GUEGGONG (2013, Surawee Worrapot, A+20)
กึกก้อง (สุระวี วรพจน์)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่
SPOILERS ALERT
หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
1.ชอบอะไรหลายๆอย่างในหนังเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะการสร้างความเป็นสีเทาให้ตัวละครครูและพระเอก
(เด็กชายที่ขโมยยา) ตัวละครสองตัวนี้น่าสนใจมากๆ
เพราะมันเป็นเรื่องยากสำหรับเราจริงๆที่จะตัดสินครูว่าทำถูกหรือทำผิด
และตัดสินว่าพระเอกเป็นคนดีหรือคนเลว
2.การสร้าง dilemma ให้ตัวละครคุณครูในเรื่องนี้นี่มันรุนแรงจริงๆ
มันก่อให้เกิดความรู้สึกค้างคาในใจเราจริงๆ และนี่แหละคือปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ
A+20 (หมายถึง ชอบมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ)
เพราะเราเองจนถึงตอนนี้ก็ตอบไม่ได้ว่า ถ้าหากเราเป็นครูในเรื่องนี้
เราจะตัดสินใจทำยังไง เราว่าเราอาจจะตัดสินใจทำแบบครูในหนังเรื่องนี้ก็ได้
ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า
การตัดสินใจแบบที่ครูทำในหนังเรื่องนี้ มันอาจจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างไรบ้าง
(ทำให้เด็กได้ใจ และขโมยของต่อไป)
dilemma แบบนี้นี่แหละที่เราชอบมากๆ
เพราะหนังเรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่า การตัดสินใจแบบของเรา มันอาจจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร
หนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนกระทบเราโดยตรง มันเหมือนกับการโยนคำถามเปรี้ยงเข้าใส่หน้าเราโดยตรง
เหมือนกับเราโดนสาดน้ำที่เย็นจัดเข้าใส่หน้า
และทำให้เราตื่นขึ้นมาตั้งคำถามกับสามัญสำนึกของเราใหม่
3.เรามองว่าสิ่งที่ครูทำเป็นสิ่งที่เรายอมรับได้นะ
เขาเป็นคนที่เห็นว่า “มนุษยธรรม” สำคัญกว่า “กฎระเบียบ” น่ะ
ซึ่งมันตรงกับแนวคิดของเราเหมือนกัน เขาสงสารพระเอก ดังนั้นพอเขารู้ว่าพระเอกทำผิด
(จริงๆตรงนี้เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะว่าพระเอกขโมยกล่องดินสอจริงๆหรือเปล่า)
เขาก็เลยช่วยพระเอกด้วยการซื้อกล่องดินสอใหม่ไปให้เด็กอีกคน เขาคิดว่านั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
ในแง่นึงเราก็มองว่าครูคนนี้คือตัวละครที่ตรงข้ามกับ Javert ใน LES
MISERABLES น่ะ Javert คือตัวละครที่เราเกลียดมากๆ
เพราะเขาเห็นว่ากฎระเบียบสำคัญกว่ามนุษยธรรม ในขณะที่เรามีความเห็นตรงกันข้าม
เพราะเรามองว่ามนุษยธรรมต้องมาก่อนกฎระเบียบในหลายๆกรณี
4.แต่สิ่งที่ต้องกราบตีนหนังเรื่องนี้จริงๆก็คือการที่หนังไม่ได้เชิดชูความดีของคุณครูคนนี้
แต่หนังกลับตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของครูคนนี้ หนังทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า
4.1 สิ่งที่ครูทำเกิดจากความสงสารคนจน
แต่ความสงสารคนจนหรือผู้ตกทุกข์ได้ยาก มันสามารถใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการปกปิดความผิดของเขาได้หรือไม่
4.2 สิ่งที่ครูทำ ถือเป็น “ความลำเอียง” ประเภทหนึ่ง
และความลำเอียงประเภทนี้ “ผิด” หรือเปล่า
(จริงๆแล้วจุดนี้ทำให้เรานึกไปถึงหนังที่เราชอบที่สุดเรื่องหนึ่งในปีที่แล้วด้วย
ซึ่งได้แก่เรื่อง AARAKSHAN (2011, Prakash Jha, A+30) เพราะ AARAKSHAN
พูดถึงข้อดีข้อเสียของ “ความลำเอียงเข้าข้างคนจน” ด้วยเหมือนกัน AARAKSHAN
พูดถึงระบบการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาลัยของอินเดีย
ที่ให้โควต้าพิเศษแก่คนวรรณะต่ำ เพราะรัฐบาลมองว่า
คนวรรณะต่ำมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีน้อยกว่าคนวรรณะสูง
เพราะฉะนั้นคนวรรณะต่ำจึงควรได้สิทธิพิเศษในการเข้ามหาลัยมากกว่าคนวรรณะสูง
แต่ถ้าหากมองในอีกแง่นึง
ระบบโควต้าพิเศษแบบนี้ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นความไม่ยุติธรรมก็ได้เหมือนกัน
และหนังเรื่อง AARAKSHAN ก็นำเสนอทั้งข้อดีข้อเสียของระบบนี้
ผ่านทาง arguments ของตัวละครหลายๆฝ่าย และผ่านทางการตบตีกันอย่างรุนแรงของตัวละคร
จนเราคนดูแทบหัวใจวายตาย)
4.3 อะไรคือ “ความดี” และอะไรคือ “สิ่งที่ถูกต้อง”
4.4 สิ่งที่ครูทำ ส่งผลให้พระเอกได้ใจ และขโมยของต่อไปใช่หรือไม่
4.5 ถ้าคำตอบของ 4.4 คือใช่ แล้วครูทำผิดหรือเปล่า
4.6 ครูอาจจะไม่ผิดก็ได้ เพราะครูจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเอกจะกลายเป็นคนแบบนั้น
ถ้าหากครูทำแบบนี้กับเด็กจนๆคนอื่น เด็กคนนั้นอาจจะกลับเนื้อกลับตัว
กลายเป็นคนดีของสังคมก็ได้ ครูอาจจะไม่ผิด เพราะครูทำด้วยเจตนาดี
การที่พระเอกขโมยของต่อไป จึงเป็นความผิดของพระเอกเพียงคนเดียว
4.7 ถ้าหากครูทำผิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกต้องที่ครูควรทำคืออะไร
ลงโทษพระเอกใช่หรือไม่ แล้วพระเอกจะกลายเป็นคนอย่างไรต่อไป เป็นคนที่ไม่กล้าขโมยของใช่ไหม
4.8 พระเอกจงใจใช้ประโยชน์จากความน่าสงสารของตัวเองใช่หรือไม่
4.9 การขโมยกล่องดินสอถือเป็นสิ่งที่ผิดจริงๆ
เพราะมันไม่ใช่สิ่งจำเป็น แล้วการขโมยยาไปรักษาแม่ล่ะ
เป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่หากมองจากแง่มุมทางมนุษยธรรม
5.เราชอบมากที่หนังแสดงให้เห็นว่า
แม้แต่ตัวครูเองก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองทำถูกหรือเปล่าในการช่วยพระเอกแบบนั้น
โดยความลังเลใจของครูถูกนำเสนอผ่านทางการรีบตัดบทสนทนากับพ่อแม่ของเด็กอีกคน
และผ่านทางการเดินครุ่นคิด
6.เราชอบมากที่หนังแสดงให้เห็นว่า
ครูคนนี้เป็นคนที่มีส่วนดีในตัวเยอะจริงๆ
เขามีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือคนจนในสังคมจริงๆ แต่ในบางครั้ง “เจตนาดี”
เพียงอย่างเดียวยังไม่พอ และในบางครั้ง “ความดี” หรือ “สิ่งที่ถูกต้อง”
ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินกันได้ง่ายๆ
ภาพลักษณ์ของครูในฉากที่ประกาศเรื่องโครงการช่วยเหลือคนจนต่อหน้าเด็กๆทั้งโรงเรียนนั้น
มันทำให้เรานึกถึงภาพลักษณ์ของคนดีในสังคมเรา ซึ่งเรามักจะเคลือบแคลงใจในหลายๆครั้งว่า
พวกเขาเป็นคนดีจริงหรือ คือพวกเขาอาจจะเป็นคนดีจริงในแง่บริจาคเงินเยอะ
ไม่โกงกินชาติบ้านเมือง เต็มไปด้วยเจตนาดี
และพวกเขาก็เชื่อมั่นอย่างเต็มที่จริงๆว่าพวกเขาเป็นคนดี แต่ในหลายๆครั้งเราอาจจะพบว่า
ทัศนคติบางอย่างของพวกเขามีข้อผิดพลาดหรือมีอะไรที่ไม่ถูกต้องอยู่
เราก็เลยชอบจุดนี้มากๆในหนัง เพราะภาพลักษณ์ของครูในหนังเรื่องนี้
มันทำให้เรานึกถึงภาพลักษณ์ของคนดีในสังคมเรา ที่จริงๆแล้วพวกเขาเป็น “คนดีที่อาจจะมีข้อบกพร่องอย่างมากๆอยู่ในตัวด้วย”
7.นอกจากตัวละครครูแล้ว ตัวละครพระเอกก็ถูกออกแบบมาอย่างน่าสนใจมากๆเช่นกัน
เพราะเป็นตัวละครที่สีเทาจริงๆ ในแง่นึงเขาเหมือนตัวละครอย่างเด็กหญิงวัลลี
เป็นพวกลูกกตัญญู เด็กจนๆที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก และต้องคอยดูแลแม่ที่ป่วย ตรงจุดนี้เขาเหมือนตัวละครพระเอกนางเอกในหนังไทยหลายๆเรื่องที่พยายามสั่งสอนผู้ชมว่า
“จงกตัญญูต่อบิดามารดานะจ๊ะ” ซึ่งเราจะเกลียดหนังกลุ่มนี้มากๆ
เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ
เพราะหนังแสดงให้เห็นว่าตัวละครที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูอย่างพระเอก
มันก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นคนดี บริสุทธิ์ผุดผ่องไปโดยอัตโนมัติแต่อย่างใด
เพราะมนุษย์เรามันซับซ้อนกว่านั้นมาก
8.เราชอบสายตาของหนังเรื่องนี้ด้วย
เพราะหนังไม่ได้ประณามตัวละครครูกับพระเอก แต่แค่ตั้งคำถามกับตัวละครสองตัวนี้
คือหนังไม่ได้ตัดสินตัวละครสองตัวนี้อย่างหนักมือเกินไปน่ะ หนังแสดงให้เห็นว่า
ตัวละครสองตัวนี้มีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง แต่ไม่ได้ชี้หน้าด่าตัวละครสองตัวนี้ว่าชั่ว,
เลว หรือผิด หนังดูเหมือนเห็นใจตัวละครสองตัวนี้มากพอสมควร
และโยนหน้าที่ในการตัดสิน “ความผิดชอบชั่วดี” มาให้คนดูแทน
9.ชอบการเล่าเรื่องในช่วงท้ายของหนังด้วยเหมือนกัน
หนังเล่าเรื่องในช่วงท้ายโดยไม่เรียงลำดับเวลา
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำออกมาให้ดีได้ยากมาก การจะเล่าเรื่องโดยไม่เรียงลำดับเวลาแบบนี้ คนทำต้องมี
skill ที่ดีจริงๆในการตัดต่อและในการเรียงร้อยอารมณ์ให้ลงตัว
ซึ่งโดยปกติแล้วคนทำหนังทดลองหรือคนทำหนังเชิงกวีจะมีทักษะแบบนี้สูง แต่คนทำหนัง narrative
หลายคนอาจจะไม่มีทักษะด้านนี้
ในส่วนของหนังเรื่องนี้นั้น
เราว่าช่วงท้ายของหนังที่เป็นตัดต่อแบบไม่เรียงลำดับเวลา ทำออกมาใช้ได้นะ
พลังมันอาจจะไม่สุดๆมากนักจนทำให้เราชอบถึงขั้น A+30 (หมายถึงชอบสุดๆ)
แต่ก็ถือว่าน่าพอใจ และในอนาคตน่าจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้อีก
10.ชอบการ repeat ช็อตการขโมยขวดยามากๆ การ repeat ฉากนี้ทำออกมาได้ดีมากจนเกือบจะให้อารมณ์กึ่งๆ poetic เลย
11.ชอบการขยายชีวิตของพ่อแม่พระเอกด้วย
คือแทนที่หนังจะโฟกัสไปที่ชีวิตพระเอกคนเดียว หนังกลับแสดงให้เห็นเราว่า
พ่อแม่พระเอกเคยมีความสุขมากแค่ไหนตอนที่พระเอกเป็นเด็ก
จุดนี้มันทำให้หนังเรื่องนี้เศร้าขึ้นมากๆ
คือจริงๆแล้วจุดนี้มันไม่จำเป็นต้องใส่เข้ามาในเนื้อเรื่องก็ได้
หนังไม่จำเป็นต้องแสดงให้เห็นชีวิตพระเอกในวัยเด็กก็ได้ เพราะแค่ประเด็นเรื่อง dilemma ของครูก็รุนแรงมากพอแล้ว
แต่พอหนังใส่ฉากย้อนอดีตวัยเด็กเข้ามาด้วย มันทำให้มิติในหนังเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมาในทันที
มันทำให้เราเห็นว่าภาพลักษณ์ของ “ครอบครัวสุขสันต์” พ่อแม่ลูกที่มีความสุขนั้น
มันไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น
หนังเรื่องนี้จบลงด้วยฉาก “ครอบครัวสุขสันต์” ก็จริง
แต่หนังเรื่องนี้กลับทำให้เรานึกถึงหนังของ Maurice Pialat ที่สอนคนดูว่า “Happiness
is as rare as a sunny day, and sorrow is forever.”
12.ตอนนี้เราอาจจะยังไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30
นะ แต่ถ้าหาก dilemma ของครูในหนังเรื่องนี้ยังคงคาอยู่ในใจเราต่อไปเรื่อยๆ
เราคงชอบหนังเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคตจนถึงขั้นชอบสุดๆอย่างแน่นอน
สาเหตุที่เรายังไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆในตอนนี้
เป็นเพราะเรารู้สึกว่าหนังยัง “เกลี่ยอารมณ์ไม่ลงตัว” น่ะ แต่เราก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ามันควรแก้จุดไหนอะไรยังไง
แต่รู้สึกว่าอารมณ์อะไรบางอย่างมันยังไม่ลงตัว
อย่างไรก็ดี จุดที่เราบอกได้ชัดๆว่าไม่ค่อยชอบ
ก็คือเพลงประกอบที่อารมณ์ดูล้นๆเกินๆไปนิดนึง และฉากคุณแม่เอามือปิดหน้าขณะฟังคุณพ่อพูดอยู่หน้าประตูห้อง
เราว่าฉากนั้นมันให้อารมณ์ประหลาดๆยังไงไม่รู้
สรุปว่าชอบ “กึกก้อง” อย่างรุนแรงมากจ้ะ
เพราะความเป็นสีเทาของตัวละคร, dilemma ของตัวละคร
และความพยายามจะเล่าเรื่องโดยไม่เรียงลำดับเวลาในช่วงท้ายเรื่อง
1 comment:
เพิ่มเติม
จริงๆสิ่งที่จะเราสรุปต่อไปนี้คือสิ่งที่เราเขียนไปแล้ว แต่เราอยากสรุปใหม่อย่างสั้นๆว่า หนังเรื่องนี้มันไปไกลกว่าหนังไทยหลายๆเรื่องที่เราเคยดูมา เพราะ
1.หนังไทยหลายๆเรื่องสอนเราแค่ว่า “เราควรเห็นใจคนจน” แต่หนังเรื่องนี้เหมือนจะบอกเราว่า “เราควรเห็นใจคนจน แต่ว่า....”
2.หนังไทยหลายๆเรื่องสอนเราว่า “เราควรกตัญญูต่อบิดามารดา” แต่หนังเรื่องนี้เหมือนจะบอกเราว่า “เราควรกตัญญูต่อบิดามารดา แต่ว่า...”
ส่วน “แต่ว่า...” นี่แหละที่เป็นส่วนสำคัญมาก และทำให้หนังเรื่องนี้ไปไกลว่าหนังไทยกลุ่ม “ศีลธรรมอัดกระป๋องสำเร็จรูป” ที่เราพบได้ทั่วไปจ้ะ
Post a Comment