Sunday, October 27, 2013

LIFE ON MARS (2013, Natchanon Vana, 30min, A+10)

LIFE ON MARS (2013, Natchanon Vana, 30min, A+10)
 
SPOILERS ALERT
 
 
 
 
 
หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
 
1.ชอบช่วง 1 นาทีแรกของหนังมากๆ ตอนช่วง 1 นาทีแรกของหนัง เรานึกว่าหนังเรื่องนี้มันจะออกมาเป็นหนัง feel bad แบบ SPRING BREAKERS (2012, Harmony Korine, A+30) เราชอบการตัดต่อในช่วง 1 นาทีแรกด้วย ที่ตัดจากภาพคนนอนสลบไสลมาเป็นภาพนางเอกในอ่างอาบน้ำในทันที การตัดต่อตรงนี้มันให้อารมณ์กระโดดๆ แต่เป็นอารมณ์แบบที่เราชอบมาก
 
2.ช่วงครึ่งแรกของหนัง เป็นช่วงที่เราชอบในระดับประมาณ A+10 จ้ะ (หมายถึงชอบมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ) เราชอบที่หนังสะท้อนความรู้สึกสูญเสียของนางเอก และทำออกมาได้จริงดี คือมันทำให้เรารู้สึกว่านางเอกสูญเสียจริงๆ และเจ็บปวดจริงๆ เราว่าหนังซื่อตรงต่ออารมณ์ของนางเอกตรงจุดนี้ได้ดีมาก
 
3.แต่พอช่วงครึ่งหลังของหนัง ที่เป็นฉากแฟนตาซี ความชอบของเราก็ลดลงสู่ระดับ A+ (หรือชอบมาก)  ที่เราชอบมากเพราะเราชอบความเหวอของมัน และมันทำให้เราตั้งคำถามต่างๆ ตามมามากมาย โดยที่หนังไม่ได้ให้คำตอบ
 
คำถามที่อยู่ในหัวเราก็คือ ตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในช่วงครึ่งหลัง มันมี choices มากมายที่อาจเป็นไปได้ อย่างเช่น
 
3.1 ผิงกับนิสาใช้นักแสดงคนเดียวกันเล่นใช่หรือไม่ ถ้างั้นเกิดอะไรขึ้นในตอนจบ นางเอกหันมารักผิงแทนนิสาหรือเปล่า นางเอกพบรักใหม่กับผิงใช่ไหม การที่นางเอกพบความสุขอีกครั้งกับคนรักใหม่ มันเกี่ยวข้องกับการที่ดาวศุกร์มีสองชื่อหรือเปล่า
 
3.2 นางเอกตายและวิญญาณของเธอได้พบกับวิญญาณของนิสา หรือไม่นางเอกก็ถอดจิตออกจากร่างและไปพบกับวิญญาณของนิสา 555 เพราะสิ่งที่นางเอกทำในช่วงกลางเรื่อง เหมือนกับการไปปักกลดปฏิบัติธรรมกลางทุ่ง
 
3.3 นางเอกพบกับนิสาในโลกจินตนาการของนางเอกเอง
 
3.4 นางเอกเมายาเสพติดและพบกับนิสาในหัวของเธอเอง
 
3.5 นางเอกได้ไปยังดวงดาวโบราณนั้นจริงๆ
 
4.เราชอบฉากที่นางเอกพบกับนิสาในสตูดิโอถ่ายรูปหรือถ่ายหนังด้วย มันเป็นฉากที่ใช้ setting ซ้ำกับฉากที่เราเห็นในช่วงครึ่งแรก แต่ถ่ายด้วยระยะที่ห่างมากขึ้น ซึ่งทำให้เราเห็นไฟสปอตไลท์ และอุปกรณ์การถ่ายต่างๆ มันเป็นฉากที่ตอกย้ำคนดูว่ากำลังดูหนังอยู่ เราไม่รู้เหมือนกันว่าฉากนี้มันหมายความว่าอะไรกันแน่ แต่มันดูแปลกๆ, เหวอๆ และน่าประทับใจดี
 
การที่นางเอกโกหกนิสาในฉากนั้นว่าต้นไม้ของนิสายังสบายดีอยู่ มันก็น่าสนใจดี มันเหมือนจะล้อกับช่วงต้นเรื่องที่ผิงบอกกับนางเอกว่า นิสาน่าจะยังสบายดีอยู่
 
5.แต่การที่เราชอบครึ่งหลังของหนังแค่ในระดับชอบมาก แต่ไม่ใช่มากสุดขีด เกิดจากสาเหตุบางประการ อย่างเช่น
 
5.1 เนื้อหาเกี่ยวกับตำนานดวงดาวอะไรทำนองนี้ มันดูเพ้อๆสำหรับเราน่ะ เราไม่อินกับอะไรทำนองนี้ มันทำให้เรานึกถึงหนังสั้นอย่าง “คล้ายคลึงกับ...” (A POSTCARD FROM PLUTO) (2008, Titipun Tubthong, 27min, B+) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงสาวที่คิดว่าตัวเองโดดเดี่ยวที่สุดในจักรวาล จนกระทั่งได้รับโปสการ์ดจากดาวพลูโต เธอก็เลยไม่คิดฆ่าตัวตาย คือเราจะไม่รู้สึกอินกับเนื้อหาอะไรประเภทนี้น่ะจ้ะ
 
5.2 ภาพของสาวสวยในชุดขาวกลางท้องทุ่งในหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้เรานึกถึงภาพในหนังบางเรื่องของไทยที่ออกมาในทำนองใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่ไม่ใช่ว่าภาพพวกนี้มันไม่ดีนะ เพียงแต่ว่าภาพหรือฉากพวกนี้มันไม่ได้ตอบสนองอะไรเราเป็นการส่วนตัวน่ะ แต่เราคิดว่าภาพของ “หญิงสาวชุดขาวกลางท้องทุ่ง” มันต้องเป็นภาพที่ผู้ชมบางกลุ่มและนักทำหนังบางคนชื่นชอบมากๆแน่ๆเลย มันถึงได้มีการผลิตฉากทำนองนี้ออกมาให้เราได้เห็นเป็นระยะๆ
 
ถ้าจำไม่ผิด ฉากหญิงสาวสวยใส่ชุดขาวเดินกลางท้องทุ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นท้องทุ่งในจินตนาการ อาจจะพบได้ในหนังอย่าง PARTS (2007, Vasuphon Kriangprapakit, 21min), NIRVADA (2008, Faifu Pataranawat, 17min) และเราไม่แน่ใจว่าในหนังเรื่อง SOME RECOLLECTIONS OF YOU (ความทรงจำระหว่างเรา) (2013, Chatrawut Chalayondech, 28min, A+/A) ก็มีฉากในทำนองเดียวกันหรือเปล่า
 
อย่างไรก็ดี ฉากนี้ใน LIFE ON MARS อาจจะแตกต่างจากหนังกลุ่มข้างต้น ตรงชุดที่ตัวละครหญิงใส่ เพราะชุดที่ตัวละครหญิงสองคนใส่ในฉากนี้ใน LIFE ON MARS ดูเซ็กซี่และมีดีไซน์ที่เก๋ไก๋มาก ในขณะที่ฉากแบบนี้ในหนังเรื่องอื่นๆ ตัวละครหญิงมักจะใส่ชุดสีขาวที่ทำจากผ้าพลิ้วๆฟูฟ่องจ้ะ
 
5.3 ฉากท้องทุ่งในช่วงครึ่งหลัง มันทำให้นึกถึงการถ่ายแบบในนิตยสารด้วย คือมันสวยดี แต่มันดูสวยแบบขาดชีวิตจิตใจยังไงไม่รู้สำหรับเราน่ะ
 
5.4 อย่างไรก็ดี เรายอมรับว่า เราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้ในระดับชอบสุดขีดหรือ A+30 ก็ได้ ถ้าหากหนังเรื่องนี้เปลี่ยนจากหนังเลสเบียนเป็นหนังเกย์ และมีฉากชายหนุ่มหล่อล่ำสองคนใส่กางเกงในสีขาวเดินกลางท้องทุ่งในช่วงครึ่งหลังแทน 55555
 
คือเราว่าองค์ประกอบที่สำคัญมากอันนึงใน LIFE ON MARS คือความอีโรติก และเราก็ว่าหนังทำตรงนี้ออกมาได้ดีมากนะ แต่เราไม่ใช่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลักของหนังน่ะจ้ะ เราว่าผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลักน่าจะเป็นผู้ชาย และอาจจะรวมถึงเลสเบียนด้วย เราไม่แน่ใจว่าผู้ชมเพศอื่นๆดูแล้วจะรู้สึกอะไรยังไงกันบ้าง แต่สำหรับตัวเรา เราว่าหนังอีโรติกดี แต่มันไม่ได้ตอบสนองความต้องการทางเพศของเราจ้ะ เพราะเราไม่ใช่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย
 
6.ชอบบุคลิกนางเอก ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด เธอเป็นครูโรงเรียนอนุบาล แต่เธอมีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากครูโรงเรียนอนุบาลที่คนมักนึกถึงกัน เพราะเธอเป็นทั้งเลสเบียน, ชอบกินเหล้าเมายา และเสียงเธอก็ห้าวมาก
 
เราว่าเสียงนางเอกที่ห้าวๆแบบนี้มันน่าสนใจดี มันทำให้เรานึกถึงเสียงของตัวละครที่เป็น net idol ใน  “อวสานโลกสวย” (2013, Pun Homchuen + Onusa Donsawai, 37min, A+30) ด้วย
 
7.การใช้แมวในหนังก็น่าสนใจดี ตอนแรกเรานึกว่าแมวในเรื่องไม่มีความสำคัญ ตอนหลังเราถึงพบว่าในตำนานดวงดาวของเรื่องนี้ แมวมีความสำคัญ และผิงก็น่าจะทำหน้าที่คล้ายแมวสีเทาในตำนาน
 
8.ตำนานเรื่องดวงดาวและฉากท้องทุ่งในช่วงครึ่งหลัง ทำให้เรานึกถึงประเด็นบางประเด็นที่อยากให้มีนักวิจารณ์หนังมาศึกษาอย่างละเอียดเหมือนกัน นั่นก็คือประเด็นความแตกต่างระหว่างหนังไทยยุคก่อนกับยุคปัจจุบัน ในส่วนของอิทธิพลของศาสนาและ atheism ในหนังไทยน่ะ
 
สิ่งที่เราว่าน่าสนใจใน LIFE ON MARS และหนังสั้นไทยบางเรื่องในยุคปัจจุบัน ก็คือการที่มันไม่โดนครอบงำด้วยความเชื่อทางศาสนาแบบหนังไทยยุคเก่าๆน่ะ คือฉากท้องทุ่งในช่วงครึ่งหลังมันดูกึ่งๆจะเป็น “สวรรค์” เพราะมันดูสงบร่มรื่นดี แต่มันก็ไม่ใช่สวรรค์ตามความเชื่อทางศาสนา และหนังเรื่องนี้ก็ไม่มีพระเจ้าด้วย มีแต่ดวงดาวและพลังของดวงดาว นอกจากนี้ ตำนานดวงดาวของเรื่องนี้ ยังทำหน้าที่แทนเรื่องปลอบประโลมใจทางศาสนาด้วย คือถ้าหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นด้วยผู้กำกับบางคนที่นับถือพุทธ ผิงก็อาจจะปลอบใจนางเอกด้วยตำนานของนางปฏาจารา แทนที่จะปลอบใจนางเอกด้วยตำนานของดวงดาว 55555
 
9. LIFE ON MARS ทำให้นึกถึง DARLING, MORNING, GOODNIGHT (2012, Natchanon Vana, A+30) ด้วยในบางแง่มุม อย่างเช่น
 
9.1 หนังทั้งสองเรื่องเหมือนแบ่งออกได้เป็นสอง part ใหญ่ นั่นก็คือ part ที่เป็นฉากในบ้านหรือในเมืองใหญ่ กับฉากที่เป็นธรรมชาติ โดยในส่วนของ DARLING, MORNING, GOODNIGHT นั้นเป็นฉากน้ำตกหรือลำธาร ส่วนใน LIFE ON MARS นั้นเป็นท้องทุ่ง นอกจากนี้ ฉากที่เป็นธรรมชาติในหนังทั้งสองเรื่องนี้ ยังทำหน้าที่เหมือนเป็นโลกแฟนตาซีเหมือนๆกันด้วย หรือเป็น mental landscape เหมือนๆกัน
 
9.2 การแต่งหน้าในหนังทั้งสองเรื่องนี้รุนแรงมาก
 
9.3 หนังทั้งสองเรื่องนี้มีการให้ความสำคัญกับกิจวัตรประจำวันบางอย่างมากกว่าหนังปกติทั่วไป โดยใน DARLING, MORNING, GOODNIGHT นั้นเน้นไปที่การซักผ้า ส่วน LIFE ON MARS เน้นไปที่การรดน้ำต้นไม้, ต้นไม้ของคนรักเก่า และเพลงประกอบที่พูดถึงต้นลีลาวดี
 
9.4 LIFE ON MARS ดูเข้าใจง่ายกว่า DARLING, MORNING, GOODNIGHT แต่นั่นอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบ LIFE ON MARS น้อยกว่า เพราะมันกระตุ้นจินตนาการเราน้อยกว่า คือการที่เราไม่เข้าใจหนังเรื่อง DARLING, MORNING, GOODNIGHT มันทำให้หนังเรื่องนี้ค้างคาในใจเรา และมันก็เปิดพื้นที่ให้เราจินตนาการถึงหนังเรื่องนี้ไปได้ต่างๆนานา ในขณะที่ LIFE ON MARS จะไม่ได้กระตุ้นเราในแบบนั้นมากนัก
 
10. ถ้าหากเปรียบเทียบ LIFE ON MARS กับหนังของผู้กำกับคนอื่นๆ หนังเรื่องนี้ก็มีจุดนึงที่ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง 2413482: THE NUMBER YOU HAVE DIALED IS NOT AVAILABLE NOW (2013, Suphisara Kittikunarak, 25min, A+30) เพราะหนังสองเรื่องนี้พูดถึงการสูญเสียคนรักเหมือนกัน และมีการโยงไปถึงเรื่องจักรวาล และมีฉากท้องทุ่งเหมือนกัน แต่หนังสองเรื่องนี้แตกต่างกันตรงที่ว่า 2413482 พูดถึงคนรักที่หายสาบสูญไป (ในเชิงสัญลักษณ์?) ไม่ใช่ตายจากไป และท้องทุ่งและจักรวาลใน 2413482 ทำหน้าที่ตรงกันข้ามกับ LIFE ON MARS เพราะดูเหมือนท้องทุ่งและจักรวาลใน 2413482 จะเป็นสิ่งที่ทำร้ายนางเอก ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้นางเอกพบกับความสุขอีกครั้ง
 
11.อีกประเด็นหนึ่งที่เราว่าน่าศึกษาใน LIFE ON MARS และหนังหลายๆเรื่องในยุคปัจจุบันทั้งหนังไทยและหนังต่างชาติ ก็คือว่าโครงสร้างของหนังกับโครงสร้างของดนตรีน่ะ
 
คือเราว่าฉากบางฉากใน LIFE ON MARS และหนังอย่าง  THE KINGS OF SUMMER (2013, Jordan Vogt-Roberts, A) มันน่าสนใจ ตรงที่ฉากบางฉากมันไม่ได้เล่าเรื่องเป็นเส้นตรง แต่มันตัดหลายๆฉากมาเรียงร้อยต่อเข้าด้วยกันพร้อมกับเพลงประกอบเพราะๆ ฉากประเภทนี้จะเจอได้ในช่วงต้นเรื่องของ LIFE ON MARS หรือตรงกลางเรื่อง THE KINGS OF SUMMER
 
ฉากที่มีลักษณะคล้ายมิวสิควิดีโอเหล่านี้ มันทำให้เรานึกถึงสิ่งที่พี่สนธยา ทรัพย์เย็นแห่งสำนัก Filmvirus เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หนังไทยยุคก่อนกับยุคปัจจุบันมันมีโครงสร้างที่ต่างกัน เพราะผู้กำกับหนังยุคก่อนกับยุคปัจจุบันเติบโตมาไม่เหมือนกัน อย่างเช่น
 
11.1 ผู้กำกับหนังไทยยุคเก่าหลายๆคนเติบโตมากับการอ่านนิยาย เพราะฉะนั้นพวกเขาก็เลยมักจะทำหนัง narrative ที่เน้นการเล่าเรื่องเหมือนนิยาย
 
11.2 ผู้กำกับหนังไทยยุคปัจจุบันไม่ได้เติบโตมากับการอ่านนิยาย แต่เติบโตมากับการอ่านการ์ตูน เพราะฉะนั้นหนังไทย mainstream หลายเรื่องจะมีลักษณะของการ์ตูน อย่างเช่นหนังของ GTH บางเรื่อง
 
11.3 ผู้กำกับหนังสั้นไทยหลายคนจริงๆแล้วเป็นนักดนตรีด้วย และส่วนใหญ่แล้วพวกเขามักจะทำดนตรีแบบหลอนๆหน่อย อย่างเช่นทศพล บุญสินสุข เพราะฉะนั้นหนังของพวกเขาจะไม่ได้เล่าเรื่องแบบนิยาย แต่จะมีลักษณะคล้ายๆดนตรี เราว่าหนังของผู้กำกับกลุ่มนี้น่าสนใจมาก เพราะ mood กับ tone ของผู้กำกับหนังกลุ่มนี้จะดีมากๆ เข้าทางเรามากๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดในหนังกลุ่มนี้ไม่ใช่เนื้อเรื่อง แต่เป็น “บรรยากาศ”, mood+tone
 
เราว่าหนังของผู้กำกับกลุ่มนี้จะมีลักษณะ lyrical คือมันจะอยู่กึ่งกลางระหว่างหนัง narrative กับหนัง poetic แบบหนังทดลอง
 
11.4 ผู้กำกับหนังฝรั่งหลายคนในยุคปัจจุบันน่าจะเติบโตมากับวิดีโอเกม เราว่าหนังอย่าง SPRING BREAKERS และหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่องก็มีลักษณะแบบวิดีโอเกมผสมอยู่ด้วยเหมือนกัน
 
สรุปว่าเราชอบ LIFE ON MARS มากพอสมควร แต่เราอาจจะไม่ใช่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลักของหนัง อย่างไรก็ดี เราคิดว่า LIFE ON MARS และ DARLING, MORNING, GOODNIGHT แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้กำกับหนังสองเรื่องนี้มีฝีมือจริง และมีความโดดเด่นเฉพาะตัว และถ้าหากเขากำกับหนังต่อไปเรื่อยๆ เขาก็น่าจะกลายเป็น auteur อีกคนของไทยอย่างแน่นอน
 
 

No comments: