Tuesday, April 22, 2014

ACTING TASKS IN IN THER'S VIEW

 
(อันนี้เป็นการเขียนตอบน้องควอนจียุ้ย ไม่มีนามสกุล เกี่ยวกับการแสดงใน IN เธอ’S VIEW)
 
เราดู IN เธอ’S VIEW สองรอบ รอบแรกเราดูพร้อมกับตี้ ส่วนรอบสองเราไปดูในวันอาทิตย์ที่ 6 เม.ย. ในรอบนั้น
 
1.ปานรัตน กริชชาญชัยนั่งเก้าอี้ตัวแรก เล่นเป็นน้องสาวที่เอาเค้กวันเกิดไปให้พี่ชายในสนามรบ ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด เป็นการแสดงที่แทบไม่มีบทพูดเลย และเล่นออกมาในแนวตลกขำขัน
 
2.ดลฤดี จำรัสฉาย เล่นเป็นเลดี้แมคเบธ
 
3.สุมณฑา สวนผลรัตน์ เล่น CLITORIS MONOLOGUE
 
4.นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ เล่น “ในความเงียบ” ที่เป็นเรื่องผู้หญิงที่ถูกทหารพม่าข่มขืน โดยในครั้งนี้นีลชาแจกบทพูดใน “ในความเงียบ” ให้ผู้ชมบางคนและนักแสดงหญิงอีก 5 คนช่วยกันอ่าน คือทำให้มันเป็นกิจกรรมแบบ interactive แทนที่จะเป็นการแสดง monologue
 
5.ฟารีดา จิราพันธุ์ เล่นเป็นผู้หญิงซาอุที่ฝ่าฝืนธรรมเนียมการห้ามขับรถ และแสดงออกมาได้อย่างทรงพลังมากๆ
 
6.ภาวิณี สมรรคบุตร เล่นเป็นสาวตุลา โดยในครั้งนี้ภาวิณีจะตีความแตกต่างจากณัฐญาในแง่ที่ว่า ณัฐญาจะเล่นเป็นสาวตุลาขณะให้สัมภาษณ์กับนักเขียนคอลัมน์/นักข่าว แต่ภาวิณีจะเล่นเป็นสาวตุลาขณะคุยกับเพื่อนผู้หญิงกลุ่มนึง
 
ในการดู IN เธอ’S VIEW สองรอบนี้ ในส่วนของการแสดงนั้น เราพบว่า
 
1.นักแสดงแต่ละคนมีเทคนิคที่แตกต่างกันไป มีความถนัดที่แตกต่างกันไป คนนึงก็มีจุดแข็งอย่างนึง มีจุดอ่อนอย่างนึง และแต่ละคนก็มีจุดแข็ง จุดอ่อนแตกต่างกันไป และดูเหมือนว่ามันไม่มี “วิธีการแสดงที่ดีที่สุด” มันมีแต่ “วิธีการแสดงที่หลากหลาย” และมันขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมแต่ละคนชอบแบบไหนเท่านั้นเอง ซึ่งผู้ชมแต่ละคนก็ชอบแตกต่างกันไปเช่นกัน
 
2.เราจะพบเลยว่า เราจะไม่ค่อยอินกับการแสดงตลก แต่เราจะอินกับการแสดงที่มันสามารถเชื่อมโยงกับความรู้สึกเจ็บปวดในใจเรา เพราะฉะนั้นในการแสดงสองรอบที่เราได้ดูนั้น เราจะไม่อินกับการแสดงของปานรัตน และการแสดงของปริยา วงศ์ระเบียบในบทของเมียซามูไร ที่ออกมาในแนวตลก แต่เราว่าการแสดงของปริยามีความน่าสนใจในแง่ที่ว่า ในการแสดงนั้น “เสียงพากย์” ของกฤษณะ พันธุ์เพ็งมีบทบาทสำคัญในการกำกับอารมณ์คนดูเป็นอย่างมาก เราก็เลยคิดว่าการแสดงของปริยาในรอบนั้น มันไม่มีผลกับเราในทางอารมณ์ แต่เราสนใจวิธีการของมันที่ทำให้เสียงพากย์กลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญเท่าๆกับการแสดง (มันทำให้เรานึกถึงหนังไทยเรื่อง SING (2011, Sa Sakawee, A+30) ที่เสียงพากย์กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในหนังด้วย)
 
3.หนึ่งในช่วงเวลาที่เราชอบที่สุดในละครเวทีเรื่องนี้ คือช่วงเวลาที่นักแสดง 6 คนในรอบวันที่ 6 เม.ย. ได้รับคำถามว่า “คุณจะแสดงความเศร้าอย่างไร โดยไม่ใช้บทพูด และไม่ใช้น้ำตา” และเราก็ชอบการแสดงของดลฤดีกับสุมณฑามากๆในการตอบคำถามนี้ โดยสุมณฑาใช้วิธีทำหน้าบึ้งตึง ถอดรองเท้าออกมาข้างนึง แล้วก็เขวี้ยงรองเท้านั้นกระแทกกับพื้นอย่างรุนแรงมาก เราว่ามันเป็นการตอบโจทย์แบบสร้างสรรค์มากๆ มันเป็นการหยิบเอาของใกล้ตัวมาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงได้อย่างฉับพลันทันที แล้วมันก็ทำให้เรานึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “นักรักโลกมายา” หรือ “หน้ากากแก้ว” ของ Suzue Miuchi ด้วย ที่บางทีคิตะจิมะ มายะ นางเอกของเรื่อง ต้องแก้โจทย์หินๆแบบนี้เวลาไปออดิชั่น
 
แต่การแสดงที่เราชอบที่สุดคือของดลฤดี ที่ทำหน้าเหยเก เหมือนจะร้องไห้ แต่ไม่ได้ร้องไห้มีน้ำตาออกมา คือใบหน้าของดลฤดีในตอนนั้น มันกระแทกใจเราอย่างรุนแรงมาก มันทำให้เรานึกถึงความเศร้าที่เราเคยประสบมาตั้งแต่เด็กๆ คือเรารู้สึกว่าความเศร้าที่เราสั่งสมมาตั้งแต่เด็ก มันได้รับการระบายออกมาเล็กน้อยในทางอ้อม ผ่านทาง magical moment เพียงชั่วไม่กี่วินาทีในการแสดงของดลฤดีน่ะ เราก็เลยรู้สึกว่าช่วงเวลานั้นมันเป็นช่วงเวลาที่วิเศษสุดๆสำหรับเรา
 
4.เราชอบการแสดงความเศร้าของดลฤดีในตอนนั้น มากกว่าการแสดงของดลฤดีในบทเลดี้แมคเบธอีกนะ และมันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า ดลฤดีกับณัฐญา นาคะเวช เป็นนักแสดงแบบที่เหมาะกับการแสดงภาพยนตร์แนวสมจริงแบบของ Eric Rohmer มากๆ เราว่าทั้งสองคนนี้มักจะให้การแสดงที่เป็นธรรมชาติมากๆ และการให้การแสดงที่ละเอียดอ่อนมากๆ เป็นมนุษย์มากๆ ซึ่งมันจะเหมาะมากๆถ้าหากมีกล้องมาจับอยู่ใกล้ๆ และได้บทที่เน้นสะท้อนแง่มุมที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์ คือในขณะที่นักแสดงบางคนอาจจะเหมาะเล่นละครเวทีโรงใหญ่ overacting ตามสมควรเพื่อส่งพลังไปให้ถึงคนดูแถวหลังสุด แต่ไม่เหมาะเล่นหนัง เพราะมันจะ overacting เกินไป แต่เราว่าสองคนนี้เหมาะเล่นหนังมากๆ คือเราว่าสองคนนี้เล่นละครเวทีเก่งมากๆนะ  เพียงแต่เรารู้สึกว่า สองคนนี้มีศักยภาพบางอย่างหลบซ่อนอยู่ในตัวที่ยังไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่น่ะ และศักยภาพนั้นอาจจะได้ใช้ออกมาอย่างเต็มที่ถ้าหากได้เล่นหนังดีๆและบทดีๆที่เหมาะกับทั้งสองคนนี้
 
5.เราชอบการแสดง CLITORIS MONOLOGUE ในทั้งสองรอบที่เราได้ดูมากๆ รอบแรกที่เราได้ดูเป็นการแสดงของดวงใจ หิรัญศรี ที่แสดงออกมาในแบบสาวกร้านโลก ที่มองโลกอย่างเย้ยหยันหน่อยๆ มันทำให้เราตื่นตะลึงมากพอสมควรในแง่การเปลี่ยนบุคลิกภาพอย่างฉับพลันน่ะ เพราะแว่บนึงเราก็เห็นดวงใจตอบคำถามบนเวทีในแบบคนปกติ แต่พอผ่านไปไม่กี่วินาที เธอก็กลายเป็นสาวกร้านโลกไปแล้ว และมันดูน่าเชื่อถือมากๆด้วย เราก็เลยทึ่งมากที่ดวงใจสามารถเปลี่ยนบุคลิกภาพได้อย่างฉับพลันและสมจริงขนาดนี้
 
ส่วนการแสดงของสุมณฑานั้น จะออกมาในแบบอาซิ้ม และสิ่งที่เราชอบสุดๆก็คือ มันจะมีบางช่วงที่การแสดงของสุมณฑาทำให้เราขำขัน แต่อีก 5 วินาทีต่อมา มันก็ทำให้เราเศร้ามาก และทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงมากๆ และมันก็เป็นแบบนี้หลายช่วงเลยนะ คือ “ขำ 5 วินาที สลับกับรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง 5 วินาที” แบบนี้หลายครั้ง และเราก็ชอบการแสดงความรู้สึกเจ็บปวดแบบนี้อยู่แล้ว
 
สรุปว่าการแสดงความรู้สึกเศร้าของดลฤดี กับการแสดงความรู้สึกเจ็บปวดกับชีวิตของสุมณฑาในบางช่วงของ CLITORIS MONOLOGUE มันทำให้เรารู้สึกสงสัยว่า บางทีการที่เราอินกับการแสดงแบบนี้อย่างรุนแรงมากๆ อาจจะเป็นเพราะว่ามันเหมือนสามารถเข้าถึง “ถังบรรจุความเศร้า” ในใจเรามั้ง คือประสบการณ์ชีวิตของเรา มันมีบางช่วงที่เลวร้ายมากๆ และมันก็เหมือนกับทำให้เรามีถังบรรจุความเศร้าในใจเรา และถ้าหากเราได้ดูหนัง/ละครเวทีบางเรื่องที่สามารถนำเสนอความรู้สึกเจ็บปวดของตัวละครได้อย่างสมจริงและสอดคล้องกับชีวิตของเรา มันก็เหมือนกับว่าหนัง/ละครเวที/การแสดงนั้นสามารถเข้าถึงถังบรรจุความเศร้าในใจเรา และช่วยเจาะรูรั่วในถังนั้นเพื่อให้ความเศร้าในใจเราได้รับการระบายออกมาสักออนซ์สองออนซ์
 
ขอนอกเรื่องนิดนึง พอเราดู IN THER’S VIEW สองรอบ แล้วพบว่าเราชอบการแสดงความเจ็บปวด แต่ไม่ชอบการแสดงตลก เราก็เลยเข้าใจว่า เพราะเหตุใดเราถึงชอบหนังสารคดีเรื่อง THE CHEER AMBASSADORS (2011, Luke Cassady-Dorion) แค่ในระดับ A+10 แต่ชอบหนังสารคดีเรื่อง THE CHAMPIONS (2003, Christoph Hübner) ในระดับ A+30 คือหนังสารคดีสองเรื่องนี้เหมือนกันในแง่ที่ว่า มันติดตามชีวิตการฝึกซ้อมของนักกีฬากลุ่มนึงเหมือนกัน โดยในกรณีของ THE CHAMPIONS นั้นเป็นการติดตามชีวิตนักฟุตบอลกลุ่มนึงในเยอรมนี
 
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราชอบหนังสารคดีเรื่อง THE CHEER AMBASSADORS แค่ในระดับ A+10 ไม่ใช่ความผิดของผู้กำกับแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงเพราะว่า ทีมเชียร์ลีดเดอร์ที่ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ติดตามถ่ายทำนั้น มันเกิดประสบความสำเร็จขึ้นมา หนังเรื่องนี้ก็เลยไม่ได้กระทบเราเป็นการส่วนตัว
 
แต่ในกรณีของ THE CHAMPIONS นั้น หนังเรื่องนี้ติดตามถ่ายทำชีวิตนักฟุตบอลนานหลายปี และพอช่วงท้ายๆของหนัง เราก็แทบร้องไห้ เพราะแววตาของนักฟุตบอลหลายๆคนที่ในช่วงต้นเรื่อง “เต็มไปด้วยประกายแห่งความหวัง” ว่าสักวันพวกเขาจะได้ไม่เป็นแค่ตัวสำรอง แต่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวจริง มันกลับ “เต็มไปด้วยความสิ้นหวังกับชีวิต” ในช่วงท้ายของเรื่องน่ะ นักฟุตบอลหลายคนในหนังเรื่องนี้ ต้องยอมรับกับความเป็นจริงของชีวิตที่ว่า พวกเขาเป็นได้แค่ตัวสำรองเท่านั้นแหละ และไม่มีทางได้เป็นตัวจริงหรอก ความสิ้นหวังในแววตาของนักฟุตบอลเหล่านี้ในช่วงท้ายของหนัง มันตรงกันข้ามกับในช่วงต้นเรื่องมากๆ และมันก็เลยกระทบเราอย่างรุนแรงเป็นการส่วนตัว บางทีมันอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถเข้าถึงถังบรรจุความเศร้าในใจเราได้
 
สรุปว่าประเด็นเล็กๆประเด็นนึงที่เราได้จากการดู IN THER’S VIEW ก็คือมันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าเราชอบการแสดงแบบไหนมากเป็นพิเศษ และเฉยๆกับการแสดงแนวไหน และมันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าทำไมเราถึงอินกับหนังบางเรื่องมากเป็นพิเศษ :-)

No comments: