Saturday, December 05, 2020

FORGET ME NOT

 ATTRACTION  2: INVASION  (2020, Fyodor Bondarchuk, Russia, A+20) 


ไม่ได้ดูภาคแรกมาก่อน แต่หนังก็ช่วยสรุปเนื้อหาภาคแรกเอาไว้ในช่วงต้นเรื่อง ก็เลยทำให้ตามทันได้ 


ชอบที่ AI ของต่างดาวเข้าควบคุมระะบบดิจิทัลในรัสเซีย ทุกอย่างก็เลยต้องกลับไปใช้ระบบ analog มีการนำเครื่องพิมพ์ดีดกลับมาใช้งานอีกครั้ง 


COUNTRY GIRL (1976, Katsumi Nishikawa, Japan, A+25) 


หนังเกี่ยวกับสาวใช้จากบ้านนอกที่ออกรับผิดแทนเด็กชายลูกเจ้าของบ้านเรื่องการขโมยเสื้อผ้า และการออกรับผิดแทนของเธอก็ส่งผลให้เธอถูกไล่ออกจากบ้านในตอนจบ เราไม่แน่ใจว่าหนังเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนางเอกมากแค่ไหน แต่เราไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนางเอกอย่างรุนแรง เธอจะเห็นใจแต่ลูกเจ้าของบ้านไม่ได้ เพราะเจ้าของเสื้อผ้าเขาก็เป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจเหมือนกัน สิ่งที่นางเอกควรทำคือการเปิดเผยความจริงทุกอย่าง 


จริงๆแล้วหนังอาจจะเชิดชูนางเอกก็ได้นะ แต่การที่นางเอกถูกลงโทษในตอนจบด้วยการถูกไล่ออกจากบ้าน ก็เลยทำให้เราสองจิตสองใจว่าจริงๆแล้วหนังเห็นด้วยกับนางเอกมากแค่ไหน ส่วนเราไม่เห็นด้วยกับนางเอกอย่างรุนแรง และเกลียดลูกชายเจ้าของบ้านมากๆ 


CAMILLE (2019, Boris Lojkine, France, A+30) 


หนังเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในประเทศ  สาธารณรัฐแอฟริกากลาง น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกเกี่ยวกับประเทศนี้ที่เราได้ดู 


ดีใจที่ได้เห็นสามีเก่า 2 คนในหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็คือ Gregoire Colin (BEAU TRAVAIL) กับ Bruno Todeschini (UP DOWN FRAGILE) 555555 


TALKING THE PICTURES (2019, Masayuki Suo, Japan, A+25) 


1.ดูแล้วแอบเศร้า เพราะถึงแม้หนังจะนำเสนอยุครุ่งโรจน์ของการพากย์หนังสดแบบ benshi แต่เราก็รู้ดีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากเรื่องราวในหนัง ก็คือการล่มสลายของหนังเงียบ 


2.ชอบช่วงท้ายของหนังมากๆที่มันกลายเป็นหนัง Gustav Deutsch เฉยเลย ที่มันเอาคลิปจากหนังเงียบหลายเรื่องมาร้อยเรียงกันจนกลายเป็นหนังใหม่ 


3.ชอบที่พระเอกเอาหนังโรแมนติกมาพากย์ใหม่ให้กลายเป็นหนังอีโรติกด้วย นึกถึงหนังเรื่อง L'EXPERIENCE PREHISTORIQUE (2003-2008, Christelle Lheureux) ที่เอาหนังเงียบ 1 เรื่อง มาให้นักเขียนทั่วโลกแต่งเรื่องใหม่จากภาพเคลื่อนไหวที่เหมือนกัน จนได้เป็นหนังที่มีเนื้อหาไม่ซ้ำกันจำนวนมากมายหลายเรื่อง (ตอนที่หนังเรื่องนี้มาฉายที่ไทย ได้ปราบดา หยุ่น เป็นคนแต่งเรื่องประกอบภาพ)

http://christelle.lheureux.free.fr/Gion/Gion.html 


THE BAD SLEEP WELL (1960, Akira Kurosawa, Japan, A+30) 


Spoilers alert

--

--

--

--

--



1.ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่ามันมาจาก HAMLET เพราะมันไม่เหลือเค้าเดิมเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสุดๆ เพราะการดัดแปลงแบบไม่เหลือเค้าเดิมนี้มันทำให้เดาเนื้อเรื่องไม่ได้เลย 


2.จริงๆแล้วมันเหมาะทำเป็นละครทีวีไทยมากๆ เพราะเรื่องราวการเข้าไปอยู่ในครอบครัวศัตรูเพื่อแก้แค้นแบบนี้ทำให้นึกถึงละครไทยแบบ ไม่สิ้นไร้ไฟสวาท 


3.ตอนจบคือที่สุดมากๆ พีคมากๆ ทั้ง "เนื้อหา" และ "วิธีการนำเสนอ" เพราะเนื้อหาก็แรงมากที่ผู้ร้ายเป็นฝ่ายชนะอย่างพลิกความคาดหมาย (นึกถึง LUST, CAUTION) ส่วนวิธีการนำเสนอก็รุนแรงที่สุด เพราะทุกอย่างเกิดขึ้น offscreen เราได้เห็นเพียงแค่เศษซากของสิ่งต่างๆหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว ประกอบกับคำบอกเล่าจากปากของตัวละคร 


วิธีการนำเสนอแบบนี้ทำให้นึกถึง LORNA'S SILENCE (2008, Jean-Pierre Dardenne, Luc Dardenne) ไม่นึกว่า Akira Kurosawa เคยทำแบบเดียวกันนี้มาตั้งนานแล้ว กราบ 


HOWLING VILLAGE (2019, Takashi Shimizu, Japan, A+25) 


ดูแล้วนึกถึงที่เพื่อนคนนึงเคยพูดไว้เมื่อนานหลายปีก่อนว่า ถ้าหาก Alain Resnais ทำหนังสยองขวัญ เขาก็อาจจะทำออกมาแบบ Takashi Shimizu  นี่แหละ เพราะหนังหลายๆเรื่องของ Shimizu เล่นกับการสลับสับเปลี่ยน+การซ้อนทับ+การเหลื่อมล้ำของเวลา ซึ่งทำให้นึกถึงหนังของ Resnais เหมือนตัวละครในหนังหลายๆเรื่องของ Resnais เผชิญกับ corrosive power of memory ที่ทำให้เวลาไม่เรียงเป็นเส้นตรงอีกต่อไป ส่วนตัวละครในหนังของ Shimizu เผชิญกับอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติที่บิดผันเวลาระหว่างอดีต, ปัจจุบัน, อนาคตได้ "เวลา" ในหนังของผู้กำกับทั้งสองเรื่องนี้ก็เลยน่าสนใจมากๆ 


หนังของ Shimizu ที่เข้าข่ายนี้ก็รวมถึงหนังชุด JU-ON, REINCARNATION (2005), THE SHOCK LABYRINTH 3D (2009) และ HOWLING VILLAGE โดยเฉพาะช่วงท้ายของ HOWLING VILLAGE ที่เล่นกับเวลาได้อย่างน่าตื่นตะลึงมาก 


รูปของ Ryota Bando ที่รับบทพี่ชายนางเอก 


100 TIMES REPRODUCTION OF DEMOCRACY (2019, Chulayarnnon Siriphol, 115min, A+30) 


1.ชอบที่เข้เหมือนชอบพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการเอา "วิกฤติชีวิต" มาดัดแปลงเป็นผลงานศิลปะ เพราะหนังเรื่องนี้เหมือนเอาปัญหาที่เกิดขึ้นกับรพ. มาดัดแปลงให้กลายเป็นผลงานศิลปะ คล้ายๆกับ DANGER (DIRECTOR'S CUT) (2008, Chulayarnnon Siriphol) ที่นำเอาคำด่าทอที่มีต่อหนังสั้นเรื่องนึง มาดัดแปลงให้กลายเป็นหนังเรื่องใหม่ไปเลย คือกระบวนการสร้างของหนัง 2 เรื่องนี้มันคล้ายกันในแง่ที่ว่า มันเริ่มต้นด้วยหนังสั้นที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเรื่องนึง มาผสมรวมกับ "ปัญหาจากผู้มีอำนาจที่มีต่อหนังสั้นเรื่องนั้น" แล้วกลายเป็นหนังเรื่องใหม่ 


หนังสั้น + ปัญหาตบๆตีๆ ด่าๆทอๆ = ผลงานศิลปะชิ้นใหม่ของเข้ 


2.สิ่งนี้มันแตกต่างจากผู้สร้างหนังโดยทั่วไปด้วย เพราะผู้สร้างหนังหลายรายชอบเอา "ปัญหาอกหัก แฟนทิ้ง" มาดัดแปลงเป็นหนัง แต่เข้ไม่ได้เอาชีวิตรักตัวเองมาทำเป็นหนัง แต่เอาปัญหาตบๆตีๆกับผู้มีอำนาจเหนือกว่านี่แหละมาดัดแปลงเป็นหนัง 


3.ดีใจที่ได้เห็นฉากประท้วงต่อต้าน coup ในปี 2014 ในหนังเรื่องนี้

-------- 


ดีใจสุดๆกับ Emmanuel Mouret เคยดูหนังของเขา 4 เรื่อง -- CHANGE OF ADDRESS (2006), SHALL WE KISS? (2007), PLEASE PLEASE ME (2009) และ CAPRICE (2015) ชอบหนังของเขาอย่างสุดๆ 


FORGET ME NOT (2018, Chulayarnnon Siriphol, second viewing) 


1.เคยดูรอบแรกตอนมันฉายที่ Bangkok Citycity Gallery ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ฉากจบของเวอร์ชั่นล่าสุดที่ bkksr นี้ที่มันถ่าย "ฉากจบในการฉายที่ ด้านนอก Gallery" น่าจะไม่ได้มีอยู่ในเวอร์ชั่นที่เราดูในตอนนั้นด้วย 


เราชอบมากๆที่ใน FORGET ME NOT เวอร์ชั่นที่ BKKSR นี้ มันเหมือนกับว่า ผู้ชมหนังเวอร์ชั่นก่อนๆหน้านี้ กลายเป็นเหมือนกับ "หนึ่งในตัวละครของหนัง"  หรือ "ส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า" หรือ "ส่วนนึงของประวัติศาสตร์" ไปด้วย 


คือใน FORGET ME NOT เวอร์ชั่นที่ BKKSR นี้ มันมีการทับซ้อนกันหลายชั้นดังนี้ 


1. 1 ตอนแรกมันเป็นหนังสั้นที่เล่าเรื่องข้างหลังภาพแค่ครึ่งเรื่องแรก แล้วหนังสั้นเรื่องนั้นก็ถูกนำไปทำเป็น VIDEO INSTALLATION ที่หอศิลป์ตรงม.ศิลปากร ท่าพระจันทร์ แล้วหนังก็ไปถ่ายตัวละครขณะไปชมงานในหอศิลป์ ท่าพระจันทร์ ราวกับว่าผู้ชมที่ท่าพระจันทร์เป็นส่วนนึงของเรื่องเล่าในหนัง 


1.2 หนังเรื่องนี้ถูกนำมาฉายที่ด้านในของ Bangkok CityCity Gallery แล้วก็มีฉากตัวละครไปดูนิทรรศการนี้ ราวกับว่า ผู้ชมด้านในของแกลเลอรี่ ก็เป็นส่วนนึงของเรื่องเล่าในหนัง 


1.3 หนังฉบับเต็ม (?) ถูกนำมาฉายที่ด้านนอก gallery แต่ก็มีการถ่ายฉากผู้ชมนั่งดูหนังเรื่องนี้ที่ด้านนอก  gallery  แล้วนำฉากนั้นมาใส่ในช่วงท้ายของหนังเมื่อฉายที่  BKKSR 


2.เราชอบจุดนี้ของ FORGET ME NOT มากๆ เพราะมันทำให้คนที่เคยดูหนังเรื่องนี้ทั้งที่ท่าพระจันทร์, ด้านในแกลเลอรี่ และด้านนอกแกลเลอรีใน 3 สถานการณ์ กลายเป็นเหมือนตัวละครในหนังน่ะ มันเหมือนเป็นการพร่าเลือนเส้นแบ่งระหว่าง 


2.1 ในจอกับนอกจอ หรือ คนฟังเรื่องเล่า กับ เรื่องเล่า 


เพราะคนดูที่อยู่นอกจอ ก็เข้าไปอยู่ในจอ และกลายเป็นส่วนนึงของเรื่องเล่าในเวลาต่อมา 


2.2 เรื่องแต่งกับเรื่องจริง เพราะคนดูที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ได้กลายเป็นส่วนนึงของ  fiction 


2.3 อดีต/ประวัติศาสตร์ กับ ปัจจุบัน 


อย่างเช่น ตอนที่เราไปดู video installation ที่ท่าพระจันทร์  ในวินาทีนั้น เราอยู่ในปัจจุบัน ในโลกแห่งความเป็นจริง และรู้สึกว่าเรากำลังดู fiction ในจอ ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีต 


แต่ในเวลาต่อมา เมื่อผู้ชมที่หอศิลป์ท่าพระจันทร์กลายเป็นส่วนนึงของ the longer version of the video ตัวเราที่เคยอยู่ในปัจจุบัน ในโลกแห่งความเป็นจริง นอกจอ ดูเรื่องเล่าในจอ ก็ได้กลายเป็นส่วนนึงของ fiction ของปวศ. ของเรื่องเล่าบนจอไปด้วย 


3.เราชอบกระบวนการแบบนี้มาก ถึงแม้หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจใดๆเลยในจุดนี้ก็ตาม มันทำให้เรารู้สึกว่า ไม่เพียงแค่ FORGET ME NOT จะทำให้เราตระหนักถึงผลกระทบจากอดีตที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันเท่านั้น หนังเรื่องนี้มันยังทำให้เรารู้สึกตัวอีกด้วยว่า การกระทำใดๆก็ตามของเราในปัจจุบัน (อย่างเช่น การสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองฝ่ายใดก็ตาม) ก็อาจจะกลายเป็นส่วนนึงของปวศ. เป็นสิ่งที่ถูกเล่าถึงในอนาคต คนในอีก 50 ปีข้างหน้า อาจจะเล่ากันว่า A, B OR C ตัดสินใจสนับสนุนฝ่ายใดในปี 2020 


ยกตัวอย่างง่ายๆก็อย่างเช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เคยเป็นคนจริงๆในอดีต แต่ได้กลายเป็นตัวละครในละครเวทีและหนังบางเรื่องในปัจจุบัน 


4.การที่คนใน FORGET ME NOT ดู video ที่ท่าพระจันทร์, ในgallery, นอก gallery แล้วกลายเป็นส่วนนึงของหนัง เมื่อหนังทอดยาวออกไปเรื่อยๆ มันทำให้เรานึกถึงการส่งต่ออะไรบางอย่างด้วย โดยที่หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้ตั้งใจ 


ยกตัวอย่างเช่น 


นาย t. อาจจะต้านเผด็จการในทศวรรษ 2500 เขาถูกประหารชีวิต 


นาย t. กลายเป็นอดีต เป็นเรื่องเล่าในปวศ. แต่เรื่องเล่านี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้นาย s.  ลุกขึ้นต้านกลุ่มขวาจัดในปี 2519 


นาย s. กลายเป็นส่วนนึงของปวศ.ในอดีต แต่เรื่องเล่าและแนวคิดของนาย  s. อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้นาง d.  เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในปี 2553 


นาง d. กลายเป็นส่วนนึงของปวศ. แต่เรื่องเล่าของนาง d. กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นาย a ลุกขึ้นประท้วงในปี 2020 (2563) 


และสิ่งที่นาย  a ทำในปี 2020 ก็จะกลายเป็นอดีต เป็นเรื่องเล่าในปวศ. ที่อาจจะให้แรงบันดาลใจกับใครสักคนในอนาคตต่อไป 


FORGET ME NOT ทำให้เราตระหนักถึงเรื่องนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ เราไม่ได้เป็นแค่ "ผู้ชมที่ดูเรื่องราวในอดีต" เท่านั้น แต่เราเป็นตัวละครตัวนึงในหนังที่ทอดยาวออกไปเรื่อยๆด้วย หนังที่มีชื่อว่า "ประวัติศาสตร์การเมืองไทย" และในอนาคต ก็จะมีคนมาดูบทบาทที่เราเคยแสดงไว้ในหนังที่ไม่สิ้นสุดเรื่องนี้



No comments: