ค้นเจอนิตยสาร “กุลเกย์” ฉบับที่ 40/2537
มีโฆษณา MIDNIGHT COWBOY LOUNGE ตรงสะพานควายด้วย เราเดาว่าชื่อเลาจน์คงมาจากหนังเรื่อง MIDNIGHT
COWBOY (1969, John Schlesinger)
++++++++++
ผลจากการค้นกองเอกสารเก่า
ทำให้เราเจองานเขียนเล่น ๆ ฮา ๆ ของตนเองในช่วงราวปี 1992
เป็นเรื่องประวัติชีวิตของ “เทวี” สาวใช้ในบ้านหลังหนึ่งในกรุงเทพ
คือตอนนั้นเรากับเพื่อน ๆ ชอบไปค้างบ้านของเพื่อนคนนึง
แล้วบ้านเพื่อนคนนั้นมีสาวใช้ชื่อ “เทวี” เราก็เลยแต่ง “ประวัติชีวิต”
ของเทวีขึ้นมาเพื่อความฮา ๆ คือเทวีคนนี้มีตัวตนจริงนะ เป็นสาวใช้ที่ดีมาก ๆ
เคยช่วยเหลือพวกเราในหลาย ๆ ครั้งในความเป็นจริง
แต่ประวัติชีวิตที่เราเขียนขึ้นมานี้ไม่ได้มีความจริงแต่อย่างใด
เหมือนเราประทับใจคนที่มีตัวตนจริงคนนึง เราก็เลยใช้เขามาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่ง
imaginary biography ของสาวใช้คนนี้
แต่เราขอเอาเนื้อหามาแปะเพื่อรำลึกถึงความหลังเพียงบางส่วนนะ
เพราะบางส่วนเป็นการพาดพิงถึงบุคคลอื่น ๆ ที่มีตัวตนจริง
เราก็จะไม่เอาเนื้อหาส่วนนั้นมาแปะ
HIGHLIGHTS ในประวัติชีวิตของเทวี
1. ตอนเธออายุ 6 ขวบ เธอมีไข้หนักมาก
พูดจาเพ้อเจ้อไม่ได้สติตลอดเวลา
แม่เธอต้องนำสตวงใส่อาหารคาวหวานไปเซ่นผีที่ทางสามแพร่ง แม่เธอเล่าว่า
เพียงแค่ชั่วธูปหมด 63 ดอก อาการคลุ้มคลั่งของเธอก็หายไป ยายของเธอเล่าว่า
เธอโดนปล่อยของในคืนเดือนดับ ซึ่งเป็นช่วงที่คนในครอบครัวเชื่อกันว่า
เธอจะอ่อนแอและมีโอกาสโดนของได้มากที่สุด เพราะตอนที่เธอตั้งท้อง
แม่เธอฝันเห็นดวงจันทร์ส่องสว่าง แม่เธอจึงมีความเชื่อว่า
เธอมีความสัมพันธ์กับจันทราเทวี จึงตั้งชื่อเธอว่า เทวี
คนในครอบครัวก็เชื่อเรื่องนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ แม้เต่เธอเองตอนนี้ก็ยังเชื่ออยู่
เพราะเธอบอกว่า เธอมักจะมีโชคร้ายเสมอในคืนเดือนแรม
2.เธอชอบกินหนูนา เอามาถลกหนังกินกัน
รสชาติเหมือนไก่มาก ประหยัดดีด้วยไม่ต้องเสียเงินซื้อกิน
ตอนหลังมีแมวหลุดมาจากไหนไม่ทราบ เข้ามากินหนู เธอจึงจับแมวหักคอ ถลกหนังกิน
แต่เธอจำรสชาติเนื้อแมวไม่ได้แล้ว เพราะมันนานมาก
และเธอก็เคยกินเพียงครั้งเดียวในชีวิต
3.ช่วงเวลาว่างเธอมักจะชวนน้อง ๆ
ไปตามล่าหาคางคก กบ กิ้งก่า แย้ และสัตว์ต่าง ๆ ที่สามารถเป็นอาหารได้ เธอเล่าวว่า
งู อร่อยที่สุด แต่ก็ได้กินเฉพาะงูตัวเล็ก ๆ เพราะถ้าเป็นงูตัวใหญ่ ๆ
ทางบ้านจะกลัว เพราะเชื่อว่าเป็นงูเจ้าแม่
4.หมู่บ้านที่เทวีเติบโตมาในวัยเด็ก มีตำนาน
“เจ้าแม่ลมหวล”
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ “ตำนานเจ้าแม่ลมหวล”
ได้ในรูปที่เราแปะไว้นะ
HIGHLIGHTS บางส่วนใน “ตำนานเจ้าแม่ลมหวล”
มีตำนานเล่ากันว่า เธอเป็นสาวในหมู่บ้านแห่งนี้
มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว ... เล่ากันว่าเธอมีหน้าตาสวยมาก...
เธอมาที่ตลาด
และมีหนุ่มในหมู่บ้านคนหนึ่งพูดจาหยอกล้อเธอเล่น หลังจากนั้นเพียงแค่ไม่ถึง 6
ชั่วยาม หนุ่มคนนั้นก็ถูกตะขาบใหญ่กัดตายอย่างทรมาน....
คนในหมู่บ้านก็พากันหาว่าเธอเป็นแม่มด
เป็นเสนียดจัญไรแก่หมู่บ้าน มักจะตะโกนด่าว่าเธอเป็นประจำให้ย้ายออกไป
แต่เธอก็ยังคงนิ่งเฉย ไม่แสดงการโต้ตอบแต่ประการใด...
กลุ่มโจรใจโหดเมื่อคืนถูกฆ่าตายอย่างน่าอนาถไม่ไกลจากบ้านของเธอนัก
สภาพศพแหลกเลวไม่มีชิ้นดี....
แต่เมื่อเธออายุได้ 25 ปี
เธอก็ปรารภกับคนในหมู่บ้านว่า ศัตรูของเธอกำลังจะมา และเมื่อศัตรูของเธอมาเมื่อไร
เธอต้องไป และในคืนแรม 15 ค่ำคืนหนึ่ง เธอก็หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย
ไม่มีใครพบเธออีกหลังจากนั้น แต่มีแมวดำประมาณ 5-6 ตัว
ปรากฎตัวป้วนเปี้ยนอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านเชื่อกันว่า แมวดำเป็นศัตรูของเธอ...
5. กลับมาที่ชีวิตของเทวี ในวัยเด็กของเทวีนั้น เธอมักมีปัญหากับจันทร์แรม
ซึ่งเป็นลูกสาวกำนัน เป็นคนที่จัดว่ารวยที่สุดในหมู่บ้าน
เทวีเล่าว่าจันทร์แรมไม่ค่อยชอบหน้าเธอ...
เวลาเทวีเดินมาตามท้องถนน
จันทร์แรมชอบขี่จักรยานเฟสสันรุ่นใหม่ตามมา แล้วก็ดีดกระดิ่งกริ๊ง ๆ
โฉบเฉี่ยวผ่านไปมา แต่ต่อมาเทวีก็ไม่รู้สึกเกลียดจันทร์แรมอีก
เพราะมีวันหนึ่งจันทร์แรมขี่จักรยานเฉี่ยวผ่านเธอไป แล้วหันมาทำหน้าตายิ้มเยาะ
จันทร์แรมจึงไม่ทันมองว่ามีรถบรรทุกกำลังวิ่งสวนมาอย่างรวดเร็ว...
6. พอเทวีจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว
เธอก็มาแสวงโชคที่กรุงเทพ เธอมาทำงานโรงงานคั่วกาแฟเม็ดมะขามแถววงเวียนใหญ่ ...
เธอรู้จักกับหนุ่ม ๆ โรงงานมากหน้าหลายตา
ซึ่งทำให้เธอรู้สึกเบิกบานเป็นอันมาก ช่วงนั้นเธอมีคนมาพัวพันด้วยหลายคน เช่น
บุญสม หนุ่มโรงงานตีเหล็กที่อยู่ถัดออกไปสองช่วงตึก, จ่อย
หนุ่มอีสานซึ่งเป็นยามหน้าโรงงาน และสมคิด ผู้คุมความเรียบร้อยของโรงงาน
ซึ่งเป็นชายวัยกลางคน
7. เทวีกับเพื่อน ๆ ชอบไปดูหนังกลางแปลง
หนังที่เธอชอบมากคือเรื่อง “สามสาวตะลุยโลกันต์”
(หนังเรื่องนี้ไม่มีตัวตนจริงนะ)
และเธอก็อยากดูหนังเรื่อง “แอบดูหนุ่มสวีเดน” มาก ๆ
บางทีเธอก็ไปดูหนังที่โรงหนังเฉลิมเกียรติที่วงเวียนใหญ่
เธอชอบไปเล่นสเก็ตที่ดาวคะนองสเกตแดนซ์
และชอบไปเดินเล่นในห้างคาเธ่ย์ เพราะที่นั้นติดแอร์เย็นฉ่ำ
8. หลังจากเธอเลิกทำงานโรงงานคั่วกาแฟเม็ดมะขาม
เธอก็มาทำงานเป็นสาวใช้ วันหนึ่งพวกเรากับเธอเดินผ่านร้านซ่อมเหล็ก
เราสังเกตว่าหนุ่ม ๆ ในร้านซ่อมเหล็กมองเธอ เธอทำร้องฮึ แล้วเชิดหน้า
ไม่รู้ว่าเราแต่งเรื่องแต่งราวอะไรพวกนี้ได้ยังไงในปี
1992 รู้สึกว่าตอนนั้นตัวเอง innocent มาก ๆ 55555
++++++++
รายงานผลประกอบการประจำวันพุธที่ 5 ก.พ. 2025
1. THE CEO (2025, Natthaphong
Wongkaweepairod, A+20)
ไอ้เป๊าะ CEO ม.6 (2025,
นัฐพงศ์ วงษ์กวีไพโรจน์)
ดูที่ SF MBK รอบ 11.30 น.
ดูแล้วนึกถึงคอลัมน์สัมภาษณ์คนในนิตยสาร “ดิฉัน”
ที่เราชอบอ่านในสมัยเด็ก ๆ คือเราก็ไม่รู้หรอกว่า
คนที่มาให้สัมภาษณ์แต่ละคนเขาพูดความจริงมากน้อยแค่ไหน แต่เราชอบอ่าน
“เรื่องราวชีวิตมนุษย์ที่มีขึ้นมีลง” แบบที่มักเจอในนิตยสาร “ดิฉัน” น่ะ
ซึ่งเรามักจะเจออะไรแบบนี้ใน “ละครโทรทัศน์ฮ่องกง” ในทศวรรษ 1980 ด้วย
พวกละครโทรทัศน์ที่นำแสดงโดยโจวไห่เม่ย, หลินจุ้นเสียน, เยี่ยหัว, etc. เราก็เลยชอบเรื่องราวอะไรแบบนี้มาก ๆ เป็นการส่วนตัว
มันตรงกับความสนใจของเราเป็นการส่วนตัว และเราก็ชอบอะไรแบบนี้มากกว่า “หนังตลก”
หรือ “หนังรัก” ที่เราไม่ค่อยอินไปกับมัน
2. WEEKEND IN TAIPEI (2024, George
Huang, France/Taiwan/USA, A)
ดูที่ SF MBK รอบ 14.00 น.
เหมือน “กุ้ยหลุนเม่ย”
เป็นอย่างเดียวที่เราชอบในหนังเรื่องนี้
3. HERETIC (2024, Scott Beck, Bryan
Woods, USA/Canada, A+30)
ดูที่ EMQUARTIER รอบ
17.00 น.
ชอบอย่างสุดขีดมาก ๆ กราบตีนของจริง
นึกว่าต้องฉายควบกับ THE MILKY WAY (1969, Luis Buñuel) และ
THE NINTH GATE (1999, Roman Polanski) ในฐานะหนังที่
“วิพากษ์ศาสนา” เหมือนกัน แต่หนังทั้ง 3 เรื่องนี้อาจจะวิพากษ์กันคนละประเด็น
และทำออกมาในสไตล์ที่แตกต่างกันไป
4. DEVA (2025, Rosshan Andrrews, India,
156min, A+30)
ดูที่เมเจอร์ เอกมัย รอบ 20.30 น.
คิดว่าตัว “เนื้อเรื่อง”
ของหนังเรื่องนี้นี่สามารถดัดแปลงเป็นหนังแนว Alfred Hitchcock ได้สบาย ๆ เลย
ฟังเทป “เด็กหนังกระโปกอวอร์ดครั้งที่ 3” จบแล้ว
ดีใจมาก ๆ ที่ APRIL (2024, Dea Kulumbegashivili, Georgia, A+30) สามารถคว้าหนึ่งในรางวัลในงานนี้ได้ด้วย
https://open.spotify.com/episode/17yoSHhaEBNsr2OXKqRwuh
LIONS LOVE (...AND LIES) (1969, Agnès Varda, France/USA,
112min, A+30)
ดูทาง MUBI
ชอบฉากที่ Varda ด่ากับ Shirley
Clarke มาก ๆ นึกว่าสองเจ้าแม่ปะทะกัน หรือสองนางสิงห์ปะทะกัน
และเราก็ไม่รู้ด้วยว่า ฉากที่สองเจ้าแม่ด่ากันนั้นเป็น fiction หรือ non-fiction
A VISIT FROM SPACE (1964, Zlatko Grgic, Croatia, animation,
11min, A+30)
ภาพมันดูใช้ลายเส้นง่าย ๆ แต่มันออกมาสวยงามมาก
ๆ
ดูทางลิงค์นี้
https://www.lecinemaclub.com/now-showing/a-visit-from-space/
THE LOST PRINCESS (2024, Kornpat
Pawakranond, documentary, A+30)
เจ้าดวงเดือน
1.เราได้ดูหนังเรื่องนี้ในวันที่ 18 ม.ค.
แต่ก็ไม่ได้เขียนถึงเลย เพราะไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรเพิ่มเติมอีกนอกจากสิ่งที่เพื่อน
ๆ ได้เขียนไปแล้ว 55555 เหมือนเพื่อน ๆ เขียนถึงสิ่งที่เราอยากเขียนถึงไปหมดแล้ว
ถ้าจะมีอะไรเพิ่มเติมอีก ก็มีเพียงแค่เล็กน้อย
หนึ่งในนั้นก็คือเราประทับใจกับการที่หนังเรื่องนี้มีจุดหนึ่งที่ทำให้เรานึกถึงหนัง
3 เรื่องที่เราได้ดูในปีที่แล้ว ซึ่งก็คือ RIVULET OF UNIVERSE (2024,
Possathorn Watcharapanit, 89min, A+30), TAKLEE GENESIS (2024, Chookiat
Sakveerakul, 146min, A+30) และ HERE (2024, Robert
Zemeckis, A+30) และจุดนั้นก็คือประเด็นที่ว่า เรารู้สึกว่า
ในหนังทั้ง 4 เรื่องนี้ ตัวละครหลักที่สำคัญตัวหนึ่ง หรืออาจจะเป็นตัวละครหลักที่สำคัญที่สุดในหนังทั้ง
4 เรื่อง ก็คือ “กาลเวลา” ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นตัวละครที่มีพลังอำนาจมากที่สุดในหนังทั้ง
4 เรื่อง
เราเคยเขียนเปรียบเทียบ RIVULET OF
UNIVERSE, TAKLEE GENESIS และ HERE ไว้แล้วในลิงค์นี้
ซึ่งเราคิดว่า THE LOST PRINCESS ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างจาก 3 เรื่องข้างต้น เพราะ THE
LOST PRINCESS ไม่ได้ก้าวข้ามกระโดดไปมาระหว่างช่วงเวลาต่าง ๆ
เหมือน HERE และ TAKLEE GENESIS และ THE
LOST PRINCESS ก็ไม่ได้สะท้อนประวัติศาสตร์นานหลายพันปีแบบ RIVULET
OF UNIVERSE
แต่เราคิดว่า “กาลเวลา” คือหนึ่งในตัวละครที่เราประทับใจที่สุดใน
THE LOST PRINCESS หรืออย่างน้อย “พลังของกาลเวลา”
ก็คือหนึ่งในสิ่งที่เราประทับใจที่สุดใน THE LOST PRINCESS และจุดนี้อาจจะมีความคล้ายคลึงกับหนัง
3 เรื่องข้างต้น
2. หนึ่งในสิ่งที่เราประทับใจมาก ๆ ใน THE
LOST PRINCESS ก็คือมันทำให้เรานึกถึง “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาราว
100 ปีที่ผ่านมา” ทั้งความเปลี่ยนแปลงในส่วนของ
2.1 ราชวงศ์ทิพย์จักรของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
สถานะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบันเมื่อเทียบกับ 100 ปีก่อน
2.2 ระบอบการปกครองของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง
100 ปีที่ผ่านมา
2.3 สภาพบ้านเมืองของเชียงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง
100 ปีที่ผ่านมา
2.4 มุมมองของผู้คนที่มีต่อวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งมุมมองที่มีต่อการรำแบบพื้นบ้าน, การลอยกระทง, การลอยโคม, etc.
2.5 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
2.6 ชีวิตของ subject หลักของหนัง
ตั้งแต่เด็ก จนโต จนแก่เฒ่า
2.7 สังขารของมนุษย์
เราก็เลยประทับใจจุดนี้อย่างรุนแรงในหนัง
เพราะเรารู้สึกราวกับว่า “กาลเวลา” คือตัวละครหลักสำคัญตัวหนึ่งในหนังเรื่องนี้
และเป็นตัวละครที่ทรงพลังอำนาจมากที่สุดในหนัง
3.พอดูผ่านมานานหลายสัปดาห์แล้ว เราก็พบว่า
ฉากที่ประทับใจเรามากที่สุดในหนังเรื่องนี้ รวมถึงฉากดังต่อไปนี้
3.1 ฉากเจ้าดวงเดือนประทับใจกับรีโมทประตู เหมือนฉากนี้มันสะท้อนความเป็น
“คนที่ไม่ได้แตกต่างจากคนธรรมดา” ที่มีอยู่ในตัว subject ได้ดีมาก
คือเราไม่รู้จุดประสงค์ของฉากนี้นะ แต่เราชอบที่ได้เห็นว่า ตัว subject ก็มีบางแง่มุมที่เหมือนกับคนแก่ทั่ว ๆ ไปคนหนึ่งน่ะ
3.2 ฉากทดสอบวาดหน้าปัดนาฬิกา และทดสอบความทรงจำ
3.3 ฉากที่เจ้าดวงเดือนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง
ซึ่งเราไม่แน่ใจว่ามันคือสถานที่ตั้งของรีสอร์ทเก่าหรือเปล่า
4. ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คิดถึงหนังสารคดีอีก 3
เรื่อง ซึ่งได้แก่
4.1 THE KING (2023, Karin af Klintberg, Sweden, A+30)
ที่เป็นการสัมภาษณ์กษัตริย์สวีเดน
4.2 WE WERE KINGS (2017, Alex Bescoby +
Max Jones, Myanmar, documentary, A+30)
ที่เป็นการสัมภาษณ์เชื้อพระวงศ์ของพม่าที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
4.3 THE QUEEN AND I (2008, Nahid
Persson, Sweden, documentary, A+30)
ที่เป็นการสัมภาษณ์อดีตราชินีของอิหร่าน
THE LOST PRINCESS ทำให้เรานึกถึง WE
WERE KINGS กับ THE QUEEN AND I มากเป็นพิเศษ
เพราะหนังสารคดีทั้ง 3 เรื่องนี้ต่างก็พูดถึง “เจ้าที่ไม่ได้มีอำนาจเหมือนแต่ก่อน”
เหมือนกันทั้ง 3 เรื่อง และสถานะของราชวงศ์ในทั้ง 3 เรื่องนี้ก็มีความแตกต่างกันไปอย่างน่าสนใจ
โดยเจ้าดวงเดือนนั้นน่าจะอยู่ในสถานะที่ดีสุดใน 3 เรื่องนี้ ส่วนอดีตราชินีอิหร่านนั้นถึงแม้เธอจะร่ำรวย
แต่เราเดาว่าคงมีคนเกลียดเธอเยอะมาก 55555 ทางด้านราชวงศ์ของพม่านั้นก็ดูเหมือนจะไม่ได้อยู่ในสถานะที่ดีนักในปัจจุบัน
5. เราว่า THE LOST PRINCESS เป็นหนังที่น่าจะมี “ความสำคัญทางประวัติศาสตร์” มาก ๆ เมื่อเวลาผ่านไปในอนาคต
เหมือนหนังมันได้บันทึกอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เอาไว้
เราก็ชอบหนังเรื่องนี้มากนะ แต่เป็นความชอบในแบบที่เหมือนใช้
“สมอง” มากกว่าใช้ “อารมณ์” น่ะ 55555 เหมือนเรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันมี “คุณค่า”
แต่มันไม่ใช่หนังที่กระตุ้นอารมณ์เราให้รู้สึกอะไรอย่างรุนแรงเป็นการส่วนตัว
ซึ่งเราว่าการที่หนังมันออกมาเป็นแบบนี้
มันก็คงเป็นเพราะว่าข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยแหละ เพราะการที่มันเป็นหนังสารคดี
มันก็เลยอาจจะพูดอะไรหลาย ๆอย่างไม่ได้ (เราเดาเอาเอง) และการที่ “เจ้าดวงเดือน”
ในหนังเรื่องนี้มีทั้ง “ความเป็นมนุษย์”, “ความเป็นญาติของผู้กำกับ” และ “ความเป็นสัญลักษณ์”
อยู่ในเวลาเดียวกัน มันก็เลยอาจจะทำให้การนำเสนอ subject ของหนังเรื่องนี้
มีความยากมากในระดับนึง
คือถ้าหากมันเป็นหนังที่ “หลานสาวถ่ายคุณยายสุดที่รัก
แต่คุณยายเป็นชาวบ้านธรรมดา” แบบหนังเรื่องอื่น ๆ หนังมันก็จะออกมาอีกแบบนึง หนังมันอาจจะเต็มเปี่ยมไปด้วย
“ความรักที่ผู้กำกับมีต่อตัว subject” ซึ่งเราก็อาจจะแอบเบื่อหนังสารคดีไทยทำนองนี้
55555 หรือถ้าหากมันเป็นหนังที่ผู้กำกับหัวเอียงซ้าย ถ่ายทำชีวิตคนรวย แบบ HIGH-RISE
(2009, Gabriel Mascaro, Brazil, documentary, A+30) หนังมันก็อาจจะออกมาอีกแบบนึง
เราก็เลยประทับใจ “การเลือกท่าที”
ของหนังเรื่องนี้ในการนำเสนอตัว subject มาก ๆ เพราะเราว่ามันยากกว่าหนังสารคดี
2 กลุ่มข้างต้น มันจะเปี่ยมด้วยความรักก็ไม่ได้ จะเย็นชามากเกินไปก็ไม่ได้ จะนำเสนอเพียงแค่
“ความเป็นมนุษย์” ของตัว subject ก็ไม่ได้ เพราะ
subject ของหนังก็เหมือน represent something ด้วย
แต่จะ treat subject เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ ก็ยิ่งไม่เหมาะเข้าไปใหญ่
เราก็เลยรู้สึกว่า ถึงแม้เราจะไม่ได้มี emotional involvement กับหนังเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว แต่เราก็เข้าใจว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมันอาจจะเป็นเพราะข้อแม้และข้อจำกัดบางอย่างที่เข้าใจได้ของหนังสารคดีเรื่องนี้แหละ หนังมันก็เลยไม่ได้ผลักอารมณ์เราให้รุนแรงสุด ๆ ไปในทางใดทางหนึ่ง แต่เปิดโอกาสให้เราได้สังเกตอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจในตัว subject และสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัว subject และนำไปคิดต่อเอง
No comments:
Post a Comment