Thursday, October 31, 2013

TROPICAL PRURITUS SYNDROME (2013, Teerath Whangvisarn, A+15)



TROPICAL PRURITUS SYNDROME (2013, Teerath Whangvisarn, A+15)

โรคคันคะเยอเขตร้อน (ธีรัช หวังวิศาล)

 

SPOILERS ALERT

 

หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้

 

1.ก่อนอื่นเราต้องบอกว่า เราอาจจะไม่ได้เข้าใจหนังเรื่องนี้ทั้งหมดนะ เรารู้สึกว่าหนังอาจจะมีอีก layer หนึ่งหรืออาจจะมีความหมายอีกชั้นหนึ่งซ้อนอยู่หรือซ่อนอยู่ในสิ่งที่เราดู และเราอาจจะไม่ได้เข้าใจมัน เราไม่แน่ใจว่าภาพจากกล้องวงจรปิดที่แทรกเข้ามาเป็นระยะๆคืออะไร, มุมกล้องที่ส่ายไปส่ายมาคืออะไร และฉากที่อาจารย์ติดแหง็กอยู่ในรถคืออะไร ฯลฯ

 

แต่ถึงแม้เราอาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อ เราก็ชอบหนังเรื่องนี้อย่างมากๆอยู่ดี ถึงแม้ว่าความรู้สึกหรือความคิดของเราที่มีต่อสิ่งต่างๆในหนังอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจไว้ก็ตาม

 

2.สิ่งที่ชอบที่สุดในหนังก็คือฉากอาจารย์ติดแหง็กอยู่ในรถช่วงท้ายเรื่อง เราไม่แน่ใจว่าเธอประสบปัญหารถติดหรือเปล่า ฉากนี้มันกระตุ้นความคิดดีมากๆสำหรับเรา เราไม่รู้ว่าฉากนี้มีความหมายอะไร แต่มันเป็นฉากประเภทที่ทิ้งอารมณ์ค้างคาให้อยู่ในใจเรา

 

ความรู้สึกของเราที่มีต่อฉากนี้อาจจะแยกเป็นข้อๆได้ดังนี้

 

2.1 ตอนแรกเราเดาว่าฉากนี้อาจจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ แล้วมันสะท้อนถึงอะไรกันล่ะ “ภาวะกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” อย่างนั้นเหรอ หรือ “ภาวะติดแหง็ก ไม่ก้าวไปข้างหน้า”, “ภาวะที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรให้มันดีขึ้นได้” , “ภาวะที่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรออย่างเบื่อหน่ายไปเรื่อยๆ” แล้วมันเกี่ยวอะไรกับวลี “โตไปไม่โกง” หรือมันเกี่ยวอะไรกับจุดยืนทางการเมืองของนิสิตแต่ละคนในเรื่องนี้

 

ในแง่นึงฉากนี้มันก็ทำให้เรานึกถึงหนังไทย 4-5 เรื่องในช่วงที่ผ่านมา ที่มีฉากกิจกรรมอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่พอมันถูกนำมาใส่ในหนัง กิจกรรมเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์และกระตุ้นให้ผู้ชมนำไปคิดตีความต่อในทันที ตัวอย่างหนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่น

 

2.1.1 3-0 (2006, Anocha Suwichakornpong, 8min, A+30)

หนังการเมืองเรื่องนี้ทำให้นึกถึง TROPICAL PRURITUS SYNDROME มากที่สุด เพราะกิจกรรมของตัวละครสามคนในหนังเรื่องนี้ ก็คือภาวะติดแหง็ก ไม่ก้าวไปข้างหน้า เหมือนอาจารย์ใน TROPICAL PRURITUS SYNDROME

 

2.1.2 GONE โกน (2009, Siripan Jentrakoollert, 7min, A+)

ฉากชายหนุ่มโกนหนวดขณะฟังข่าวการเมืองในหนังเรื่องนี้ แปลว่าอะไร

 

2.1.3 IN APRIL THE FOLLOWING YEAR, THERE WAS A FIRE (2012, Wichanon Somumjarn)

ฉากผู้คนที่ดำเนินชีวิตไปตามปกติตรงสี่แยกคอกวัวและสี่แยกราชประสงค์ในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ สื่อถึงอะไร

 

2.1.4 MUNDANE HISTORY (2009, Anocha Suwichakornpong)

ความพยายามจะสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองของพระเอกในเรื่องนี้ มีความหมายอะไรหรือเปล่า

 

2.1.5 A STRANGER FROM THE SOUTH (2007, Phuttiphong Aroonpheng, 20min, A+30)

มีชายหนุ่มคนหนึ่งลักลอบเข้าไปในบ้านของผู้ชายที่เพิ่งฆ่าตัวตาย ในขณะที่ทีวีรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาไฟใต้ การกระทำของพระเอกในเรื่องนี้ แปลว่าอะไร

 

2.1.6 UNTITLED (SON OF A BITCH) (2013, Namfon Udomlertlak, video installation, A+30)

เราไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังการเมืองหรือเปล่า แต่ฉาก “เด็กทารกจะเกิด แต่ถูกดูดกลับเข้าช่องคลอดไปอย่างช้าๆ” ในหนังเรื่องนี้ กระตุ้นให้นำไปตีความต่อในทางการเมืองได้เหมือนกัน

 

2.1.7 ดุจดั่งจะคายคืน (2013, Sineenadh Keitprapai, A+25)

ฉากนางเอกแสดงอาการอยากอาเจียนในเรื่องนี้แปลว่าอะไร

 

ที่เราลิสท์รายชื่อหนังเหล่านี้มา ก็เพราะเราคิดว่าอากัปกิริยาของตัวละครในหนัง 7 เรื่องนี้ รวมทั้งใน TROPICAL PRURITUS SYNDROME มันน่าสนใจดี เราว่านักวิจารณ์บางคนน่าจะนำประเด็นเรื่อง “ฉากที่อาจจะมีหรืออาจจะไม่มีความหมายทางการเมืองในหนังไทย” ขึ้นมาศึกษาอย่างละเอียดเหมือนกัน

 

2.2 อย่างไรก็ดี เราไม่ใช่ผู้ชมที่เชี่ยวชาญในการตีความสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับความหมายเชิงสัญลักษณ์ของฉากสุดท้ายในเรื่อง คือไม่ว่าฉากนี้มันจะมีความหมายว่าอะไรหรือไม่ เราก็ชอบมันมากๆอยู่ดี เพราะมันติดตาตรึงใจเรา มันค้างคาอยู่ในใจเรา เราว่าการใส่ฉากนี้เข้ามามันได้อารมณ์ที่ใช่เลย

 

2.3 ถ้าหากเรามองข้ามความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆในเรื่อง เราก็ชอบฉากสุดท้ายของเรื่องมากๆในแง่ที่ว่า มันทำให้ตัวละครอาจารย์ในเรื่องนี้ดูเป็นมนุษย์มากๆ เพราะฉากนี้มันดูเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งในกรุงเทพและปริมณฑลที่มักเจอปัญหารถติดเป็นประจำ ไม่ว่ามนุษย์ธรรมดาคนนั้นจะมีแนวคิดทางการเมืองอะไรยังไงก็ตาม

 

3.ฉากสุดท้ายมันเกี่ยวโยงกับสิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ แต่ก่อนอื่นเราขอสรุปคร่าวๆก่อนแล้วกันว่า สิ่งที่เราชอบมากๆในหนังเรื่องนี้อาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 สิ่งใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ

 

3.1 การต่อต้านหนังกลุ่ม “โตไปไม่โกง” เรื่องอื่นๆ โดยผ่านทางการแสดงความเห็นของนิสิตหญิง

 

3.2 การสะท้อนภาพสังคมการศึกษาของไทย ผ่านทางการขอขมาของนิสิตหญิง และการแสดงความเห็นของ “สองสาวปัญญาอ่อน” หน้าชั้นเรียน

 

3.3 วิธีการ treat ตัวละครอาจารย์ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมาก แม้เราจะไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจจุดประสงค์ของผู้กำกับถูกต้องหรือไม่ก็ตาม เราชอบที่ตัวละครอาจารย์ในเรื่องนี้ไม่ถูกทำให้เป็นผู้ร้ายเลวทราม แต่ถูกทำให้เป็นมนุษย์ธรรมดาๆคนหนึ่ง เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆในสังคมที่มีส่วนร่วมสร้างวาทกรรมที่ผิดพลาด และมีส่วนคล้ายนิสิตหญิงตัวเอกในบางแง่มุมด้วย

 

4.เราขออธิบาย 3.3 อย่างละเอียดตรงนี้แล้วกัน เพราะมันเป็นจุดที่เราชอบที่สุดในหนัง คือถ้าหากไม่มีส่วน 3.3 หนังเรื่องนี้ก็มีคุณค่าน่าสนใจมากพอแล้ว เพราะมันเป็นหนังที่ทั้งสะท้อนสังคม และ anti หนังบางกลุ่มที่ถูกผลิตออกมามากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ถ้าหากหนังเรื่องนี้จะเอาดีกับการเป็นเพียงแค่ “หนังที่แสดงความเห็นทางสังคมการเมือง” หนังเรื่องนี้ก็อาจจะไปได้ไม่สุดทางในด้านนี้ เพราะนิสิตหญิงตัวเอกของเรื่องไม่ได้มีโอกาสอธิบายตีแผ่อย่างชัดๆหรืออย่างละเอียดว่าการโกงที่เป็นนามธรรมที่คนไทยเจอกันมานั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง คือถ้าหากหนังเรื่องนี้สามารถผลักตัวเองไปได้สุดทางในด้านนี้ด้วยการเน้นการ debate อย่างรุนแรงในประเด็นนี้ มันก็จะกลายเป็นหนังการเมืองที่น่าสนใจมากๆเหมือนอย่าง THE BANGKOK BOURGEOIS PARTY (2007, Prap Boonpan, A+30) หรือ I WANNA BE A NAIVE (2012, Viriyaporn Boonprasert, A+30)


 

สิ่งที่เราชอบมากในหนังคือการแสดงความเห็นของตัวนิสิตหญิง แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนัง สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังกลับเป็นการที่หนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ทำตัวเป็นเพียงแค่ “หนังแสดงความเห็นทางสังคมการเมือง” แต่กลับมีลักษณะ humanism อยู่ด้วย เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้ treat ตัวนิสิตหญิงเป็น hero ชัดๆ และไม่ได้ treat ตัวอาจารย์เป็นผู้ร้าย แต่กลับทำให้ทั้งสองคนดูเป็นมนุษย์ธรรมดา และมีบางจุดที่คล้ายกัน

 

นิสิตหญิงในเรื่องนี้ไม่ได้เป็น hero ชัดๆ แต่กลับดูเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เพราะเธอดูเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน, ค่อนข้างดูถูกเพื่อนร่วมชั้น (ผ่านทางการฟังเพลงในชั้นเรียน แทนที่จะฟังเพื่อนพูด), ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ (ผ่านทางการพูดคำหยาบ) และต้องยอมประนีประนอมกับสังคมในระดับหนึ่งในที่สุด (ผ่านทางการขอขมา)

 

ส่วนอาจารย์ในเรื่องนี้ดูเป็นคนธรรมดามากๆ เราไม่รู้ว่าเธอมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร เธอไม่ได้ดูเป็นทั้งคนใจดีและคนใจร้าย การที่เธอไล่นิสิตหญิงออกจากห้องก็ดูเหมือนไม่ได้ทำไปด้วยอารมณ์โกรธ แต่เหมือนเป็นการทำตามหน้าที่มากกว่า ห้องทำงานของเธอก็โสมาก

 

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเราก็คือว่า ถ้าหากหนังเรื่องนี้เลือกจะทำตัวเป็นหนังการเมืองทั่วไป นิสิตหญิงกับอาจารย์ในเรื่องนี้ก็อาจจะถูก treat ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันหรือมีสิ่งที่ตรงข้ามกันมากๆ แต่หนังเรื่องนี้กลับทำให้เรารู้สึกว่าทั้งสองคนเป็นมนุษย์เท่าๆกัน และมีส่วนที่คล้ายกันเสียด้วยซ้ำ ซึ่งส่วนที่คล้ายกันก็คือว่า

 

4.1 ทั้งสองถูกจับจ้องมองดูด้วยกล้องวงจรปิดเหมือนกัน ทั้งในห้องเรียน, ในลิฟท์ (นิสิตหญิง), ในห้องทำงาน (อาจารย์) สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่า ทั้งสองก็เป็นเพียงคนตัวเล็กๆในสังคมที่ถูกอำนาจที่ใหญ่กว่ากดทับหรือเฝ้าจับผิดอยู่ แต่แตกต่างกันตรงที่ว่านิสิตหญิงเลือกที่จะไม่ทำตัวเป็นฟันเฟืองของอำนาจที่เลวร้าย แต่อาจารย์ทำตัวเป็นฟันเฟืองต่อไป

 

4.2 ทั้งสองดูเหมือนจะทำหน้าที่ของตัวเองไปอย่างแกนๆเหมือนกัน นิสิตหญิงก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนในคลาสนี้ ส่วนอาจารย์ก็ดูเหมือนสอนตามหน้าที่ให้มันจบๆกันไป อาจารย์คนนี้ไม่ได้เป็นคนที่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะปลูกฝังความคิดที่ผิดๆให้แก่นิสิต เธอเป็นเพียงอาจารย์ที่ใครบอกให้เธอสอนอะไร เธอก็สอนไปตามหลักสูตรเท่านั้นเอง

 

4.3 ทั้งสองต่างก็ติดแหง็กอยู่ในอะไรบางอย่าง และต้องหนีจากมันด้วย “การฟังเพลง” เหมือนกัน โดยนิสิตหญิงฟังเพลงทั้งในลิฟท์และในชั้นเรียน ส่วนอาจารย์ก็เปิดเพลงฟังในรถขณะรถติดอย่างรุนแรง การที่ตัวละครทั้งสองต่างดูเหมือนต้องทนใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่ตัวเองไม่ชอบแบบนี้ ทำให้ตัวละครทั้งสองดูคล้ายกัน, ดูเป็นมนุษย์ธรรมดามากๆ และทำให้หนังเรื่องนี้ดูมีคุณค่าสำหรับเรามากกว่าการเป็นเพียงแค่ “หนังที่แสดงความเห็นทางสังคม+การเมือง”

 

5.ในช่วงครึ่งแรกของเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นลูกหลานหรือเครือญาติของหนังเรื่อง STATUS (2013, Chantana Tiprachart) ที่นำเสนอสภาพการเรียนการสอนในมหาลัยไทยในยุคปัจจุบันออกมาได้ดีมากๆเหมือนกัน แต่พอเข้าสู่ช่วงท้ายเรื่อง เราก็พบว่าหนังเรื่องนี้เลือกจุดโฟกัสที่แตกต่างจาก STATUS มากพอสมควร เพราะอาจารย์ในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ถูก treat ให้เป็นขั้วตรงข้ามของนางเอก แต่ถูก treat แบบมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

 

6.มีบางฉากที่เรารู้สึกก้ำกึ่งในเรื่องนี้ นั่นก็คือฉากโคลสอัพปากของนิสิตหญิง เพราะมันดูเหมือนเน้นย้ำมากเกินไป แต่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการโคลสอัพปากในเรื่องนี้มีจุดประสงค์อะไร บางทีผู้กำกับอาจจะไม่ได้ต้องการเน้นย้ำสารในฉากนี้ แต่อาจจะชอบการโคลสอัพปากเป็นการส่วนตัวก็ได้ เพราะถ้าเราจำไม่ผิด หนังเรื่อง DAMNED LIFE OF YOI (2010, Teerath Whangvisarn, A+30) ก็มีฉากโคลสอัพปากเหมือนกัน

 

แต่ฉากที่โคลสอัพมือของนิสิตสาวปัญญาอ่อน เราชอบมากๆนะ

 

7.ฉากที่นิสิตต้องไปขอขมาครู เป็นฉากที่เราชอบมากๆ เพราะมันทำให้เรานึกถึงเรื่องราวในชีวิตมัธยมของเรา ที่มีเด็กนักเรียนบางคนต้องไปขอขมาครูเหี้ยๆบางคน คือฉากนี้มันทำให้เรานึกถึงโครงสร้างเหี้ยๆในสังคมไทยน่ะ

 

8.การเคลื่อนกล้องขึ้นลง หรือส่ายไปส่ายมาในบางฉากในเรื่องนี้ น่าสนใจดี เราไม่รู้ว่ามันสื่อถึงอะไร และเราก็ไม่แน่ใจด้วยว่าเราชอบมันหรือเปล่า แต่มันแปลกดี

 

9.ถ้าหากเปรียบเทียบกับหนังของธีรัชยุคแรกๆ เราว่าหนังระยะหลังของธีรัชดูเหมือนจะคลี่คลายหรือพัฒนาไปในแนวทางที่น่าสนใจเหมือนกัน คือหนังปี 2010 ของธีรัชนั้น เป็นหนังที่เราชอบสุดๆ เพราะมันมีพล็อตเรื่องหรือบทภาพยนตร์ที่ซับซ้อน,แน่นหนามากๆ จุดเด่นของหนังอาจจะอยู่ที่ความซับซ้อนของบทภาพยนตร์และ “สไตล์” แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่า บทภาพยนตร์มันไม่ได้ซับซ้อนหรือแน่นหนามากเท่ากับหนังยุคแรกของธีรัช แต่มันดูผ่อนคลายมากขึ้น และมันก็ไม่ได้มีจุดเด่นที่ “สไตล์” เหมือนอย่าง MIZU หรือ LESBIAN FANTASY แต่มันมีลักษณะของความเป็นมนุษย์มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่เราชอบมากๆ

 

สรุปว่าเราชอบ TROPICAL PRURITUS SYNDROME มากๆจ้ะ ทั้งในส่วนที่มันเป็นการต่อต้านหนังกลุ่มโตไปไม่โกง, ส่วนที่มันสะท้อนโครงสร้างทางอำนาจในสังคมไทย และส่วนที่มัน treat ตัวละครนิสิตหญิงและอาจารย์ในแบบที่ดูเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ

 

No comments: