Friday, December 25, 2020

TROPICAL PLANT (2020, Tanakit Kitsanayunyong, 5min, A+30

 

DSC_3896 (2020, Tanakit Kitsanayunyong, 24min, A+30)

 

1.ชอบไอเดียของหนังมากกว่าตัวหนังจริงๆเล็กน้อย 55555 เพราะหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนการบันทึกเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนึงในโลเกชันแห่งนึง โดยที่เราจะได้เห็นการทำงานของทีมงานกองถ่ายหนังหลายคน แต่เป็นการสังเกตการณ์ในระยะห่างๆ จนเราไม่สามารถจับ “การทำงาน” ของกองถ่ายอย่างเป็นชิ้นเป็นอันได้ (คือถ้าหากหนังเข้าใกล้ “ทีมงาน” มากกว่านี้ เราอาจจะได้หนังสารคดีแบบ Frederick Wiseman)

 

เราว่าไอเดียของหนังมันแปลกดี เพราะมันเหมือนเป็นการนำเสนอ “อะไรที่ดูไม่สลักสำคัญ” เอาเสียเลย 55555 เราไม่รู้ว่าทีมงานนี้ถ่ายหนังเรื่องอะไร และการทำงานของกองถ่ายนี้ก็ดูปกติธรรมดามากๆ ไม่มีดราม่า ไม่มีอะไรที่พิเศษกว่ากองถ่ายอื่นๆ มันเหมือนเป็นการจับจ้องมองสิ่งธรรมดาๆที่หลายคนมองข้ามไป คือปกติแล้วภาพยนตร์โดยทั่วไปมันมักจะนำเสนอ “สิ่งที่พิเศษ” น่ะ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้เลือกนำเสนอสิ่งที่ธรรมดามากๆ

 

คือถ้าหากเปรียบเทียบง่ายๆก็คือว่า ถ้าหากภาพยนตร์เป็น painting เราก็มักจะเห็นแต่ตัวภาพยนตร์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว หรือเห็น painting ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

 

แต่ก็มีบางคนที่อาจจะเห็นว่า กระบวนการสร้างภาพยนตร์บางเรื่องมีความน่าสนใจ เขาก็อาจจะทำหนังสารคดีเกี่ยวกับเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์บางเรื่อง อย่างเช่น MALADY DIARY (2004, Teekhadet Vucharadhanin) ที่เป็นเบื้องหลังการสร้างหนังเรื่อง TROPICAL MALADY หรือเขาอาจจะทำหนัง fiction เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ อย่างเช่น THE STATE OF THINGS (1982, Wim Wenders)

 

ซึ่งอาจจะเปรียบได้กับหนังสารคดีบางเรื่องที่นำเสนอกระบวนการวาดภาพ อย่างเช่น THE MYSTERY OF PICASSO (1956, Henri-George Clouzot)

 

แต่ DSC_3896 เหมือนผลักให้มันไปไกลกว่านั้น เพราะเราไม่เห็น “ความสำคัญของหนังที่ถ่าย” แบบ MALADY DIARY และเราไม่เห็นดราม่ารุนแรงแบบใน THE STATE OF THINGS เราเห็นแต่ทีมงานกองถ่ายที่ดูเหมือนคนธรรมดาทำงานตามปกติไปเรื่อยๆ

 

ถ้าเปรียบกับ paintings เราก็รู้สึกว่า หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงนิทรรศการศิลปะ CONSTANT UNCERTAINTY (2013) ของคุณ Angkrit Ajchariyasophon ที่นำเสนอ “ด้านหลัง” ของภาพวาดหลายๆภาพน่ะ เราไม่เห็นด้านหน้าที่สวยสดงดงามของ paintings ต่างๆ เราได้เห็นแต่ร่องรอยกระดำกระด่าง ขมุกขมัว เปรอะไปตามจุดต่างๆบนผืนผ้าใบ ที่อยู่ด้านหลังของ paintings เท่านั้น

 

หรือเหมือนกับว่า แทนที่หนังเรื่องนี้จะโฟกัสไปที่ paintings ที่สวยสดงดงาม หนังเรื่องนี้กลับโฟกัสไปที่ “ตะปูแต่ละตัว” ที่ตอกยึดกรอบรูปของ paintings แต่ละรูปกับฝาผนัง อะไรทำนองนี้ คือเหมือนกับหนังเรื่องนี้เลือกจุดโฟกัสที่แปลกประหลาดกว่าหนังทั่วๆไปเป็นอย่างมาก เราก็เลยชอบไอเดียของหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรง ถึงแม้ว่าตัวหนังมันอาจจะไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไรมากนักก็ตาม

 

2.เหมือนหนังเรื่องนี้โฟกัสไปที่ “บรรยากาศ” ในระดับที่มากพอๆกับ “การทำงานของกองถ่าย” ด้วย ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จาก location ได้ดีมาก เพราะ location ในหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นท้องถนนในต่างจังหวัด ที่เราจะมองเห็นท้องทุ่งและท้องฟ้าได้กว้างไกล การที่หนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับท้องฟ้า และทุ่งหญ้า มันก็เลยเหมือนเป็นการใช้ประโยชน์จาก location ได้ดี และเราว่าคุณ Tanakrit มีสายตาที่เฉียบคมในการถ่าย “บรรยากาศ” อะไรพวกนี้ด้วย

 

3.ฉากที่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ ก็คือฉากที่เราได้ยินเสียงคนในกองถ่ายพูดว่า “แอคชั่น” แต่เราเห็นแต่ภาพพงหญ้าที่ขยับไหวแค่เล็กน้อย คือเหมือนเสียงกับภาพมันเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่สถานที่ของเสียงกับภาพมันห่างจากกันเพียงแค่เล็กน้อย (คือแทนที่หนังจะถ่ายภาพผู้กำกับขณะพูดว่าแอคชั่น หนังกลับถ่ายภาพพงหญ้าข้างๆตัวผู้กำกับ) และการที่กล้องของหนังเรื่องนี้เลือกที่จะโฟกัสไปที่จุดที่ห่างจากแหล่งกำเนิดเสียง ก็เลยทำให้เกิด contrast ที่น่าสนใจสุดๆ เพราะคำว่า “แอคชั่น” มันมักจะกระตุ้นความคาดหวังว่าเราจะได้เห็น “การเริ่มต้นเคลื่อนไหวอะไรที่สำคัญ” แต่เรากลับเห็นเพียงแค่ลมรำเพยแผ่วพลิ้วสยิวใบหญ้าไปตามปกติ เราว่าความ contrast กันของภาพและเสียงในฉากนี้มันดีมากๆ

 

4.รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เหมาะฉายควบกับ  PEOPLE ON SUNDAY (2019, Tulapop Saenjaroen) มากๆ เพราะหนังทั้งสองเรื่องมันพูดถึงการใช้แรงงานของกองถ่ายภาพยนตร์เหมือนกัน แต่ DSC_3896 เป็นเหมือน “การสังเกตการณ์” ส่วน PEOPLE ON SUNDAY เป็น “การวิเคราะห์”

 

TROPICAL PLANT (2020, Tanakit Kitsanayunyong, 5min, A+30)

สวนพฤกษาในฝันเขตร้อน

 

1.หนังเรื่องนี้ประกอบด้วยเสียงสัมภาษณ์ผู้หญิงคนนึงพูดถึงปัญหาชีวิต เหมือนครอบครัวเธอมีปัญหารุนแรง ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ลูกชายของเธอหมกมุ่นกับการฆ่าตัวตาย และเขาก็ไม่ถูกกับพ่อเป็นอย่างมาก และครอบครัวของเธอก็น่าจะมีปัญหาการเงินด้วย

 

ส่วนภาพในหนังเป็นการถ่ายต้นไม้และวิวในบ้าน และถ่ายออกมาได้สวยสุดๆ โดยส่วนใหญ่เราจะเห็นภาพในแบบ superimposition เป็นสองภาพมาซ้อนกัน ซึ่งเป็นเทคนิคที่เหมือนกับในหนังเรื่อง MALADY OF US (2017, Tanakit Kitsanayunyong)

 

ต้องยอมรับจริงๆว่าคุณ Tanakit มี sense ในการถ่ายภาพที่สวยงามถูกใจเรามากๆ เหมือนเราชอบพลังด้านภาพของหนังเรื่องนี้มากๆ และการประกอบกันของภาพและเสียงในหนังเรื่องนี้ก็ดีงาม

 

2.รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เหมาะฉายควบกับ “พายายหมอนไปชมสวน” (2011, Wachara Kanha, 30min) 55555 เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้เหมือนนำเสนอปัญหาทางการเงินของชีวิตคนจริงๆเหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำออกมาเป็นหนังสารคดีที่เน้นเนื้อหา แต่ทำออกมาเป็นหนังทดลองที่เน้นบรรยากาศภายในบ้าน

 

3.ถ้าหากไม่นับ “VIDEO HAPPY NEW YEAR” ของคุณ Tanakit แล้ว เราก็เหมือนได้ดูหนังของคุณ Tanakit มาราว 10 เรื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานะ ซึ่งทั้ง 10 เรื่องนี้ได้แก่

 

3.1 QUOTATION MARK อัญประกาศ (2010)

3.2 HI-DEFINITION GIRL (2011)

3.3 “SOUND & MEMORY” I NOT YET GIVE IT A NAME, BUT I’LL FIND ITS NAME SOON (2012)

3.4 MALADY OF US (2017)

3.5 วันนี้อากาศดี ออกซิเจนเริ่มเข้ามาแล้ว (2018, 30min)

3.6 THE DISTANCE OF US ระยะห่าง (2018, 5min)

3.7 IMPUNITY มิใช่กระแสลมที่พัดพาพวกเขาหายไป (2018)

3.8 UNIVERSAL COUNTING LEADER (2018)

3.9 DSC_3896 (2020)

3.10 TROPICAL PLANT (2020)

 

 

 

No comments: