Monday, December 14, 2020

STENCIL DAUGHTER

 

FAVORITE MUSIC VIDEO: BEST I EVER HAD – Laurel (2020, Elliott Arndt)

ชอบมิวสิควิดีโอนี้อย่างสุดๆ ชอบ
texture ของภาพที่ดูเหมือนโฮมวิดีโอจากยุค 1980

 

รู้จักเพลงนี้จากเพจ Sonny Selector

https://www.youtube.com/watch?v=mq61kF9fQ9k

 

STENCIL DAUGHTER (2020, Jakkrapan Sriwichai, short film, A+30)

 

1.สิ่งที่เราชอบมากที่สุดในหนังเรื่องนี้ ก็คือความจริงที่ว่า ในหลายๆครอบครัวนั้น พ่อแม่มักจะรู้สึก “รักและเป็นห่วง” ลูก แต่ในบางครั้ง การแสดง “ความรัก ความเป็นห่วง” ลูกออกไป ก็อาจจะกลายเป็นการสร้าง “ความน่ารำคาญ” ให้กับลูกๆได้  ซึ่งมันคือความจริงที่น่าเศร้ามากๆ  และเราก็รู้สึกสงสารทั้งฝ่ายพ่อแม่และฝ่ายลูกที่เจอกับอะไรแบบนี้

 

เราเองก็ต้องเรียนรู้เรื่องแบบนี้ในชีวิตเหมือนกัน บางทีเราเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะมองไปที่ “เจตนา” ของคนต่างๆในชีวิตเรา เพราะหลายๆคนอาจจะสร้างความน่ารำคาญให้กับเรา แต่ถ้าหากเรามองข้าม “คำพูด” และ “การกระทำ” ของเขา แล้วมองไปที่ “เจตนา” ของเขา เราก็จะพบว่าเขาหวังดี, รัก และเป็นห่วงเรา เขาก็เลยแสดงออกมาแบบนั้น พอเราพยายามมองไปที่ “เจตนา” ของเขาด้วยแล้ว เราก็จะคลายความขุ่นเคืองใจที่มีต่อความน่ารำคาญของเขาลงได้บ้าง

 

เราก็เลยชอบมากๆที่หนังเรื่องนี้นำเสนอแง่มุมนี้ของชีวิตออกมา

 

2.แต่โดยส่วนตัวแล้วเราก็ไม่ค่อยอินกับหนังที่ปัญหาแบบนี้ได้รับการคลี่คลายนะ เรามักจะอินกับหนังที่ตัวละครหนีออกจากบ้านแล้วไม่กลับมาอีกเลยมากกว่า 555 อย่างเช่น บังเกิดเกล้า (2011, Kamontorn Eakwattanakij)และ LET THE DOVES FLY (2017, Anuroth Ketlekha)

 

3.สิ่งที่เราคิดว่าน่าจะทำให้หนังเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็คือว่าหนังน่าจะแสดงให้เห็น “ความรักในการทำงานสักลาย” ของนางเอกน่ะ เพราะเหมือนในหนังเรื่องนี้เราไม่ได้เห็นนางเอกทำงานสักลายบนผิวหนังให้ลูกค้าเลย ทั้งๆที่ความรักในการทำงานนี้มันคือปัจจัยหลักที่นำไปสู่ main conflict ของเรื่อง เราเห็นแต่นางเอกถ่ายภาพนิ่ง

 แต่ถึงหนังขาดฉากที่เราว่าไป หนังก็สื่อสารทุกอย่างได้ครบสมบูรณ์นะ คือดูแล้วก็เข้าใจน่ะแหละว่าเพราะอะไรนางเอกกับพ่อถึงมีปัญหากัน แต่เราคิดว่าถ้าหากเติมฉากการทำงานของนางเอกเข้ามา หนังมันน่าจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

THE CLIMB (2019, Michael Angelo Covino, A+30)

 

1.ชอบความเกือบๆจะ homoerotic ของมันมากๆ คือถ้าหนังพลิกแค่นิดเดียว หนังจะกลายเป็นว่า จริงๆแล้ว Mike แอบหลงรัก Kyle และพยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ Kyle แต่งงาน และ Mike เองก็ชอบร่วมรักกับหญิงสาวคนใดก็ตามที่เคยนอนกับ Kyle เพื่อเป็นการมีเซ็กส์กับ Kyle ในทางอ้อม คือเขาไม่อาจมี sex กับ Kyle ได้โดยตรง เขาก็เลยไปมี sex กับผู้หญิงคนใดก็ตามที่เคยมี sex กับ Kyle แทน 55555

 

เหมือนหนังเองก็เล่นสนุกกับจุดนี้ด้วย ตั้งแต่ฉากเปิดที่เราได้ยินแต่เสียงหอบกระเส่าคุยกันของผู้ชายสองคน จนเราเผลอนึกว่าทั้งสองเอากัน แต่จริงๆแล้วทั้งสองกำลังถีบจักรยานอยู่ด้วยกัน และมีฉากนึงที่เกือบๆจะกลายเป็นว่า Mike สารภาพรักกับ Kyle ก่อนที่จะปัดไปเป็นความรักแบบเพื่อนแทน

 

2.ชอบหนังที่นำเสนอตัวละครที่เต็มไปด้วยจุดบกพร่องและ unlikeable แบบนี้มากๆ นึกถึงหนังแบบ THE GREEN RAY (1986, Eric Rohmer) ที่นางเอกเต็มไปด้วยนิสัยแย่ๆและ unlikeable เหมือนกัน แต่ดูแล้วกลับรู้สึกว่าเธอเป็นมนุษย์ปุถุชนมากๆ

 

ตัว Kyle นี่ดูแล้วนึกถึงเพื่อนบางคนมากๆ เหมือนเพื่อนบางคนจะเป็นคน “อ่อน” แบบนี้นี่แหละ คือเป็นคนที่มักจะถูกเพื่อนๆในกลุ่มขอความช่วยเหลือ และเขาก็มักจะให้ความช่วยเหลือตามที่ขอ แต่ในบางครั้งเขาก็จะถูกเพื่อนๆเอารัดเอาเปรียบได้โดยง่าย

 

3.ชอบมุกตลกเรื่องสหภาพแรงงานสัปเหร่อมากๆ จริงๆแล้ว humor sense ในหนังเรื่องนี้ตรงกับเรามากพอสมควร

 

4.อีกสิ่งที่ชอบมากๆคือตัวละคร Marissa (Gayle Rankin) ซึ่งถ้าหากเป็นในหนังเรื่องอื่นๆ เธอคงเป็นนางอิจฉาที่น่าตบมากๆ แต่ในหนังเรื่องนี้เรากลับเชียร์เธออย่างสุดๆ เพราะ “ความร้าย” ของเธอ ทำให้เธอสามารถตบตีกับแม่ผัว, sisters-in law สองตัวที่เกลียดชังเธอ และรับมือกับ Mike ได้ คือถ้าหาก Marissa ไม่ร้ายกาจ หรือไม่มีฤทธิ์เดชมากเท่านี้ เธอจะไม่สามารถรับมือกับ Mike ได้อย่างแน่นอน คือ “เพื่อนจากนรก” ก็ต้องเจอกับ “ภรรยาจากใต้อเวจี” นี่แหละ มันถึงจะรับมือกันได้

 

5.จริงๆแล้วนึกถึงหนังของ Neil LaBute มากๆ ตัวละคร Marissa นี่นึกว่าถอดแบบมาจากนางเอก THE SHAPE OF THINGS (2003, Neil LaBute) เลย ส่วนตัวละครชายสองคน ก็ทำให้นึกถึงสองพระเอกของ IN THE COMPANY OF MEN (1997, Neil LaBute)

 

PAWO (2016, Marvin Litwak + Sonam Tseten, GermanyIndia/China, A+30)

 

หนังสร้างจากเรื่องจริงของชายหนุ่มชาวทิเบตที่เคยเดินขบวนประท้วงต่อต้านจีน แล้วเขาเลยถูกทางการจีนจับตัวไปทรมานอย่างรุนแรงมาก พอเขาถูกปล่อยตัวออกมา เขาเลยหนีตายข้ามไปเนปาลและอินเดีย

 

จริงๆแล้วเราไม่ชอบการกำกับเท่าไหร่ เพราะเราว่ามันดูประดิดประดอยถ่ายภาพสวยเกินไปจนเหมือนหนังโฆษณาในหลายๆฉาก

 

แต่ก็ชอบ content ของหนังนะ เพราะดูเหมือนเราไม่ค่อยได้ดูหนังเกี่ยวกับผู้อพยพชาวทิเบตมากเท่าไหร่ เหมือนเราได้ดูแต่หนังเกี่ยวกับผู้อพยพชาวซีเรียและโรฮิงญาเป็นส่วนใหญ่ในยุคหลังๆ และเราก็ดูเหมือนจะ focus ที่การตบตีระหว่างจีนกับฮ่องกง, จีนกับไต้หวัน, จีนกับสหรัฐ, จีนกับประเทศแถบลุ่มน้ำโขง, จีนกับปัญหาทะเลจีนใต้, จีนกับอุยกูร์ จนเราเผลอลืมไปว่า จีนกดขี่ทิเบตมานาน 70 ปีแล้ว และทิเบตก็ต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่สำเร็จเสียที ทั้งๆที่ทิเบตยืนหยัดเรียกร้องเรื่องนี้มานาน 70 ปีแล้ว

 

ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึง THE ROAD TO MANDALAY (2016, Midi Z) ผสมกับ PARADISE NOW (2005, Hany Abu-Assad, Palestine)

 

No comments: