Tuesday, December 29, 2020

PEACE NEW WAVE (2016, Thitsanu Mongkolsiri, 14min, A+30)

 

PEACE NEW WAVE (2016, Thitsanu Mongkolsiri, 14min, A+30)

ในนามของความสงบ

 

1.หนังเก่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่เราเพิ่งมาดู ดูจบแล้วก็รู้สึกว่ามันคลาสสิคมากๆ เพราะหนังเรื่องนี้มันช่วยบันทึกช่วงเวลาที่ฝ่ายประชาธิปไตยในบางพื้นที่ ยังคงรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนส่วนน้อยในบางสังคม ก่อนที่กระแสจะเปลี่ยนแปลงไปในปี 2020 เหมือนหนังเรื่องนี้ช่วยบันทึกช่วงเวลาที่น่าสนใจ และเป็นการทำนายล่วงหน้าถึงกลุ่มเยาวชนปลดแอกในอีก 4 ปีต่อมา

 

รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ทำหน้าที่คล้ายๆกับ MAY THE YEAR AHEAD BRING YOU GOOD LUCK (2014, Ornnalin Techapoowapat, documentary) และ HAPPINESS (2015, Wachara Kanha, 26min) ในการบันทึกสภาพสังคมไทยในช่วงนั้นเอาไว้ โดย MAY THE YEAR AHEAD BRING YOU GOOD LUCK บันทึก “การกดทับในโรงเรียน” คล้ายๆกับหนังเรื่องนี้ ส่วน HAPPINESS ช่วยบันทึก “การลุกขึ้นมาแสดงความเห็นของเยาวชน” คล้ายๆกับหนังเรื่องนี้

 

2.ชอบการสร้าง character ของตัวละครต่างๆมาก ทั้ง

 

2.1 พระเอกที่เลือดร้อนและกล้าหาญ

 

2.2 นางเอกที่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง แต่เน้นการเอาตัวรอดเป็นหลัก ซึ่งถ้าเป็นเรา เราก็คงทำแบบนางเอกในสถานการณ์นั้น คือปล่อยให้อีกฝ่ายพล่ามไป เราก็คิดแค่ว่า “สิ่งที่ครูพูด มันก็เหมือนเสียงหมาเห่า เราไม่จำเป็นต้องเอาสิ่งที่ครูพูดมาปรุงแต่งเป็นอารมณ์อะไรในใจ เหมือนที่เราไม่ต้องเอาเสียงหมาเห่ามาปรุงแต่งเป็นอารมณ์อะไรในใจ” 55555

 

2.3 ครู เราชอบมากๆที่ตัวละครนี้มีทั้งช่วงที่ดุร้าย และนึกว่าต้องโดนตบด้วยตีน กับช่วงที่ทำเป็นอ่อนโยน ใจดีกับนางเอก เพราะมันทำให้เรานึกถึงครูที่เราเกลียดสุดๆบางคนที่เราเคยเจอ คือในสมัยประถม/มัธยม มันจะมีครูบางคนที่เราเกลียดมากๆ เพราะเราไม่ชอบนโยบาย/นิสัย/การกระทำของครูพวกนี้ แต่ครูพวกนี้ชอบทำดีกับเรา 55555 (สงสัยครูนึกว่าเราเป็นเด็กดี) มันก็เลยเกิดภาวะ dilemma ที่น่าสนใจ เพราะครูพวกนี้มันไม่ใช่คนที่เป็นสีดำ เลวไปซะทั้งหมด เลวไปในทุกๆด้าน แต่เป็นครูที่มีทั้งส่วนชั่วร้าย และมีส่วนที่ดีด้วย (แถมยังชอบหันด้านดีใส่เราซะอีก) และการต้องรับมือกับ “คนที่มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี” อะไรแบบนี้ บางทีมันยากกว่าการรับมือกับคนที่เรารู้ว่ากูต้องถอดรองเท้าออกมาตบหน้ามันในทันที

 

2.4 อีสี่สาวที่นั่งข้างหลังนางเอก เหมือนหนังใส่ “ความน่าตบ” ของตัวละครกลุ่มนี้ออกมาในระดับที่พอดีๆ คือ 4 สาวนี้ไม่ได้ออกมา bully หาเรื่องกลั่นแกล้งนางเอกโดยตรง แต่มีการสร้างบรรยากาศของความหีอะไรบางอย่าง คือถ้าหาก 4 สาวนี้แสดงพฤติกรรมที่รุนแรงกว่านี้ เหตุการณ์ในหนังมันจะดูเหมือนเป็น “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงแค่กับคนบางคน” แต่พอ 4 สาวนี้ทำเพียงแค่สร้างบรรยากาศมาคุ เหตุการณ์ในหนังมันเลยดูเหมือนเป็น “เหตุการณ์ที่น่าจะเคยเกิดขึ้นกับคนหลายๆคนที่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับคนอื่นๆ”

 

3.อันนี้ไม่เกี่ยวกับหนัง แต่ดูหนังแล้วเราแอบรู้สึกดีที่ตัวเองเป็นเด็กมัธยมในยุคปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นยุคที่มี “การสอบเทียบ” เพราะพอมันมีการสอบเทียบ เราก็รู้สึกว่าเราไม่ต้องหงอ ไม่ต้องกลัวครูอาจารย์ในโรงเรียนมัธยมของเรามากนัก เพราะยังไงเราก็จบวุฒิม.6 จากการสอบเทียบได้อยู่แล้ว เราไม่ต้องก้มหัวให้ครูเพียงเพื่อจะได้จบม.6 จากโรงเรียนของเรา เหมือนการสอบเทียบมันช่วยให้เราใช้ชีวิตด้วยความสบายใจมากๆตอนที่เราเรียนม.ปลายในปี 1988-1989 น่ะ เพราะเรารู้ดีว่า ถ้าหากเราทนความเลวทรามของครูบางคนไม่ได้ กูก็ไม่ต้องมาโรงเรียนก็ได้ เพราะยังไงกูก็จบม.6 จากการสอบเทียบและสามารถเข้าเรียนมหาลัยได้อยู่แล้ว กูเชิดใส่ครูเลวๆได้ตามสบายค่ะ

 

ดูหนังได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=25N6PPTGhy4

 

T-ARA: THE CROWN OF QUEEN’S (2019, Pornchanok Ruangrung, documentary, A+25)

 

รู้สึกว่าเทียบชั้นกับหนังสารคดีอย่าง WHITNEY (2018, Kevin Macdonald) ได้เลย ชอบความตั้งอกตั้งใจในการ research ข้อมูล, การเรียงร้อยข้อมูลด้วยการตัดต่อ, การสัมภาษณ์แฟนเพลงชาวไทย

 

เราเองก็ไม่มีความรู้เรื่อง K-POP ใดๆเลยด้วย หนังเรื่องนี้เลยเหมาะกับเราที่ไม่มีพื้นความรู้เรื่องนี้

 

ชอบสิ่งที่นักเต้น cover ให้สัมภาษณ์ว่า พวกเธอต้องเลือกเต้นแต่เพลงที่ “ดัง” เท่านั้น เพราะถ้าพวกเธอเลือกเต้นเพลงที่ “ไม่ดัง” คนดูก็จะไม่แสดงปฏิกิริยาตอบรับ และกรรมการก็จะหักคะแนนเพราะเห็นว่าพวกเธอไม่สามารถ entertain คนดูได้ พอเราได้ฟังอย่างนี้แล้วเราก็ยิ่งรู้สึกสงสารศิลปินที่ไม่ดังและเพลงที่ไม่ดัง เพราะถึงแม้พวกเขาจะทำเพลงที่ไพเราะเพราะพริ้งมากๆ แต่ “ระบบ” อะไรบางอย่างก็จะกีดกันไม่ให้ผลงานของพวกเขาได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างอยู่ดี

 

แต่เราก็อาจจะไม่ได้ชอบหนังแบบสุดๆนะ ไม่ใช่ว่าหนังมีข้อบกพร่องอะไร แต่ประเด็นของหนังอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจอย่างรุนแรง

 

LIKE MOTHER, LIKE SON (2019, Nuttakit Taengthai, 24min, A+25)

 

1. ชอบที่หนังนำเสนอตัวละครแม่ที่เป็นเลสเบียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูแปลกดี และหนังยังเพิ่มความยากขึ้นไปอีกด้วยการทำให้ตัวละครแม่ดูมี “รัศมีของความไม่เป็นมิตร” แผ่ออกมาจากตัว ตัวละครตัวนี้ก็เลยดูมีความ unlikeable อยู่บ้าง คือความเป็นเลสเบียนน่ะไม่เป็นปัญหาสำหรับเราอย่างแน่นอน แต่คนที่พูดจาแบบแม่ในหนังเรื่องนี้คงเป็นคนที่เราไม่ค่อยอยากคุยด้วยในชีวิตจริง

 

2.หนังมีส่วนที่สร้างความผิดคาดให้เราอยู่ 2 จุดใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ

 

2.1 ตอนแรกเราลุ้นมากๆให้ตัวละครพระเอกเป็นเกย์ แต่ปรากฏว่าเขากับผู้ชายอีกคนกลับไม่ใช่คู่รักกัน (โธ่ อุตส่าห์ลุ้นให้ได้กัน)

 

2.2 ปัญหามันดูเหมือนคลี่คลายง่ายเกินไปยังไงไม่รู้ 555 คือตอนแรกเรานึกว่าหนังจะออกมาดราม่าหนักๆ แบบ SMALL TALK (2016, Huang Hui-chen, Taiwan, documentary) และตัวละครต้องมีการคุยกันแบบเปิดอก ตีอกชกหัว ร้องห่มร้องไห้กันอย่างรุนแรง ก่อนที่ปัญหาจะคลี่คลายกันได้ แต่ปรากฏว่าตัวละครในหนังเรื่องนี้เหมือนรักและหวังดีต่อกันอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ชอบแสดงออกแบบตรงๆ เท่านั้นเอง

 

คือตอนแรกเรานึกว่าหนังเรื่องนี้จะนำเสนอตัวละครที่มีปมความทุกข์ฝังใจอย่างรุนแรงน่ะ แต่ปรากฏว่าดูจนจบแล้วเหมือนความทุกข์ของตัวละครมันอยู่ในระดับแค่ราว 30% ของที่เราคาดไว้ในตอนแรก เราก็เลยรู้สึกผิดคาดอยู่บ้าง

No comments: