DREAM (2020, The Underground Office, 26min, A+30)
ฝัน (สำนักงานใต้ดิน)
1.ดีใจสุดๆที่ทางสำนักงานใต้ดิน และคุณ Teeranit Siangsanoh ยังคงทำหนังทดลองออกมาอยู่ในปีนี้
และฝีมือไม่ได้ด้อยลงเลย เราได้ดูหนังของสำนักงานใต้ดินมานาน 10 ปีแล้ว
และเราก็เลยดีใจมากๆที่พวกเขายังคงทำหนังทดลองกันอยู่
เหมือนหนังเรื่องสุดท้ายของคุณ Teeranit ที่เราได้ดู อาจจะเป็น “ชลลดาและหน้าหนู”
ในปี 2017 แล้วเราก็ไม่ได้ดูหนังของเขาอีก พอทางสำนักงานใต้ดินส่งหนังเรื่อง “ฝัน”
เข้าเทศกาลหนังสั้นในปีนี้ เราก็เลยดีใจสุดๆ
2. เหมือนหนังเรื่อง ฝัน อาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 องก์ใหญ่ๆ
องก์แรกทำให้นึกถึงหนังเรื่อง PHENOMENON (2012, Teeranit Siangsanoh, 29min) ที่เราชอบสุดๆ เพราะ PHENOMENON เป็นการเรียงร้อยฉากต่างๆที่ดูเหมือนธรรมดาสามัญและไร้ความหมายเข้าด้วยกัน
แล้วมันเรียงร้อยเข้าด้วยกันได้อย่างงดงามราวบทกวี และก่อให้เกิดพลังที่สะท้านสะเทือนใจเรามากๆ
ซึ่งองก์แรกของฝันก็จะมีลักษณะคล้ายๆอย่างนี้ แต่มันจะแตกต่างจาก PHENOMENON
ตรงที่มันจะมีเสียง voiceover ของผู้หญิงพูดคลอไปด้วย
และสิ่งที่ผู้หญิงคนนี้พูดก็จะคล้ายๆเป็นกึ่งบทกวี กึ่งกระแสสำนึก
3.ส่วนองก์สองของหนังเป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนในหนังของสำนักงานใต้ดิน
และเป็นสิ่งที่เราชอบสุดๆ เพราะองก์ที่สองของหนังเป็นการขึ้น text คำถาม อย่างเช่น “คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นตัวเองในภาพยนตร์”
แล้วตามด้วย found footage ของคนดังที่พูดอะไรสักอย่าง
แต่เราจะไม่ได้ยินเสียงของเขาเหล่านั้น อย่างเช่น found footage ของ Jean Seberg พูดอะไรสักอย่างราว 1-2 นาที
แล้วก็ต่อด้วยคำถามอย่างเช่น “ช่วงเวลาใดที่คุณรู้สึกมีความสุข” แล้วก็เป็น found
footage ของ Andrei Tarkovsky พูดอะไรสักอย่างราว
1-2 นาที แล้วก็ต่อด้วยคำถาม “คุณมองหนุ่มสาวในยุคนี้ว่าอย่างไร” แล้วก็เป็น found
footage ของ Jean-Luc Godard
พูดอะไรสักอย่างราว 1-2 นาที
หนังในองก์ที่สองจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบสุดๆ
มันเหมือนเป็นการใช้ found footage ในแบบที่แปลกใหม่สำหรับเรา
และมันช่วยกระตุ้นจินตนาการของเราอย่างรุนแรงมากๆ
เพราะเหมือนหนังมันตั้งคำถามที่ทั้งมีสาระและไร้สาระไปเรื่อยๆ
และในเมื่อเราไม่รู้ว่าคนดังเหล่านั้นพูดว่าอะไรบ้าง
เราก็เลยจะจินตนาการทั้งคำตอบของเราเองต่อคำถามนั้นๆ
และคำตอบของคนดังคนนั้นๆต่อคำถามนั้นๆไปด้วย อย่างเช่น ในฉากของ Godard เราก็จะคิดคำตอบของเราเองว่า ถ้าหากเราต้องตอบคำถามนี้ เราจะตอบอย่างไร
และเราแอบจินตนาการด้วยว่า ถ้าหาก Godard พูดถึงกลุ่มเยาวชนปลดแอก
Godard จะพูดถึงคนกลุ่มนี้ว่าอย่างไร
คือเหมือนองก์ที่สองของหนังมันกระตุ้นจินตนาการเราได้ดีมากๆ และมันกระตุ้นให้เราอาจจะคิดอะไรฟุ้งไปเรื่อยๆได้ไกลกว่าที่หนังตั้งใจไว้ด้วย
4.ส่วนองก์สามของหนัง (เหมือนหนังจะใช้ชื่อองก์นี้ว่า “ดาวดับแสงอวสาน”)
ก็กลับมาเป็นเหมือนองก์แรกอีกครั้ง คือหนังในส่วนนี้จะประกอบไปด้วยฉากของสิ่งที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันได้อย่างงดงามสุดๆ
อย่างเช่นฉาก “กระดิ่งบนยอดโบสถ์สั่นไหว”, “คนกลุ่มหนึ่งเล่นหมากรุก”, “อีกาบนต้นไม้”,
“คนทำนา”, “คนเดินท่ามกลางหิมะตกที่เมืองนอก”, “ฝูงผึ้ง”, “แมวเล่นโถส้วม” ฯลฯ แล้วมีเสียง
voiceover ของผู้หญิงพูดแบบกระแสสำนึก/บทกวี
คลอไปด้วย โดยเนื้อหาที่เธอพูดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นฐานจากดาวดวงหนึ่งไปสู่ดาวดวงใหม่
5.มีฉากที่เราชอบสุดๆมากมายหลายฉากในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะฉาก “จิ้งจกแอบมาฉกข้าวกิน”
และฉากแมวดำที่ถูกใส่กระบังที่คอ
ชอบมากๆที่คุณ Teeranit/สำนักงานใต้ดิน สามารถทำหนังแบบนี้ได้
หนังที่ประกอบด้วยฉากที่ดูเหมือนเป็นสิ่งธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน
และไม่มีความหมายอะไร แต่คุณ Teeranit ก็สามารถนำมันมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันได้อย่างงดงาม
และถึงแม้ฉากเหล่านี้มันจะยังคงดูเหมือน “ไม่มีความหมาย”
แต่เรากลับรู้สึกว่าเราได้รับผลกระทบทางอารมณ์ความรู้สึกจากหนังอย่างรุนแรงสุดๆ
ในระดับที่มากกว่าหรือเท่ากับการดูหนังของ Jonas Mekas, Klaus Wyborny, Eli
Hayes, etc.
6.ช่วงสุดท้ายของหนังเป็นส่วนที่เรากรี๊ดสุดเสียง โดยช่วงสุดท้ายของหนังจะคล้ายกับองก์ที่สอง
เพราะหนังจะขึ้น text คำถามว่า “ภาพยนตร์ในความหมายของคุณคืออะไร”
แล้วก็ตามมาด้วย found footage ของ Fred Kelemen พูดอะไรสักอย่าง, Philippe Grandrieux พูดอะไรสักอย่าง,
Derek Jarman พูดอะไรสักอย่าง และภาพถ่ายของ Chris
Marker
คือเราไม่รู้หรอกว่า ผู้กำกับเหล่านี้พูดอะไรบ้าง และเราไม่รู้หรอกว่า
หนังเรื่องนี้ต้องการจะบอกอะไรเรา แต่เรารู้ว่า “ภาพยนตร์ในความหมายของเรา”
ก็คือภาพยนตร์ที่กำกับโดย Fred Kelemen, Philippe Grandrieux, Derek Jarman
และ Chris Marker นี่แหละ เพราะภาพยนตร์ของผู้กำกับเหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่าคือนิยามของภาพยนตร์หรือจุดสุดยอดของภาพยนตร์ในความหมายของเราเอง
7.ถ้าใครอยากดู “ฝัน” ก็ไปดูได้ที่ห้องสมุดหอภาพยนตร์ในส่วนของ short film universe จนถึงวันที่
30 ธ.ค.นะ
https://www.facebook.com/ThaiShortFilmVideoFestival/posts/2057666974363952
ส่วนถ้าหากใครยังไม่เคยดู PHENOMENON
ก็ดูได้ที่นี่นะ
หรือถ้าใครอยากดูหนังเรื่อง “เฟื่อง” (2010, สำนักงานใต้ดิน)
ที่เหมือนเป็นภาคแรกของ “ฝัน” ก็ดูได้ที่นี่
https://www.youtube.com/watch?v=vfPYYMQODlI&t=162s
No comments:
Post a Comment