Monday, May 18, 2009

THERE'S SOMETHING ABOUT KING TILOKARACH

I just went to see a painting exhibition called TO PAINT MY HOMELAND (Phongphun Ruannunchai) at Jamjuree Art Gallery. There are three paintings of King Tilokarach (1409-1487) of the Lanna Kingdom in this exhibition. I like these three paintings very much, so I tried to search for the information about King Tilokarach in Wikepedia.

Wikipedia says in Thai that he was a bisexual king. He liked the ruler of Pakyom City (which is Pichit Province in Thailand nowadays) very much, because the ruler of Pakyom City was very handsome. King Tilokarach wanted to take the ruler of Pakyom to Chiang Mai so that they could live together there, but their relationship was obstructed by the former ruler of Pitsanuloke City. The Pitsanuloke ruler said that if King Tilokarach brought the Pakyom ruler to Chiang Mai, King Tilokarach should kill the Pitsanuloke ruler. King Tilokarach didn’t want to hurt the feelings of the Pitsanuloke ruler, so King Tilokarach had the Pakyom ruler executed.

http://farm3.static.flickr.com/2142/3542970756_02d05920b5_o.jpg
http://farm4.static.flickr.com/3394/3542970754_ee013f0e82_o.jpg
http://farm3.static.flickr.com/2454/3542970748_b5c4af5cd4_o.jpg

ข้อความจาก Wikipedia:

“ต่อมากองทัพหน้าไปตีเมืองปากยม (พิจิตร)จับเจ้าเมืองปากยมรูปงามได้ พระเจ้าติโลกราช ทรงต้องพระทัย จะนำตัวไปยังเชียงใหม่ แต่ถูกทัดทานจากพระยายุทธิษเสฐียร(อดีตเจ้าเมืองพิษณุโลกที่มาสวามิภักดิ์)ว่า ถ้านำตัวเจ้าเมืองปากยมกลับเชียงใหม่ ให้ ฆ่า "ข้าเสียเถอะ" พระเจ้าติโลกราช ถนอมน้ำใจ จึง สั่งประหารชีวิต เจ้าเมืองปากยมผู้รูปงาม เสีย ณ ที่นั้น (มีความเห็นจากนักวิชาการบางท่านว่า พระเจ้าติโลกราช มีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราช (ในภาพยนตร์) คือ มีความรักทั้งเพศหญิง และเพศชาย(ไม้ป่าเดียวกัน)”

---------------------------------------------------


This is my comment in Konmongnang’s blog:
http://konmongnang.exteen.com/20090510/entry

--ดู INNOCENT VOICES (2004, Luis Mandoki, A+) แล้ว เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังต่อต้านสงครามและรัฐทหารที่ค่อนข้างตรงไปตรงมานะ เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้แทบไม่มีอะไรใหม่เลย แต่สาเหตุที่ให้ A+ เป็นเพราะว่า ถึงแม้มันจะไม่มีอะไรใหม่ มันก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดชีวิตผู้คนที่ทุกข์ยากได้อย่างถึงอารมณ์มากๆ

ดู INNOCENT VOICES แล้วก็นึกถึง CHOICES OF THE HEART (1983, Joseph Sargent, A++++++) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในประเทศเอล ซัลวาดอร์เหมือนกัน ได้ดูหนังเรื่องนี้ตอนเด็กๆแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง หนังสร้างจากเรื่องจริงของแม่ชีสามคนที่ถูกฆ่าข่มขืนตายโดยทหารเอล ซัลวาดอร์ที่ทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในช่วงนั้น

บทวิเคราะห์ INNOCENT VOICES ในวิภาษายาวดีเหมือนกัน นึกไม่ถึงว่าจะมีคนเขียนถึงหนังเรื่องนี้ได้ยาวขนาดนี้ อ่านบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้ในวิภาษา ที่พูดถึงความแตกต่างระหว่างเสรีภาพในความเห็นของเด็กๆหรือในความเห็นของประชาชนทั่วไป กับเสรีภาพตามปฏิญญาสากล แล้วก็คิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจดีเหมือนกัน เพราะมันทำให้เรานึกถึงความรู้สึกของเราในช่วงที่ผ่านมา เพราะเราเองก็ต้องการเสรีภาพในแบบของเราเช่นกัน แต่ดูเหมือนกลุ่มการเมืองต่างๆในไทยต่างก็ต้องการลิดรอนเสรีภาพของเราอย่างรุนแรง

--เห็นคุณคนมองหนังชอบเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ก็เลยมาเล่าให้ฟังว่า เพิ่งได้ดูละครเวทีแนวจักรๆวงศ์ๆสำหรับเด็กเรื่อง “คัน คาก นาค แถน” (ชัยชุมพล บุญมีพลกิจ + สิริกาญจน์ บรรจงทัด, A+) ที่มะขามป้อม สตูดิโอ ละครเวทีเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากตำนานของภาคอีสานที่น่าสนใจดี เพราะมันเล่าเรื่องของพระยาแถนที่ปกครองสวรรค์ กับพญาคันคาก ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยบนโลกมนุษย์ที่คอยปกป้องช่วยเหลือชาวบ้านจนได้รับความนิยมอย่างสูงจากชาวบ้าน พระยาแถนอิจฉาความนิยมที่ประชาชนมีให้กับตัวพญาคันคากเป็นอย่างมาก ก็เลยหาทางกลั่นแกล้งชาวบ้านด้วยการทำให้ฝนไม่ตกเป็นเวลานาน ชาวบ้านและสัตว์ต่างๆได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากก็เลยร่วมมือกันกับพญาคันคากในการสร้างจอมปลวกขนาดใหญ่จากพื้นดินให้สูงต่อกันขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงสวรรค์ และในที่สุดกองทัพสัตว์โลกที่นำโดยพญาคันคากก็บุกขึ้นไปถึงสวรรค์และต่อสู้กับพระยาแถนซึ่งเป็นเทวดาจนมีชัยชนะเหนือเทวดาในที่สุด

--ชอบงานศิลปะชุด “ห้องเรียนประวัติศาสตร์” ของคุณสุธี คุณาวิชยานนท์มากเหมือนกัน งานศิลปะชิ้นนี้พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เราก็ได้ดูหนังเรื่อง “ช่างมันฉันไม่แคร์” (1986, ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล, A+++++) ที่พูดถึงเหตุการณ์เดียวกัน โดยตัวนางเอกที่แสดงโดยสินจัยเป็นนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา และดูเหมือนว่าเธอก็ยังคงสะเทือนใจกับเหตุการณ์นั้นอยู่แม้เวลาผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่สิ่งที่แอบฮาก็คือหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น เธอไม่ได้เข้าป่า แต่เธอไปเที่ยวเกาะเสม็ดกับชายหนุ่มที่ช่วยชีวิตเธอ และเธอก็ผิดหวังกับชายหนุ่มคนนั้น เพราะหลังจากนั้นชายหนุ่มคนนั้นก็ไปเรียนต่อเมืองนอก และเมื่อเขากลับมาอีกที เขาก็ยังคงรักเธอมากอยู่ แต่นิสัยใจคอเขาได้เปลี่ยนไปเป็นพวกทุนนิยม-วัตถุนิยมแล้ว

--พูดถึง “ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน” เราก็ขอสารภาพว่า เราเพิ่งรู้จาก Wikipedia ว่า “พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา” ทรงเป็นไบเซ็กชวล และเคยมีเรื่องรักใคร่กับเจ้าเมืองพิจิตรที่มีหน้าตาหล่อเหลาเป็นอย่างมาก แต่พระยายุทธิษเสถียร (เจ้าเมืองพิษณุโลก) พยายามขัดขวางไม่ให้พระเจ้าติโลกราชได้ครองรักกับเจ้าเมืองพิจิตร

แหม นี่ถ้าเราเป็นคนในกระทรวงศึกษาธิการ เราจะบรรจุเนื้อหาทางประวัติศาสตร์อันนี้ลงไปในแบบเรียนเด็กประถม โดยอาจจะให้ ”วีระ”, “มานะ” กับ “ปิติ” พยายามศึกษาประวัติศาสตร์อันนี้อย่างตั้งอกตั้งใจ

สาเหตุที่อยู่ดีๆเราก็สนใจพระเจ้าติโลกราชขึ้นมา เป็นเพราะเราได้ดูนิทรรศการภาพวาดชื่อ “ขอวาดแผ่นดิน” ของ Phongphun Ruannunchai ซึ่งมีภาพวาดของพระเจ้าติโลกราชขณะทรงอยู่ท่ามกลางหนุ่มหล่อสองคน เราก็เลยรู้สึกสนใจอยากศึกษาเรื่องราวของพระเจ้าติโลกราชขึ้นมาในทันที แต่เท่าที่ดูจาก Wikipedia รู้สึกว่าพระองค์จะทรงเป็นคนที่โหดร้ายมาก

เห็นคุณคนมองหนังชอบอ่านนิตยสารศิลปวัฒนธรรมและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ก็เลยไม่รู้ว่าคุณคนมองหนังเคยเห็นบทความที่พูดถึงประเด็นเรื่องรสนิยมทางเพศของพระเจ้าติโลกราชบ้างหรือเปล่า










9 comments:

merveillesxx said...

กรี๊ดดดดด ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า “พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา ทรงเป็นไบเซ็กชวล" (รูปประโยคนี้มันดูเซอร์เรียลยังไงไม่รู้แฮะ 555)

ตอนที่ดูนิทรรศการนั้นก็ไม่ได้สังเกตภาพนี้เลย พอดีดูแบบผ่านๆ

celinejulie said...

ฮ่าฮ่าฮ่า ไม่รู้เหมือนกันค่ะว่า คำว่า “ไบเซ็กชวล” นั้น ใช้คำราชาศัพท์ว่ากระไร พอดีดิฉันไม่ค่อยถนัดเรื่องคำราชาศัพท์ค่ะ ถนัดแต่คำผรุสวาทมากกว่า โดยเฉพาะคำราชาศัพท์เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศนี่ ดิฉันยิ่งไม่รู้เข้าไปใหญ่ ไม่รู้ว่ารายการภาษาไทยวันละคำของอ.กาญจนา นาคสกุลเคยสอนคำประเภทนี้บ้างหรือเปล่า ดิฉันรู้แค่ว่า คำว่า “พระคุยหฐาน” แปลว่า “ไอ้นั่น”

เมื่อกี้เพิ่งลองไป search คำราชาศัพท์ในเว็บของ sanook แล้วก็เลยเพิ่งรู้ว่า คำว่า “ทรงพระเจริญ” นั้น แปลว่า “อ้วนขึ้น” !!!!!
http://guru.sanook.com/dictionary/dict_royal/อ้วนขึ้น/

Vespertine said...

wow

konmongnang said...

ละครเวทีเรื่อง "คัน คาก นาค แถน" ที่คุณ MdS เล่าให้ฟังมีความน่าสนใจมาก ๆ เลยครับ (ไม่ทราบว่ายังมีแสดงอยู่หรือเปล่า?)ถ้าเข้าใจไม่ผิด ตำนานเรื่องนี้น่าจะมีที่มาจากแถวอีสานนะครับ
นอกจากนั้น ไม้หนึ่ง ก.กุนที ยังเคยเขียนบทกวีอยู่ชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องของพญาคันคากอยู่เหมือนกัน ซึ่งมีเนื้อความดังต่อไปนี้ครับ


Le grenouille de Siam
(ความปราชัยของพญาคันคาก)

@ คือการแทรกแซงจากที่สูง

ท่อนซุงแปลงเป็นนกกระสา

จิกกินการเมืองภาคประชา

ไม่ให้ก้าวหน้าด้วยตัวเอง


สังวาสสโมสรโดยมิชอบ

ลักลอบผสมพันธุ์ซะบวมเป่ง

สร้างชุดคุณธรรมให้ยำเกรง

พิกลเกือบหมดสังคม - มะเร็งร้าย!


ขังในบ่อโบราณไม่รู้จบ

เอาไว้กินขากบและพวงไข่

ยังยินดีปรีดายิ่งงมงาย

คิดแต่พึ่งมูลนายเทวดา


เมื่อ 1 กบ ยืน 2 ขา เป็นนายก

งอกปีกบินเหมือนนก ฟ้าก็ผ่า

ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำ 6 ตุลาฯ

ตุลาการภิวัฒน์ ล่าแม่มด.

konmongnang said...

ผมก็เพิ่งทราบเหมือนกันครับว่า "พระเจ้าติโลกราช" เป็นไบฯ
จำได้ว่าตอนเชียงใหม่ฉลองครบรอบ 700 ปี และมีการเฉลิมฉลองหลายอย่าง ๆ เช่น การจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ หรือมีการประดิษฐ์ประเพณีบางอย่างขึ้นมาให้ดูเหมือนเป็นของแท้ดั้งเดิม แต่จริง ๆ แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างหรือผสมผสานหรือให้ความหมายบางประการเข้ามาใหม่ โดยหนึ่งในงานเฉลิมฉลองดังกล่าวก็มีการแสดง light and sound อันมีเรื่องราวว่าด้วยพระเจ้าติโลกราชเกิดขึ้นด้วย แน่นอนครับ ในการแสดงนั้นไม่มีการกล่าวถึงเรื่องเพศสภาพที่ซับซ้อนของกษัตริย์ล้านนาองค์นี้ มิหนำซ้ำผู้ที่มารับบทพระเจ้าติโลกราชยังได้แก่ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เข้าให้อีก ซึ่งถ้ามีการกำหนดให้พระเจ้าติโลกราชเป็นไบฯ พงษ์พัฒน์อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก? แม้ว่าเขาจะเคยกำกับหนังเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเกย์ และถ้าจำไม่ผิดจะเคยรับบทเกย์/กระเทยในละครทีวีบางเรื่องเมื่อนานมาแล้วก็ตาม

konmongnang said...

บังเอิญผมเพิ่งเดินทางไปแถวภาคเหนือมาครับ และแน่นอนว่าต้องได้พบกับชื่อของพระเจ้าติโลกราชอยู่บ้างตามโบราณสถานที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแถวนั้น
และแน่นอนอีกเช่นกันว่า พระเจ้าติโลกราช ย่อมต้องมีสถานะเป็นฮีโร่ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนา (ในช่วงหลัง ๆ มานี้ อ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนบทความที่น่าสนใจหลายชิ้นลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบูมขึ้นมาของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนาที่ผูกโยงเข้ากับกระแสวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งมาบูมได้เวลาพอดี -จนสามารถปะทะกับประวัติศาสตร์ของรัฐไทยจากส่วนกลางได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ- ในบริบทของกระแสการเมืองไทยอันเชี่ยวกรากในยุคปัจจุบัน) และคงเป็นอภิมนุษย์อีกคนหนึ่งที่คนแถวภาคเหนือห้ามดูหมิ่นแตะต้อง ในทำนองเดียวกันกับ กรณีห้ามผู้หญิงขึ้นพระธาตุ หรือ กรณีท้าวสุรนารีในโคราช
ผมก็เลยไม่แน่ใจนักว่าภาพความเป็นไบฯ หรือความเป็นนักรบที่โหดเหี้ยมของพระเจ้าติโลกราชนั้น จะถูกขับเน้นขึ้นโดยมีที่มาจากการพยายามต่อต้านฮีโร่ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนาหรือไม่? เพราะอย่างน้อย สถานะของพระเจ้าติโลกราชในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักก็ต้องเป็นปฏิปักษ์กับกษัตริย์สำคัญของอยุธยาคือ พระเจ้าบรมไตรโลกนาถ จนกษัตริย์ล้านนาคนนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักได้อย่างราบรื่นลงรอยเสียทีเดียว
นอกจากนี้ ผมคิดว่า ยังมีกษัตริย์องค์อื่น ๆ ในแถบอุษาคเนย์อีกที่ถูกพูดถึงในลักษณะคล้าย ๆ กับพระเจ้าติโลกราช เช่น พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ซึ่งนอกประวัติศาสตร์พม่า ก็ถูกขับเน้นให้เป็นผู้โหดเหี้ยม ขี้เมา และเป็นไบฯ/เกย์ เช่นเดียวกันกับ พระนเรศวร ซึ่งประวัติศาสตร์นอกกระแสหลักของไทย ก็มีการพูดถึงความโหดเหี้ยมของพระองค์อยู่ ที่สำคัญ แม้แต่ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักก็บอกเล่าแต่เรื่องราวการศึกของพระองค์ โดยไม่ได้ระบุไว้ว่าพระองค์มีมเหสี/หญิงคนรักแต่อย่างใด มีเพียงตำนานบางตำนานเท่านั้นที่ระบุถึงสตรีคนรักของพระองค์ชื่อมณีจันทร์ ซึ่งท่านมุ้ยก็นำมายำเสียสนุกสนานในหนังที่ยังคงเป็น unfinished project มาจนถึงบัดนี้ 555
หรือในการเดินทางขึ้นเหนือครั้งนี้ ผมก็ได้รับฟังตำนาน/ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่าง ๆ ที่น่าสนใจดี เช่น พระร่วงในตำนานของสุโขทัยนั้นจะถือเป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ แต่ยิ่งเดินทางขึ้นเหนือไปถึงดินแดนล้านนามากขึ้นเท่าใด พระร่วงก็ยิ่งถูกกลับกลายให้มีสถานะเป็นตัวร้ายมากขึ้นเท่านั้น เช่น สถานะการเป็นชู้กับมเหสีของพ่อขุนงำเมือง แห่งพะเยา เป็นต้น
(การเดินทางครั้งนี้ ผมยังได้รับฟังเกร็ดเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ว่าฯพะเยาคนแรกที่ทางรัฐสยามส่วนกลางส่งมา ซึ่งมีชื่อว่า "คลาย" แต่ชาวบ้านในยุคนั้นและเรื่องเล่าที่ถูกสืบสานต่อกันมาในท้องถิ่น กลับตั้งชื่อให้ผู้ว่าคนนั้นว่า "ควาย" เนื่องจากระหว่างดำรงตำแหน่ง เขาได้ตัดสินใจทุบทำลายกำแพงเมืองเก่าของพะเยา จนสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก 555)
นี่จึงอาจเป็นเสน่ห์ของการมีประวัติศาสตร์หลากหลายฉบับ โดยปราศจากประวัติศาสตร์ฉบับที่เป็น "อภิมหาบรรยาย" (Metanarrative) กระมังครับ เพราะอย่างน้อย เราก็มีโอกาสได้รับฟัง/อ่านเรื่องราวที่บ่งบอกว่าอภิบุรุษคนนั้นคนนี้นิยมชมชอบบุคคลเพศเดียวกันมากยิ่งขึ้น
แต่ก็หวังว่าคงไม่มีใครมาใช้ความหลากหลายเหล่านี้ ไปเป็นเครื่องมือทำลายกลุ่มทางสังคมกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พวกตน เช่น เด็กนักเรียนน่าจะสามารถเรียนรู้ได้ว่า กษัตริย์คนนู้นคนนี้ในประวัติศาสตร์เป็นไบฯ โดยที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่บุคคลผิดปกติแต่อย่างใด ทว่าก็น่ากลัวเหมือนกัน ถ้าหากมีคนไปเน้นย้ำว่าเพราะกษัตริย์/ฮีโร่ของท้องถิ่นนั้นมีรสนิยมทางเพศที่ไม่สามารถถูกจัดแบ่งได้เป็นสองขั้วตามกระแสหลัก ดังนั้น ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์่ของท้องถิ่นนั้นจึงมีปัญหา และสมควรจะถูกเข้ามาควบคุม ตรวจสอบ หรือชำระ โดยรัฐส่วนกลาง เป็นต้น

konmongnang said...

ขณะเดียวกันกระแสท้องถิ่นนิยม เช่น การห้ามผู้หญิงขึ้นพระธาตุ หรือ การไม่ยอมรับความหลากหลายในประวัติศาสตร์ที่มีมากกว่าหนึ่งฉบับเกี่ยวกับวีรบุรุษวีรสตรีประจำท้องถิ่น ก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องถูกตรวจสอบและทัดทานอย่างยิ่งยวดเช่นเดียวกัน

celinejulie said...

ขอบคุณคุณคนมองหนังมากๆค่ะสำหรับเกร็ดความรู้ต่างๆมากมาย ส่วนเรื่องประวัติของพระเจ้าติโลกราชนั้น ดิฉันก็สังหรณ์ใจอยู่เหมือนกันค่ะว่าน่าจะต้องมีบางส่วนที่เขียนขึ้นโดยผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพระองค์ นอกจากนี้ ข้อมูลที่อยู่ใน wikipedia ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากนักด้วย

ส่วนเรื่อง คันคากนากแถน นั้น ปิดการแสดงไปแล้วค่ะ ละครเรื่องนี้แสดงแค่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

พูดถึงประวัติศาสตร์ที่ย้อนแย้งกันเองแล้ว ก็นึกถึงเรื่องของ Boadicea ราชินีของดินแดนหนึ่งในอังกฤษที่ก่อการกบฏต่อต้านอาณาจักรโรมันในค.ศ. 60-61 เคยได้ยินมาว่านักประวัติศาสตร์ของโรมันได้วาดภาพให้ราชินีองค์นี้เป็นคนที่โหดร้าย แต่นักประวัติศาสตร์ของที่อื่นๆอาจให้ภาพในทางตรงกันข้าม

celinejulie said...

--พูดถึงเรื่อง “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ตรงกัน” แล้ว ก็เลยนึกถึงหนังเรื่อง THE LIGHT OF ASIA (1925, Franz Osten + Himansu Rai, B+) ที่เพิ่งได้ดูมา เพราะหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องที่ว่า พระนางยโสธราพิมพาได้เป็นพระอัครสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า แทนที่จะเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะตามที่ดิฉันเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ดิฉันไม่แน่ใจเหมือนกันว่า THE LIGHT OF ASIA สร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ หรือว่าสร้างเรื่องตามตำนานดั้งเดิม เพียงแต่ว่าตำนานดั้งเดิมนั้นไม่ตรงกับตำนานที่เราได้เรียนรู้กันในประเทศไทย

--ได้อ่านบทกวี “ความปราชัยของพญาคันคาก” แล้ว ก็รู้สึกน่าสนใจดีเหมือนกันที่บทกวีนี้เหมือนจะเปรียบเทียบประชาชนว่าเป็นกบ เพราะเมื่อวานนี้เพิ่งได้ดูละครเวทีเรื่อง “กบ” (กำกับโดยขนิษฐา นงนุช, A) ที่โรงละครหน้ากากเปลือย ละครเวทีเรื่องนี้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกบ 4 ตัว กับ “เมฆปุย” โดยกบมักจะร้องขอความช่วยเหลือจากเมฆปุยให้ช่วยทำให้ฝนตกอยู่เสมอ แต่ในที่สุดกบตัวหนึ่งก็กล้าที่จะบอกเมฆปุยว่า ในบางครั้งความช่วยเหลือของเมฆปุยก็เป็นความช่วยเหลือที่ “มากเกินไป” ได้เหมือนกัน ดูแล้วก็ไม่แน่ใจว่าละครเวทีเรื่องนี้ต้องการที่จะสื่อถึงอะไรบ้างหรือเปล่า

บทกวี “ความปราชัยของพญาคันคาก” ยังทำให้นึกถึงนิทรรศการศิลปะที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ในเดือนก.ย.ปีที่แล้วด้วย เป็นงานนิทรรศการชื่อ ART OF PROPAGANDA EXHIBITION: THE FATE OF FROG ของ Thongtouch Teparaksa โดยงานนิทรรศการนี้พูดถึงเรื่องการเมือง และเปรียบเทียบประชาชนว่าเป็นกบอย่างชัดเจน ดิฉันจำรายละเอียดของงานนี้ไม่ได้แล้ว เมื่อกี้ลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนิทรรศการนี้ในอินเทอร์เน็ต ก็หาไม่เจอ