Sunday, May 02, 2021

BANGKOK TRADITION

 

COLOMBE (2021 Jakkaphat Songpolnopajorn, 30min, A+30)

 

 

1.หนังเรื่องนี้เป็นหนังการเมืองที่สะท้อนผ่านทางการกดขี่หรือระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน ซึ่งจริง ๆ แล้วมีการผลิตหนังสั้นไทยทำนองนี้ (โรงเรียนหรือมหาลัย/ระบอบเผด็จการ) ออกมาเกือบทุกปีนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา จนอาจจะเรียกได้ว่าหนังกลุ่มนี้ถือเป็น genre สำคัญอันหนึ่งของหนังสั้นไทยไปแล้ว และเราก็ชอบหนังสั้นกลุ่มนี้มาก ๆ และรู้สึกว่าแต่ละเรื่องมันก็มีข้อดีของตัวเองที่แตกต่างกันไป และมีรายละเอียดที่น่าสนใจแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง ซึ่งรวมถึงเรื่อง ประชาธิปตาย (2007, ดวงพร ภควิโรจน์กุล), GHOSTS IN THE CLASSROOM (2011, Ukrit Sa-nguanhai) , MAY THE YEAR AHEAD BRING YOU GOOD LUCK (2013, Onnalin Techapuwapat, documentary), EDUCATION SUICIDE (2014, Karnchanit Posawat), PRESENT SIMPLE TENSE (2014, Adisak Chanchaipoom), 329 (2014, Tinnawat Chankloi), ฝนเม็ดน้อย (2016, Boonyarit Wiangnon), ถ้า A ไม่เป็นสับเซตของ B (2017, Chutimun Khongtinthan), FROM NOW ON (2019, Katchata Hirunyapreecha), MUST ROOM (2019, Atchara Komsod), เที่ยงไม่ตรง (2020, Atichat Hasap)

 

2.ใน COLOMBE เราชอบการสร้างตัวละครหลักฝ่ายพระเอก 3 ตัวมาก ๆ เพราะทั้ง 3 ตัวนี้ทำให้เรานึกถึงคนกลุ่มต่าง ๆ ที่เรามักพบเจอในฝ่าย liberal และนึกถึง “การทะเลาะกันภายในหัวของตัวเราเองด้วย” (โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ)

 

คือเหมือนกับว่าตัวละครทั้ง 3 ตัวนี้มีตั้งแต่คนที่หัวรุนแรงที่สุด, คนที่กลาง ๆ และคนที่หัวอ่อนที่สุดหรือขี้ขลาดที่สุดน่ะ ซึ่งมันทำให้เรานึกถึงเวลาที่เราอ่านความเห็นของเพื่อน ๆ ใน Facebook มาก ๆ เพราะเพื่อน ๆ ฝ่ายประชาธิปไตยแต่ละคนก็จะมีความเห็นแตกต่างกันไปในแต่ละประเด็น มีทั้งคนที่บู๊ที่สุด หรือคนที่กล้าหาญชาญชัยมากกว่าเราเป็นร้อย ๆ พัน ๆ เท่า, คนที่ต้องการเรียกร้อง แต่ยึดสันติวิธีเป็นหลัก และคนที่อาจจะเป็นไส้ศึกของอีกฝ่ายหนึ่ง

 

เราก็เลยชอบการสร้างตัวละครหลัก 3 ตัวของฝ่ายพระเอกมาก ๆ เพราะมันทำให้เรานึกถึงความแตกต่างกันของเพื่อน ๆ ใน Facebook ได้ดีเลยทีเดียว

 

และสิ่งที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มาก  ๆ โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจก็คือว่า มันทำให้เรานึกถึงการต่อสู้ภายในจิตใจของตัวเราเองด้วย หรือการทะเลาะกันในหัวของตัวเราเองด้วย เราชอบที่หนังสร้างให้ตัวละครพระเอกเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างเพื่อนที่กล้าหาญกว่า กับเพื่อนที่ขี้ขลาดกว่าน่ะ เพราะเราว่าตัวเราเองก็เผชิญกับ “การถกเถียงกับความขี้ขลาด และความอยากจะทำอะไรรุนแรง”  ในใจตัวเองเหมือนกัน มันเหมือนกับว่าในบางวัน เราก็รู้สึกเหมือนถูกครอบงำด้วยความโกรธ และอยากจะทำอะไรรุนแรง แต่ในบางวัน เราก็รู้สึกว่า “เรื่องนี้กูจะไม่ยุ่ง” กูขออยู่ห่าง ๆ อะไรทำนองนี้ 55555 มันเหมือนกับว่าในแต่ละวันความเห็นของเราจะซัดส่ายไปมาระหว่างความเห็นของเพื่อนแต่ละกลุ่ม บางวันเราก็เห็นด้วยกับสายบู๊รุนแรง และบางวันเราก็เห็นด้วยกับอีกฝ่าย เปลี่ยนใจไปมาเรื่อย ๆ ในแต่ละสถานการณ์และในแต่ละวัน เราก็เลยชอบที่หนังเรื่องนี้ออกแบบตัวละครฝ่ายพระเอกให้มีความแตกต่างกันแบบนี้

 

3.จองเป็นตัวละครเด็กสาวที่ถูกรุมทำร้ายอย่างรุนแรง ชอบตัวละครตัวนี้มาก ๆ

 

4.ชอบตอนจบของหนังอย่างสุด ๆ

 

 

MEMORIES OF A GREY HOUSE (2021, Thiraphol Kittisiripornkul, 78min, A+30)

 

1.ชอบความทะเยอทะยานของหนังมาก ๆ ชอบที่หนังเล่าเรื่องแบบย้อนเวลาไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ ช่วงเวลา รู้สึกว่าโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบนี้มันยากพอสมควรน่ะ

 

2.จริง ๆ แล้วเราอยู่ฝ่ายตัวละครเด็กผู้ชายนะ คือถ้าเป็นเรา เราก็คงไม่แคร์มากนักที่พ่อไปแต่งงานใหม่ แต่เราก็เข้าใจตัวละครเด็กผู้หญิง คิดว่าความที่เธอยังเป็นเด็ก เธอก็เลยยังไม่เข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลานั้น และเธอก็เลยไปยึดติดกับสิ่งที่ไม่ควรยึดติด มันเป็นเรื่องความคิดของเด็กจริง ๆ น่ะ

 

3.แต่ก็รู้สึกว่าอารมณ์ของหนังอาจจะยังไม่ smooth หรือไม่ทรงพลังแบบเต็มร้อยนะ ซึ่งก็เป็นเพราะหนังเลือกใช้ท่ายากในการเล่าเรื่องแบบหลายช่วงเวลานี่แหละ มันก็เลยยากมาก ๆ ที่หนังจะสามารถร้อยเรียงอารมณ์ให้ส่งพลังต่อเนื่องกันได้จนถึงขั้นรุนแรงในช่วงท้ายแบบหนังทั่วไป

 

คือเรารู้สึกว่าด้วยเนื้อหาของหนังและโครงสร้างของหนังแล้ว เหมือนหนังเรื่องนี้มีพลังงานศักย์สูงมากน่ะ เหมือนมีพลังงานศักย์ร้อยนึง แต่พลังงานจลน์ออกมาแค่ 90 มันเหมือนกับว่าถ้ามีการปรับบทอะไรสักเล็กน้อย เพื่อให้การร้อยเรียงอารมณ์มัน smooth หรือรับส่งกันได้ดีกว่านี้ หนังมันอาจจะทรงพลังมากขึ้น แต่ถ้าหากถามว่าต้องปรับยังไง เราก็ไม่รู้เหมือนกัน 55555 เพียงแต่คิดว่ามันเหมือนยังมีพลังงานทางอารมณ์บางอย่างในหนังที่ยังออกมาไม่เต็มที่ หรือเหมือนกับว่าเรากะจะร้องไห้แล้ว แต่พอดูจบแล้วกลับไม่ร้องไห้อย่างที่เตรียมไว้ในตอนแรก 55555

 

BANGKOK TRADITION (2021, Thamuya ฐามุยา ทัศนานุกูลกิจ, 62min, A+30)

 

1.ร้องหวีดกรีดสลบ ทำไมหนังมันโดนใจเราขนาดนี้ ชอบมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ชอบสีสันของตัวละครหญิงแต่ละตัวในเรื่องมาก ๆ ชอบนางเอกที่ไม่ใช่สาวสวย แต่เป็นสาวออฟฟิศต๊อกต๋อยที่พยายามดิ้นรนจนสุดชีวิตเพื่อให้ตัวเองมีงานทำต่อ เราก็เลย identify ตัวเองกับนางเอกตรงจุดนี้ได้อย่างรุนแรงมาก ๆ คือเธอไม่ใช่ “นักข่าวสาวสวยผู้มีอุดมการณ์อันแรงกล้า” น่ะ แต่เป็นผู้หญิงธรรมดาคนนึงที่ไม่ต้องการจะตกงาน และเธอก็เลยสู้ยิบตาเพื่อที่ตัวเองจะได้มีงานทำต่อไป

 

2.อีกสาเหตุที่ทำให้เรารักหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ เป็นเพราะเราอายุ 48 ปี เติบโตมาในยุคทศวรรษ 1980 เติบโตมากับกระแสความตื่นตระหนกอย่างรุนแรงเรื่องโรคเอดส์ และที่สำคัญที่สุดก็คือ กูเติบโตมากับเครื่องพิมพ์ดีด OLYMPIA จ้า 5555555 คือวัยเด็กเราผูกพันกับเครื่องพิมพ์ดีด OLYMPIA มาก ๆ เพราะที่บ้านเรามีอยู่เครื่องนึง และที่บ้านเราจน ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์  (เพิ่งมามีในทศวรรษ 1990) วัยเด็กเราก็เลยเติบโตมากับการนั่งเล่นเครื่องพิมพ์ดีด และไปเรียนตามโรงเรียนสอนพิมพ์ดีด

 

เพราะฉะนั้นการได้เห็นนางเอกหนังเรื่องนี้หอบเครื่องพิมพ์ดีดมาสำนักงาน และการได้เห็นนางเอกกับเพื่อนๆ นั่งพิมพ์ดีดกันอย่างบ้าคลั่ง มันก็เลยสร้างความฟินกับเราอย่างสุดๆ  nostalgia มาก ๆ อยากกลับไปนั่งพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดอีก 555555

 

3.รักตัวละครหญิงในหนังเรื่องนี้มาก ๆ ทั้ง

 

3.1 นางเอก ฉากที่เธอถุยน้ำลายใส่รองเท้าเจ้านายนี่เป็นฉากที่ลืมไม่ลงจริง ๆ

 

3.2 สาวท้วมที่ไอตลอดเวลา เธอเป็นผู้หญิงที่แรงมาก ๆ ชอบพลังงานที่ล้นเหลือในตัวเธอ

 

3.3 เพื่อนร่วมงานนางเอกที่ “ปลงตกกับชีวิตแล้ว”  (ชื่อ “ยุ” หรือเปล่า เราไม่แน่ใจ) จริงๆ แล้วเรา identify ตัวเองกับตัวละครตัวนี้มากที่สุด  55555555 คือเรา identify ตัวเองกับ “นางเอกหนังเรื่องนี้” มากกว่า “นางเอกหนังไทยโดยทั่วไป” นะ แต่ถ้าหากเทียบกันระหว่างตัวละครในหนังเรื่องเดียวกันแล้ว เราก็ identify ตัวเองกับตัวละครตัวนี้มากที่สุด คือกลัวตกงานก็กลัวนะ แต่เราหมดแรงจะกระเสือกกระสนดิ้นรนอะไรแล้วล่ะ มันเป็นเพราะ “อายุ” ด้วยแหละมั้ง ยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งหมดแรงจะดิ้นรนกับชีวิต เราก็เลยเข้าใจตัวละครตัวนี้มากที่สุด

 

3.4 เจ้านายนางเอก ที่ทำเป็นสั่งงานนางเอกให้ซ่อมพิมพ์ดีดกับขัดรองเท้า คือเธอไม่ได้ทำตัว “ร้ายแบบออกหน้าออกตา” น่ะ แต่เหมือนเป็นคนเหี้ยแบบที่มักพบได้ในระดับ middle manager จริง ๆ

 

3.5 ผู้บริหารหญิงของสำนักข่าว ที่ดูมีออร่าน่ากลัวบางอย่าง เราชอบมาก ๆ ด้วยแหละที่หนังแสดงอิทธิฤทธิ์หรือความร้ายของคนในแต่ละสถานะในแบบที่แตกต่างกันไป ทั้งในระดับลูกจ้างหญิงที่ปากร้ายมาก ๆ, หัวหน้าแผนกที่ออกคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมกับลูกน้อง และผู้บริหารบริษัทที่ดูมีอิทธิพล

 

3.6 สาวบาร์ที่ถูกฆ่าตายคนแรก

 

3.7 อดีตสาวบาร์ที่อยู่ในอพาร์ทเมนท์

 

3.8 สาวบาร์ที่ให้ข้อมูลกับนางเอก

 

คือเราว่าตัวละครหญิงทั้ง 8 ตัวมันแรงหมดทุกตัวเลย และมันเชือดเฉือนบทบาทกันได้ถึงใจพระเดชพระคุณมาก ๆ โดยเฉพาะสามสาวออฟฟิศ หนังมันก็เลยเข้าทางเราอย่างสุด ๆ

 

4.ชอบการแสดงของนักแสดงทุกคนด้วย สุดยอดมาก ๆๆๆๆๆ

 

5.ชอบความเป็น conspiracy thriller ด้วย

 

6.สรุปว่าเป็นหนึ่งในหนังไทยขนาดยาวที่เข้าทางเรามากที่สุดเท่าที่เคยดูมาในชีวิต เพราะเราชอบทั้งความเป็นการเมืองของหนัง, ยุคสมัยที่หนังเลือกใช้, การใช้ prop สำคัญเป็นเครื่องพิมพ์ดีด, การนำเสนอชีวิตสาวออฟฟิศที่กลัวตกงาน, การปะทะกันระหว่างสาวออฟฟิศกับสาวบาร์, พลังทางการแสดงของนักแสดงแต่ละคน และการสร้างตัวละครหญิงแต่ละตัวได้สุดตีนจริง ๆ

 

A QUESTION OF SILENCE (1982, Marleen Gorris, Netherlands, A+30)

(มีเปรียบเทียบกับ PROMISING YOUNG WOMAN)

 

1.สุดชีวิตฮิสทีเรียจริง ๆ หนังเปิดเรื่องด้วยจิตแพทย์สาวนางหนึ่งที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผัวหนุ่มยอมมี sex กับเธอให้ได้ แล้วหลังจากนั้นเธอก็ได้รับการ assign งานให้ไปประเมินสภาพจิตของหญิงสาวสามนางที่อยู่ดี ๆ ก็รุมกันฆ่าชายหนุ่มคนนึงตายในร้านขายเสื้อผ้าโดยไม่มีสาเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น โดยหน้าที่ของจิตแพทย์สาวคือการประเมินว่าหญิงสาวสามนางนี้เป็นบ้าหรือเปล่า

 

2.ชอบหนังแบบนี้อย่างสุดๆ เพราะหนังที่เข้าทางเราก็คือหนังเกี่ยวกับ “จิตวิทยาผู้หญิง”, “ผู้หญิงบ้า”, “ผู้หญิงแรง ๆ” และ “ผู้หญิงที่มีความรุนแรงซ่อนอยู่ในตัว” (อย่างเช่น STOKER, MAPS TO THE STARS, LA CEREMONIE) เหมือนหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นมาเพื่อมิสจิตรจริง ๆ

 

3.ชอบที่หนังมันเลือกเดิน “เส้นทางอันตราย” ด้วย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับละครทีวีอย่าง “ล่า” และ PROMISING YOUNG WOMAN (2020, Emerald Fennell) คือนิยายเรื่อง “ล่า” ของทมยันตีนี่ถือเป็นหนึ่งในนิยายที่เราชอบที่สุดในชีวิตนะ และ PROMISING YOUNG WOMAN นี่ก็ถือเป็นหนังที่เราชอบอย่างรุนแรงมาก ๆ เหมือนกัน แต่ปัจจัยนึงที่เราชอบล่าและ PROMISING YOUNG WOMAN มาก ๆ เป็นเพราะว่า เราสามารถ approve การกระทำของนางเอกทั้งสองเรื่องได้ในใจเราน่ะ คือถ้าหากเราตกอยู่ในสถานะเดียวกับนางเอกของทั้งสองเรื่องนี้ เราก็จะทำแบบเดียวกับนางเอกล่า และจะทำใน “สิ่งที่รุนแรงกว่า” สิ่งที่นางเอก PROMISING YOUNG WOMAN ทำเสียอีก เพราะฉะนั้นถึงแม้เราจะชอบล่าและ PROMISING YOUNG WOMAN อย่างสุดๆ แต่หนังสองเรื่องนี้ “ไม่ได้รบกวนอะไรจิตใจเราเลย” หรือไม่ได้สร้าง dilemma ใด ๆ ในใจเรา หรือไม่ disturbing อะไรเราเท่าใดนัก เพราะเรามองว่านางเอกของทั้งสองเรื่องแทบไม่ได้ทำร้ายผู้บริสุทธิ์เลยน่ะ เพราะฉะนั้นถึงแม้เราจะชอบ PROMISING YOUNG WOMAN อย่างสุด ๆ แต่เราก็รู้สึกว่า PROMISING YOUNG WOMAN เป็นหนังที่ “ปลอดภัยสุด ๆ” เมื่อเทียบกับหนังแบบ A QUESTION OF SILENCE

 

4.เราก็เลยชอบ “ความก้าวพ้นขอบเขตทางศีลธรรม” ของ A QUESTION OF SILENCE อย่างมาก ๆ เหมือนมันท้าทายเรา และ disturb เราพอ ๆ กับ BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder), L’ARGENT (1983, Robert Bresson) และ BAISE-MOI (2000, Virginie Despentes, Coralie Trinh-Thi) น่ะ

 

คือเราไม่ APPROVE และไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงกับการกระทำของสามสาวฆาตกรใน A QUESTION OF SILENCE อย่างแน่นอนอยู่แล้ว เพราะมันเป็นการฆ่าคนบริสุทธิ์ หรือคนที่เหมือนกับเรา คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรทั้งสิ้น เรามองว่าผู้ชายที่ถูกฆ่าตายในหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากเรา แต่เราว่าหนังมันเก่งสุดๆ ที่ถึงแม้เราจะมองว่า “เหยื่อฆาตกรรม” ในหนังเรื่องนี้เหมือน ๆ กับเรา แต่หนังไม่ได้ทำให้เรามองกลุ่มฆาตกรในเรื่องด้วยความเกลียดชังอย่างรุนแรง แต่ทำให้เรามองกลุ่มฆาตกรด้วยความพยายามจะทำความเข้าใจ ซึ่งเราว่ามันเป็นการเล่นท่ายากมาก ๆ

 

เหมือนหนังพยายามจะแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่สามสาวนี้อยู่ดี ๆ จะลุกขึ้นฆ่าคนบริสุทธิ์นั้น พวกเธอเจออะไรมาในชีวิตบ้าง

 

พอเราดู A QUESTION OF SILENCE เราก็เลยนึกถึง BREMEN FREEDOM ที่สร้างจากชีวิตจริงของแม่บ้านคนนึงที่ทยอยวางยาพิษฆ่าคนตายไปเป็นจำนวนมาก, L’ARGENT ที่เล่าเรื่องของชายหนุ่มคนนึงที่เผชิญกับความอยุติธรรม เขาก็เลยกลายเป็นฆาตกรโรคจิต และฆ่าคนบริสุทธิ์ตายไปหลายคน และ BAISE-MOI ที่เล่าเรื่องของสองสาวฆาตกรโรคจิต โดยหนึ่งในนั้นเคยถูกกลุ่มผู้ชายรุมข่มขืน แต่เธอไม่ได้ฆ่ากลุ่มผู้ชายที่รุมข่มขืนเธอแต่อย่างใด เธอกลับไปฆ่าเด็กเล็ก (อันนี้มีในตัวนิยาย แต่ไม่มีในตัวหนัง) , ผู้หญิง และผู้ชายหลาย ๆ คนที่รวมถึงคนที่ไม่ได้ทำอะไรผิดด้วย

 

เราว่าหนังพวกนี้มัน disturbing มาก ๆ น่ะ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเหยื่อที่ลุกขึ้นมาตอบโต้แก้แค้นคนร้าย แต่เป็นเรื่องของเหยื่อที่ถูกคนชั่ว/ระบบสังคมทำร้าย แต่เหยื่อกลับไม่ได้แก้แค้นคนชั่ว เหยื่อกลับกลายไปเป็นฆาตกรโรคจิตที่ออกไล่ฆ่าคนบริสุทธิ์ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด

 

เราว่าหนังกลุ่มนี้มันเลือก “เส้นทางอันตราย” ที่น่าสนใจดี เราไม่สามารถเห็นด้วยกับการกระทำของฆาตกรโรคจิตในหนังเหล่านี้ได้ แต่เราก็ไม่สามารถเกลียดชังพวกเขาอย่างรุนแรงแบบที่เราเกลียดชังฆาตกรโรคจิตในหนัง thriller/horror ได้เช่นกัน

 

บางทีมันก็ทำให้เรานึกถึงตัวเราเองด้วยนะ เหมือนบางครั้งพอเรามีอารมณ์โกรธสะสมไว้ในใจ บางทีเราก็เผลอระบายมันออกมาใส่คนที่ไม่รู้เรื่องด้วยน่ะ อย่างเช่นในบางครั้งเราโมโหใครหรืออะไรสักอย่าง เหมือนเรามีไฟคุกรุ่นอยู่ในใจ แล้วเราไปซื้อของในร้านค้า แล้วพนักงานในร้านถามอะไรเรา เราก็เคยเผลอตอบกลับไปด้วยน้ำเสียงที่ห้วนสุด ๆ น่ะ แล้วเราเองก็ตกใจ เพราะพนักงานคนนั้นไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เหมือนเราขาดสติ ควบคุมสวิตช์อารมณ์ในใจเราไม่ทัน อารมณ์โกรธที่เรามีต่อ MR. ABC อะไรสักอย่าง ก็เลยไปลงที่พนักงานร้านค้าที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แทน

 

แล้วเราว่าบางทีอารมณ์โกรธของบางคนที่มีต่อคนอื่น/กลุ่มคน/สังคม  ก็อาจจะถูกระบายออกไปด้วยการทำร้ายคนที่มีสถานะด้อยกว่าด้วย อย่างเช่นผู้หญิงบางคนที่ถูกผัวทำร้าย ก็อาจจะระบายอารมณ์ด้วยการไปลงกับลูก, พนักงานออฟฟิศที่ถูกเจ้านายด่า ก็อาจจะระบายอารมณ์ด้วยการไปด่าพนักงานล้างห้องน้ำต่อ อะไรทำนองนี้

 

หรือตัวอย่างที่ง่ายที่สุดของ “เหยื่อที่กลายเป็นผู้กระทำ” ก็คือ นาซี—ยิว/อิสราเอล—ปาเลสไตน์ น่ะ

 

เราก็เลยชอบหนังกลุ่มนี้อย่างสุด ๆ เพราะเราสนใจ “ความดำมืดในจิตใจมนุษย์” ที่มีความเป็น dilemma และมีการส่งต่อกันเป็นทอด ๆ แบบนี้

 

5.สามสาวฆาตกรก็น่าสนใจมาก ๆ เลยด้วย คนนึงเป็นแม่บ้านที่มีลูกเล็ก และเธอไม่ยอมพูดอะไรเลย นึกถึง PERSONA (1966, Ingmar Bergman) มาก ๆ ส่วนอีกคนเป็นป้าเจ้าของร้านกาแฟ/ร้านอาหาร ที่ชอบพูดมาก และมีบุคลิกที่ทำให้นึกถึงนางเอก SHIRLEY VALENTINE (1989, Lewis Gilbert) ส่วนอีกคนเป็นเลขานุการิณี ที่นอกจากจะมีศักยภาพของความเป็นฆาตกรแล้ว เธอยังมีศักยภาพของความเป็นกะหรี่ และความเป็นผู้บริหารหญิงด้วย คือถ้าหากเธอไม่ได้อยู่ในสังคมที่ปิดกั้นเธอ เธอก็น่าจะได้ไต่เต้าจากการเป็นเลขานุการิณี ขึ้นไปเป็นผู้บริหารสาวแบบใน WORKING GIRL (1988, Mike Nichols) หรือในละครทีวีแบบ MELROSE PLACE แล้ว

 

6.ดูแล้วรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นทายาทของ JEANNE DIELMAN, 23, QUAI DU COMMERCE, 1080 BRUXELLES (1975, Chantal Akerman) และ THE SECOND AWAKENING OF CHRISTA KLAGES (1978, Margarethe von Trotta, West Germany) ด้วย

 

7.ดูแล้วนึกถึงเพื่อนคนนึงมาก ๆ ด้วย เพราะเพื่อนคนนี้เคยเล่าพล็อตหนังในจินตนาการให้เราฟังเมื่อราว 25 ปีก่อนว่า หนังที่เขาอยากสร้างประกอบไปด้วยเรื่อง

 

7.1 หนังที่ติดตามหญิงสาวคนนึงที่เดินอย่างเริงร่าไปตามท้องถนนในยามเช้า เธอแวะดูสิ่งต่าง ๆ ตามท้องถนนและร้านค้าต่าง ๆ ด้วยความร่าเริงเบิกบานใจ มันเป็นเช้าที่สดใสสุด ๆ สำหรับเธอ เพราะวันนี้เธอวางแผนจะฆ่าสามีของตัวเอง

 

7.2 หนังที่เล่าเรื่องของศึกษานิเทศก์สาว ที่ถูกส่งไปสอบสวนกรณีครูสาวคนนึงในชนบท เพราะชาวบ้านหลายคนในตำบลนั้นลือกันว่า ครูสาวคนนี้เป็นบ้า แต่พอศึกษานิเทศก์สาวคนนี้สอบสวนกรณีดังกล่าว แล้วสาวลึกเข้าไปเรื่อย ๆ เธอก็พบว่า คนที่เป็นบ้าคือตัวศึกษานิเทศก์สาวนี่เอง

 

คือเราชอบพล็อตหนังในจินตนาการที่เพื่อนเราเล่าให้ฟังตั้งแต่ 25 ปีก่อนมาก ๆ แล้วพอเราได้มาดู A QUESTION OF SILENCE เราก็เลยพบว่ามันมีบางอย่างใกล้เคียงมาก ๆ เหมือนหนังเรื่องนี้มันมีบางอย่างใกล้เคียงกับหนังในจินตนาการของเรากับเพื่อน ๆ มานานหลายสิบปีแล้วน่ะ เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ

 

ดูหนังเรื่องนี้ได้ฟรีทางเว็บข้างล่างนี้จนถึงวันที่ 3 พ.ค.เป็นวันสุดท้าย

https://www.another-screen.com/silence-laughter

 

No comments: