ตอนแรกไม่ค่อยตื่นเต้นกับออสการ์ปีนี้เท่าไหร่ แต่วันนี้เพิ่งได้ดู THE AVIATOR (A+) แล้วรู้สึกชอบมาก ก็เลยรู้สึกดีกับออสการ์ปีนี้ขึ้นมาเยอะเลย จริงๆแล้วดิฉันก็ไม่ได้ชอบ THE AVIATOR มากเท่ากับหนัง 10 อันดับแรกในเทศกาล BKKIFF แต่ถ้าหากเทียบหนังเรื่องนี้กับบรรดา GLADIATOR, A DIRTY MIND, THE RETURN OF THE GAY KING ที่ได้ออสการ์หนังยอดเยี่ยมในปีที่ผ่านๆมาแล้ว ดิฉันก็ชอบ THE AVIATOR มากกว่าเยอะค่ะ นอกจากนี้ V ERA DRAKE กับ CLOSER ก็จัดเป็นหนังที่ชอบมากเหมือนกัน ตอนนี้ก็เลยรู้สึกดีกับออสการ์ขึ้นมาหน่อยค่ะ
จุดที่ชอบมากใน THE AVIATOR ก็คือช่วงที่ตบตีกันเรื่อง MONOPOLY ค่ะ ตอนดูตัวอย่างหนัง THE AVIATOR ก็ไม่นึกว่าหนังจะมีประเด็นอย่างนี้อยู่ด้วย ก็เลยไม่ได้ตั้งความหวังกับหนังเรื่องนี้มากนัก แต่พอมีประเด็นนี้เข้ามาในหนัง ก็เลยรู้สึกว่าหนังสนุกกว่าที่คาดไว้อย่างมากๆ
Freddy Kruger ภาคที่ดิฉันชอบมาก นอกจากภาค New Nightmare แล้ว ก็คือภาค 3 กับภาค 4 ค่ะ ชอบสุดๆเลย เพราะในสองภาคนี้ มนุษย์ที่ตกเป็นเหยื่อเฟร็ดดี้ จะพยายามต่อสู้กับเฟร็ดดี้ด้วยวิธีการต่างๆนานาก่อนที่จะถูกฆ่าตาย ก็เลยทำให้รู้สึกสนุกและลุ้นระทึกมาก ในขณะที่ในบางภาคนั้น ตัวละครมนุษย์จะเหมือนมาเพื่อเป็นเหยื่อโง่ๆอย่างเดียวเท่านั้น แทบไม่คิดจะหาทางต่อสู้เลย ก็เลยดูแล้วไม่ลุ้นหรือมีอารมณ์ร่วมเท่าไหร่ ชอบแบบที่ตัวละครพอมีทางต่อสู้มากกว่าค่ะ ถ้าตัวละครไม่มีทางต่อสู้แล้ว เราก็รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าเธอโผล่มาเพื่อรอให้ถูกฆ่าตายอย่างเดียว ก็เลยไม่ลุ้นอะไร
A NIGHTMARE ON ELM STREET 3: DREAM WARRIORS (1987, CHUCK RUSSELL, A+)
http://www.imdb.com/title/tt0093629/
ฉากที่ชอบมากในเรื่องนี้คือฉากที่ตัวละครพยายามไม่หลับ แต่พอเธอนั่งลงบนโซฟาปุ๊บ เธอก็หลับและร่วงลงไปในโซฟาหล่นเข้าไปในโลกของเฟร็ดดี้ทันที
ชอบตัวละครหญิงตัวนึงในภาคนี้มากที่เธอมีวิชาตัวเบา (ไม่รู้คนเขียนบทคิดมุกนี้ขึ้นมาได้ยังไง)
A NIGHTMARE ON ELM STREET 4: THE DREAM MASTER (1988, RENNY HARLIN, A-)
http://www.imdb.com/title/tt0095742/
ช่อง 3 เคยเอาละครโทรทัศน์ชุด FREDDY’S NIGHTMARES (1988) มาฉายด้วย มีอยู่บางตอนที่ชอบมากเหมือนกัน แต่มันค่อนข้างโหดร้าย ก็เลยไม่ขอเขียนถึงรายละเอียดแล้วกัน
http://www.imdb.com/title/tt0094466/
ตอนนึงที่จำได้ติดตาคือตอนของนักวิ่งกรีฑาสาว เธอพยายามอย่างแสนเหนื่อยยากที่จะวิ่งเข้าที่หนึ่งให้ได้ ปรากฏว่าพอเธอวิ่งเข้าที่หนึ่ง เส้นเชือกตรงเส้นชัยกลับบาดคอเธอขาดกระเด็น ขณะที่ตัวเธอยังเดินเตาะแตะๆไปต่อ และฉากต่อมาก็แสดงให้เห็นว่าเธอนอนหัวใจวายตายอยู่ข้างสนาม ส่วนฉากเส้นชัยบาดคอเธอขาดกระเด็นเป็นเพียงฝันร้ายที่มาคร่าชีวิตเธอไป
“NO REDEMPTION”
ชอบการแสดงของพระเอกนางเอกใน HARI OM มากเหมือนกัน นางเอกน่ารักมากและในหลายๆฉากกิริยาอาการของเธอก็ดูเหมือนนักท่องเที่ยวจริงๆเวลามาเที่ยวประเทศแถวบ้านเรา ส่วนพระเอกนั้นต้องขอชมการแสดงอย่างมาก เพราะหน้าตาของเขาในเรื่องนี้มันให้กับบทของผู้ร้ายมากๆ แต่การแสดงของเขากลับทำให้มองข้ามหน้าตาที่ดูเหมือนผู้ร้ายไปได้ในที่สุด
ฉากที่ประทับใจมากใน HARI OM ก็คือฉากที่ชายชราเล่านิทานให้นางเอกฟัง ไม่รู้เป็นเพราะน้ำเสียงของชายชราหรือเพราะปัจจัยอะไรอื่นๆอีกบ้าง แต่ฟังนิทานในฉากนั้นแล้วรู้สึกซึ้งผิดปกติมาก โดยที่หนังไม่ได้แสดงให้เห็นภาพจากนิทานนั้นเลย (ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่น คนดูอาจได้เห็นนักแสดงมาแสดงเรื่องราวตามนิทานที่เล่าไปแล้ว) ฉากนั้นผู้กำกับปล่อยให้คนดูจินตนาการภาพ จินตนาการใบหน้าของตัวละคร จินตนาการภาพเหตุการณ์ไปตามนิทานนั้นเอง และนั่นคงจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้ว เพราะเรื่องที่เล่ามันซึ้งจริงๆ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเห็นภาพมาปรากฏต่อหน้าตามเรื่องที่เล่าเลยแม้แต่น้อย
วิธีการเดียวกันนี้ก็นำมาใช้อย่างได้ผลเหมือนกัน (ในความรู้สึกส่วนตัวของดิฉัน) กับหนังเรื่อง MY STEP BROTHER FRANKENSTEIN เพราะในหนังเรื่องนี้ คนดูไม่ได้ “เห็น” เลยว่าพระเอกประสบกับอะไรมาบ้างก่อนที่จะมาปรากฏตัวในเรื่อง คนดูได้แต่อาศัยคำพูด คำบอกเล่าที่หลุดออกมาจากปากตัวละครเป็นระยะๆเท่านั้น ในการ “จินตนาการภาพเหตุการณ์” ที่พระเอกเคยประสบมาในสงคราม และบางทีการที่คนดูไม่ได้เห็นภาพเหล่านั้นกับตาตัวเอง แต่ต้องจินตนาการภาพนั้นขึ้นมาในหัวของตัวเองตามคำบอกเล่าของตัวละคร ก็อาจจะส่งผลให้คนดูอย่างดิฉันรู้สึกสะเทือนใจกับเรื่องนี้มาก
นอกจากพระเอกของ MY STEP BROTHER FRANKENSTEIN จะสารภาพกลายๆว่าเขาเคยฆ่าเด็กตายไปมากมายในช่วงสงครามแล้ว อีกช่วงหนึ่งของเรื่องที่สะเทือนใจดิฉันมากก็คือฉากที่เขาเล่าให้คนอื่นๆฟังเรื่องที่เขาเคยฆ่าชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ตายไปเป็นจำนวนมาก และถ้าหากดิฉันอ่านซับไตเติลไม่ผิด ดูเหมือนเขาจะพูดว่าเขาขับรถถังไล่บดขยี้ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ด้วย (ไม่แน่ใจตรงจุดนี้เหมือนกันเพราะไม่มีโอกาสได้ดูซ้ำ) หนังเรื่องนี้ไม่ได้แสดงให้ “เห็น” ฉากอันโหดร้ายเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย (ซึ่งก็คงจะประหยัดทุนสร้างหนังไปได้เยอะ) แต่เพียงแค่ได้ฟังคำพูดเหล่านี้จากปากของพระเอก ได้จ้องเข้าไปในดวงตาข้างเดียวของพระเอก ได้จ้องเข้าไปในดวงตาของเขานานๆ จ้องจนรู้สึกเหมือนจะทะลุเข้าไปในหัวใจอันดำมืดของเขา ภาพเหตุการณ์เหล่านั้นก็ผุดขึ้นมาในหัวของดิฉันเอง และดูเหมือนมันจะไม่ยอมจากไปไหนง่ายๆ (สงสัยดิฉันคงเป็นบ้าไปแล้ว)
อีกฉากที่คิดถึงทีไรก็อยากร้องไห้ทั้งๆที่มันเป็นฉากที่ดูซ้ำซากดาดดื่นมากๆ ก็คือฉากที่พระเอกกับพ่อไปโรงพยาบาล แล้วเจอทหารหนุ่มตัวโตคนนึงนั่งด้วยอาการผิดปกติ โดยมีคนในครอบครัวพยายามปลอบโยนอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ทหารหนุ่มคนนี้กลับมาเป็นปกติได้ แต่พระเอกกลับดูเหมือนจะเข้าใจในทหารหนุ่มคนนี้ เขาพูดกับทหารหนุ่มคนนี้ในทำนองว่า “อย่ากลัวไปเลย กำแพงไม่ได้กำลังจะถล่มลงมาหรอก... etc.” และก็ทำให้ทหารหนุ่มคนนี้สงบลงได้ในที่สุด
สิ่งที่ฝังใจมากๆจากฉากนี้ก็คือเราไม่รู้เลยว่าทหารหนุ่มคนนั้นเคยเผชิญกับสถานการณ์ที่สุดแสนจะโหดร้ายอะไรมาบ้างในช่วงสงคราม และเราก็ไม่ได้ “เห็น” กับตาตัวเองอีกด้วยว่า “หัวของเขากำลังมองเห็นภาพหลอนอะไรอยู่” เขาถึงได้มีอาการหวาดกลัวกำแพงถล่มอย่างนั้น แต่การที่เราได้จินตนาการเอาเองว่าเขาเคยเห็นอะไรในสงคราม และเขายังคงเห็นภาพหลอนอะไรอยู่ในตอนนี้ ก็ทำให้รู้สึกกับหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงมากๆ นอกจากนี้ ฉากนี้ยังทำให้รู้สึกซาบซึ้งมากๆกับความเข้าอกเข้าใจกันของ “ตัวละครผู้มีบาดแผลทางจิตใจ” มันเป็นความรู้สึกของ “คนที่มีหัวอกเดียวกัน” ซึ่งตัวละครที่ไม่เคยมีบาดแผลฉกรรจ์ทางจิตใจคงยากที่จะเข้าใจได้
ถ้าหากหนังเรื่องนี้ไม่ได้ใช้ชื่อเรื่องว่า MY STEP BROTHER FRANKENSTEIN ก็อาจจะยืมชื่อหนัง 2 เรื่องมาใช้เป็นชื่อหนังเรื่องนี้ได้ นั่นก็คือ ALMOST PEACEFUL (2002, MICHEL DEVILLE, A+) และ UNINVITED (2003, LEE SU-YEON, A+) เพราะทั้ง MY STEP BROTHER FRANKENSTEIN และ ALMOST PEACEFUL ต่างก็พูดถึงตัวละครที่เพิ่งรอดชีวิตจากสงครามมาเหมือนกัน และตัวละครเหล่านี้ก็ต้องใช้ความพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับชีวิตอันสงบสุขอีกครั้ง พระเอกของ MY STEP BROTHER FRANKENSTEIN ดูเหมือนจะยอมรับสภาพ PEACEFUL ได้ในตอนแรก แต่บาดแผลทางใจจากสงคราม ก็ไม่มีวันที่จะปล่อยให้เขาได้อยู่ในสภาพ ”COMPLETELY PEACEFUL” อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ตัวละครพระเอกหนังเรื่องนี้ ยังอยู่ในสภาพที่เหมือนกับเป็น “แขกไม่ได้รับเชิญ” ในหลายๆสถานการณ์ด้วย ฉากที่เขาถูกพ่อทอดทิ้งไว้ในสถานีรถไฟอย่างไม่ดูดำดูดีในช่วงต้นเรื่อง ให้ความรู้สึกเจ็บปวดเท่ากับฉาก...ในช่วงกลางเรื่อง RIGHT NOW เลยทีเดียว
หากจะจับคู่หนังที่ทั้งเหมือนและต่างกันในเทศกาลนี้แล้ว MY STEP BROTHER FRANKENSTEIN อาจจะเป็นขั้วตรงข้ามของ CLEAN เพราะถึงแม้ทั้งสองเรื่องนี้จะพูดถึงตัวละครที่ผ่านพ้นจากสภาพที่เหมือนกับนรก และ “พยายามตั้งต้นชีวิตใหม่” อย่างยากลำบากเหมือนๆกัน CLEAN กลับตัดลดความเป็นเมโลดรามาและความฟูมฟายทิ้งไปได้อย่างงดงาม ในขณะที่ MY STEP BROTHER FRANKENSTEIN ดูเป็นเมโลดรามาเร้าอารมณ์มากกว่าเยอะ
นอกจากนี้ สิ่งที่ตรงข้ามกันอีกอย่างหนึ่งก็คือจุดลงเอยของหนังสองเรื่องนี้ เพราะในขณะที่เรื่องหนึ่งดูเหมือนจะเชื่อใน REDEMPTION อีกเรื่องหนี่ง (และอาจจะรวมไปถึง THE HUNGARIAN SERVANT ซึ่งมีความเป็นเมโลดรามาสูงมากเหมือนกัน) กลับลงเอยในทิศทางตรงกันข้าม http://www.moviehabit.com/reviews/hun_jt04.shtml
Wednesday, January 26, 2005
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment