This is my comment in Bioscope webboard:
http://www.bioscopemagazine.com/smf/index.php?topic=71.990
เนื่องจาก Filmsick + Merveillesxx ไม่มีโอกาสได้ดูช่วงครึ่งหลังของ THE HALFMOON FILES (2007, Phillip Scheffner, A+++++++++++++++) ก็เลยขอเล่าเหตุการณ์ช่วงครึ่งหลังของหนังเรื่องนี้ให้ฟังพอเป็นกระสายแล้วกันนะ ถ้าหากคุณ grappa, poodnong, ennisdelmar หรือคนอื่นๆจำได้ว่าช่วงครึ่งหลังของหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาอะไรอื่นอีก ก็มาช่วยเขียนเพิ่มเติมกันได้นะ
อย่างไรก็ดี ขอออกตัวก่อนว่า การเล่า “เนื้อหา” ช่วงครึ่งหลังของหนังเรื่องนี้ ไม่สามารถถ่ายทอด “พลังอันเปี่ยมล้น” ของหนังได้แต่อย่างใด เพราะหนังเรื่องนี้วิเศษมากๆในการเรียงลำดับเรื่องราวตัดสลับไปมา การซ้ำคำพูด การเรียงลำดับภาพและเสียง หนังเรื่องนี้มีจังหวะอารมณ์ที่สุดยอดมากๆ และดิฉันคงไม่สามารถถ่ายทอดจุดนี้ออกมาเป็นตัวอักษรได้
เนื้อหาในครึ่งหลังก็รวมถึง
--การฉายให้ดูสารคดีที่บันทึกภาพเชลยศึกชาวเอเชียใต้ในค่าย HALFMOON ในเยอรมนี เราจะเห็นเชลยศึกผู้ชายบางคนเต้นรำไปมาด้วย (ฉากเต้นรำนี้เคยปรากฏให้เห็นแล้วครั้งนึงในช่วงต้นเรื่อง ตอนที่มีเสียงบรรยายบอกว่า บางที Mall Singh อาจจะเป็นผู้ชายคนนึงที่เต้นรำอยู่ในงานนี้ โดยในช่วงต้นเรื่อง ฉากนี้จะปรากฏให้เห็นในแบบ slow motion แต่ในช่วงกลางเรื่อง ฉากนี้จะอยู่ใน speed ปกติ)
--หนังเล่าว่า อุตสาหกรรมบันเทิงได้ใช้ประโยชน์จากเชลยศึกเหล่านี้ด้วย โดยมีการถ่ายหนังชุด colonialists บางเรื่อง โดยเอาเชลยศึกเหล่านี้มาเป็นตัวประกอบในหนัง หนังกลุ่มนี้ถ่ายทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประมาณปี 1916-1918 ก่อนที่เยอรมนีจะแพ้สงคราม และหนังเหล่านี้มีเนื้อหาแบบโฆษณาชวนเชื่อ เชิดชูประเทศเยอรมนี ถ้าฟังไม่ผิด เนื้อหาในหนังเรื่องนึงจะเกี่ยวข้องกับทหารหนุ่มชาวเยอรมันที่ถูกฝรั่งเศสจับตัวไปขังไว้ในค่ายนักโทษ โดยมีชาวแอฟริกันที่เป็นผู้อยู่ในอาณานิคมของฝรั่งเศสคอยโบยตีนักโทษชาวเยอรมันคนนี้ แต่เผอิญภรรยาผู้คุมค่ายเกิดหลงรักนักโทษคนนี้ ทั้งสองก็เลยหนึออกจากค่ายไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่สวิตเซอร์แลนด์อย่างมีความสุข
คาดกันว่าหนังกลุ่มนี้ได้หายสาบสูญไปแล้ว แต่ภาพจากหนังเหล่านี้เคยลงในนิตยสาร และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็นำภาพจากนิตยสารมาให้ผู้ชมได้ดูกัน
--มีการนำบทสัมภาษณ์ Wilhelm Doegen ทางวิทยุในทศวรรษ 1950-1960 มาเปิดให้ผู้ชมฟัง โดย Wilhelm Doegen คนนี้ได้ถูกแนะนำไว้ในหนังตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง เขาเป็นเจ้าของ sound archive ที่รวมบทพูดของเชลยศึกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเอาไว้ ถ้าเข้าใจไม่ผิด เขาเป็นคนต้นคิดให้ใช้ประโยชน์จากเชลยศึกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้วยการบันทึกลักษณะทางภาษา, วัฒนธรรม และมานุษยวิทยาของเชลยศึกเหล่านี้ โดยในการให้สัมภาษณ์ทางวิทยุในทศวรรษ 1950-1960 นั้น น้ำเสียงของเขาแสดงถึงความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้เป็นเจ้าของแผ่นเสียงหายากเหล่านั้น ส่วนดิฉันเองนั้น รู้สึกว่าบุคคลคนนี้เป็นคนที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะดิฉันไม่แน่ใจว่า
1.เขาควรรู้สึกผิดหรือไม่ ที่เหมือนทำงานรับใช้รัฐบาลเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และตักตวงผลประโยชน์จากเชลยศึก แต่ดูเหมือนเขาไม่ได้สำนึกผิดเลย แต่กลับภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้ใช้ประโยชน์จากเชลยศึกในการทำห้องสมุดแผ่นเสียงที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้
2.บางทึเขาอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดก็ได้ เพราะการกระทำของเขาอาจจะไม่ได้ส่งผลเสียแก่เชลยศึก แต่อาจจะส่งผลดีแก่เชลยศึก เพราะเชลยศึกที่ได้รับการคัดเลือกให้มาบันทึกเสียงในแผ่นเสียง ก็ไม่ต้องทำงานหนักในค่าย
--การที่เชลยศึกบางคนได้รับคัดเลือกให้มาบันทึกเสียงพูดลงแผ่นเสียง ทำให้มีการตั้งคำถามในหนังในช่วงกลางเรื่องว่า Mall Singh พูดจริงหรือไม่ เพราะบางที Mall Singh อาจไม่ได้เกิดในรัฐปัญจาบตามที่เขาระบุไว้ก็ได้ บางทีเขาอาจจะเกิดในรัฐอื่นแต่พูดภาษาปัญจาบได้ดี และเขาก็เลยโกหกว่าตัวเองเป็นชาวท้องถิ่นปัญจาบ เพื่อที่ตัวเองจะได้รับคัดเลือกให้มาบันทึกแผ่นเสียง และจะได้ไม่ต้องทำงานหนัก สิ่งเดียวที่จะยืนยันได้ว่า Mall Singh พูดจริงก็คือเขาต้องมีเพื่อนบ้านมายืนยัน แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีเพื่อนบ้านของเขามาอยู่ในค่ายเชลยสงครามด้วย
--อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายเรื่อง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ Mall Singh พูดจริง เพราะมีหนังสือพิมพ์ฉบับนึงในอินเดียตามหาญาติของ Mall Singh จนเจอ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้พบคนที่อ้างตัวว่าเป็นหลานของ Mall Singh และหลานก็บอกว่า Mall Singh รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และกลับมาใช้ชีวิตในอินเดียในเวลาต่อมา
--ในการบันทึกเสียงเชลยสงครามลงแผ่นเสียงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น นักวิทยาศาสตร์จะเขียนคำพูดไว้ก่อนแล้ว และให้เชลยสงครามพูดตามคำพูดที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยนักวิทยาศาสตร์จะคอยสังเกตการออกเสียงผิดๆ และบันทึกไว้ด้วยว่าเชลยสงครามคนใดพูดคำที่ไม่ได้อยู่ในโพย โดยเชลยสงครามบางคนก็ได้รับคำสั่งให้พูดตัวเลข 1,2,3,4,5...เป็นภาษาท้องถิ่นในอินเดีย บางคนก็ตะโกนคำว่า Good Evening เป็นภาษาท้องถิ่นออกมาทั้งๆที่ไม่ได้อยู่ในโพย บางคนก็เปล่งเสียงหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง
--นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้บันทึกลักษณะร่างกายของเชลยสงครามชาวซิกข์ไว้ด้วย เพราะพวกเขาเชื่อว่าชาวซิกข์เป็นชนชาติเดียวกัน และถ้าหากบันทึกลักษณะอวัยวะต่างๆของชาวซิกข์หลายๆคนรวมกันในตาราง ก็จะทำให้สามารถกำหนดค่าทางคณิตศาสตร์ที่ระบุถึงลักษณะเฉพาะของชาวซิกข์ได้ โดยมี Mall Singh ปรากฏอยู่ในบันทึกนี้ด้วย อย่างไรก็ดี หลังจากการบันทึกเสร็จสิ้นลง นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถกำหนดค่าทางคณิตศาสตร์ได้แต่อย่างใดว่าชาวซิกข์มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะชาวซิกข์หลายๆคนมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันมาก (คนที่ชินกับหนังกลุ่ม holocaust คงจำได้ดีว่า นาซีมีการตั้งเป็นทฤษฎีด้วยว่า ชาวยิวจะมีจมูกเป็นอย่างนี้ๆ ปากเป็นอย่างนี้ๆ คอเป็นอย่างนี้ๆ หน้าผากเป็นอย่างนี้ๆ หรืออะไรทำนองนี้ คิดว่าแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ใน THE HALFMOON FILES คงได้รับการพัฒนาเป็นแนวคิดของนาซีในเวลาต่อมา)
--มีการถ่ายภาพเชลยสงครามที่เป็นชาวแอฟริกันและชาวเอเชียใต้มาตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือเยอรมันชื่อ OUR ENEMIES ด้วย โดยฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น มีการระบุชื่อนามสกุลของเชลยสงครามแต่ละคนที่ด้านล่างของภาพ แต่ในฉบับตีพิมพ์ครั้งต่อๆมานั้น ไม่ได้มีการระบุชื่อ แต่ระบุแค่ว่าเชลยสงครามคนนั้นเป็นชาวเผ่าอะไรและมาจากจุดใดของโลก
--ภาพถ่ายที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้บางภาพดูแล้วอยากร้องไห้ เพราะดวงตาของเชลยสงครามบางคนดูเศร้ามาก หนังเรื่องนี้ไม่ได้บรรยายอะไรมากนักในฉากเหล่านี้ แต่เราเห็นดวงตาของเชลยกลุ่มนี้ เราก็นึกถึงเสียงพูดของเชลยบางคนในช่วงต้นเรื่อง ที่ว่าเขาอยากกลับบ้านเป็นอย่างมาก แล้วพอเราเห็นดวงตาของเชลยเหล่านี้ในภาพถ่าย เราก็รู้สึกว่าเขาคงอยากกลับบ้านมากๆจริงๆ เขาคงไม่รู้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ เขาคงไม่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตรอดหรือไม่ เขาคงได้แต่คิดถึงครอบครัวของตัวเองที่รออยู่ในดินแดนอันห่างไกล
--แต่ฉากที่ทำให้ร้องไห้ออกมา คือฉากพิธีเปิดสุสานเชลยสงครามชาวอินเดียในเยอรมนี โดยผู้กำกับหนังเรื่องนี้ได้รับเชิญจากสถานทูตอินเดียให้ไปร่วมงานพิธีเปิดดังกล่าว และในพิธีเปิดนี้ ก็มีคนนำบทพูดของ Mall Singh ที่เราได้ยินตอนช่วงต้นเรื่อง มาพูดซ้ำอีกครั้งผ่านไมโครโฟนในงานเปิด แต่ขณะที่เราได้ยินบทพูดของ Mall Singh อยู่นั้นหนังก็ตัดภาพจากพิธีเปิดสุสาน มาเป็นภาพของ SOUND ARCHIVE ที่เราเคยเห็นแล้วหลายครั้งในช่วงต้นของหนัง โดยในฉากนี้ เราจะเห็น SOUND ARCHIVE มืดๆ ก่อนที่จะมีแสงไฟสลัวๆปรากฏขึ้นมา และมันก่อให้เกิดความรู้สึกที่สุดจะบรรยายมากๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าหนังทำได้อย่างไร มันเป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก มันเหมือนกับว่าเสียงคร่ำครวญของเชลยสงครามในปี 1916 ยังคงล่องลอยอยู่ในสุสานเชลยสงครามชาวอินเดียในเยอรมนีในปี 2006 และยังคงล่องลอยอยู่ใน SOUND ARCHIVE ในเยอรมนี มันเหมือนกับว่าวิญญาณของพวกเขายังคงล่องลอยอยู่ที่นี่ และวิญญาณของพวกเขายังคงเร่ร่อนกลับบ้านไม่ถูก การใช้ภาพและเสียงในฉากนี้ ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์กันโดยตรง (เสียงพูดจากสุสาน+ภาพ sound archive ในไฟสลัวๆ) และการนำบทพูดที่เราเคยได้ยินมาแล้วในช่วงต้นเรื่อง มากล่าวซ้ำอีกครั้ง ก่อให้เกิดเป็นฉากที่สุดยอดมากๆ
--บางทีหนังเรื่องนี้คงมีอาถรรพณ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาจต้องการให้หนังเรื่องนี้ได้รับการฉายในห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน เพราะภาพ SOUND ARCHIVE ในหนังเรื่องนี้ มันคล้ายกับภาพห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน นอกจากนี้ ฉาก SOUND ARCHIVE ในแสงไฟสลัวราง ยังปรากฏขึ้นมาในขณะที่พระอาทิตย์เพิ่งลาลับขอบฟ้าจากหน้าต่างห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ก็เลยทำให้รู้สึกว่าฉากในจอกับฉากนอกจอมันทำปฏิกิริยาซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีตุ๊กตาจิม ทอมป์สันผู้หายสาบสูญนั่งดูหนังเรื่องนี้อยู่ในห้องสมุดด้วย
--ภาพบางภาพในหนังก็ไม่ได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องโดยตรง และก็ให้ความรู้สึกสุดยอดมากๆ เพราะบางภาพในหนังจะเป็นภาพท้องทุ่งในเมือง Wuensdorf ของเยอรมนี และขณะที่ดู ดิฉันก็จินตนาการไปเองว่า บางทีอาจมีวิญญาณเชลยสงครามยังคงล่องลอยอยู่ในท้องทุ่งเหล่านี้
--หนังเรื่องนี้ไปสัมภาษณ์หญิงคนนึงที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เคยเป็น HALFMOON CAMP ด้วย โดยหญิงคนนี้บอกว่าต้นตระกูลของเธอใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาหลายสิบปีแล้ว แต่ในช่วงทศวรรษ 1980 ครอบครัวของเธอไปค้นเจอประตูหรือแผ่นไม้อะไรสักอย่าง ที่มีชื่อเชลยสงครามหลายคนสลักเอาไว้บนนั้น และเชลยสงครามบางคนก็เขียนระบายความรู้สึกลงบนแผ่นไม้นั้นด้วย (ถ้าดิฉันจำไม่ผิด) และหลังจากนั้น ครอบครัวของเธอก็รู้สึกว่ามีผีมาเพ่นพ่านอยู่ในบ้าน และบางทีก็มีเสียงอะไรแปลกๆ อย่างเช่นเสียงเครื่องจักรดังในตอนกลางคืน
ผู้หญิงคนนี้ยังตั้งข้อสงสัยอีกด้วยว่า ในบริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของ THE HALFMOON CAMP นั้น จะมีอยู่จุดนึงที่หิมะไม่เคยปกคลุม และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ โดยเธอเล่าว่าในฤดูหนาว จะมีหิมะตกลงมาปกคลุมพื้นที่บริเวณนั้นจนหมด แต่จะมีอยู่บริเวณนึง ที่พอหิมะตกลงมาปุ๊บ หิมะก็จะละลายไปหมดในทันที เธอก็เลยสงสัยมาโดยตลอดว่าต้องมีอะไรสักอย่างอย่างแน่นอนที่อยู่ใต้พื้นดินบริเวณนั้น อะไรสักอย่างที่ทำให้หิมะละลายไปในทันทีทุกครั้ง ทั้งๆที่พื้นที่รอบด้านไม่เป็นเช่นนั้น
--ในฉากพิธีเปิดสุสานเชลยสงครามชาวอินเดีย เราจะเห็นหินสีขาวขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในสุสาน แต่หนังบอกเราว่าหินปักสุสานนี้เป็นหินที่ทำขึ้นใหม่ และหนังก็พาเราไปดูหินปักสุสานชาวอินเดียของดั้งเดิม ที่ขณะนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ออกร้านอะไรสักอย่างในเยอรมนี มีหมาเดินผ่านไปผ่านมาอย่างไม่ยี่หระ และชาวบ้านในเยอรมนีก็เดินผ่านไปผ่านมาอย่างไม่สนใจ ทั้งๆที่หินนั้นยังคงมีคำสลักเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นหินปักสุสานเชลยสงครามชาวอินเดีย
--ในบทสัมภาษณ์ทางวิทยุของ Wilhelm Doegen เขาได้นำแผ่นเสียงที่บันทึกลักษณะการตีกลองของชนเผ่าเผ่าหนึ่งในแอฟริกามาเปิดออกอากาศด้วย แต่สิ่งที่ทำให้เสียงตีกลองเป็นจังหวะไพเราะนี้ ให้ความรู้สึกที่สุดยอดมากๆ ก็คือว่าเสียงตีกลองนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในพิธีเต้นรำของชนเผ่า แต่เสียงตีกลองนี้ ที่จริงแล้วเป็นภาษาสื่อสาร และมีความหมายว่า “คนขาวกำลังมาแล้ว”
หนังเรื่องนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดตรงจุดนี้มากไปกว่านี้ แต่เนื้อหาตรงจุดนี้ทำให้ดิฉันจินตนาการไปถึงชีวิตของชาวเผ่าเผ่านี้ในอดีต ว่าอาจจะต้องเคยใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดผวาคนขาวเป็นอย่างมาก และต้องมีการสร้างภาษาสื่อสารด้วยการใช้กลองขึ้นมา เพื่อที่จะได้หลบหนีคนขาวหรือเตรียมรับมือกันคนขาวได้อย่างทันท่วงที
--ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ไม่ได้รับอนุญาตจากอินเดียให้ไปถ่ายหนังในอินเดีย โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่า สาเหตุอาจเป็นเพราะพื้นที่ที่เขาต้องการไปสำรวจนั้น อาจเป็นพื้นที่ล่อแหลมระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment