Saturday, November 28, 2020

E RIAM SING

 AI AMOK (2020,  Yu Irie, Japan, A+30) 


สนุกสุดขีด อยากส่ง AI NOZOMI ไปตบกับ Umbrella Corporation จาก RESIDENCE EVIL 


MIO ON THE SHORE (2019, Ryutaro Nakagawa, Japan, A+30) 


รู้สึกติดใจกับฉากนางเอกไม่ยอมกินอาหาร ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเธอไม่พอใจที่ต้องร่วมโต๊ะกับหนุ่มสาวที่คบชู้กัน หรือเพราะอะไรกันแน่ แต่พอนางเอกไม่พูดออกมา แล้วหนังไม่ได้บอกตรงๆ มันก็เลยคาใจเรา หรือจริงๆแล้วเธอแค่ไม่อยากกินตะพาบน้ำ 555 


E RIAM SING (2020, Prueksa Amaruji, A+25)

อีเรียมซิ่ง 


1.ชอบมากกว่าที่คาดไว้มาก ชอบการสร้างบุคลิกของนางเอก และชอบความเป็นหนังผจญภัยที่คล้ายคลึงกับหนังนิทานพื้นบ้านแอฟริกา คือพอมันเป็นหนังแนว “สาวใจกล้าออกผจญภัย” เราก็จะอินกับหนังเรื่องนี้ได้ง่ายกว่าหนังไทยโรงใหญ่หลายๆเรื่อง 


2.แต่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีปัญหาสำหรับเราในแบบที่คล้ายๆกับหนังเรื่อง “หลวงพี่กะอีปอบ” (2020, Chalerm Wongpim) นั่นก็คือความชอบของเราที่มีต่อหนัง 2 เรื่องนี้คือความชอบของเราที่มีต่อ “หนังอีก genre หนึ่งที่แอบซ่อนอยู่ในหนังตลก 2 เรื่องนี้” คือโดยรสนิยมส่วนตัวแล้ว เราไม่ค่อยอินกับหนังตลกของไทยน่ะ และเราก็ไม่ค่อยอินกับ “ความตลก” ที่มีอยู่มากมายใน อีเรียมซิ่ง และหลวงพี่กะอีปอบด้วย 


แต่ตอนดู หลวงพี่กะอีปอบ นั้น เรารู้สึกเลยว่า หนังเรื่องนี้มันสามารถดัดแปลงเป็นหนังสยองขวัญที่เข้าทางเราอย่างสุดๆได้ หรือดัดแปลงเป็นหนัง “แอคชั่นอิทธิปาฏิหาริย์” (หรือเราขอเรียกเล่นๆว่า หนังแนว magical action)  ที่เข้าทางเราอย่างสุดๆได้ ถ้าหากเพียงแต่ผู้สร้างไม่เลือกที่จะทำมันออกมาเป็นหนังตลก 


และเราก็รู้สึกแบบนี้กับอีเรียมซิ่งเหมือนกัน คือเรารู้สึกว่า หนังเรื่องนี้สามารถดัดแปลงเป็นหนังบู๊แนว SUKEBAN DEKA หรือสิงห์สาวนักสืบได้สบายเลย หรือดัดแปลงเป็นหนังแนว magical action ได้สบายเลย ถ้าหากเพียงแต่ผู้สร้างไม่เลือกที่จะทำมันออกมาเป็นหนังตลก 


3.แต่เราก็ไม่ตำหนิผู้สร้างแต่อย่างใดทั้งสิ้นที่ทำหนังทั้งสองเรื่องนี้ออกมาเป็นหนังตลกนะ เพราะเราเข้าใจว่ามันเป็นความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของชีวิตน่ะ 555 เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการหาเงินเพื่อยังชีพ และถ้าหากหนังตลกมันทำเงินได้ดีกว่าหนังประเภทอื่นๆในไทย ผู้สร้างก็คงต้องเลือกสร้างหนังตลกไว้ก่อน จะได้ไม่ต้องขาดทุน 


และเราคิดว่าการใช้ genre ตลกมาครอบ genre แอคชั่นในหนังทั้งสองเรื่องนี้ มันมีข้อดีอย่างนึงสำหรับผู้สร้างหนังไทยด้วย เพราะ “หนังตลก” มันไม่ require ความสมจริงมากเท่าหนังแอคชั่นน่ะ คือในหนังตลกนั้น ผู้ร้ายสามารถนอนหลับในเวลาที่ไม่ควรนอนหลับก็ได้ เพราะมันเป็นหนังตลก หรือการผายลมสามารถใช้เป็นอาวุธในการจัดการกับผู้ร้ายก็ได้ เพราะมันเป็นหนังตลก ในขณะที่หนังแอคชั่นจะไม่อนุญาตให้เกิดเหตุการณ์เหี้ยๆห่าๆอะไรแบบนี้ได้มากนัก 


และเราคิดว่า “ความสมจริง” เป็นจุดอ่อนของผู้สร้างหนังไทยกระแสหลักโดยส่วนใหญ่น่ะ และบางทีมันอาจจะเป็นสาเหตุนึงก็ได้ที่ทำให้หนังไทยไม่ค่อยมีหนังดีๆแนวไซไฟ, แนวสืบสวนฆาตกรรม หรือแนวขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะหนังทั้ง 3 แนวนี้มันพึ่งพาความสมเหตุสมผลและความสมจริงมากๆน่ะ มากกว่าหนังแอคชั่นเสียอีก ในขณะที่ “หนังผี”, “หนังตลก” และ “หนังคัลท์” ถือเป็นหนังที่พึ่งพาความสมจริงน้อยมากๆ และบางทีนี่อาจจะเป็นสาเหตุนึงก็ได้ที่ทำให้คนไทยถนัดทำหนังผีกับหนังตลก เพราะมันไม่ต้องอาศัยความสมจริงหรือความเป็นเหตุเป็นผลมากนัก 


เราก็เลยรู้สึกว่า ถึงแม้ใจจริงแล้วเราจะอยากให้ “อีเรียมซิ่ง” ออกมาในแนว “สิงห์สาวนักสืบ” ที่นางเอกเชี่ยวชาญในการบู๊ และออกต่อสู้กับเหล่าร้ายและอุปสรรคต่างๆอย่างกล้าหาญชาญชัย เราก็เข้าใจดีว่าเพราะเหตุใดหนังเรื่องนี้ถึงไม่ได้ออกมาในแบบที่เราต้องการ เพราะการทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นหนังตลก น่าจะช่วยให้หนังเรื่องนี้ไม่ขาดทุน และมันน่าจะช่วยให้หนังเรื่องนี้หลีกเลี่ยงจากจุดอ่อนของหนังไทยได้ด้วย ซึ่งจุดอ่อนที่ว่าก็คือความไม่สมจริงในด้านต่างๆ เพราะหนังตลกมันอนุญาตให้เกิดความไม่สมจริงเหล่านี้ได้อยู่แล้ว 


4.ชอบการสร้างบุคลิกของนางเอกกับพี่สาวมากๆ เรารู้สึกว่านางเอกแร่ดแบบออกนอกหน้า ส่วนพี่สาวจริงๆแล้วเป็นคน “แร่ดเงียบ” 5555 


5.จริงๆแล้วช่วงครึ่งชั่วโมงแรกของหนังเราชอบไม่มากนัก แต่พอมีการกางแผนที่ออกผจญภัย กราฟความชอบของเราก็พุ่งสูงทันที เพราะมันทำให้เรานึกถึงหนังแนวนิทานพื้นบ้านแอฟริกาที่เราชอบสุดๆ 2 เรื่อง ซึ่งก็คือ 


5.1 KIRIKOU AND THE SORCERESS (1998, Michel Ocelot, Raymond Burlet, France)

https://www.imdb.com/title/tt0181627/?ref_=nv_sr_srsg_0 


5.2 MINGA AND THE BROKEN SPOON (2017, Claye Edou, Cameroon) 


เราชอบพล็อตการผจญภัยแบบเจออุปสรรคอิทธิปาฏิหาริย์เป็นด่านๆ อะไรแบบนี้มากๆ ดีใจที่มีผู้สร้างหนังไทยเอาพล็อตแบบนี้มาใช้ ถึงแม้ว่าเราจะอยากให้โทนของหนังออกมาจริงจังมากกว่านี้ก็ตาม 


6.ถ้าถามว่าเราอยากให้ หลวงพี่กะอีปอบ และอีเรียมซิ่ง ออกมาเป็นหนังแบบใด เราก็ขอตอบว่า เราอยากให้ออกมาเป็นแบบ SMING (2014, Pan Visitsak) น่ะ เราว่าอันนี้เป็นหนังแนว magical action ของไทยที่เข้าทางเราอย่างสุดๆ 


ส่วนหนังแนว magical action ที่เราชอบมากพอสมควร ก็คือพวกหนังอย่าง DYNAMITE WARRIOR คนไฟบิน (2006, Chalerm Wongpim), ขุนพันธ์ (2016, Kongkiat Khomsiri), จอมขมังเวทย์ NECROMANCER (2005, Piyapan Choopetch) อะไรพวกนี้น่ะ แต่เราว่าหนังกลุ่มนี้ดูมาโชๆ ดูผู้ชายไปหน่อยสำหรับเรา 555 


แต่หนังกลุ่ม magical action ของไทยที่โสๆก็มีเยอะนะ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2000 พวกหนังอย่าง “5 แถว” (2008, Nati Phunmanee) อะไรทำนองนี้ คือถึงแม้ว่าเราจะชอบหนังแนว magical action มากกว่าหนังตลก แต่มันก็มีหนังไทยใน genre นี้ที่เราไม่ชอบหลายเรื่องเหมือนกัน 


7.ถ้าหากเราเป็นคนเขียนบทหนังเรื่องนี้ เราจะแต่งเรื่องให้นางเอกมีฝาแฝดที่เกิดวันเดียวกัน แต่ฝาแฝดคนนี้เป็นคนร่าน เคยมีเซ็กส์กับผู้ชายมาแล้วหลายคน ฝาแฝดคนนี้ก็เลย “ไม่ซวย” เพราะความร่านของเธอทำให้เธอไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มโจร ส่วนนางเอกตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มโจรเพราะเธอ “ไม่ร่าน” แบบฝาแฝดของเธอ 5555 


อันนี้เป็นรูปของศุภรัตน์ มีปรีชา ที่รับบทเป็นหัวหน้ากลุ่มโจรในหนังเรื่องนี้ 


E RIAM SING (ต่อจากที่เขียนคราวก่อน) 


8.ชอบความเห็นของเพื่อนคนนึงมากๆ ที่เพื่อนเขียนว่า 


"อีเรียมซิ่งนี่ถ้าผนวกความสิงสาวนักสืบไปด้วยคือได้ดูอีกรอบแน่ 


เรียม/พี่/ แม่/ป้าอีกบ้าน และชาวบ้านอื่นๆ คือทุกคนปกติ พอองก์​หลัง โจรมา เฉลยว่าชาวบ้านอื่นๆคืออดีตสิงสาวนักสืบยุคแรก สิงสาวเคียว สิงสาวสุ่ม สิงสาวงอบ สิงสาวไซ สิงสาวข้อง ฯลฯ  แตกแตนแน่ๆ" 


9. อีกปัจจัยที่ทำให้ชอบ อีเรียมซิ่ง อย่างรุนแรง คือความสำเร็จของนางเอกในการต่อสู้พิชิตเหล่ามารนั้น ไม่ได้พึ่งพา "พระเอก" เลยแม้แต่นิดเดียวน่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดความคาดหมายของเรามากๆ เพราะเรานึกว่า นางเอกจะได้รับความช่วยเหลือ จากตำรวจหนุ่มหล่อจากเมืองกรุง อะไรทำนองนี้ 


การต่อสู้ของนางเอกได้รับความช่วยเหลือจากกะเทย, ตัวตลก 3 คน และพระวัยชรา โดยไม่มี "พระเอก" ให้พึ่งพาในหนังเรื่องนี้ เราก็เลยชอบมากๆ 


ส่วนหนุ่มหล่อในหนังเรื่องนี้ มีสถานะเป็น คนที่พึ่งพาไม่ได้, โจร และ "รางวัลแห่งความเงี่ยนของนางเอก" หลังจากนางเอกกรำศึกมานาน และเราก็ชอบสุดๆที่หนุ่มหล่อในหนังถูก treat แบบนี้ เขาไม่ใช่คนที่นางเอกต้องพึ่งพา แต่เป็นรางวัลแห่งความเงี่ยนของนางเอก 55555 


10. อย่างที่เขียนไปแล้วว่า เราไม่ชอบตัว genre หนังตลก แต่ตัวโครงสร้างพล็อตของอีเรียมซิ่งนั้นเข้าทางเรามากๆ (ถ้าเพียงแต่มันทำออกมาเป็นโทนจริงจัง) ดูแล้วนึกถึงสิงห์สาวนักสืบตอนนึงที่เราชอบมากๆ ที่สิงห์สาวลูกดิ่ง, สิงห์สาวว่าว กับสิงห์สาวลูกแก้ว ต้องร่วมมือกันไปช่วยตัวประกันที่เป็นเด็กทารกที่ถูกเหล่าร้ายจับไป โดยที่ผู้ร้ายใช้บูมเมอแรงเป็นอาวุธ แล้วเหล่าสิงห์สาวต้องฝ่า "ด่านอันตราย" ต่างๆ ก่อนจะช่วยตัวประกันออกมาได้ โดยที่ด่านนึงเป็น "หุ่นยนต์ช็อตไฟฟ้า" แล้วด่านสุดท้ายเป็นดงกับระเบิดที่หนักมากๆ 


E LAR AEY (2020, Ekachai Sriwichai, Artit Sripoom, A+30)

อีหล่าเอ๋ย (เอกชัย ศรีวิชัย, อาทิตย์ ศรีภูมิ) 


กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด  


ชอบมากกกกกกกกกกกกกกกก 


ตายแล้ววววววววววววววววววววววว 


หนังอาจจะมีข้อบกพร่องเยอะตามสไตล์หนังไทยเมนสตรีมนะ แต่ชอบบาง moments ในหนังอย่างรุนแรงมาก ดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง อินกับ "ความจน"  ของตัวละครในบางฉากมากๆ 


CASSIA FISTULA ราชพฤกษ์ (2012, Nontawat Numbenchapol, video installation) 


ถ้าไม่บอกว่าเป็น video ในปี 2012 เราต้องนึกว่าเป็น video ที่เพิ่งทำหลังจากเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นมา 


พอเห็นจุดที่ตั้งของวิดีโอ เราก็นึกถึงคำว่า "ทะลุฝ้า" "ทะลุเพดาน" โดยไม่ได้ตั้งใจ 55555 


RUN (2020, Aneesh Chaganty, A+30) 


Spoilers alert

--

--

--

--

--

--

--

ทำไมดูแล้วนึกถึงการเมืองไทยตลอดเวลา  55555 เยาวชนปลดแอกมากๆ รู้สึกเลยว่า "ยาที่เขาหลอกเราว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วทำให้เราลุกขึ้นยืน เดิน วิ่ง ด้วยตัวเองไม่ได้สักที" ในหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าในไทยนี่แหละ 


ดูแล้วนึกถึง MUNDANE HISTORY (2009, Anocha Suwichakornpong) และ BUBBLE BOY (2001, Blair Hayes) มากๆ ถึงแม้ว่าตัวผู้สร้าง RUN คงไม่ได้ตั้งใจให้หนังมีความเป็นการเมืองก็ตาม


No comments: