Monday, November 23, 2020

BASED ON MY MIND STORY (2020, Koraphat Cheeradit, 64min, A+30)

 

BASED ON MY MIND STORY (2020, Koraphat Cheeradit, 64min, A+30)

เมื่อเข็มนาฬิกาชี้เลขสิบสาม

 

1.กรี๊ดดดดดด งดงามมาก รู้สึกว่าผู้กำกับคนนี้ (ซึ่งเป็นเด็กมัธยม) มีพัฒนาการที่รวดเร็วมากๆ เมื่อปีที่แล้วเราได้ดูหนังของเขาเรื่อง DECISION (2019, 23min) ซึ่งเป็นหนังแอคชั่น คัลท์ๆ ที่เราชอบมากพอสมควร แต่ DECISION ก็มีส่วนคล้ายคลึงหนังของ เด็กมัธยมชายไทยหลายๆเรื่องที่เราเคยดูในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา ที่เด็กเหล่านี้มักจะเริ่มต้นด้วยการทำหนังแอคชั่น คัลท์ๆแบบนี้นี่แหละ (เหมือนหนังแนวนี้เรื่องแรกที่เราเคยดู น่าจะเป็น เป่าซิงฉือ โรงเตี๊ยมหายนะ (ตอนการแก้แค้นของ Jenova) (2003, ศิวพงษ์ บริบูรณ์นาคม, 15min) จากโรงเรียนนวมินทราชูทิศ บดินทรเดชา)

 

เพราะฉะนั้นเราก็เลยนึกว่า ถ้าหากผู้กำกับคนนี้จะพัฒนาต่อไปในแนวทางนี้ เขาก็อาจจะทำหนังแอคชั่น คัลท์ๆแนว Guy Ritchie, Quentin Tarantino หรือ Seijun Suzuki อะไรออกมา แต่ปรากฏว่าไม่ใช่เลย เพราะ BASED ON MY MIND STORY เหมือนเป็นหนังโรแมนติกแนว friend zone ที่แทบไม่เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา แต่เน้นจับบรรยากาศ ความเหงา และมีการเหลื่อมซ้อนกันระหว่างสิ่งที่ตัวละครพบเจอ กับบทภาพยนตร์ที่ตัวละครเขียน จนเราเองก็แยกไม่ออกว่าส่วนไหนเป็นส่วนไหน

 

2.รู้สึกว่าผู้กำกับเล่นท่ายาก แต่ทำออกมาได้สำเร็จ ราวกับเขาเป็นนักศึกษามหาลัยปี 4 แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากๆ โดยการเล่นท่ายากในที่นี้ก็คือ

 

2.1 การทำภาพยนตร์ที่ไม่เน้นการเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา คือหลายฉากในหนังเรื่องนี้เป็นฉากที่เหมือนเน้นบรรยากาศหรืออารมณ์ของตัวละครน่ะ คือเหมือนหนังทั่วๆไปมันจะเน้นบอกว่า ตัวละครทำอะไร+พูดอะไร และสิ่งนั้นนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงอะไร เหมือนหนังทั่วไปมันนำเสนอสิ่งที่เป็น รูปธรรมหรือ ของแข็ง(ยกตัวอย่างเช่น FRIEND ZONE ของ GDH) แต่หนังเรื่องนี้เน้นนำเสนอฉากตัวละครซึมกระทืออยู่คนเดียวไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากๆที่จะทำออกมาให้ไม่น่าเบื่อ หรือยากมากๆที่จะทำฉากเหล่านี้ให้ออกมาดูมีมนตร์เสน่ห์ คือเหมือนถ้าหากผู้กำกับไม่มี sense ที่ดีจริงๆ หรือไม่มีความสามารถด้านนี้จริงๆ เขาจะคิดบท+ถ่ายภาพฉากเหล่านี้ออกมาได้ไม่ดีน่ะ แต่เราว่าหนังเรื่องนี้ทำส่วนนี้ได้ดีมากๆ มันเหมือนหนังเรื่องนี้เน้นนำเสนออารมณ์ความรู้สึกบรรยากาศและห้วงภวังค์บางอย่างที่ยากจะถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดได้ หรือเหมือนกับว่าหนังเรื่องนี้เน้นนำเสนอ นามธรรมและ อากาศธาตุซึ่งเป็นสิ่งที่ยากกว่าการนำเสนอ รูปธรรมและ ของแข็งแบบหนังทั่วไป

 

2.2 การเล่าเรื่องแบบทับซ้อนกันไปมา ระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของตัวละคร กับบทภาพยนตร์ของตัวละคร ก็ถือเป็นการเล่นท่ายากด้วย แล้วช่วงท้ายของหนัง ก็เหมือนจะพลิกไปเป็นจินตนาการของตัวละคร และความเป็นไปได้ต่างๆในชีวิตของตัวละคร ซึ่งก็ถือเป็นการเล่นท่ายากด้วยเหมือนกัน

 

เราว่าช่วงที่เป็นการทับซ้อนกันระหว่าง ชีวิตจริงกับบทภาพยนตร์ ทำออกมาได้ดีมากนะ โดยเฉพาะช่วงที่เป็นการตัดต่อฉากรอบกองไฟที่เป็นภาพสี กับฉากในโรงอาหารที่เป็นภาพขาวดำ

 

2.3 ชอบ "จังหวะความคล้องจอง" ในหนังด้วย ที่เป็นฉากพระเอกเงยหน้าขึ้นมา (น่าจะเป็นหลังจากพระเอกฟุบหน้าลงไปบนโต๊ะ) เหมือนเราจะเห็นฉากแบบนี้ 3 ครั้งด้วยกัน เราว่าการซ้ำฉากแบบนี้ในจังหวะที่พอเหมาะ มันช่วยสร้างจังหวะคล้องจองในหนังได้ดี

 

2.4 เหมือนมีการใช้ symbol ในหนังด้วย ซึ่งก็คือ ถั่วงอก ที่เราก็ไม่แน่ใจว่ามันหมายถึงความรักหรืออะไร 555 แต่ก็รู้สึกว่า การใส่ฉากถั่วงอกเข้ามาในหนังเป็นระยะๆ มันเก๋ดี ดูแล้วนึกถึงหนังของ Alain Resnais อย่าง MY AMERICAN UNCLE (1980) ที่มีการใส่ฉากหนูทดลองเข้ามาเป็นระยะๆ และ LOVE UNTO DEATH (1984) ที่มีการใส่ฉาก plankton หรือตัวอะไรสักอย่างเข้ามาเป็นระยะๆ (ส่วนหนังอาร์ตในยุคปัจจุบันมักจะใส่แมงกะพรุนเข้ามาเป็นระยะๆ 555)

 

แต่ฉากตัวละครชายใส่แว่นพูดงงๆเกี่ยวกับถั่วงอกในห้องเรียน เราว่ามันดูจงใจไปหน่อยนะ เหมือนมันหลุดๆ ออกจากฉากอื่นๆของหนังนิดนึง

 

3.ถ้าไม่นับการแสดงและช่วงท้ายของหนัง เราว่าหนังเรื่องนี้เทียบชั้นกับหนัง thesis ของนักศึกษามหาลัยปี 4 ได้สบายเลย เราว่าช่วง 40 นาทีแรกของหนังนี่ทำให้นึกถึง

 

3.1 ความเหวอๆเฮี้ยนๆในหนังของม.บูรพา

 

3.2 หนัง romantic friend zone ของ ICT SILPAKORN

 

3.3 หนัง narrative ที่เน้นบรรยากาศของม.ธรรมศาสตร์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน อย่างเช่น STILL (2008, Wisarut Deelorm, 52min) และ THERE (2008, Rajjakorn Potito, 65min)

 

4. เราชอบการแสดงของนักแสดงนะ ถ้าหากเทียบกับหนังเด็กมัธยมด้วยกัน คือเราว่าการแสดงในหนังเรื่องนี้โอเคมากๆแล้วแหละ เพียงแต่ว่า ถ้าหากเทียบกับหนัง thesis ของนักศึกษาปี 4 ที่มักใช้ "นักแสดงมืออาชีพ" การแสดงในหนัง thesis ก็อาจจะดูทรงพลังกว่าหนังเรื่องนี้นิดนึง

 

5. เราว่าช่วงท้ายของหนังลักลั่นมากๆ ที่เป็นตัวละครยิงกัน เราว่าจุดนี้เป็นจุดที่ฟ้องให้เห็นอย่างเด่นชัดว่านี่คือหนังของเด็กมัธยม ไม่ใช่เด็กมหาลัย 555 เพราะเด็กมหาลัยที่เรียนฟิล์มส่วนใหญ่คงไม่คิดพล็อตอะไรแบบนี้ออกมา แต่อันนี้เราหมายถึงตัวเนื้อหาภายในแต่ละซีนนะ ส่วน "ความซับซ้อนทางการเล่าเรื่อง" ในส่วนนี้เป็นส่วนที่ทะเยอทะยานดีมากแล้ว

 

ดูแล้วแอบสงสัยว่า จริงๆแล้วตัวผู้กำกับอาจจะยังคงมีแรงขับดันภายในใจที่อยากสร้างหนังแอคชั่นแบบ DECISION อยู่หรือเปล่า เขาก็เลยพยายามยัดฉากยิงกันเข้ามาในหนังเรื่องนี้ด้วย มันก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ 555

 

แต่เราว่าส่วนนี้มันทำให้หนังดูลักลั่นนะ มันดูไม่ค่อยเข้ากับช่วง 40 นาทีก่อนหน้านั้น

 

แต่เรารู้สึกว่าความลักลั่นนี้อาจจะเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสียของหนังเรื่องนี้นะ เราว่าถ้าหากตัดช่วง 10-20 นาทีสุดท้ายทิ้งไป หนังเรื่องนี้ก็จะกลายเป็น “หนังดี” เหมือนหนัง thesis ของเด็กมหาลัยหลายๆเรื่อง แต่การมีความลักลั่นส่วนนี้อยู่ในหนัง มันทำให้หนังเรื่องนี้มีความแปลกและ unique ขึ้นมา

 

คือเรารู้สึกว่า ถ้าหากตัดความลักลั่นของการยิงกันในช่วงท้ายทิ้งไป หนังเรื่องนี้ก็อาจจะเหมือน “ผลิตภัณฑ์เซรามิก” ที่งดงามและไม่มีรอยตำหนิใดๆ แต่มันก็อาจจะมีผลิตภัณฑ์เซรามิกที่งดงามทัดเทียมกับชิ้นนี้อยู่อีกราว 10 ชิ้นในท้องตลาด แต่การมีความลักลั่นส่วนนี้อยู่ในหนัง มันเหมือนทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีรอยตำหนิ แล้วมันก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่ unique ไม่เหมือนกับของอื่นๆในท้องตลาด 555 มันอาจจะเป็นของที่มีตำหนิก็จริง แต่มันก็มีชิ้นเดียวในโลก แล้วเรารู้สึกเหมือนกับว่า หนังเรื่องนี้มันอาจจะบันทึกความสับสนความไม่แน่ใจของตัวผู้กำกับเอาไว้ ว่าอยากจะทำหนังแนวไหนดี หรือยังไม่รู้ว่าตัวเองถนัดทำหนังแนวไหนกันแน่ ก็เลยลองผสมทั้งหนังโรแมนติก+หนังบรรยากาศ+หนังเล่าเรื่องซับซ้อน+หนังแอคชั่นเข้าด้วยกันไปก่อน แล้วค่อยๆเรียนรู้จากประสบการณ์ไปเรื่อยๆเอง ว่าผสมกันแบบไหนแล้วถึงจะลงตัว

 

สรุปว่าเรารู้สึกสองจิตสองใจกับจุดนี้นั่นแหละ คือใจหนึ่งเราก็รู้สึกว่าช่วงท้ายของหนังมันไม่ลงตัว แต่อีกใจหนึ่งเราก็รู้สึกว่าความลักลั่นตรงส่วนนี้มันทำให้หนังเรื่องนี้ “มีจุดเด่นที่จำง่าย” และ “ไม่ซ้ำแบบใคร” 5555

 

6. ตกใจมากที่ใน ending credit มีชื่อนางเอกขึ้นมา 3 ชื่อ เพราะเราไม่ได้สังเกตเลยว่า นางเอกถูกเรียกด้วยชื่อที่แตกต่างกันไปในบางฉากของหนัง

 

7.สรุปว่าทึ่งมากๆกับผลงานของเด็กมัธยมเรื่องนี้ ไม่รู้ต่อไปเขาจะพัฒนาไปในแนวไหน หรือพัฒนาไปถึงขั้นไหน คาดเดาไม่ได้จริงๆ คือในแง่ skill และ form+style ของภาพยนตร์เราว่าน่าทึ่งมากแล้วล่ะ หลังจากนี้ก็คงต้องอาศัยการเพิ่มพูน “ประสบการณ์ชีวิต” มาช่วยในการพัฒนาหนังเรื่องต่อๆไปด้วย เพราะในการทำหนังโรแมนติก หรือหนังที่เน้นถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครนั้น บางทีมันคงต้องอาศัยประสบการณ์เจ็บปวดจากชีวิตจริง และการจับสังเกต moments ละเอียดอ่อนของมนุษย์ในชีวิตประจำวันและคนรอบข้าง มาเป็นวัตถุดิบที่ดีในการสร้างหนังด้วย แล้วหนังมันจะออกมาสะเทือนอารมณ์มากขึ้น (ซึ่งอันนี้จะแตกต่างจากหนังแอคชั่นและหนังคัลท์ ที่ผู้สร้างหนังแนวนี้อาจจะไม่ต้องจับสังเกตมนุษย์อย่างละเอียดอ่อนมากเท่าหนังโรแมนติก)

 

No comments: