Wednesday, October 23, 2013

NOSTALGIA (2013, Weerasu Worrapot, A+)

NOSTALGIA (2013, Weerasu Worrapot, A+)
 
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่
 
SPOILERS ALERT
ห้ามอ่านถ้ายังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้นะจ๊ะ
 
 
 
 
 
ดูหนังเรื่องนี้แล้วเรานึกถึงประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้
 
1.ชอบตอนจบมากพอสมควร เราชอบมากที่ในที่สุดแล้วตัวละครก็ไม่มีทางออก และหนังก็ไม่ได้ให้ทางออกใดๆกับตัวละคร หนังไม่ได้ให้ความหวังใดๆกับตัวละครเลย เราชอบมากที่หนังมันไปสุดทางในด้านนี้ ตัวละครตัวนี้ไม่มีความสุขทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน และไม่สามารถกลับบ้านเก่าที่เขาผูกพันได้ สิ่งที่เขาทำได้มีเพียงแค่การนึกถึงความสุขในอดีตที่บ้านเก่าเท่านั้น
 
เราว่าจังหวะการตัดสลับภาพในตอนจบทำออกมาได้ดีด้วย คือถ้าเราเห็นพระเอกเริงร่าที่ชายหาดอย่างชัดๆในตอนจบ อารมณ์มันอาจจะออกมาดูอี๋ๆได้ การที่เราได้เห็นเพียงแค่ภาพแว่บๆที่ชายหาดทำให้อารมณ์ในฉากนี้มันออกมาดูดี
 
(ตอนจบของหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงตอนจบของ NOI ALBINOI (2003, Dagur Kári, Iceland, A+30) ด้วย มันมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและตรงข้ามกันกับตอนจบของ NOI ALBINOI แต่เราชอบตอนจบของทั้งสองเรื่องมากๆเหมือนกันจ้ะ)
 
2.เราชอบที่หนังแตะประเด็นไฟใต้เพียงเล็กน้อย และแตะในแง่มุมที่เราอาจไม่เห็นในหนังเรื่องอื่นๆ ซึ่งได้แก่แง่มุมของคนที่ต้องอพยพย้ายถิ่นเพราะปัญหาไฟใต้ ในขณะที่หนังเรื่องอื่นๆที่เราได้ดูเกี่ยวกับปัญหานี้มักจะเป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับคนในพื้นที่ อย่างเช่น CITIZEN JULING และ BEHIND THE CURTAIN: THE DAILY LIFE OF WOMEN IN THAILAND’S SOUTHERN BORDER PROVINCES (2013, Rahanee Daoh) NOSTALGIA อาจจะเป็นหนังเรื่องแรกที่เราได้ดูที่นำเสนอชีวิตตัวละครที่อพยพมาอยู่กรุงเทพเพราะปัญหาไฟใต้
 
ที่เราบอกว่าเราชอบที่หนังแตะประเด็นไฟใต้แค่เพียงเล็กน้อย เพราะเราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำหนังการเมืองเกี่ยวกับประเด็นที่ยุ่งยากซับซ้อนแบบนี้ออกมาให้ได้ดีจริงๆ โดยไม่ลำเอียงน่ะ เราก็เลยรู้สึกว่ามันดีแล้วที่หนังเรื่องนี้เลือกที่จะไม่ทำตัวเป็นหนังการเมือง แต่เลือกที่จะนำเสนอ “ชีวิตส่วนตัวของเด็กคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในทางตรงหรือทางอ้อมจากปัญหาไฟใต้” โดยไม่ต้องไปเน้นประณามว่าใครเป็นฝ่ายผิดฝ่ายถูกในปัญหานี้
 
หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงหนังการเมืองอีกหลายๆเรื่อง ที่แสดงให้เห็นว่าชีวิตส่วนตัวของคนแต่ละคน ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการเมืองไม่มากก็น้อย หรือแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง personal life กับ politics โดยที่หนังแต่ละเรื่องก็อาจจะเทน้ำหนักต่างกันไป บางเรื่องอาจจะเน้น “ชีวิตส่วนตัว” มากหน่อย ในขณะที่บางเรื่องอาจจะเน้นไปที่ “การเมือง” มากหน่อย แต่หนังกลุ่มหลังทำออกมาให้ดีได้ยากกว่าหนังกลุ่มแรก เพราะมันต้องอาศัยความรู้ในปัญหาการเมืองนั้นๆมากพอสมควร มันถึงจะทำออกมาได้ดีจริง
 
สรุปว่าเราประทับใจมากๆที่ NOSTALGIA เลือกที่จะเทน้ำหนักไปที่ชีวิตส่วนตัวของตัวละคร แต่ก็สามารถสะท้อนความเจ็บปวดที่เกิดจากปัญหาไฟใต้ออกมาได้อย่างน่าสะเทือนใจมากๆในขณะเดียวกัน หนังเรื่องนี้ไม่เลือกที่จะทำในสิ่งที่ยากเกินไป ซึ่งได้แก่การทำตัวเป็นหนังการเมืองโดยตรง หนังเรื่องนี้เลือกที่จะนำเสนอเพียงแค่ชีวิตตัวละครเพียงไม่กี่ตัว แต่ก็สามารถทำให้คนดูรับรู้ถึงผลกระทบจากปัญหาการเมืองไปด้วย
 
3.นอกจาก NOSTALGIA จะไม่ได้ทำตัวเป็นหนังการเมืองโดยตรงแล้ว เราก็คิดว่า NOSTALGIA อาจจะไม่ได้พยายามทำตัวเป็น “ภาพแทน” ของคนที่อพยพย้ายถิ่นเพราะปัญหาไฟใต้ด้วย เรามองว่า NOSTALGIA เพียงแค่นำเสนอชีวิตของครอบครัวเพียงครอบครัวเดียวที่อพยพย้ายถิ่นเท่านั้น โดยที่ครอบครัวนั้นอาจจะไม่ได้เป็น “ภาพแทน” ของคนจำนวนมากที่ต้องอพยพย้ายถิ่นเพราะปัญหาไฟใต้
 
สาเหตุที่เรามองเช่นนี้ เพราะเรารู้สึกว่าปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่เกิดขึ้นกับพระเอกของเรื่องนี้ มันดูเหมือนเป็นเรื่องซวยๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับพระเอกเพียงคนเดียว แต่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กส่วนใหญ่ที่อพยพย้ายถิ่นน่ะ คือในความเป็นจริงเราก็ไม่รู้หรอกนะว่าเด็กส่วนใหญ่ที่อพยพย้ายถิ่นเจอปัญหาในโรงเรียนใหม่เหมือนกับพระเอกของเรื่องนี้หรือเปล่า อาจจะมีเด็กหลายคนที่เจอปัญหาเหมือนพระเอกของเรื่องนี้ก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าหนังเรื่อง NOSTALGIA ไม่ทำให้เรารู้สึกว่านี่เป็นปัญหาที่เด็กอพยพส่วนใหญ่ต้องเผชิญ แต่เป็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับพระเอกเพียงคนเดียวเท่านั้น
 
จุดนี้เราก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่ามันดีหรือไม่ดี คือถ้าผู้สร้างหนังตั้งใจให้ครอบครัวนี้เป็นภาพสะท้อนปัญหาของผู้อพยพส่วนใหญ่ ผู้สร้างหนังก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในส่วนนี้ เพราะเราไม่รู้สึกว่าหนังมันสะท้อนปัญหาของผู้อพยพส่วนใหญ่ เรารู้สึกว่าพระเอกของเรื่องนี้มันเจอเรื่องซวยๆเยอะเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเจอกัน จนทำให้เรามองว่าพระเอกของเรื่องมันเป็นตัวละครที่เป็นปัจเจก เป็นเรื่องของคนคนนึงที่เจอเรื่องซวยๆมากมาย รวมทั้งเจอความซวยเพราะปัญหาไฟใต้ด้วย แต่ผู้อพยพคนอื่นๆอาจจะไม่ได้เจอเรื่องซวยๆมากเท่านี้ หรืออาจจะเจอเรื่องซวยๆในแบบที่แตกต่างไปจากพระเอก
 
แต่ถ้าหากหนังเรื่องนี้ตั้งใจอยู่แล้วที่จะทำให้ตัวละครในเรื่องไม่เป็น “ภาพแทนของปัญหา” แต่เป็นเพียงแค่ “ตัวละครกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟใต้และปัญหาอื่นๆในชีวิต” เราก็ว่ามันก็เป็นความตั้งใจที่ถูกต้องนะ เพราะการจะทำตัวเป็นภาพแทนของปัญหาอะไรสักอย่าง มันเป็นเรื่องที่ยากมาก และโดยส่วนตัวแล้วเราก็เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมันแตกต่างกันน่ะ เพราะฉะนั้นถ้าหากคุณนำเสนอชีวิตของตัวละครกลุ่มหนึ่งแล้วบอกว่ามันเป็นภาพแทนของปัญหา A มันก็จะเกิดคำถามตามมาเสมอว่า แล้วคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา A แต่ชีวิตของพวกเขาไม่เหมือนตัวละครในเรื่องล่ะ ทำไมชีวิตของพวกเขาถึงไม่ถูกนำเสนอด้วย
 
สรุปว่า เราค่อนข้างชอบนะ ที่หนังเรื่องนี้ดูเหมือนเลือกที่จะนำเสนอชีวิตเด็กตัวเล็กๆคนหนึ่ง และชีวิตของเด็กคนนั้นก็ทำให้เรารับรู้ถึงปัญหาสังคมอย่างเช่นปัญหาไฟใต้ คือหนังเหมือนเลือกที่จะเน้นนำเสนอชีวิตคนตัวเล็กๆเป็นหลักน่ะ มากกว่าจะพยายามทำตัวเป็นหนังสะท้อนปัญหาสังคมตรงๆ หรือหนังการเมืองตรงๆ คือหนังพยายามจะทำตัวเป็น “เรื่องเล็กๆที่อาจจะสะท้อนปัญหาใหญ่ในบางส่วน” มากกว่าจะทำตัวเป็น “หนังที่พูดถึงปัญหาใหญ่ในสังคม” ไปเลย เราชอบที่หนังเลือกที่จะทำตัวเล็กๆแบบนี้
 
4.พูดถึงเรื่อง “ภาพแทน” แล้ว เราอาจจะอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
 
4.1 เราเชื่อว่า “ความรู้สึกคิดถึงบ้านเก่า” ของพระเอก น่าจะเป็นภาพแทนที่ผู้อพยพส่วนใหญ่รู้สึกเหมือนกัน หรือเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความรู้สึกของผู้อพยพส่วนใหญ่
 
4.2 เราเชื่อว่า “ปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนใหม่” ของพระเอก น่าจะเป็นภาพแทนที่เด็กอพยพส่วนใหญ่รู้สึกเหมือนกัน
 
4.3 เรารู้สึกว่า “ปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนใหม่” ของพระเอก ดูเป็นเรื่องของปัจเจก มากกว่าจะเป็นภาพสะท้อนของปัญหาที่เด็กอพยพส่วนใหญ่ต้องประสบ
 
4.4 ในส่วนของชีวิตพ่อพระเอกที่ดูเหมือนจะต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อมาอยู่กรุงเทพ ตรงส่วนนี้เราเชื่อว่ามันอาจจะสะท้อนปัญหาของผู้อพยพส่วนใหญ่เพราะเราเชื่อว่าผู้อพยพส่วนใหญ่น่าจะเจอปัญหาในการทำงานเมื่ออพยพย้ายถิ่น
 
4.5แต่การที่พ่อพระเอกทะเลาะกับภรรยาอย่างรุนแรงนั้น เรารู้สึกว่ามันอาจจะเป็นเรื่องของปัจเจก มากกว่าเป็นภาพแทนของครอบครัวผู้อพยพ เพราะเราเชื่อว่าครอบครัวผู้อพยพบางครอบครัวอาจจะเจอปัญหาทะเลาะกันแบบนี้ก็จริง แต่บางครอบครัวก็อาจจะยังรักใคร่กันดีเหมือนเดิมหรือยิ่งกว่าเดิมก็ได้
 
ที่เขียนมานี้ไม่ได้จะบอกว่า 4.3 กับ 4.5 เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบนะ คือถ้าหากหนังเรื่องนี้ตั้งใจอยู่แล้วที่จะไม่พยายามทำตัวเป็นภาพสะท้อนของปัญหาแบบเหมารวม การนำเสนอชีวิตตัวละครในฐานะปัจเจกก็ไม่ใช่สิ่งผิดแต่อย่างใด และในหนังหลายๆเรื่อง การนำเสนอชีวิตตัวละครแบบปัจเจกก็เป็นสิ่งที่ดีมากๆด้วยซ้ำ เพราะมันทำให้ตัวละครในเรื่องเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนปัญหา”
 
5.โดยส่วนตัวแล้ว เรารู้สึกอินมากๆกับฉากที่พระเอกลุกขึ้นมาชก เพราะตอนเด็กๆเราก็เคยเจอปัญหาถูกกลั่นแกล้งเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เพราะเราเป็นผู้อพยพ แต่เป็นเพราะสาเหตุอื่น เราชอบมากที่พระเอกลุกขึ้นมาชกแบบนั้น คือมันอาจจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่เราเข้าใจความรู้สึกของพระเอกในฉากนั้นจริงๆ เราชอบมากที่หนังสะท้อนความรู้สึกของตัวละครแบบนี้ออกมา
 
(หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์ตอนเด็กๆหลายๆเหตุการณ์ อย่างเช่นตอนป. 6 เราจำได้ว่าเราเคยโกรธเพื่อนผู้ชายคนนึงมากเพราะเรานึกว่าเขากลั่นแกล้งเรา แต่เราชกต่อยใครไม่เป็น เราก็เลยตอบโต้เขาด้วยการกระโดดกัดคอเขาจนเลือดออก ไม่รู้ตอนนั้นเราทำไปได้ยังไง ฮ่าๆๆ)
 
6.เราชอบที่ตัวพระเอกกับเพื่อนสนิทในโรงเรียนไม่แสดงอารมณ์ฟูมฟายจนเกินไปด้วย เราว่าตัวละครสองตัวนี้แสดงอารมณ์ออกมาในระดับพอดีๆ
 
จริงๆแล้วเราชอบที่หนังทั้งเรื่องไม่ฟูมฟายจนเกินไปสำหรับเรา คือเราว่าเนื้อหาของหนังเรื่องนี้มันเปิดโอกาสให้หนังออกมาเป็นเมโลดราม่า ฟูมฟายได้ง่ายๆเลยนะ แต่โชคดีที่หนังเรื่องนี้ไม่ตกลงไปในกับดักของความฟูมฟาย และรักษาโทนอารมณ์ในเรื่องให้อยู่ในระดับพอดีๆได้ในระดับนึง
 
7.อย่างไรก็ดี มีฉากนึงในเรื่องนี้ที่ทำให้เรารู้สึกก้ำกึ่งว่าชอบหรือไม่ชอบ คือฉากที่พระเอกนอนฟังเสียงพ่อแม่ทะเลาะกันน่ะ คือเราว่าฉากนี้มันดีในแง่ของการถ่ายทำนะ มันถ่ายทำง่ายดี ไม่ต้องคุมการแสดงของนักแสดงที่เล่นเป็นพ่อกับแม่
 
ถ้าหากหนังเรื่องนี้แสดงภาพพ่อแม่ทะเลาะกันให้เราเห็นโดยตรง มันก็เสี่ยงมากๆที่ฉากนั้นจะออกมาเป็นเมโลดราม่าฟูมฟาย เพราะฉะนั้นการที่เราได้เห็นเพียงแค่ภาพพระเอกนอน และได้ยินเพียงแต่เสียงของพ่อแม่ มันก็ช่วยลดความเป็นเมโลดราม่าลงไปได้ในระดับนึง
 
แต่เราก็รู้สึกติดขัดกับฉากนี้อยู่ดี ไม่รู้เหมือนกันว่าควรแก้ไขอะไรยังไงถึงจะรู้สึกไม่ติดขัดกับฉากนี้ เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เราอาจจะชอบฉากนี้มากขึ้นก็ได้ ถ้าหากเราได้เห็นพ่อกับแม่ทะเลาะกันโดยตรง และได้เห็นความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อนของพ่อแม่ในเรื่องนี้ คือถ้าหากเราได้เห็นใบหน้าของพ่อ และเห็นว่าเขารักครอบครัว รักลูกรักเมียจริงๆ แต่เขาจำเป็นต้องทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาอยู่บ้านเลย การที่เขาไม่มีเวลาให้ลูกให้เมีย ไม่ใช่เพราะเขาเลว แต่เป็นเพราะเขาไม่มีทางเลือก และเขาก็รู้สึกผิดที่ไม่มีเวลาให้ลูกให้เมีย การที่เราได้เห็นอารมณ์ที่ซับซ้อนบนใบหน้าของนักแสดงที่เล่นเก่งจริงๆ อาจจะเป็นสิ่งที่เราต้องการจากฉากนี้ เพราะมันจะทำให้ตัวละครพ่อดูกลมขึ้นและดูเป็นมนุษย์มากขึ้น
 
แต่ตัวละครพ่อที่เราบรรยายมาในย่อหน้าข้างต้น อาจจะไม่ตรงกับตัวละครพ่อใน NOSTALGIA นะ แต่มันเป็นตัวละครพ่อแบบที่เราอยากเห็นมากกว่าน่ะ เราอยากให้ตัวละครประกอบในเรื่องอย่างเช่นตัวละครพ่อมันดูกลมมากกว่านี้
 
8.เราสงสารตัวพระเอกในเรื่องมากๆ แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่าหนังมันดูจงใจแบบชัดเจนเกินไปหน่อยหรือเปล่าที่จะทำให้คนดูสงสารพระเอก คือถ้าหนังสามารถทำให้เราสงสารพระเอกได้  โดยปิดซ่อน “ร่องรอยของความจงใจ” ไว้ได้อย่างแนบเนียนกว่านี้ เราก็อาจจะชอบหนังเรื่องนี้มากขึ้นไปอีกจ้ะ
 
สิ่งที่เรารู้สึกว่าหนังมันดูจงใจเกินไปหน่อย ก็มีเช่น
 
8.1 ดนตรีประกอบ
จริงๆแล้วเราชอบดนตรีประกอบในเรื่องนี้มากในระดับหนึ่งนะ เราว่ามันออกมาพอดีๆ ไม่ฟูมฟายหรือเร้าอารมณ์เกินไป แต่มันก็ยังทำให้เรารู้สึกว่าเราถูกชี้นำอารมณ์อยู่ดี สรุปว่าเราว่าดนตรีประกอบในเรื่องนี้ดีแล้ว แต่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ถ้าลดดนตรีประกอบลงไปอีก เราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้มากขึ้นก็ได้
 
8.2 ตัวละครประกอบ
 
ตัวละครประกอบบางตัวในเรื่องเหมือนถูกสร้างขึ้นเพื่อมี function เดียว คือทำร้ายพระเอกเพื่อทำให้คนดูสงสารพระเอกน่ะ ทั้งตัวละครเจ้าของหอพักที่คิดเงินเพิ่ม, แก๊งเด็กอันธพาลในโรงเรียน และพ่อพระเอก
 
แต่ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันนะในการทำให้ตัวละครเหล่านี้ดู “ไม่จงใจทำให้คนดูสงสารพระเอก” น่ะ ถ้าเราเป็นผู้สร้างหนังเรื่องนี้ เราก็อาจจะแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้เหมือนกัน การแก้ปัญหาแบบนี้เป็นเรื่องยากพอสมควร
 
วิธีหนึ่งที่อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้นิดหน่อย คือการทำให้ตัวละครพวกนี้ดูกลมมากขึ้น หรือดูเป็นมนุษย์มากขึ้น เพื่อที่คนดูจะได้รู้สึกว่าตัวละครเหล่านี้ไม่ได้มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อ force อารมณ์คนดูไปในทิศทางเดียวเท่านั้น แต่การจะทำให้ตัวละครประกอบเหล่านี้ดูกลมขึ้น หนังมันก็จะยาวมากขึ้น เพราะฉะนั้นวิธีนี้อาจจะไม่เหมาะเสมอไป
 
วิธีทำให้ตัวละครดูกลมขึ้น ก็อาจจะมีเช่น ตัวละครเจ้าของหอพักชอบทำบุญตักบาตรทุกเช้า (แต่เป็นคนหน้าเลือดกับคนในหอพัก) หรือแก๊งเด็กอันธพาลที่ชอบแกล้งพระเอกจริงๆแล้วเป็นพวกที่อยู่ชมรมอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพ หรือแต่ละคนในแก๊งมีระดับความสนุกที่ได้แกล้งพระเอกแตกต่างกันไป บางคนในกลุ่มอาจจะรู้สึกผิดเล็กน้อยที่ได้แกล้งพระเอก คือการใส่รายละเอียดพวกนี้เข้ามามันอาจจะทำให้ตัวละครพวกนี้ดูเป็นมนุษย์ที่มีหลายด้านอยู่ในตัว แทนที่จะเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นเพียงเพื่อทำให้คนดูสงสารพระเอก อย่างไรก็ดี การทำให้ตัวละครกลมก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน เพราะถ้าทำไม่ดี นักวิจารณ์บางคนก็จะตำหนิว่า “หนังเรื่องนี้มันดูจงใจ๊ จงใจทำให้ตัวละครกลม” ได้เหมือนกัน
 
9.อีกสิ่งที่เรารู้สึกก้ำกึ่งในหนังเรื่องนี้ ก็คือหนังเลือกที่จะนำเสนอเนื้อเรื่องผ่านทางอารมณ์ความรู้สึกของพระเอกเป็นหลัก คือหนังทั้งเรื่องเหมือนมองผ่านสายตาของพระเอกน่ะ
 
เราว่าหนังนำเสนอจุดนี้ได้ดีพอสมควรนะ หนังทำให้เราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของพระเอกจริงๆ
 
แต่ในแง่นึง เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของพระเอกแบบนี้ เป็นอีกปัจจัยนึงที่ทำให้เรารู้สึกว่าหนังจงใจเกินไปในการทำให้เราสงสารพระเอกหรือเปล่า
 
บางทีเราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้มากขึ้นก็ได้ ถ้าหากหนังถอยห่างออกมาจากตัวพระเอก และนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆแบบ objectively มากขึ้น หรือนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆด้วยสายตาเย็นชามากขึ้น แทนที่จะนำเสนอฉากต่างๆด้วยอารมณ์สงสารเห็นอกเห็นใจพระเอกอย่างเห็นได้ชัดแบบนี้ แต่อันนี้เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะ คือถ้าหากหนังทำแบบเย็นชาออกมาจริงๆ เราอาจจะชอบน้อยลงก็ได้ มันไม่แน่เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้กำกับแต่ละคนด้วย ว่าคนไหนทำหนังในโทนแบบไหนออกมาได้ดี
 
10.ถ้าหากเราจะฉาย NOSTALGIA ควบกับหนังเรื่องไหน เราก็อยากฉายควบกับหนังสองเรื่องนี้จ้ะ
 
10.1 THE SOUND AND THE FURY (1987, Jean-Claude Brisseau, A+30)
หนังเรื่องนี้นำเสนอชีวิตบัดซบของเด็กชายคนหนึ่งเหมือนกัน หนังทำออกมาได้ทรงพลังมากๆ ทั้งในส่วนของโลกจินตนาการของพระเอก และในส่วนของสภาพสังคมที่เลวร้าย ทั้งในตึกที่พักของพระเอก, ย่านที่อยู่อาศัย และโรงเรียน หนังเรื่องนี้อาจจะแตกต่างจาก NOSTALGIA ในแง่ที่ว่า ในขณะที่ NOSTALGIA ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตพระเอกเลวร้าย THE SOUND AND THE FURY ทำให้เรารู้สึกว่า “สังคมมันเลวร้าย”
 
10.2  MOUCHETTE (1966, Robert Bresson, A+30)
หนังเรื่องนี้นำเสนอชีวิตบัดซบของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง หนังค่อนข้างเย็นชาตามแบบฉบับ Robert Bresson แต่นี่แหละคือสิ่งที่เราชอบมากๆในหนัง คือขณะที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราไม่ได้รู้สึกเพียงแค่ว่า “ชีวิตนางเอกน่าสงสารจังเลย” แต่เรารู้สึกว่า “สังคมมันโหดร้าย โลกมันโหดร้าย จักรวาลนี้มันโหดร้าย” น่ะ เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้มันก็เลยกระทบจิตใจเราอย่างรุนแรงมากๆ
 
สรุปว่าเราชอบ NOSTALGIA มากในระดับ A+ เราชอบชีวิตบัดซบของพระเอกที่ไม่มีทางออก เราชอบตอนจบของเรื่อง เราชอบที่หนังคุมอารมณ์ได้ดีในระดับหนึ่ง และไม่ฟูมฟายเกินไปสำหรับเรา แต่โดยส่วนตัวแล้ว เราสงสัยว่าถ้าหากหนังเลือกที่จะนำเสนอออกมาด้วยสายตาเย็นชากว่านี้ แบบหนังเรื่อง MOUCHETTE เราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้มากขึ้นก็ได้จ้ะ
 

No comments: