FUGITIVES (2014, Ninart Boonpothong, stage play, A+20)
สิ่งที่ชอบมากๆในละครเวทีเรื่องนี้รวมถึง
1.เนื้อเรื่องน่าสนใจมากๆ ทั้งประเด็นหลักและประเด็นย่อยในเรื่อง
โดยเนื้อเรื่องหลักคือชีวประวัติของเอกยุทธ อัญชันบุตรก็น่าสนใจมากพออยู่แล้ว
แต่เหตุการณ์ย่อยๆในหนังอย่างเช่นแชร์แม่ชม้อย, กบฏเมษาฮาวาย และกบฏ 9 กันยา 2528
ก็น่าสนใจมากๆด้วย ละครเวทีเรื่องนี้ทำให้ได้ไอเดียเลยว่า
จริงๆแล้วเราสามารถสร้างละครเวทีหรือภาพยนตร์ที่น่าตื่นเต้นได้โดยอิงจากเหตุการณ์จริงมากมายในเมืองไทย
คือถ้ามีใครคิดจะทำหนังเกี่ยวกับแชร์แม่ชม้อย, กบฏเมษาฮาวาย หรือกบฏ 9 กันยา 2528
มันก็คงจะออกมาเป็นหนังที่สนุกตื่นเต้นและได้ความรู้มากๆ
เหมือนอย่างที่ละครเรื่องนี้ทำ แต่ในความเป็นจริงนั้นผู้กำกับภาพยนตร์ในไทยก็คงจะไม่ทำหนังแบบนี้ออกมา
เพราะอาจจะกลัวถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทหรืออะไรทำนองนี้
คิดๆไปแล้วมันก็เลยน่าเสียดายมากๆเลยนะ มีชีวิตจริงของคนไทยหลายคนที่ถ้าหากทำเป็นหนัง/ละครเวที/ละครโทรทัศน์แล้วมันคงออกมาดีมากๆ
นอกจากชีวิตของเอกยุทธ อัญชันบุตรแล้ว อีกเรื่องนึงที่เราอยากให้มีคนเอามาทำเป็นหนังหรือละครทีวีมากๆคือนิยายเรื่อง
“คลื่นชีวิต” ของทมยันตี ที่เอามาจากชีวิตจริงของอ้อย บีเอ็ม คือเราว่าผู้สร้างหนัง/ละครทีวีเมืองไทยรสนิยมอาจจะไม่ตรงกับเราเท่าไหร่
นิยายของทมยันตีที่เราชอบสุดๆมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ยอมเอามาทำเป็นละคร/หนัง
อย่างเช่น คลื่นชีวิต, เพลงชีวิต, โซ่สังคม, ทิพย์ ในขณะที่คู่กรรมหรืออย่าลืมฉันกลับเอามาสร้างเป็นหนัง/ละครบ่อยๆ
สรุปว่า FUGITIVES เลือกประเด็นได้ดีมากหรือถูกใจเรามากๆ
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจจะหาได้ยากจากหนัง/ละครทีวีไทย
2.เราว่าละครเรื่องนี้ “ติดดิน”
ที่สุดเรื่องนึงในบรรดาละครเวทีของนินาทประมาณ 30 เรื่องที่เราเคยดูมา 5555 คำว่า “ติดดิน”
ในที่นี้คือมันไม่มีอะไรเซอร์เรียล, เหวอๆ หรือตีความได้ยาก, สร้างความงุนงงน่ะ
ถ้าหากพูดในแง่เนื้อหาแล้ว ละครเวทีเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึง GHOST OF THE ECONOMISTS (2010) และ LOVE OF THE ECONOMIST (2011) นะ ในแง่ที่มันพูดถึงคนในแวดวงการเงินเหมือนกัน
และเราก็ชอบ LOVE OF THE ECONOMIST มากๆ
แต่มันก็มีความเหวออะไรบางอย่างอยู่ใน LOVE OF THE ECONOMIST ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่เข้าใจบางส่วนของมัน
ความเหวอหรือความเข้าใจได้ยากนี่ เราก็ทั้งชอบและทั้งไม่ชอบมันนะ
คือเราจะชอบมันถ้าหากมันมีเสน่ห์ และสามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราได้อย่างรุนแรง
ถึงแม้เราไม่เข้าใจมันก็ตาม แต่ในบางครั้งความเหวอในบางฉากของละครบางเรื่องก็ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของเราได้เพียงเล็กน้อย
และสร้างความงุนงงให้กับเราเสียเป็นส่วนใหญ่
เพราะฉะนั้นความเหวอในบางฉากจึงอาจส่งผลลบต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราที่มีต่อละครเรื่องนั้น
แทนที่จะส่งผลบวก
เพราะฉะนั้นความเหวอก็เลยเหมือนเป็นดาบสองคมที่มีทั้งคุณและโทษ
บางครั้งมันก็ทำให้เราชอบละครเรื่องนั้นมาก แต่บางครั้งมันก็ทำให้เรารู้สึกตีตัวออกห่างจากละครเรื่องนั้น
อย่างเช่นใน LOVE OF THE ECONOMIST มันมีฉากเหวอๆบางฉากที่เราชอบสุดๆในละครเรื่องนี้
เราก็เลยชอบเรื่องนี้มาก แต่ความเหวอใน LADY MINA: VAMPIRE HUNTER มันดูไม่ค่อยมีเสน่ห์สำหรับเรา เราก็เลยไม่ค่อยชอบเรื่องนี้เท่าไหร่
กลับมาที่ FUGITIVES เราว่าละครเรื่องนี้มันแตกต่างจาก SIAM
BELOVED (2013, Ninart Boonpothong, A+20) ในแง่ที่ว่า
มันไม่มีอะไรเหวอๆเลยนี่แหละ คือใน SIAM BELOVED นั้น เรารู้สึกว่ามันเหวอมาก
งุนงงมาก แต่ใน FUGITIVES นั้น
เรารู้สึกว่าทุกอย่างในเรื่องมันจับต้องได้ง่ายมาก ทุกอย่างเป็นรูปธรรมหมดเลย
เป็นเหตุการณ์จริงหมดเลย
ไม่มีอะไรเป็นสัญลักษณ์ทางนามธรรมที่ตีความได้ยากเหมือนละครเรื่องอื่นๆของนินาท
เราก็เลยพบว่า นี่เป็นละครที่ดูง่ายที่สุดเรื่องนึงของนินาทเท่าที่เคยดูมา
คือบทละคร FUGITIVES ก็มีความซับซ้อนสูงนะ
มันมีการตัดสลับเหตุการณ์อดีตปัจจุบันกันอย่างรุนแรงมาก แต่มันดูแล้วไม่งงเลยน่ะ
เราแทบไม่สับสนเลยว่าเหตุการณ์ไหนเกิดตอนไหนอะไรยังไง
เราสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆเข้าด้วยกันได้อย่างง่ายดาย
คงเพราะมันสร้างจากเรื่องจริงด้วยแหละ
ในขณะที่ละครเรื่องอื่นๆของนินาทมักจะสร้างความงุนงงให้เรามากกว่านี้ในการปะติดปะต่อเรื่อง
3.ขอกราบนักแสดงทุกคนในละครเวทีเรื่องนี้
ไม่รู้พวกเขาต้องเหนื่อยขนาดไหน เพราะขนาดเรานั่งดูเฉยๆ เรายังเหนื่อยเลย
มันเป็นละครเวทีที่มี energy สูงมากๆพอๆกับหนังเรื่อง THE WOLF OF
WALL STREET (2013, Martin Scorsese, A+30) แต่มันหนักกว่า THE
WOLF OF WALL STREET ในแง่ที่ว่า มันเป็นละครเวทีที่แสดงสดๆโดยไม่หยุดพัก
3 ชั่วโมงเต็ม เราก็เลยทึ่งมากๆ กับพลังงานของนักแสดงละครเวทีเรื่องนี้
คือหนังอย่าง THE WOLF OF WALL STREET มัน energetic อย่างรุนแรงก็จริง หรือหนังบอลลีวู้ดอย่าง OM SHANTI OM (2007, Farah
Khan, A+30) มัน energetic อย่างรุนแรงก็จริง
แต่เราก็รู้ว่านักแสดงอาจจะไม่เหนื่อยมากก็ได้ ฉากแต่ละฉากในหนังอาจจะใช้เวลาถ่ายทำกันคนละวันก็ได้
แต่ละครเวทีเรื่องนี้ให้พลังรุนแรงเท่าๆกับหนังอย่าง THE WOLF OF WALL
STREET น่ะ เราคิดว่าถ้าหากเราเป็นนักแสดงละครเวทีเรื่องนี้
เราคงรู้สึกเหมือนวิ่งมาราธอนเสร็จหลังจากจบการแสดงแต่ละรอบ
4.ชอบการแสดงของนักแสดงหลายๆคนด้วย
โดยนักแสดงรุ่นใหญ่อย่างสายฟ้า ตันธนา, ขนิษฐา นงนุช, ขรรค์ชัย กลีบการะเกตุ, อารยา
พิทักษ์ และ Kim Pattaraphong นั้นแสดงได้ดีมากอยู่แล้ว
โดยเฉพาะขนิษฐาที่เล่นบทเจ้าแม่โบรกเกอร์สินค้าโภคภัณฑ์ได้ดีมาก
และขรรค์ชัยที่รับบทเป็นตำรวจสาวได้น่าประทับใจมาก
นอกจากนักแสดงรุ่นใหญ่แล้ว นักแสดงรุ่นต่อๆมาที่เราไม่รู้จักชื่อก็เล่นได้น่าประทับใจมากๆ
หลายๆคน เราชอบคนที่เล่นเป็นเอกยุทธวัยหนุ่มกับคนที่เล่นเป็นอภิชาติ ที่ทำธุรกิจเครื่องบินมากเป็นพิเศษ
เราว่าคนที่เล่นเป็นอภิชาติเล่นได้สมจริงดี ส่วนคนที่เล่นเป็นเอกยุทธวัยหนุ่มนั้นสามารถทำให้เรารู้สึกสงสารเห็นใจตัวละครตัวนี้ได้
ทั้งๆที่ก่อนหน้าที่เราจะดูละครเวทีเรื่องนี้ เราไม่เคยมองเอกยุทธในแง่ดีมาก่อนเลย
ส่วนพระเอกของเรื่อง ที่เล่นเป็นตำรวจที่สืบคดีฆ่าเอกยุทธนั้น
เขาเป็นนักแสดงที่มีเสน่ห์มากๆ เราว่าเขาเป็นดาราหนังได้เลยนะ
5.อีกจุดที่เราชอบในละครเรื่องนี้ก็คือการที่ละครสามารถทำให้เราเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเอกยุทธนี่แหละ
คือเราไม่รู้หรอกว่าเอกยุทธตัวจริงดีเลวมากน้อยยังไง
แต่เราเคยมองเขาในแง่ลบอย่างรุนแรงมากๆ แต่ตัวละครเอกยุทธในเรื่องนี้ดูเป็นมนุษย์ที่กลมมากๆ
ดูเป็นมนุษย์ที่มีอะไรหลายๆอย่างที่น่าเห็นใจ
ดูเป็นมนุษย์ที่มีทั้งความรักโลภโกรธหลงเหมือนกับปุถุชนทั่วๆไป เราก็เลยทึ่งมากๆที่ละครเรื่องนี้สามารถทำให้เรารู้สึกอย่างนี้กับตัวละครตัวนี้ได้
ทั้งๆที่เรารู้สึกกับเอกยุทธตัวจริงในอีกแบบนึง
6.อีกเหตุผลส่วนตัวที่เราชอบละครเรื่องนี้ เพราะมันทำให้เรา nostalgia คิดไปถึงอดีตด้วยแหละ
มันทำให้เราได้รำลึกถึงอดีตสมัยก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 อดีตสมัยทศวรรษ 1980-1990
ที่การเล่นหุ้นเฟื่องฟูมากๆ และการหักเหลี่ยมเฉือนคมทางการเงินกลายเป็นเรื่อง drama
ที่น่าติดตาม
7.ชอบประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “การเมือง” กับ “แวดวงธุรกิจ”
ในละครเวทีเรื่องนี้มากๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่เราสงสัยในละครเรื่องนี้ ก็คือเราได้ยินเสียงพูดของตัวละครไม่ชัดน่ะ
โดยเฉพาะของนักแสดงหน้าใหม่ และโดยเฉพาะในฉากที่มีดนตรีประกอบ เราฟังบทสนทนาของตัวละครไม่ออกในหลายๆประโยค
แต่เราก็พอตามเนื้อเรื่องได้เกือบหมด เราก็เลยไม่แน่ใจว่า
จุดนี้เป็นความตั้งใจของผู้สร้างหรือเปล่า ที่จงใจทำให้บทสนทนาถูกดนตรีประกอบกลบจนฟังได้ไม่ชัดแบบนี้
No comments:
Post a Comment