STEP (2020, Ken Iizuka, Japan, A+30)
งดงามมากๆ หนังถ่ายทอดความยากลำบากของคุณพ่อที่ต้องเลี้ยงลูกสาวตัวเล็กๆตามลำพังได้อย่างละเอียดอ่อนและงดงาม
เหมือนเป็นหนังที่ไม่มีตัวละครคนไหนเป็น "คนเลว" เลย ทุกตัวละครพร้อมจะช่วยเหลือพระเอกตลอดเวลา ทั้งครู, เพื่อนร่วมงาน, ญาติพี่น้อง, สาวเสิร์ฟ แต่ชีวิตมนุษย์มันก็ยากลำบากอยู่ดี
หนังมีฉากท้ายเครดิตด้วยนะ
LITTLE NIGHTS, LITTLE LOVE (2019, Rikiya Imaizumi, Japan, A+25)
หนังสูตรสำเร็จมากๆๆๆๆ มากจนเราแอบขำหลายจุดตรงความสูตรสำเร็จของมัน
แต่ข้อดีอย่างนึงของหนังสูตรสำเร็จ หรือ "หนังที่พยายามเอาใจความอยากมีผัวของผู้ชม" ก็คือการประเคนความหล่อน่ารักของดาราให้แก่ผู้ชม และหนังเรื่องนี้ก็ตอบสนองความอยากมีผัวของผู้ชมได้ดีมากตรงจุดนี้ หนังมีทั้งเด็กมัธยมหนุ่มหล่อ, พนักงานออฟฟิศหนุ่มหล่อ และนักมวยหนุ่มหล่อ ดูแล้วก็ฉ่ำมากๆ
ขำกลุ่มผู้ชมที่นั่งแถวหลังเรา เราเดาว่าน่าจะเป็นแก๊งผู้หญิงญี่ปุ่น เพราะพวกเธอคุยกันเป็นภาษาที่เราฟังไม่ออก คือช่วงที่เป็นโฆษณาก่อนหนังเริ่มฉาย พวกเธอคุยกันเสียงดังพอสมควร เราก็แอบนึกในใจว่า "กูซวยแล้วที่ได้ที่นั่งใกล้พวกเธอ" แต่พอหนังเริ่มฉาย พวกเธอก็ไม่คุยกันเลย ยกเว้นแต่ฉากที่นักมวยหนุ่มหล่อล่ำปรากฏกายบนจอ ที่เราจะได้ยินเสียงพวกเธอครวญครางหงิงๆ ดังออกมา ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นเสียงที่เราอยากทำเมื่อเห็นนักมวยคนนี้เหมือนกัน 555
EARTH ANGELS เทวดาเดินดิน (1976, Prince Chatrichaloem Yukol, A+25)
1.เหมือนหนังมีปัญหาเรื่องทัศนคติบางอย่าง เพราะช่วงท้ายของหนัง มีฉากที่เหมือนกลุ่มนักศึกษามาประท้วงเข้าข้าง "กลุ่มอาชญากร" ที่เป็นตัวเอกของเรื่อง เราก็เลยไม่แน่ใจว่า ฉากนั้นมันสะท้อนอะไรกันแน่
2. หนังทำให้เราคิดถึงความแตกต่างกันของคนบางกลุ่มในยุคนั้น โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งก็คือ "กลุ่ม charles manson ที่ฆ่าคนบริสุทธิ์" กับ "กลุ่มฮิปปี้ที่รักอิสระเสรี" และเราคิดว่าหนังมันน่าสนใจดีที่กลุ่มตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้มันค่อนไปทางกลุ่ม Charles Manson เพราะกลุ่มตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้ฆ่าคนบริสุทธิ์โดยไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดทั้งสิ้น เหมือนพวกเขาทำเลวเพียงเพื่อความสนุกเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้ก็ทำทีเป็นรักอิสระเสรี ต่อต้านกฎเกณฑ์ของสังคมเหมือนกับกลุ่มฮิปปี้ด้วย
คือพอดูหนังเรื่องนี้แล้วเราก็เลยแอบสงสัยว่า หนังเรื่องนี้ต้องการต่อต้าน “วัยรุ่นที่รักอิสระเสรี” ในยุคนั้นหรือเปล่า และวิธีการต่อต้านก็คือการนำเสนอตัวละครกลุ่มฆาตกรใจโหดแบบกลุ่ม Charles Manson ที่มีลักษณะคล้ายฮิปปี้ด้วย ผู้ชมที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ก็จะรู้สึกหวาดกลัวและรู้สึกเลวร้ายกับวัยรุ่นที่รักอิสระเสรี ทั้งที่จริงๆแล้ว กลุ่มฮิปปี้กับกลุ่ม Charles Manson ไม่เหมือนกัน วัยรุ่นที่ต่อต้านกฎเกณฑ์ของสังคม แต่ไม่ได้ลุกขึ้นมาจี้ปล้นฆ่าคนบริสุทธิ์ ก็มีเยอะแยะมากมาย
แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อสงสัยของเราเท่านั้น เราก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆแล้วเจตนาของหนังเรื่องนี้เป็นอย่างไร คิดว่าผู้ชมแต่ละคนควรจะตัดสินใจเอาเองว่าเจตนาของหนังเรื่องนี้เป็นอย่างไร
3.เราไม่แน่ใจในเจตนาของหนัง เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในยุคนั้นด้วยแหละ เราเพิ่งมีอายุแค่ 3 ขวบเองในปี 1976 และเราก็ไม่รู้ว่าสภาพสังคมไทยในยุคนั้น เต็มไปด้วยปัญหาสังคม วัยรุ่นไล่ฆ่าคนบริสุทธิ์อะไรแบบนี้จริงหรือไม่ เราก็เลยไม่อยากมองหนังเรื่องนี้ในแง่ลบมากเกินไป แต่เพียงแค่แอบสงสัยเท่านั้น
แต่จริงๆแล้วหนังไทยยุคนั้นที่เป็นแนว feel bad ก็มีออกมาหลายเรื่องนะ และทำได้ดีสุดๆด้วย อย่างเช่น
3.1 ชีวิตบัดซบ (1977, เพิ่มพล เชยอรุณ)
3.2 เตือนใจ (1979, ดุลย์พิจิตร)
3.3 เหยื่อ (1987, ชนะ คราประยูร)
เราก็เลยเผื่อใจไว้ว่า บางที “เทวดาเดินดิน” อาจจะแค่ต้องการสะท้อนปัญหาสังคมในยุคนั้น แต่ไม่ได้ต้องการทำให้ผู้ชมรู้สึกเลวร้ายกับ “วัยรุ่นที่รักอิสระเสรี”
4.แต่ถ้าหากตัด “เจตนาที่น่าสงสัย” ของหนังออกไป เราก็ชอบหนังมากนะ เพราะตอนดูหนังเรื่องนี้เราจะรู้สึกหวาดกลัวกลุ่มตัวละครเอกของหนังอย่างรุนแรง เหมือนกับตอนที่เราดูหนังอย่าง A CLOCKWORK ORANGE (1971, Stanley Kubrick), MAN BITES DOG (1992, Rémy Belvaux, André Bonzel, Benoît Poelvoorde, Belgium) และ BAISE-MOI ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักไม่ค่อยรู้สึกกับหนังไทย
5.เสียดายที่หนังเรื่องนี้มีหนึ่งในตัวละครหลักเป็นเกย์ แต่เธอเป็นอาชญากร ดูแล้วก็นึกถึง DOG DAY AFTERNOON (1975, Sidney Lumet) ที่นำเสนอเกย์อาชญากรเหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่า DOG DAY AFTERNOON ไม่ใช่หนังที่เกลียดเกย์น่ะ ในขณะที่ EARTH ANGELS นี่เราไม่ค่อยแน่ใจ
ONE NIGHT (2019, Kazuya Shiraishi, Japan, A+25)
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ดูแล้วนึกถึงหนังสือรวมเรื่องสั้น “เต้นรำในวอดวาย” (2019, บริษฎ์ พงศ์วัชร์) มากๆ เพราะเรื่องสั้นหลายเรื่องใน “เต้นรำในวอดวาย” พูดถึงครอบครัวที่พ่อทำร้ายร่างกายภรรยาและลูกๆ ส่วนหนังเรื่องนี้ก็พูดถึงครอบครัวที่มีพ่อชอบทำร้ายทุบตีร่างกายภรรยาทื่ชื่อ Koharu กับลูกๆเหมือนกัน
หนังเรื่องนี้เริ่มเรื่องด้วยการที่ภรรยาทนให้สามีทุบตีทำร้ายลูกๆไม่ไหวอีกต่อไป เธอก็เลยตัดสินใจฆ่าสามีตาย และเธอก็บอกกับลูกๆว่า เธอจะไปมอบตัวกับตำรวจและเข้าคุก และจะกลับมาเจอกับลูกๆในอีก 15 ปีข้างหน้า
2.หนังแสดงให้เห็นว่า บาดแผลจากอดีตอันเลวร้ายส่งผลกระทบต่อตัวละครแต่ละตัวอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะตัวลูกๆที่ถึงแม้เวลาจะผ่านมานาน 15 ปีแล้ว พวกเขาก็ดูเหมือนจะยังคงบาดเจ็บกับแผลใจในอดีตอยู่ และลูกชาย 2 คนก็ดูเหมือนจะเกลียดชังแม่ของตนเองด้วย ถึงแม้ว่าแม่จะยอมเสียสละตนเองเพื่อปกป้องพวกเขาก็ตาม
3. Mariko Tsutsui จาก A GIRL MISSING (2019) ร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วย และบทของเธอหนักมากๆ เพราะในหนังเรื่องนี้เธอรับบทเป็นพนักงานสาวในอู่รถแท็กซี่ของครอบครัว Koharu เธอบอกว่าเธอประทับใจในความกล้าหาญของ Koharu มากๆที่กล้าลุกขึ้นมาฆ่าสามีของตัวเอง เธอก็เลยเอาแรงบันดาลใจจาก Koharu มาใช้ในชีวิตของตัวเองด้วย เพราะเธอเบื่อหน่ายกับการดูแลแม่ผัวที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มานานแล้ว การได้พบกับ Koharu ทำให้เธอเลยตัดสินใจใช้เวลาไปกับการมีเซ็กส์กับหนุ่มๆ แทนที่จะเอาเวลาไปดูแลแม่ผัว และปล่อยให้แม่ผัวจมน้ำตายในที่สุด
รู้สึกว่าปีนี้เป็นปีทองของ Mariko Tsutsui จริงๆ บทของเธอทั้งใน A GIRL MISSING และ ONE NIGHT นี่ไม่ทราบชีวิตจริงๆ
4.รู้สึกว่า Koharu หน้าคุ้นๆ แต่จำไม่ได้ว่าเธอคือใคร พอหนังจบแล้วมาเสิร์ชดูถึงพบว่า ดาราที่เล่นเป็น Koharu คือ Yuko Tanaka จาก “สงครามชีวิตโอชิน” (1983) นี่เอง ชอบการแสดงของเธอใน ONE NIGHT มากๆ คือเห็นแววตาของเธอในหนังเรื่องนี้แล้วไม่ประหลาดใจถ้ามีใครบอกว่า ผู้หญิงคนนี้เคยฆ่าคนมาก่อน
TORA-SAN, WISH YOU WERE HERE (2019, Yoji Yamada, Japan, A+30)
1.เคยดูโทร่า ซังราว 4-5 ภาคที่ Japan Foundation ซึ่งเราไม่อินเลย 555 แต่คิดว่าถ้าหากหนังชุดนี้มันสลับเพศ เปลี่ยนเป็นเล่าเรื่องของสาวอ้วนที่หลงรักชายหนุ่มหล่อตามจังหวัดต่างๆในญี่ปุ่นเป็นจำนวน 49 ภาค 49 ผัว เราก็คงจะชอบหนังชุดนี้อย่างสุดๆไปแล้ว
2.แน่นอนว่าชอบภาคนี้มากสุด เพราะชอบความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา ชอบที่ได้เห็นสังขารของนักแสดงเปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ONE SUMMER STORY (2020, Shuichi Okita, Japan, A+30)
Spoilers alert
--
--
--
--
--
1. เหมือนเป็นหนังญี่ปุ่นที่ล้อเลียนหนัง/ละครญี่ปุ่นแบบสูตรสำเร็จ ตั้งแต่ฉากแรกที่เป็นการล้อเลียน "ความซาบซึ้งของการ์ตูนญี่ปุ่น" ไปจนถึงฉาก"พระเอกวิ่ง" ในช่วงท้ายๆ
2.ชอบที่มันเหมือน set สถานการณ์ที่เอื้อต่อการเป็นหนัง thriller/horror แต่ปรากฏว่า "ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย" 555
คือพอดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกเหมือนตัวเองเป็น สิงห์สาวนักสืบ ที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้ไปจับตาดูสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง หลังจากมีคนแจ้งเบาะแสมาว่า ฆาตกรโรคจิตลึกลับกำลังวางแผนจะฆ่าคนในสวนนี้ เราก็เลยไปนั่งจ้องดูคนในสวน โดยนึกว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้นปรากฏว่า สิ่งที่ได้เจอ ก็คือหนุ่มสาวมาทำขวยเขินใส่กัน และครอบครัวมานั่งเล่นตบแผะกันไปเรื่อยๆ ไม่เจอฆาตกรโรคจิตแต่อย่างใด
ชอบหนังมากๆตรงจุดนี้นี่แหละ ตรงที่มันเอาสถานการณ์ที่เอื้อต่อการเป็น thriller/horror มาพลิกเป็นอะไรแบบนี้ได้
3. ดีใจสุดขีดที่ได้เห็น Yuki Saito จาก สิงห์สาวนักสืบ มาร่วมแสดงในหนังด้วยในบทแม่นางเอก
4.อยากได้พระเอกเป็นผัวอย่างรุนแรง เห็นพระเอกแล้วนึกถึงผู้ชายที่เราแอบชอบตอนเราอยู่ชั้นประถม 5
เทศกาลหนังญี่ปุ่นที่ HOUSE SAMYAN นี่นึกว่าเป็นเทศกาลรำลึกความหลังเมื่อครั้งที่เรายังเป็นสาววัยขบเผาะจริงๆ ดีใจสุดๆที่ได้เห็น
1. Tomokazu Miura ในบทตำรวจใกล้เกษียณใน AI AMOK (2020, Yu Irie, A+30) และบทตัวประกอบตัวนึงใน VOICES IN THE WIND (2020, Nobuhiro Suwa, A+30)
2. Yuki Saito สิงห์สาวนักสืบในหนังเรื่อง ONE SUMMER STORY
3. Yuko Tanaka นางเอกโอชิน ในหนังเรื่อง ONE NIGHT (2019, Kazuya Shiraishi, A+25)
4.เพลง YUME NO NAKA E (1989) ของ Yuki Saito ถูกใช้ประกอบหนังเรื่อง AI AMOK
รูปของ Tomokazu Miura ที่โด่งดังสุดๆสมัยเรายังเป็นเด็ก
No comments:
Post a Comment