Thursday, April 13, 2023

PANARE, SHIP ON THE SHORE

 

PANARE, SHIP ON THE SHORE ปะนาเระ เรือเล็กอาจจะไม่ได้ออกจากฝั่ง (2023, Napat Wesshasartar, short documentary, A+30)

 

1.หนังเลือก “พื้นที่” ที่หนังนำเสนอได้น่าสนใจมากๆ นั่นก็คือปะนาเระ ในจังหวัดปัตตานี คือจากที่หนังบอกมา พื้นที่นี้เหมือนเจอปัญหาใหญ่ 3 อย่างในเวลาเดียวกันในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ

 

1.1 ปัญหาด้าน geography ที่มีมาเป็นเวลานานแล้ว คือเหมือนลักษณะทางภูมิศาสตร์ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่นี้ไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นได้ นอกจากการทำประมง

 

1.2 ปัญหาทางการเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพราะเหมือนเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปะนาเระด้วย

 

1.3 ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งปะการังที่พังทลาย, พายุที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล และปลาที่หายไป (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) ซึ่งการที่ชาวบ้านในแถบนี้ต้องพึ่งพาการทำประมงเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสร้างความยากลำบากให้แก่ชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านไม่สามารถเลิกทำประมงเพื่อไปประกอบอาชีพอื่นได้ง่าย ๆ

 

2.ชอบมากที่หนังเรื่องนี้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาในท้องทะเลมันไม่เห็นชัดเท่าภูเขาน่ะ ซึ่งเออ มันใช่จริง ๆ เพราะเราคิดว่า

 

2.1 ภูเขาหัวโล้นหรือภูเขาที่มีบางส่วนดูเตียนโล่ง ไม่มีป่าปกคลุมนั้นมันเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด นักข่าวสามารถถ่ายภาพมาเป็นข่าวได้ง่าย ๆ หรือ “ไฟป่า” ก็เป็นสิ่งที่นำเสนอออกมาเป็นภาพได้ง่าย ๆ ส่วนปัญหาในท้องทะเลเรื่องปลาหายไปนั้น มันอาจจะนำเสนอออกมาเป็น visual ได้ยากกว่า “ภูเขาหัวโล้น” มาก ๆ น่ะ คือสมมุติมีคนไปถ่ายภาพใต้ทะเลที่แทบไม่มีปลาแหวกว่ายมา เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่า “ปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ อะไรมันหายไปบ้าง และมันหายไปมากน้อยแค่ไหน ภาพที่เราควรจะได้เห็นถ้าหากไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม มันควรจะเป็นภาพแบบไหน” เพราะเราและคนทั่วไปไม่มี benchmark ไว้เปรียบเทียบในหัวว่า “ภาพท้องทะเลใต้น้ำที่ควรจะเป็นในอ่าวไทย มันควรจะมีปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ อะไรยังไง” (คือพอพูดถึงใต้น้ำปุ๊บ กูก็คิดถึง THE LITTLE MERMAID และ FINDING NEMO เป็น benchmark ในหัว 555) แต่คนทั่วไปมี benchmark ในหัวอยู่แล้วว่า ภาพภูเขาที่ควรจะเป็นในประเทศไทย มันควรจะเขียวชอุ่มพุ่มไสวยังไง

 

เหมือนสิ่งที่พอจะทำให้คนทั่วไปรู้สึกได้ ก็เลยเป็นภาพ “ปะการังที่ถูกทำลาย” ซึ่งมันก็ดูน่าเศร้าจริง ๆ หรือหนังบางเรื่องก็ใช้ภาพ “ขยะลอยฟ่องในท้องทะเล” แบบหนังเรื่อง OCEANS (2009, Jacques Perrin, Jacques Cluzaud) มาใช้เพื่อทำให้ผู้ชมตระหนักถึงปัญหา แต่ถึงอย่างนั้นการจะนำเสนอปัญหาในท้องทะเลมันก็ “ยาก” กว่าการนำเสนอปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าจริง ๆ

 

2.2 การถ่ายภาพ “ใต้น้ำ” มันเป็นสิ่งที่ยากกว่าการถ่ายภาพป่าไม้ด้วยแหละ เพราะมันต้องใช้นักประดาน้ำที่มีความเชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพด้วย ก็เลยไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะหาคนที่จะเก่งทั้ง 2 ด้านในเวลาแบบเดียวกันแบบนี้ และนี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปัญหานี้ไม่ได้รับการนำเสนอมากเท่าปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า

 

2.3 อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราคิดว่าหนังกลุ่ม “ปัญหาสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล” แทบไม่ได้รับการผลิตออกมาในไทย แต่หนังเกี่ยวกับ “ปัญหาป่าไม้” ได้รับการผลิตออกมาเยอะกว่า เป็นเพราะว่า ปัญหาป่าไม้ในหลายๆ พื้นที่มันเกี่ยวข้องกับการที่ผู้มีอิทธิพล, นายทุน, รัฐบาล, บริษัทเหมือง, etc. ไปแย่งพื้นที่อยู่อาศัยของชาวเขาหรือชาวชาติพันธุ์ต่าง ๆ น่ะ ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยด้วย เพราะฉะนั้น “เหยื่อ” ของปัญหาป่าไม้ก็เลยเป็นเหยื่อที่ถูกทำร้ายจากปัญหาหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ทั้งเรื่องการขอสัญชาติ, ความไม่สะดวกในการเดินทางและประกอบอาชีพ, การถูกเพ่งเล็งจากตำรวจและทหาร, etc. คือคนกลุ่มนี้เจอทั้งปัญหาการเมืองอย่างรุนแรงและปัญหาสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นก็เลยมีการผลิตหนังเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ออกมาเยอะกว่า และก็เลยมีการพูดถึงปัญหาป่าไม้เยอะกว่าตามไปด้วย

 

ส่วนชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหายไปนั้น เราเข้าใจว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นคนไทยน่ะ เพราะฉะนั้นในแง่นึงชาวประมงก็เลยไม่ได้เจอปัญหาเรื่องสัญชาติหรือปัญหาการเมืองอย่างรุนแรงมากเท่าชาวชาติพันธุ์ ส่วนลูกเรือประมงที่อาจจะเป็นคนพม่าและคนเขมรนั้น แรงงานกลุ่มนี้ก็เป็นแรงงานที่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตนเองได้น่ะ ไม่ใช่ชาวชาติพันธุ์ที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในไทยแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย เพราะฉะนั้นปัจจัยนี้ก็เลยอาจจะเป็นปัจจัยนึงที่ทำให้ปัญหาของชาวประมงไม่ได้รับความสนใจจากสื่อภาพยนตร์มากเท่าปัญหาของชาวเขา แต่ปัจจัยนี้ก็เป็นปัจจัยที่เข้าใจได้

 

(แต่จริง ๆ แล้วในยุคนึงก็มีการผลิตหนังไทยเกี่ยวกับ “ชาวมอแกน” ออกมาหลายเรื่องนะ แต่ไม่ได้เป็นหนังที่พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม)

 

3.เราก็เลยชอบหนังเรื่อง PANARE นี้มาก ๆ เพราะมันเหมือนช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในวงการภาพยนตร์ในไทย เพราะนอกจาก PANARE แล้ว เราก็แทบไม่เคยได้ดูหนังเกี่ยวกับปัญหาประมง+สิ่งแวดล้อมในไทยมาก่อนเลยนะ เหมือนนอกจากหนังเรื่องนี้แล้ว หนังกลุ่มนี้เท่าที่เรานึกออกก็มีอีก 2 เรื่อง ซึ่งก็คือหนังสารคดีสั้นของนิสิตนิเทศจุฬาเรื่อง FRONT MAN AT THE SEA (2022) กับ SOUND OF THE SEA (2022) ที่พูดถึงปัญหาปลากำลังจะหมดไปจากน่านน้ำไทย เพราะเรือประมงพาณิชย์บางลำทำผิดกฎหมาย แอบจับปลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่ปลาจะโตไปจนหมด

 

เหมือนส่วนใหญ่แล้วถ้าหากเป็นหนังเกี่ยวกับชาวประมงในไทยที่เราได้ดู มันจะเป็นหนังเกี่ยวกับพวกนิคมอุตสาหกรรมมาเบียดบังที่อยู่ที่ทำกินของชาวประมงน่ะ ทั้งหนังเกี่ยวกับปัญหาแหลมฉบังที่มีการผลิตกันออกมาหลายเรื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือหนังเรื่อง SPEAK OUT (2021, จักรพันธุ์ วัฒนพงษ์, documentary, 61min, A+30) ที่พูดถึงปัญหาบางปะกงและ EEC ซึ่งหนังบางเรื่องในกลุ่มนี้ก็จะพูดถึงชาวประมงและปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ได้พูดถึงปัญหาปลาหายไป แต่พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากนิคมอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นหนังอย่าง PANARE ก็เลยดู unique มาก ๆ ในแง่นึง เพราะมันนำเสนอปัญหาที่แตกต่างจากหนังอีกหลาย ๆ เรื่อง

 

4.ชอบมุมมองของผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้มาก ๆ ที่เหมือนมองว่า ต้องรับฟังทั้งเสียงของชาวบ้านและนักวิชาการน่ะ และการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ต้องใช้เสียงของคนทั้งสองกลุ่ม, ความรู้ความเชี่ยวชาญของคนทั้งสองกลุ่ม และความร่วมมือกันของคนทั้งสองกลุ่ม และหนังเรื่องนี้ก็เลยมีฉากที่ให้ชาวบ้านกับนักวิชาการมาคุยกันด้วย

 

ซึ่งเราก็คิดว่าวิธีการแบบนี้มันดีมาก ๆ เพราะนักวิชาการเองก็คงมีความรู้ทางวิชาการและทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหลายคนอาจจะไม่รู้ แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวมันคงไม่มีประโยชน์ถ้าหากมันไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นจริง ๆ และทั้งชาวบ้านกับนักวิชาการต่างฝ่ายต่างก็น่าจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มี

 

5.ชอบข้อมูลปลีกย่อยต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้ด้วย อย่างเช่น

 

5.1 เรื่องของเกาะ Losin ซึ่งเป็นเกาะที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน

 

5.2 เรื่องปะการังที่พังทลาย และสาเหตุที่อาจจะเป็นไปได้ที่ทำให้ปะการังพังทลาย อย่างเช่น พายุใหญ่ (ซึ่งพายุนี้ก็อาจจะเป็นผลพวงมาจากปัญหาโลกร้อน) และเครื่องมือประมง

 

5.3 ปัญหาเรื่องพายุและความแปรปรวนของฤดูกาลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากในอดีต และอากาศที่ร้อนขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต

 

5.4 การที่ชาวบ้านต้องคิดหาทางปรับตัวรับมือกับปัญหาปลาหายสาบสูญ ชาวบ้านต้องแปรรูปสัตว์น้ำ หรือหันไปทำของฝาก

 

6.ชอบคำพูดของผู้ให้สัมภาษณ์มาก ๆ ด้วย ที่บอกว่าชาวประมงและชาวบ้านเหล่านี้คือคนกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องทะเล (ก่อนที่ผลกระทบนั้นจะลุกลามไปถึงพวกชนชั้นกลางในเมืองใหญ่)  และคำพูดที่ว่า ปัญหาเหล่านี้มันเลย point of no return ไปแล้ว แต่เรายังคงสามารถชะลอความเร็วของปัญหาโลกร้อนได้อยู่

 

 

 

No comments: