECHO, MY SHADOW AND ME (2009, Wattanapume Laisuwanchai, documentary, 52min, A+30)

1.สุดๆ งดงามมากๆ หนังเล่าเรื่องของเด็กหญิงสองคน (กวางกับปอย) และเด็กชายหนึ่งคน (บอส) ในคลองเตย โดยที่เด็กทั้งสามคนไม่ปรากฏตัวในหนังเลย หนังเล่าเรื่องของกวางกับปอยผ่านทางเสียงสัมภาษณ์พูดคุยกับเด็กสองคนนี้ และภาพถ่ายที่ถ่ายโดยเด็กสองคนนี้ และหนังเล่าเรื่องของบอสผ่านทางเสียงสัมภาษณ์ครูเอิญที่สอนบอส และผ่านทางภาพที่ถ่ายโดยบอส เพราะตัวบอสได้ย้ายออกจากคลองเตยไปแล้ว และติดต่อไม่ได้แล้ว ก็เลยมาให้เสียงสัมภาษณ์โดยตรงไม่ได้

รู้สึกว่าสิ่งที่ทั้งสามคนเล่าในหนังเรื่องนี้มันทรงพลังและน่าสนใจมากๆ เราว่าหนังเลือก subjects ได้เก่งมาก และผู้สร้างหนังเก่งมากๆในการทำให้ subjects เปิดใจพูดคุยออกมา เราว่าการที่กวางกับปอยกล้าพูดคุยมากขนาดนี้ มันน่าจะเกิดจากการที่ทีมงานสร้างหนังหรือทีมงาน workshop ได้เข้าไปคลุกคลีกับ subjects นานในระดับนึง subjects ก็เลยกล้าเผยใจมากขนาดนี้ได้

คือเราว่ามันต้องอาศัยการทุ่มเทของทีมงานมากในระดับนึงน่ะ ในการเข้าไปคลุกคลีกับ subjects จนทำให้ subjects กล้าพูดคุย และมันต้องอาศัยทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์สูงมากๆด้วย ในการทำให้ subjects รู้สึกอยากคุยด้วย

ในแง่ของ “การคว้าจับหัวใจ จิตวิญญาณ หรือแก่นที่น่าสนใจของตัว subjects” ออกมาได้นั้น เราว่าหนังเรื่องนี้ทำได้ในระดับเดียวกับ MODERN LIFE (2008, Raymond Depardon) และ NUSANTARA: THE SEAS WILL SING AND THE WIND WILL CARRY US (2011-2018, Sherman Ong)  เลย

2.การนำเสนอภาพที่ถ่ายโดยเด็กสามคนนี้ก็ดีมากๆเลยด้วย มันเหมือนทำให้เราได้มองโลกผ่านสายตาของเด็กสามคนนี้ มองเห็นห้องนอนของเขา, บ้านของเขา, ย่านที่อยู่อาศัยของเขา, โรงเรียนของเขา

เราว่าการเลือกใช้ “ภาพ” แบบนี้ มันช่วยให้หนังเรื่องนี้โดดเด่น แตกต่างจากหนังสารคดีไทยเรื่องอื่นๆที่ใช้เทคนิค “เสียงสัมภาษณ์ + ภาพอื่นๆ” ด้วยแหละ คือในช่วงที่ผ่านมา มีหนังสารคดีไทยที่เราชอบสุดๆหลายเรื่อง ที่นำเสียงสัมภาษณ์ที่น่าสนใจมากๆ มาประกอบเข้ากับ “ภาพเคลื่อนไหวต่างๆ” ที่ไม่ใช่ talking head ของผู้ให้สัมภาษณ์ โดยหนังสารคดีที่เราชอบสุดๆเหล่านี้ก็มีอย่างเช่น นครอัศจรรย์ MIGHT (2011, Wachara Kanha) ที่นำเสียงสัมภาษณ์ทนายความคดีการเมือง มาผนวกเข้ากับภาพการก่อสร้างอาคารต่างๆ, ANONYMOUS IN BANGKOK (2016, Sineenat Kamakot) ที่นำเสียงสัมภาษณ์โสเภณี มาผนวกเข้ากับภาพกรุงเทพ โดยเฉพาะโรงแรมเก่าๆโทรมๆในกรุงเทพ (ถ้าจำไม่ผิด), หากเข้านัยน์ตาเราก็คงจะทำให้เสียน้ำตา (2018, Teeraphan Ngowjeenanan, 132min) ที่นำเสียงสัมภาษณ์คนต่างๆเรื่องการกดขี่ในสังคม มาผนวกเข้ากับภาพวิวนอกหน้าต่างร้านแห่งหนึ่งในสยามสแควร์

คือเราชอบหนังสารคดีเหล่านี้อย่างสุดๆ แต่ก็ยอมรับว่า ชอบเพราะ “เสียงสัมภาษณ์” เป็นหลักน่ะ คือเหมือนชอบเสียงสัมภาษณ์ในระดับ A+30 แต่ชอบ “การใช้ภาพประกอบ” แค่ในระดับ A+ ถึง A+15 เท่านั้น คือเหมือนหนังเหล่านี้ในบางครั้งมันเหมือนไม่รู้จะใช้ภาพอะไรมาประกอบกับเสียงสัมภาษณ์ดี ผู้กำกับก็เลยเลือกยากว่าควรใช้ภาพแบบไหน ซึ่งในกรณีของ “หากเข้านัยน์ตาเราก็คงจะทำให้เสียน้ำตา” นั้น ภาพประกอบมันทำได้แค่ในระดับดูเพลินๆ เท่านั้น ส่วนในกรณีของ ANONYMOUS IN BANGKOK นั้น ภาพประกอบที่เป็นห้องโรงแรมเก่าๆ ก็ทรงพลังในระดับนึง ส่วนหนังของวชร กัณหานั้น มีหนังหลายๆเรื่องที่นำเสียงสัมภาษณ์มาผนวกเข้ากับภาพเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ทรงพลังดี แต่ก็เหมือนการปะทะกันระหว่างภาพกับเสียงที่ไม่เกี่ยวข้องกันในหนังของวชร ยังขาดพลังอะไรสักอย่างที่จะผลักให้มันถึงขั้นสุดขีดมากๆได้

เราก็เลยชอบการใช้ภาพกับเสียงใน MY ECHO, MY SHADOW AND ME มาก เราว่ามันสอดรับกันดี คือถึงแม้เราจะชอบ “เสียงสัมภาษณ์” มากกว่าภาพในหนังเรื่องนี้ แต่ภาพถ่ายในหนังมันก็มีความสำคัญมากๆด้วย มันเหมือนกับว่าถ้าไม่ใช้ภาพถ่ายเหล่านี้ พลังของเสียงมันก็จะหายไปด้วยในระดับนึงน่ะ ซึ่งจะแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆที่เรายกตัวอย่างมาข้างต้น ที่เรารู้สึกว่า ถึงแม้เปลี่ยน “ภาพเคลื่อนไหว” ในหนังเรื่องนั้นๆไปเป็นภาพอื่นๆ พลังของเสียงสัมภาษณ์มันก็จะยังคงทรงพลังอยู่เหมือนเดิม คือเหมือนเสียงสัมภาษณ์ในหนังกลุ่มข้างต้น มันทรงพลังอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภาพเคลื่อนไหวนั้นๆอย่างจำเพาะเจาะจงน่ะ แต่เสียงสัมภาษณ์ใน MY ECHO, MY SHADOW AND ME มันเหมือนต้องพึ่งพาภาพที่จำเพาะเจาะจงในหนัง เพราะเสียงในหนังมันเป็นการพูดถึงภาพถ่ายนั้นๆ 555

แต่ถ้าหากพูดถึงหนัง ที่ใช้เสียงสัมภาษณ์ มาประกอบกับภาพที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แล้วก่อให้เกิดพลังที่รุนแรงระดับนิวเคลียร์นั้น เราก็คงต้องยกให้หนังเรื่อง A BRIEF HISTORY OF MEMORY (2010, Chulayarnnon Siriphol) ที่การผสมกันระหว่างภาพเคลื่อนไหวกับเสียงสัมภาษณ์ที่มันไปถึงจุดที่สุดๆจริงๆ

3.เรื่องของเด็กแต่ละคนก็น่าสนใจสุดๆ ทั้งการใช้ยาเสพติด, การเลี้ยงงู, การเกลียดคนที่เขยิบฐานะขึ้นไปได้, การถูกไล่ที่, ความผูกพันกับเพื่อนบ้านและถิ่นที่อยู่, การฝันอยากไปเที่ยวรอบโลก แต่รู้ตัวดีว่าในความเป็นจริงนั้น ขอแค่ทำงานเลี้ยงตัวเองได้ก็พอแล้ว, การด่าครู, การมีพ่อติดคุก

เราว่าเทคนิคการใช้เสียงสัมภาษณ์แบบนี้ มันเป็นวิธีการที่ work ด้วยแหละ มันเหมือนช่วยให้เด็กแต่ละคนถ่ายทอดชีวิตตัวเองออกมาได้เยอะดี โดยไม่ต้องพึ่งเรื่อง drama แรงๆ

คือถ้าจะเล่าเรื่องชีวิตเด็กในย่านแบบนี้ แล้วทำเป็นหนัง fiction หลายครั้งมันจะกลายเป็นว่า เราต้องใส่เรื่อง drama แรงๆเข้าไปในชีวิตเด็กในฉาก climax น่ะ แล้วมันจะทำให้กลายเป็นว่า ชีวิตเด็กที่ถูกนำเสนอในหนัง fiction แบบนี้มันจะกลายเป็นเรื่องแบบ “เด็กที่มีชีวิตหนักหนาสาหัสกว่าคนปกติ” แทนที่จะเป็นชีวิต “เด็กธรรมดาคนนึงในย่านนั้น” เพราะฉาก climax ในหนัง fiction มันทำให้ชีวิตเด็กในหนังมัน “ไม่ธรรมดา” ขึ้นมา

คือเรานึกถึงหนังแบบ HI TERESKA (2001, Robert Glinski, Poland) น่ะ ที่เป็นหนังที่เราชอบสุดๆ แต่พอหนังมันเป็น fiction มันก็เลยเหมือนกับว่าหนังนำเสนอ “ความเปลี่ยนแปลงของนางเอกจากเด็กสาวบริสุทธิ์มาเป็นคนกร้านโลก” มากกว่าจะนำเสนอ “ชีวิตรอบด้านของเด็กฐานะไม่ดีคนนึง”

และนึกถึงหนังเรื่อง MONDOMANILA (2010, Khavn, Philippines) ด้วยเช่นกัน คือใน MONDOMANILA นั้น ช่วง 30% แรกของหนังมันดีมากๆและน่าสนใจมากๆ เพราะมันเป็นการแนะนำตัวละครราว 10 ตัว ว่าแต่ละคนเป็นเด็กสลัมที่มีชีวิตยังไง มีปัญหาอะไร มีการหาทางหาความสุขใส่ตัวเองยังไง ซึ่งเราว่าช่วงแรกของหนัง มันทำหน้าที่คล้ายๆ MY ECHO ได้ดีมากๆ คือมันเล่าถึง “ชีวิตเด็กแต่ละคน ว่าเป็นใคร” แต่พอช่วงต่อๆมาของ MONDOMANILA มันก็ต้อง “เล่าเรื่อง” ต้องมีอะไร drama รุนแรง มันก็เลยทำให้หนังเปลี่ยนจากการพูดถึงว่า “ตัวละครเป็นใคร” มาเป็น “เกิดอะไรรุนแรงขึ้นบ้างในชีวิตตัวละครในเวลาต่อๆมา”

เราก็เลยชอบเทคนิคการนำเสนอใน MY ECHO, MY SHADOW AND ME มากๆ เพราะมันเป็นการนำเสนอว่า “เด็กคนนี้ เป็นใคร ใช้ชีวิตอย่างไร มองโลกอย่างไร” โดยที่ไม่ต้องใส่อะไร drama รุนแรงเข้ามาแบบหนัง fiction วิธีการแบบนี้มันช่วยถ่ายทอด “ชีวิตคนธรรมดา” ออกมาได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาเรื่องราวรุนแรง มันเหมือนเป็นการให้คนธรรมดาคนนึง มองไปรอบๆตัวเอง แล้วพูดถึงสิ่งธรรมดาต่างๆรอบตัวออกมา มันเหมือนเป็นการพูดว่า “ตัวละครเป็นยังไง” แทนที่จะเน้นพูดว่า “ตัวละครประสบความสำเร็จอะไรในชีวิตในท้ายที่สุด” มันเหมือนเป็นการให้ความสำคัญกับ “what the characters are” แทนที่จะให้ความสำคัญกับ “what success the characters achieve in life” แบบในหนัง fiction หลายๆเรื่องน่ะ

เราว่าในแง่นี้ MY ECHO, MY SHADOW AND ME สามารถเทียบได้กับหนังสารคดีพม่าเรื่อง LITTLE SONS (2016, Sai Whira Linn Khant, Yu Par Mo Mo, Nay Chi Myat Noe Wint, Myanmar, 24min)  ที่ถ่ายทอดชีวิตเด็กออกมาได้อย่างทรงพลังมากๆเหมือนกัน

4.ชอบเรื่องของบอสอย่างสุดๆ งดงามมากๆ ทรงพลังมากๆ และยอมรับเลยว่า ถ้าหากเราเป็นบอส เราก็คงตัดสินใจแบบบอส คือเราก็อยากเรียนสูงๆนะ แต่ถ้าหากต้องแลกด้วยการถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงขนาดนั้น เราก็ขอ “รักษาชีวิตรอด” ไว้ก่อนน่ะ คือจะเรียนสูงๆไปทำไม ถ้าหากต้องแลกด้วย “ความตาย” สู้มีชีวิตรอดไปก่อนดีกว่า เรื่องเรียนเอาไว้ทีหลัง

ดูแล้วนึกถึงตอนที่เราเคยทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในบาร์เกย์ด้วย ตอนนั้นได้รู้จักเพื่อนๆเด็กเสิร์ฟบางคนที่ไม่มีโอกาสเรียนสูงๆ แต่จากการพูดคุยกันแล้วรู้เลยว่า เพื่อนคนนั้นหัวดีกว่าเรา ฉลาดกว่าเรา

เรื่องของบอส ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง MUTE (2018, วรวุฒิ หลักชัย) ด้วย ที่นำเสนอเรื่องของเด็กที่น่าจะได้เรียนหนังสือ แต่ก็ไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนกัน เราชอบด้วยที่ทั้ง MUTE กับ MY ECHO นำเสนอเรื่องราวที่ใกล้เคียงกัน ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ MUTE นำเสนอออกมาในแบบ fiction เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา เศร้าเคล้าน้ำตา ซึ่งเราก็ชอบ MUTE มากๆในระดับ A+30 แต่ MY ECHO เล่าเรื่องผ่านทางเสียงสัมภาษณ์ของครู กับภาพที่บอสถ่าย คือเหมือนมันเป็นการเล่าเรื่องที่มีระยะห่าง ไม่มีการเร้าอารมณ์เศร้าซึ้งโดยตรง ผู้ชมไม่รู้เลยว่าบอสและครอบครัวของบอสหน้าตาเป็นยังไง แต่ผลที่ออกมามันกลับทรงพลังกว่า MUTE เสียอีก



No comments: