Tuesday, October 29, 2013

SIAM BELOVED (2013, Ninart Boonpothong, stage play, A+20)

 
SIAM BELOVED (2013, Ninart Boonpothong, stage play, A+20)
ปีศาจอาดูร
 
SPOILERS ALERT
 
 
 
ละครเวทีเรื่องนี้ทำให้นึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
 
1.ละครเวทีเรื่องนี้อาจจะเหมือนกับละครเวทีอีกหลายๆเรื่องของคุณนินาท ตรงที่มันมีความซับซ้อนสูงมาก และดูจบแล้วเราอาจจะไม่เข้าใจมันทั้งหมด หรือไม่แน่ใจว่าธีมหลักของเรื่องมันคืออะไร แต่มันก็กระตุ้นความคิดเรามากๆ และสิ่งที่สำคัญสำหรับเราไม่ใช่ว่าเราเข้าใจมันจริงๆหรือไม่ แต่เป็นจุดที่ว่ามันกระตุ้นความคิดเราได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งต่างๆที่เราคิดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจก็ได้
 
2.สิ่งหนึ่งที่ SIAM BELOVED ทำให้เราคิดถึงโดยที่ผู้กำกับอาจจะไม่ได้ตั้งใจ คือเรื่องของคำว่า “หลอก” คือช่วง 15 นาทีแรกของละครเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกว่าละครเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “ผีหลอกคน” แต่พอดูไปดูมาจนถึงตอนจบ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราชอบมากๆในเรื่องนี้คือเรื่องของ “คนหลอกคน” โดยเฉพาะ “คนที่สร้างเรื่องผีขึ้นมาหลอกคน” และมันก็ทำให้เราคิดขึ้นได้ว่า คำว่า “หลอก” ในภาษาไทยมันอาจจะมีสองความหมายที่แตกต่างกันในภาษาอังกฤษ เพราะในคำว่า “ผีหลอกคน” นั้น หลอกมันคือ to scare , to frighten หรือทำให้ตกใจกลัว แต่ในกรณีของคนหลอกคนนั้น หลอกมันคือ to deceive และมันก็น่าสนใจมากที่ละครเรื่องนี้ใช้คำว่าหลอกในทั้งสองความหมาย โดยที่ในตอนแรกนั้น เรานึกว่าสิ่งที่น่ากลัวคือการที่ผีหลอกคน แต่พอเราดูจนถึงตอนจบ เรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ “คนที่สร้างเรื่องผี, เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือตำนานขึ้นมาเพื่อหลอกลวงคนเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง” โดยเฉพาะตัวละครแม่ที่ทำเป็นผีเข้าและทำเป็นอัลไซเมอร์เพื่อหลอกลวงลูกชาย เพื่อล่อให้ลูกชายตกเป็นทาสของตัวเองต่อไป
 
เราว่าตัวละครแม่นี่น่ากลัวกว่า “ผู้สร้างรายการทีวีผี” และ “คู่สามีภรรยาที่กุเรื่องผีเทวี” ขึ้นมาเสียอีก เพราะผู้สร้างรายการทีวีผี และคู่อรชุนกับจิตรานั้น สร้างเรื่องผีขึ้นมาเพื่อหลอกลวง “เงิน” จากคนอื่น แต่ตัวละครแม่พระเอกนี่ใช้ทั้งเรื่องผีเข้า, เรื่องอาการป่วยของตนเอง และเรื่องความทุกข์ยากของตัวเองในอดีตในการหลอกลวงทั้ง “เงิน”, “ความสงสาร” และ “ความรัก” หรือ “ความสัมพันธ์ทางใจ” จากลูกชาย
 
3.ตัวละครแม่อัลไซเมอร์ในเรื่องนี้รุนแรงมาก มันทำให้เราตั้งคำถามตามมาว่า “แม่ที่สร้างเรื่องผี, เรื่องเหนือธรรมชาติ, เรื่องอาการป่วยในปัจจุบัน และเรื่องความทุกข์ยากของตนเองในอดีตขึ้นมาเพื่อหลอกลวงลูกชายให้ตกเป็นทาสของตนเองต่อไป” ในเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกถึงอะไรในสังคมบ้างหรือเปล่า และมันนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องเล่าของอุมาในบางแง่มุมได้ด้วยหรือไม่
 
น่าสนใจดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างแม่อัลไซเมอร์กับลูกชายโปรดิวเซอร์ในเรื่องนี้ตั้งอยู่บนฐานของความหลอกลวง  ในแง่นึงมันก็ทำให้เรานึกถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวใน LOVE APPETITE (2012, Ninart Boonpothong) ด้วยเหมือนกัน เพราะตัวละครผู้ใหญ่ใน LOVE APPETITE ก็หลอกลวงลูกหลานของตนเองมาโดยตลอดด้วยเหมือนกัน ถ้าจำไม่ผิด
 
4.การใช้ “ผี” ใน SIAM BELOVED น่าสนใจมากๆ ในแง่นึงมันก็ทำให้เรานึกถึงหนังไตรภาคของมณฑล อารยางกูรเรื่อง “ผีคนเป็น” (2006), “บ้านผีสิง” (2007) และ I MISS U (2012) เพราะผีในหนังสามเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่ผีน่ากลัว แต่ดูเหมือนเป็นผีที่แฝงความหมายเชิงสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง และกระตุ้นความคิดของผู้ชมเหมือนๆกัน
 
ผีที่น่าสนใจที่สุดกลุ่มหนึ่งใน SIAM BELOVED คือผีที่ตามติดอุมามา โดยไม่ว่าอุมาจะย้ายไปอยู่บ้านหลังไหน ผีพวกนี้ก็จะตามเธอไป เพราะผีพวกนี้ไม่ได้สิงอยู่ในบ้าน หรือสิ่งของ แต่มันตามติดอุมาไปเรื่อยๆ
 
ผีกลุ่มนี้คืออะไร เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่มันดูเหมือนจะเป็นผีปู่ย่าตาทวดของเธอ และมันเกี่ยวพันกับการที่ต้นตระกูลของเธอเคยเป็นทาสมาก่อน ผีในที่นี้อาจจะเป็น “ความทรงจำของบรรพบุรุษ” ที่ย่อมตามติดคนทุกคน ผีในที่นี้มันเกิดจาก “สิ่งที่พ่อแม่เล่าให้ลูกๆฟังเกี่ยวกับประวัติของครอบครัวของตัวเอง”
 
ถ้าหากผีในที่นี้คือ “ประวัติศาสตร์ของครอบครัว” ที่ตามหลอกหลอนคนบางคน เราก็อาจตั้งคำถามตามมาว่า แล้วความสัมพันธ์ของพระเอกกับแม่ มันคล้องจองหรือมันสะท้อนอะไรกับความสัมพันธ์ของอุมากับครอบครัวของเธอหรือไม่ ถ้าหากแม่พระเอกกุเรื่องผีเข้าและพยายามใช้ประวัติความทุกข์ยากของตนเองในอดีตในการหลอกลวงลูกชายให้ตกเป็นทาสของตนเองต่อไป แล้ว “ประวัติศาสตร์ของครอบครัว” ที่ตามหลอกหลอนอุมาในรูปของผีล่ะ มันทำหน้าที่แค่ “หลอกหลอน” หรือมัน “หลอกลวง” ด้วย
 
5.สิ่งที่น่าสนใจมากๆในประวัติศาสตร์ของครอบครัวที่ตามหลอกหลอนอุมาคือ “ความลักลั่น” ของมัน เพราะเรื่องเล่าของย่าทวดอุมาจบลงแบบ happy ending แต่ถ้าหากมัน happy ending จริง แล้วทำไมผีบรรพบุรุษของเธอถึงยังตามมาหลอกหลอนเธอจนถึงบัดนี้ล่ะ ทำไมผีบรรพบุรุษของเธอถึงไม่สงบ หรือว่าเรื่องที่เล่ามามันไม่เป็นความจริง สิ่งที่ตามหลอกหลอนอุมาคือ “เรื่องโกหก” หรือ “ประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นความจริง” หรือเปล่า หรือว่าอุมาโดนทั้งผีหลอกและคนหลอก เธอถูกผีหลอกเพราะวิญญาณบรรพบุรุษของเธอไม่สงบจริง ชีวิตของพวกเขาไม่ได้ลงเอยด้วยการที่ปัญหาได้รับการคลี่คลายแบบในเรื่องที่เธอเล่า และอุมาก็โดนคนหลอกด้วย ซึ่งคนที่หลอกเธอก็คือใครก็ตามที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของครอบครัวในอดีตให้เธอฟัง เธออาจจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับพระเอกก็ได้ นั่นก็คือโดนหลอกลวงมาโดยตลอด
 
6.เราว่าละครเรื่องนี้นำเสนอชีวิตพระเอกได้รอบด้านดี เพราะชีวิตครอบครัวของเขามันหนักมากๆ และชีวิตการทำงานของเขาก็กดดันมากๆเหมือนกัน คือนอกจากละครเรื่องนี้จะทำให้เรานึกถึงคำว่า “หลอกหลอน” กับ “หลอกลวง” แล้ว ละครเรื่องนี้ยังทำให้เรานึกถึงเรื่องคำว่า “ความเป็นทาส” กับ “ความเป็นไท” ด้วย และชีวิตของพระเอกก็ดูเหมือนจะขาดอิสระอย่างมากๆหรือโดนกดขี่อย่างมากๆทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
 
7.ชอบช่วง 15 นาทีแรกของเรื่องนี้มากๆ ที่เป็นเรื่องผีจริงๆ มันน่ากลัวมากๆ โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัวที่มีผีอยู่ในบ้านชั้นสอง เราว่าละครใช้สถานที่ได้ดีมากๆ เพราะสถานที่นี้มันหลอนมากๆ มันดูเหมือนเป็นพื้นที่ที่มีประวัติยาวนาน 200 ปีเท่าอายุกรุงเทพ และละครเรื่องนี้ก็ใช้ความมืดได้ทรงพลังมากๆด้วย
 
สรุปว่าชอบ SIAM BELOVED มาก ทั้งในช่วง 15 นาทีแรกของเรื่อง ที่มันน่ากลัวสุดๆ และในช่วงต่อๆมาของเรื่อง ที่มันกระตุ้นให้เราตั้งคำถามตามมามากมาย ทั้งในเรื่องที่ว่า “เรากำลังถูกหลอกหลอนด้วยประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นความจริงหรือไม่” , “ใครกุเรื่องผีขึ้นมาหลอกเรา”,  “เขามีจุดประสงค์อะไรในการกุความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติขึ้นมาหลอกเรา”  และ “เราเป็นไทในทางจิตวิญญาณจริงๆหรือเปล่า หรือเราถูกใครบางคนสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อหลอกให้เราตกเป็นทาสของเขาโดยไม่รู้ตัวต่อไป”
 

No comments: