Sunday, April 09, 2023

BHOLAA (2023, Ajay Devgn, India, 144min, A+25)

 

BHOLAA (2023, Ajay Devgn, India, 144min, A+25)

 

1. รัก Tabu มาก ๆ เหมือนเธอจะมีภาพลักษณ์เป็นผู้หญิงแข็งแกร่ง ไม่อ่อนแอ ไม่เปราะบาง ไม่โง่ เธอก็เลยได้รับบทที่ค่อนข้างถูกโฉลกกับเรา แต่เสียดายที่หนัง mainstream ของอินเดียอาจจะไม่ได้มีพื้นที่ให้ตัวละครหญิงที่มีความน่าสนใจจริง ๆ มากนัก บทของเธอก็เลยดูดี ดูเท่ แต่ไม่ได้ลึกหรือมีความน่าสนใจอย่างรุนแรง ทั้งในหนังเรื่องนี้และใน KUTTEY (2023, Aasmaan Bhardwaj) ที่เธอรับบทเป็นตำรวจหญิงแกร่งทั้งสองเรื่อง

 

2. ชอบช่วงครึ่งแรกของหนังมาก ๆ เหมือนหนัง set up สถานการณ์ได้น่าสนใจมาก ๆ สำหรับเรา นึกว่ามันจะดุเดือดเลือดพล่านแบบ ASSAULT ON PRECINCT 13 (2005, Jean-Francois Richet) + COPSHOP (2021, Joe Carnahan) + JOHN WICK และพอมันมีตัวละครที่คล้าย ๆ กลุ่มนักศึกษามหาลัยมาติดอยู่ในสถานีตำรวจด้วย เราก็แอบหวังในตอนแรกว่า หนังมันจะมีความ MACGYVER (1985-1992) ด้วย แบบตัวละครนักศึกษาใช้ความรู้+ไหวพริบในการเอาตัวรอดจากเหล่าร้าย

 

แต่พอดูช่วงครึ่งหลัง หนังมันก็ "แผ่ว" กว่าที่เราคาดไว้มาก ๆ เราก็เลยไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30

 

3.เราว่าข้อดีข้อเสียของหนังเรื่องนี้ สะท้อนปัญหาของหนังแอคชั่นอินเดียสำหรับคนดูอย่างเราได้เหมือนกัน เพราะเราว่า จุดที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ค่อยเข้าทางเรา ตรงกับจุดอ่อนของหนังแอคชั่นอินเดียหลาย ๆ เรื่อง อย่างเช่น

 

3.1 พระเอกดู "เก่ง" และ "หนังเหนียว" เกินไป ซึ่งเราว่ามันเป็นสิ่งที่พบได้ในหนังแอคชั่นอินเดียอีกหลาย ๆ เรื่อง เราก็เลยไม่อิน และไม่รู้สึกเอาใจช่วย แต่สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ชมที่เป็น "ชายแท้" ที่คงอินกับพระเอกแบบนี้ และไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ชมชาวอินเดีย

 

คือเราว่าหนังแอคชั่นของชาติอื่น ๆ พระเอกก็ไม่ได้ดู "หนังเหนียว" มากเท่าหนังอินเดียนะ ยกเว้น JOHN WICK เราก็เลยสงสัยว่า การที่พระเอกหนังอินเดีย มีลักษณะแบบนี้ มันเกี่ยวข้องกับ "ศาสนา" หรือเปล่า ที่มีความเชื่อเรื่อง "เทพเจ้าบางองค์ อวตารลงมาปราบมารในโลกมนุษย์" คือพอตัวละครพระเอก มันมีความเป็นเทพเจ้าอยู่ด้วย มันก็เลยหนังเหนียวกว่าพระเอกหนังของชาติอื่น ๆ ที่เป็น "มนุษย์ที่ฝึกฝนตนเองจนเก่ง"

อย่างใน BHOLAA นี่เห็นชัดเลยว่า ฉากต่อสู้สำคัญ มันเกิดในวิหารบูชาเทพเจ้า และพระเอกใช้ "ตรีศูล" เป็นอาวุธ มันก็เลยดูมีนัยะทางศาสนามากๆ

 

และแม้แต่ใน RRR ตัวละครหนึ่งในพระเอก ก็ถูกโยงเข้ากับความเชื่อเรื่องเทพ และใช้อาวุธเป็นธนูกับลูกศร ที่ทำให้นึกถึงตำนานทางศาสนาเหมือนกัน แต่ RRR ดูแล้วยังลุ้นมาก ๆ อยู่ เพราะหนังมันเขียนบทเก่งมากในการเร้าอารมณ์คนดู และพระเอกทั้งสองคนก็ไม่ได้ดูหนังเหนียวมากเกินไป

 

3.2 เราว่าหนังเรื่องนี้มีปัญหาเรื่อง "คิวบู๊" มากพอสมควร และมันคือจุดอ่อนของหนังบู๊อินเดียหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ "หนังฮ่องกง" ที่มีคิวบู๊ที่ตรงจริตเรามากที่สุด

 

คือเราว่าคิวบู๊ในหนังอินเดียหลาย ๆ เรื่องมันเน้นการโพสท่าเท่ ๆ มากกว่าการต่อสู้กันจริง ๆ น่ะ โดยเฉพาะหนังที่แสดงโดย Tiger Shroff แต่ Tiger มีข้อดีคือ "ความหล่อล่ำ" มันก็เลยหักลบกลบหนี้กันไปได้ 555 แต่ถ้าหากเป็นดาราอินเดียที่ "ไม่หล่อ" ในสายตาของเรา ข้อเสียนี้มันก็จะโดดเด่นขึ้นมาสำหรับเรา 555

 

และเราว่าจุดอ่อนด้านคิวบู๊ในหนังเรื่องนี้มันเห็นชัดมาก ๆ คือถ้าหากเราดูไม่ผิด มันมีหลายๆ ฉากที่ฝ่ายผู้ร้ายเหมือนไม่ได้วิ่งเข้ามาเพื่อทำร้ายพระเอก แต่เหมือนวิ่งเข้ามาเพื่อให้พระเอกทำร้ายน่ะ คือจังหวะในการต่อสู้มันโบ๊ะบ๊ะมาก แต่ฉากพวกนี้มันเร็ว คนดูก็เลยอาจจะมองข้าม ๆ ไป แต่เราว่าเราเห็นนะ ไม่รู้ว่าคนดูคนอื่น ๆ เห็นเหมือนเราหรือเปล่า คือเหมือนผู้ร้ายเห็นแล้วว่า ถ้าหากวิ่งเข้าไปสู้ตอนนั้น จะต้องโดนพระเอกทำร้ายแน่ ๆ ก็เลยค่อยวิ่งเข้าไปสู้ 555

 

และฉากนึงที่ติดตาสุด ๆ สำหรับเรา คือฉากที่พระเอกทำร้ายผู้ร้ายที่อยู่ทางซ้ายมือของพระเอก แล้วมีผู้ร้ายคนนึงวิ่งเข้ามาทางด้านขวาของพระเอก ซึ่งถ้าหากตามหลักความเป็นจริง ผู้ร้ายคนนั้นจะต้องฉวยโอกาสดีอันนี้ในการรีบเข้ามาทำร้ายพระเอกจากทางด้านขวาน่ะ เพราะพระเอกเปิดจุดอ่อนตรงนั้นพอดี แต่เราเห็นชัด ๆ เลยว่า ผู้ร้ายทางด้านขวา “หยุดชะงัก” น่ะ แทนที่จะรีบฉวยโอกาสดีอันนั้น เราก็เลยขำมาก ๆ คือเหมือนนักแสดงมันเข้ามาในเฟรมแบบผิดคิว หรือเขาคุมคิวบู๊ไม่ดี หรืออะไร นักแสดงที่เล่นเป็นผู้ร้ายก็เลย “หยุดชะงัก” แทนที่จะรีบฉวยโอกาสดีอันนี้ในการเข้ามาทำร้ายพระเอก 555

 

3.3 และหนังอินเดียมันเน้นความเว่อร์วังอลังการเป็นหลักด้วย ไม่ได้เน้นความสมจริง คือมันไม่แคร์ทฤษฎีสัมพัทธภาพ, แรงโน้มถ่วงโลก, หลักฟิสิกส์, เคมี, ชีวะ หักล้างกฎเกณฑ์ของไอน์สไตน์, ไอแซค นิวตัน ฯลฯ เหมือนกับหนังจีนกำลังภายใน และหนังแนว superhero ของฮอลลีวู้ด แต่เหมือนเราชินกับหนังจีนกำลังภายในและหนัง superhero แล้วน่ะ เราก็เลยเหมือนรู้ว่า ถึงแม้พระเอกนางเอกของหนังจีนกำลังภายในและหนัง superhero มันจะมีวิชาตัวเบา เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่มันก็มี “limit” ในแบบของมันอยู่ ตัวละครแต่ละตัวมีจุดอ่อนในแบบของมันอยู่ หนังสองกลุ่มนี้มันก็เลยยังคงสร้างความ “ลุ้น” ให้กับเราได้อยู่

 

แต่ในหนังแอคชั่นอินเดียนั้น ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมพอเราเจอฉาก “เว่อร์วังอลังการ ไม่แคร์ความสมจริง” เรากลับรู้สึก “ตลก” แทนที่จะรู้สึกลุ้น 5555 หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะว่า “ความสามารถแบบเหนือมนุษย์” มันถูกเทไปที่ตัวพระเอกเป็นหลัก เราก็เลยรู้สึกเหมือนมันโกง ๆ ในขณะที่ในหนังจีนกำลังภายในและหนัง superhero ของฝรั่งนั้น ทั้งฝ่ายพระเอกนางเอกและฝ่ายผู้ร้ายต่างก็มีความสามารถแบบเหนือมนุษย์ในระดับที่ทัดเทียมกัน เราก็เลยรู้สึก “ลุ้น” ไปกับการต่อสู้ได้

 

3.4 และความสมจริงไม่สมจริงอันนึงที่เด่นชัดมาก ๆ ในหนังเรื่องนี้ ก็คือ “การใช้ปืนหรือไม่ใช้ปืน” ด้วย ซึ่งมันเป็นจุดอ่อนที่ “ฮาสุด ๆ” สำหรับเราในหนังเรื่องนี้ แต่เราขอไม่เขียนละเอียดแล้วกัน เพราะไม่อยาก spoil 555

 

4. เหมือนช่วงนี้เราได้ดูหนังแอคชั่นเดือด ๆ หลายเรื่องจากหลายชาติ ก็เลยขอเปรียบเทียบกันดังนี้

 

4.1 THE BATTLE AT LAKE CHANGJIN (2021, Dante Lam, Tsui Hark, Chen Kaige, China, A+30)

 

อย่างที่เราเคยเขียนไปแล้วว่า ฉากกองทหารบุกยึดหอส่งสัญญาณในช่วงกลางของหนังเรื่องนี้ ถือเป็น one of my most favorite scenes of all time ไปเลย และหนังเรื่องนี้ก็เป็น one of my most favorite action films of all time ไปด้วย เพราะมันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่เข้าทางเรามาก ๆ ซึ่งก็คือ หนังเต็มไปด้วย “ตัวละครหนุ่มหล่อหลายคนที่เราเอาใจช่วย” และมันมีตัวละครหนุ่มหล่อหลายตัวที่เรา “เดาไม่ได้ว่าจะอยู่หรือจะตาย” มันก็เลยเพิ่มความลุ้นให้กับเราอย่างสุด ๆ ซึ่งตรงข้ามกับหนังบู๊อินเดียหรือ JOHN WICK ที่ยังไง ๆ กูก็รู้ว่าพระเอกไม่ตายกลางเรื่องแน่ ๆ

 

และเราว่าหนังจีน/ฮ่องกง มันเก่งมาก ๆ ในการสร้างฉากบู๊ที่เร้าอารมณ์เราน่ะ ทั้งการคิดสถานการณ์, การคิดซีน, การตัดต่อ คือเหมือนหนังฮ่องกงมันคงทำอะไรแบบนี้มานานหลายสิบปีแล้ว มันก็เลยช่ำชอง ขั้นเทพมาก ๆ ในการสร้างฉากบู๊แบบนี้

 

และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราก็คือว่า เรารู้สึกว่าตัวละครทหารหนุ่มหล่อหลายตัวในหนังเรื่องนี้ “เป็นตัวละครที่บาดเจ็บจริง ตายได้จริง ๆ และสู้แบบ หืดขึ้นคอ สู้แบบสุดใจขาดดิ้น” น่ะ ซึ่งมันตรงข้ามกับหนังอย่าง BHOLAA และ JOHN WICK ที่เรารู้สึกว่า ถึงแม้พระเอกจะต่อสู้ด้วยความยากลำบาก แต่ทำไมเรากลับไม่รู้สึกว่ามันทำให้เรารู้สึกถึงความ “หืดขึ้นคอ หรือสุดใจขาดดิ้น ตัวละครบาดเจ็บจริงจากการสู้รบ และสามารถตายได้ทุกเมื่อ” น่ะ

 

เราก็เลยรู้สึกว่า องค์ประกอบของหนังบู๊ที่เข้าทางเรา ก็คือสิ่งที่พบได้ในหนังจีนเรื่องนี้นี่แหละ โดยเฉพาะการทำให้เรารู้สึกว่า ตัวละครมันสู้แบบ “หืดขึ้นคอ และสุดใจขาดดิ้น” จริง ๆ

 

4.2 KHUN PAN 3 (2023, Kongkiat Komesiri, Thailand, A+30)

 

เอาจริง ๆ เราว่าฉากบู๊ในหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกถึงความหืดขึ้นคอ หรือสุดใจขาดดิ้นแต่อย่างใดนะ คือเราว่าจริง ๆ แล้วฉากแอคชั่นในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เราประทับใจในแง่ความลุ้นน่ะ แต่เราชอบองค์ประกอบอื่น ๆ ในหนังเรื่องนี้มากกว่า โดยเฉพาะแง่มุมทางการเมือง, ความคิดสร้างสรรค์ หรือความตั้งอกตั้งใจในการสร้างหนัง

 

4.3 THE POINT MEN (2023, Yim Soon-rye, South Korea, A+30)

 

เราว่าฉากบู๊ในหนังเกาหลีส่วนใหญ่ ก็ยังไม่ได้ใจเราเท่าหนังฮ่องกง/หนังจีนนะ แต่ข้อดีของหนังเกาหลีก็คือว่า เราว่ามันเน้นความสมจริง ไม่เว่อร์วังแบบหนังอินเดียน่ะ และเราว่าบทของหนังเกาหลีหลายเรื่องมันค่อนข้างแน่นน่ะ คือแน่นกว่าหนังไทยและหนังอินเดียโดยทั่วไป เราก็เลยค่อนข้างโอเคกับหนังแอคชั่นเกาหลีหลาย ๆ เรื่อง คือมันไม่ได้สนุกหรือลุ้นสำหรับเราเท่าหนังฮ่องกงหรอก แต่หนังเกาหลีมันสร้างความสนุกให้กับเราผ่านทาง “บทภาพยนตร์” มากกว่าผ่านทางฉากบู๊

 

4.4 DEMON SLAYER: TO THE SWORDSMITH VILLAGE (2023, Haruo Sotozaki, Japan, animation, A+25)

 

ถึงแม้การต่อสู้ในหนังเรื่องนี้มันจะไม่ได้ยึดโยงกับ “โลกแห่งความเป็นจริง” แต่เราว่ามัน “ลุ้นระทึก”, “หืดขึ้นคอ” และ “สู้แบบสุดใจขาดดิ้น” สำหรับเรามาก ๆ เลยนะ คือถ้าตัดสินกันแค่ฉากบู๊เพียงอย่างเดียว เราก็ชอบฉากบู๊แบบในหนังเรื่องนี้ และหนังอะนิเมชั่นของญี่ปุ่นหลาย ๆ เรื่อง ในระดับที่เป็นรองจากหนังฮ่องกง/หนังจีนน่ะ

 

แต่ถ้าหากพูดถึงภาพรวมของหนังภาคนี้แล้ว เราก็อาจจะไม่ได้ชอบมันแบบสุด ๆ เพราะครึ่งหลังของหนังภาคนี้กลับเป็นการ “ปูพื้น” ที่แทบไม่ได้มีการบู๊กันเลย เราก็เลยรุ้สึกว่าหนังมันก็เลยอาจจะไม่ได้สนุกเท่าขุนพันธ์ 3 หรือ THE POINT MEN

 

4.5 JOHN WICK: CHAPTER 4 (2023, Chad Stahelski, USA, A+25)

 

เหมือนจุดที่ไม่เข้าทางเราในหนังเรื่องนี้ ก็คือสิ่งที่เราได้เขียนไปแล้วข้างต้น คือเหมือนพระเอกมัน “หนังเหนียว” เกินไป เราก็เลยไม่ลุ้น และถึงแม้สถานการณ์ในการต่อสู้มันจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่พอพระเอกมัน “หนังเหนียว” และเรารู้ว่า “มันคงไม่ตายกลางเรื่อง” เราก็เลยเหมือนไม่ได้รู้สึกว่าการต่อสู้มันหืดขึ้นคอ หรือมันสุดใจขาดดิ้นสำหรับเรา แต่มันก็คงเป็นเพราะเราไม่ได้ identify ตัวเองกับพระเอกอยู่แล้วน่ะแหละ

 

 

4.6 BHOLAA

 

สรุปว่าชอบ BHOLAA น้อยสุดในบรรดา 6 เรื่องนี้ แต่ถ้าหากเป็น RRR แล้ว เราก็ชอบ RRR มากที่สุดในบรรดาหนังกลุ่มนี้นะ 555

No comments: