Tuesday, November 24, 2020

SENSORY MEMORY (2020, Possathorn Watcharapanit, 165min, A+30)

 

SENSORY MEMORY (2020, Possathorn Watcharapanit, 165min, A+30)

 

1.เหมือนเป็นการเอา James Benning กับ Chantal Akerman มาผสมกัน 555 เพราะหนังเรื่องนี้เกือบทั้งเรื่องเป็นการตั้งกล้องนิ่งๆ ถ่ายสถานที่ 9 สถานที่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งส่งผลให้หนังทั้งเรื่องเหมือนมีแค่ 9 ซีน ซีนละ 15-20 นาที โดยกล้องมีการซูมออกซูมเข้าบ้างในแต่ละฉาก และมีการแพนกล้องเล็กน้อยในบางฉาก แต่แทบไม่มีการตัดภาพเลย และมีดนตรีประกอบใส่เข้ามาเพียงเล็กน้อยในช่วงท้ายของแต่ละฉาก โดยในแต่ละฉากนั้น เราจะเห็นตัวผู้กำกับ drip กาแฟไปด้วยในระยะ long shot และตอนหลังเขาก็นำกากกาแฟมาวาดภาพ (ถ้าเข้าใจไม่ผิด)

 

การตั้งกล้องนิ่งๆถ่ายสถานที่โล่งๆหรือมีผู้คนน้อยมากแบบนี้ ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง RUHR ของ James Benning ส่วนการจับจ้อง "กิจกรรมการทำอาหาร" แบบนี้ ก็ทำให้นึกถึง JEANNE DIELMAN, 23, QUAI DU COMMERCE, 1080 BRUXELLES (1975, Chantal Akerman, Belgium, 202min)

 

2. แต่ข้อด้อยของหนังเรื่องนี้ในสายตาของเรา ก็คือภาพของหนังยังขาด "มนตร์สะกดตราตรึง" น่ะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังของ James Benning, Chantal Akerman, Marguerite Duras, Chaloemkiat Saeyong, Teeranit Siangsanoh, Wachara Kanha, Weerapong Wimuktalop, etc. คือเราว่าหนังของผู้กำกับหนังทดลองบางคน ก็เน้นถ่ายภาพสถานที่นิ่งๆเป็นเวลายาวนานเหมือนกัน แต่เราจับจ้องภาพสถานที่เหล่านี้ได้เป็นเวลานานมากๆโดยไม่รู้สึกเบื่อเลยน่ะ เพราะผู้กำกับเหล่านี้สามารถถ่ายฉากสถานที่นิ่งๆเหล่านี้ให้ออกมามีมนตร์เสน่ห์ตราตรึงอย่างยากจะอธิบายได้ โดยเฉพาะในหนังอย่าง RUHR, HOTEL MONTEREY (1973, Chantal Akerman), AGATHA AND THE LIMITLESS READINGS (1981, Marguerite Duras), ZOETROPE (2011, Rouzbeh Rashidi, Ireland), SLEEP HAS HER HOUSE (2017, Scott Barley, UK)

 

แต่ไม่ใช่ว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายไม่สวยนะ มันก็สวยแหละ แต่ไม่สามารถ "สะกดจิต" เราได้นานเหมือนหนังกลุ่มข้างต้นน่ะ

 

3.แต่พอได้คุยกับผู้กำกับนิดนึงหลังหนังฉายจบ ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นนะ คือผู้กำกับได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนมาจากงานศิลปะ ผัดไทย ของคุณ Rirkrit Tiravanija น่ะ

เราก็เลยแอบนึกถึงหนังเรื่อง LUNG NEW VISITS HIS NEIGHBOURS (2011, Rirkrit Tiravanija, 154min) ที่เราก็รู้สึกว่า ภาพในหนังมันไม่ได้มีมนตร์เสน่ห์ตราตรึงมากเท่าที่คาดเหมือนกัน 555

 

ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นความแตกต่างระหว่างผู้กำกับหนังทดลองกับ artists หรือเปล่านะ เราเดาว่าบางทีผู้กำกับหนังทดลองส่วนใหญ่อาจจะให้ความสำคัญกับความ cinematic ของภาพ ภาพในหนังของพวกเขาเลย " สะกดจิต" เราได้อย่างรุนแรง แต่ artists ที่ทำงานด้าน moving image บางครั้งอาจจะเน้นที่ตัว concept ของงาน มากกว่าพลังความ cinematic ของภาพ ผลงานภาพเคลื่อนไหวของ artists บางคนก็เลยมี "ข้อดี" ในด้านอื่นๆ แทนที่จะเป็นพลังทางการสะกดจิต

 

เราก็รู้สึกว่า SENSORY MEMORY อาจจะเข้าข่ายนี้เหมือนกัน คือเน้นที่ตัว concept ของงาน มากกว่าพลังด้านภาพ

 

4.เป็นหนังที่เราต้องปรับตัวในการดูเหมือนกัน ตอนแรกเรานึกว่า เราจะจ้องสถานที่ไปเรื่อยๆได้โดยไม่เบื่อ (แบบหนังของ Marguerire Duras) แต่พอภาพในหนังมันไม่ได้ทรงพลังมากนัก เราก็เลยคิดว่า เราควรโฟกัสไปที่กระบวนการ drip กาแฟดีไหม เพราะเราก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาทำกันยังไง แต่ปรากฏว่า การที่หนังเรื่องนี้ถ่ายแบบ long shot ก็ส่งผลให้เราดูกระบวนการ drip กาแฟได้ไม่ชัดอยู่ดี

 

เราก็เลยต้องปรับตัวในการดู ด้วยการแบ่งโสตประสาทเพียงแค่ 20% ไปกับการดูจอภาพยนตร์ 55555 ส่วนสมองที่เหลืออีก 80% เราก็คิดอะไรเรื่อยเปื่อยๆไปเรื่อยๆ เพราะเหมือนกับว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ได้ดึงดูดเราให้ดื่มด่ำไปกับภาพบนจอมากนัก ซึ่งมันจะแตกต่างจากหนัง “สถานที่” เรื่องอื่นๆ ที่เราอาจจะใช้โสตประสาททั้ง 100% ไปกับภาพและเสียงบนจอ หรือใช้ภาพและเสียงบนจอในการกระตุ้นจินตนาการในหัวของเราอย่างรุนแรง

 

5.ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ให้ความสุขกับเราในแง่ “พลังทางภาพ” แต่เราก็ชอบประสบการณ์ในการได้ดูหนังเรื่องนี้ทางจอภาพยนตร์ที่ศาลายานะ เพราะมันเป็นประสบการณ์แบบที่นานๆจะเจอทีน่ะ ประสบการณ์การนั่งดูหนังที่ “เพลิดเพลิน” เพราะเราคิดอะไรเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆได้ขณะที่ดู 5555 และเราก็ชอบที่ได้ดูหนังที่แปลกแบบนี้ หรือหนังที่ไปสุดขั้วในแนวทางของมันเอง ไม่มีการประนีประนอมใดๆกับผู้ชม

 

รู้สึกว่าการได้ดูหนังที่ไปสุดทางของมันเองแบบนี้ เป็นประสบการณ์ที่เราอาจจะได้เจอเพียงแค่ปีละครั้งสองครั้งเท่านั้นในเทศกาลหนังมาราธอน และเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากขึ้นเรื่อยๆสำหรับเรา เพราะมันไม่มีการจัดเทศกาลหนังทดลองในไทยมาตั้งแต่ปี 2012 แล้ว

 

6.ถ้าถามว่าคิดอะไรเรื่อยเปื่อยระหว่างที่นั่งดูหนังเรื่องนี้บ้าง ช่วงแรกๆเราก็คิดถึงปัญหาชีวิตมากมายของเราเอง 55555 เหมือนคิดว่าตอนนี้เรามีปัญหาชีวิตอะไรบ้าง และเราจะวางแผนรับมือกับมันอย่างไรบ้าง พอเราวางแผนรับมือกับปัญหาในหัวของเราเสร็จเรียบร้อยแล้ว หัวเราก็เริ่มเคลียร์ และเราก็หันมาจดจ่อกับหนังได้มากขึ้น แล้วเราก็เริ่มคิดถึงหนังเรื่องอื่นๆที่เคยดูในเทศกาลมาราธอนที่มันไปสุดทางแบบนี้

 

แล้วหลังจากนั้นเราก็เริ่มคิดถึง สถานที่สำคัญต่างๆในชีวิตของเรา เพราะหนังเรื่องนี้มันเป็นการถ่ายสถานที่ 9 สถานที่ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้กำกับน่ะ เราก็เลยนั่งคิดถึงสถานที่ที่เคยมีความสำคัญต่อชีวิตของเราเองบ้าง เหมือนเป็นการนั่งรำลึกถึงอดีตของตัวเองไปเรื่อยๆ และเราก็มีความสุขมากๆกับการนั่งคิดถึงสถานที่สำคัญในอดีตของเราไปเรื่อยๆ

 

7.หนังในเทศกาลหนังสั้นไทยที่เราว่าไปสุดทางในแบบของมันเอง ก็มีอย่างเช่น

 

7.1 SIAM SQUARE (1998, Chanarai Suttibutr, 22min)

หนังที่ถ่ายสถานที่ต่างๆในสยามสแควร์ไปเรื่อยๆ

 

7.2 WINDOW (1999, Apichatpong Weerasethakul, 12min)

 

7.3 PERU TIME (2008, Chaloemkiat Saeyong, 18min)

หนังถ่ายทุ่งนานิ่งๆเป็นเวลา 18 นาที

 

7.4 อส.รพ. ตลุยเมืองกาญจน์ (2010, Tivapon Vongpan, 120min)

หนังสารคดีที่ถ่ายผู้ใหญ่กลุ่มนึงไปเที่ยวเมืองกาญจน์ คือดูแล้วมันแทบไม่มีสาระอะไร แต่เราชอบมากที่มันมีหนังแบบนี้ออกมาให้เราได้ดูด้วย

 

7.5 ข่มขืนกรุงเทพ (2011, Wachara Kanha+ Teeranit Siangsanoh, 90min)

หนังที่ถ่ายวิวจากหน้าต่างรถไฟฟ้าไปเรื่อยๆ

 

7.6 [..........] (2012, Teeranit Siangsanoh, 35min)

หนังถ่ายพระจันทร์เป็นเวลา 35 นาที

 

7.7 10 YEARS (2013, Chawagarn Amsomkid, 70min)

หนังที่ถ่ายเพื่อนผู้ชายสองคนไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน หนังดูเหมือนไม่มีสาระอะไรเลย จนกระทั่งช่วง 10-20 นาทีสุดท้ายของหนังที่มีฉาก monologue หน้ากล้องที่รุนแรงที่สุด

 

7.8 BUS (2014, Pongsakorn Ruedeekunrungsi, 30min)

หนังที่เหมือนเป็นการลอบบันทึกภาพชาวต่างชาติในรถเมล์ในกรุงเทพเป็นเวลา 30 นาที

 

7.9 THE MAZES TRILOGY นิราศเขาวงกต (2014, Prap Boonpan, 268min)

หนังที่ผู้กำกับถ่ายเขาวงกต แล้วเหมือนจะหาทางออกไม่เจอเสียที

 

7.10 WAY OF DUST หากเข้านัยน์ตาเราก็คงจะทำให้เสียน้ำตา (2018, Teeraphan Ngowjeenanan, 132min)

หนังที่ถ่ายวิวตรงสยามสแควร์ไปเรื่อยๆ แต่เสียงประกอบเป็นเสียงสัมภาษณ์คน 5 คนเกี่ยวกับความไม่เป็นประชาธิปไตยในชีวิตของแต่ละคน

 

8.สรุปว่า SENSORY MEMORY อาจจะไม่ใช่หนังที่ตรงใจเราซะทีเดียว เพราะเราชอบหนังที่มี “พลังสะกดจิตทางภาพ"”มากกว่านี้ แต่เราก็ชอบประสบการณ์ของการได้ดูหนังเรื่องนี้ในเทศกาลมาราธอน เพราะเราว่าการได้ดูหนังแบบนี้นี่แหละ คือการยืนยันว่าเราได้เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์มาราธอนแล้วจริงๆ 555 เพราะหนังที่ไปสุดขั้วสุดทางในแบบของมันเองอย่างนี้ เราอาจจะได้ดูแค่ในเทศกาลมาราธอนของมูลนิธิหนังไทยเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากลิสท์หนังข้างต้นที่เราทำไว้ หนังกลุ่มนี้นี่แหละ คือรสชาติเฉพาะตัวที่เราอาจจะหาที่ไหนแทบไม่ได้อีกแล้ว นอกจากในเทศกาลหนังมาราธอนของมูลนิธิหนังไทย

No comments: