Monday, June 30, 2014

STOCKHOLM! (2014, Teerath Whangvisarn, A+25)

STOCKHOLM! (2014, Teerath Whangvisarn, A+25)
 
All you need for a movie is a gun and a girl.”—Jean-Luc Godard
 
Godard said that in cinema there are women and guns and I agree completely. That's to say, there's sex and violence. Cinema functions through these even if one is highly intellectual. And Melville functions on exactly the same elements.”—Claire Denis
 
ที่ยก quote สองอันมาข้างต้น เพราะเห็นว่าหนังเรื่อง STOCKHOLM! นี้เน้นไปที่ a gun and a girl และ sex+violence+intellectual จริงๆ ถึงแม้เราไม่รู้หรอกว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลมาจากคำพูดสองอันข้างต้นหรือเปล่า
 
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
-
 
 
สิ่งที่นึกถึงหลังจากการดู STOCKHOLM!
 
1.นึกถึงหนังของ Jean-Luc Godard ในแง่ที่ว่า เราดูแล้วไม่เข้าใจมัน แต่เราก็ยังรู้สึกชอบมันมากๆอยู่ดี โดยความไม่เข้าใจในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในหนังนะ คือเราพอตามเนื้อเรื่องได้บ้างนิดหน่อยว่า ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไร แต่หนังมันทำให้เรารู้สึกว่า จริงๆแล้วมันมี message หรือแนวคิดอะไรบางอย่างที่หนังซ่อนไว้ หรือไม่บอกออกมาตรงๆ แล้วไอ้แนวคิดหลักของหนังนี่แหละ ที่เรายังไม่สามารถตีความหรือวิเคราะห์มันออกมาได้ ซึ่งมันก็คือความรู้สึกเดียวกับที่เราดูหนังหลายๆเรื่องของ Godard โดยเฉพาะเรื่อง DÉTECTIVE (1985) ที่เป็น anti-thriller เหมือนกับ STOCKHOLM!
 
คือเวลาดูหนังของ Godard เราอาจจะตามเนื้อเรื่องได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เราจะไม่เข้าใจว่าไอ้สิ่งต่างๆที่หนังมันเอามาให้เราดูนี้ มันเอามาให้เราดูทำไม มันมีจุดประสงค์อะไร มันต้องการจะบอกอะไรกับเรากันแน่ หรือมันต้องการให้เราคิดถึงเรื่องอะไร แต่ไอ้ความไม่เข้าใจนี้ แทนที่มันจะทำให้เราไม่ชอบหนัง มันกลับทำให้เราชอบหนังมากยิ่งขึ้น เพราะมันทำให้หนังเรื่องนั้นมีเสน่ห์น่าค้นหา น่าขบคิดถึงบ่อยๆ หรือถึงเราไม่เข้าใจมัน เราก็เพลิดเพลินกับการที่เราได้ประสบกับมันอยู่ดี
 
เรารู้สึกว่าเราเข้าใจหนังของโกดาร์ดแต่ละเรื่องประมาณแค่ 10% ของสิ่งที่หนังเรื่องนั้นต้องการจะบอกเท่านั้น แต่ไอ้ 10% ของหนังโกดาร์ดหนึ่งเรื่องนี้มันมีคุณค่ากับชีวิตเรามากกว่าการดูหนังฮอลลีวู้ด 10 เรื่องรวมกันเสียอีก และหนังของธีรัชก็ทำให้เราคิดถึงจุดนี้เหมือนกัน คือเราไม่เข้าใจไอเดียหลักของหนังเรื่องนี้หรอก แต่เราก็ชอบมันมากกว่าหนังหลายๆเรื่องที่เราดูแล้วเข้าใจ
 
2.สิ่งหนึ่งที่ชอบใน STOCKHOLM! คือการปฏิบัติต่อตัวละคร “คนดีของสังคม” ในแบบที่สวนทางกับสื่อกระแสหลัก คือใน STOCKHOLM! มันจะมีตัวละครหนุ่มหล่อคนหนึ่งที่ทำตัวเหมือน “คนดีของสังคม” ในโฆษณาทางโทรทัศน์ อย่างเช่นช่วยคนเก็บขยะ, บริจาคเงินจำนวนมากให้ขอทาน, ไม่เก็บตังค์ที่หล่นข้างถนนมาเข้ากระเป๋าตนเอง, ช่วยคนพิการ และสื่อกระแสหลักก็จะเทิดทูนบูชาคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ว่าเป็นคนที่ควรยกย่องเชิดชูอย่างมากๆ
 
แต่ STOCKHOLM! ตบหน้าตัวละครประเภทนี้ได้อย่างสะใจเรามากๆ เพราะหนุ่มหล่อคนนี้เห็นสาวพิการ แล้วก็ทึกทักเอาเองว่าสาวพิการคนนี้ต้องการข้ามถนนและต้องการความช่วยเหลือ โดยไม่ถามเจ้าตัวเขาก่อนว่าเขาต้องการ “ความดีที่คุณต้องการจะยัดเยียดให้” หรือไม่ แล้วพอยัดเยียดการทำความดีในแบบของตัวเองให้คนอื่นเสร็จแล้ว แล้วพบว่าเขาไม่ต้องการ แทนที่หนุ่มหล่อคนนี้จะสำนึกผิดด้วยการเข็นรถกลับมาส่งที่เดิม เขากลับทิ้งรถเข็นไว้อย่างนั้นเลย
 
สิ่งที่หนุ่มหล่อคนนี้ได้รับในเวลาต่อมา จึงเป็นสิ่งที่มองในแง่นึงก็อาจจะสาสมแล้ว หรือมองในแง่หนึ่งก็อาจจะให้ความรู้สึก disturbing มากๆ เพราะคนที่ทำความดีไม่น่าจะต้องลงเอยแบบนี้ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าเขาทำความดีจริงๆ หรือเขาเพียงแต่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่ทำความดี ทั้งๆที่จริงๆแล้วสิ่งที่เขาทำกลับทำให้คนอื่นๆเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น
 
ความรู้สึก disturbing ที่เราได้จาก STOCKHOLM! ตรงจุดนี้ มันทำให้เรานึกถึงหนังของ Claude Chabrol อยู่บ้างเหมือนกันนะ เพราะตัวละครคนดีในหนังของ Claude Chabrol มักจะถูกฆ่าตาย ในขณะที่ตัวละครที่เป็นคนชั่วๆดีๆมักจะมีชีวิตรอด ดังจะเห็นได้จากหนังอย่าง LES BONNES FEMMES (1960) และ COP AU VIN (1984) แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือว่า ตัวละครคนดีที่ถูกฆ่าตายในหนังของชาโบรลสองเรื่องนี้มันเป็นคนดีจริงๆในความเห็นของเรา แต่ตัวละคร “คนดี” ที่ถูกฆ่าตายใน STOCKHOLM! มันไม่ใช่คนดีจริงๆในความเห็นของเรา 555
 
3.คิดไปคิดมาแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าเรากำลังเห็นใจ “ผู้ร้าย” (หรือนางเอก) ใน STOCKHOLM! เหมือนกับอาการ Stockholm Syndrome ที่หนังเรื่องนี้สาธยายเอาไว้อย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า
 
แต่เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆแล้วทำไมหนังเรื่องนี้ถึงพูดถึง Stockholm Syndrome แต่การที่หนังเรื่องนี้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงอย่างยืดยาวและจริงจัง ก็ทำให้เรานึกถึงเรื่องต่างๆเหล่านี้โดยที่หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ
 
3.1 ถ้าจำไม่ผิด เรารู้จัก Stockholm Syndrome ครั้งแรกจาก THE WORLD IS NOT ENOUGH (1999, Michael Apted) แต่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ร้ายแบบนี้ทำให้เรานึกถึงหนังสองเรื่องที่เราชอบสุดๆด้วย ซึ่งก็คือ THE SECOND AWAKENING OF CHRISTA KLAGES (1977, Margarethe von Trotta) และ THE TERROR LIVE (2013, Kim Byung-woo)
 
3.2 เราว่ามันประหลาดดีที่ STOCKHOLM! พูดถึง Stockholm Syndrome อย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอตัวละครที่มีอาการอย่างนี้ คือใน STOCKHOLM! นั้น ตัวละครที่แสดงโดยพลากร กลึงฟักอาจจะเข้าข่าย stockholm syndrome แต่หนังก็ไม่ได้เน้นการเล่าเรื่องของตัวละครตัวนี้แบบหนัง narrative ทั่วๆไป หรือแบบหนังสามเรื่องที่เราเอ่ยชื่อมาในข้อ 3.1 คือหนังทั่วๆไปที่พยายามนำเสนอความสัมพันธ์ในทางบวกระหว่างเหยื่อกับผู้ก่อการร้าย มักจะเลือกใช้วิธีการแบบข้อ 3.1 คือเล่าเรื่องของตัวละครประเภทนี้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ “ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมด้วย”
 
3.3 แต่ STOCKHOLM! กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม หนังใช้วิธีการต่างๆมากมายที่ทำให้ผู้ชมไม่มีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร (จุดนี้ทำให้นึกถึงหนังของโกดาร์ด) อย่างเช่นการ jump cut, การวางเฟรมภาพให้ไม่เห็นหน้าของตัวละครบางตัว, การไม่เล่าพื้นหลังหรือที่มาที่ไปของตัวละคร หนังไม่ได้นำเสนอตัวละครเหล่านี้ในแบบมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อหรือจิตวิญญาณจริงๆเพื่อให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมด้วย ตัวละครต่างๆในหนังเรื่องนี้มีลักษณะเหมือนเป็นเครื่องมือสำหรับการถ่ายทอดแนวคิดบางอย่างของผู้กำกับมากกว่า
 
3.4 เพราะฉะนั้นขณะที่เราดู STOCKHOLM! นอกจากเราจะนึกถึงประเด็นเรื่อง “ความเห็นอกเห็นใจที่เหยื่อมีต่อผู้ก่อการร้าย” แล้ว หนังเรื่องนี้ยังทำให้เรานึกถึงประเด็นเรื่อง “ความเห็นอกเห็นใจที่ผู้ชมมีต่อตัวละครในหนัง/บุคคลในสื่อ” ด้วย โดยที่ตัวหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ คือในขณะที่หนังเรื่องนี้พูดถึง “ความสัมพันธ์ในทางบวกที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ระหว่างเหยื่อกับผู้ก่อการร้าย” หนังเรื่องนี้กลับ “ทำลายความสัมพันธ์แบบปกติระหว่างผู้ชมกับตัวละคร” ลงด้วย เพราะหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกเหินห่างจากตัวละครมากๆ
 
เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยทำให้เราคิดต่อไปเรื่อยๆโดยที่ตัวหนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ โดยประเด็นที่เราคิดถึงก็รวมถึงประเด็นที่ว่า
 
3.4.1 Stockholm Syndrome ทำให้เรามองว่า ผู้ก่อการร้ายบางคน ควรได้รับความเห็นอกเห็นใจในบางแง่มุม ถ้าหากเราเข้าใจความเจ็บปวดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาก่อการร้าย แล้วในทางกลับกัน คนที่มักจะได้รับความเห็นอกเห็นใจเป็นประจำ โดยเฉพาะ “บุคคลบางคนที่ปรากฏในสื่อ” หรือ “ตัวละครบางประเภทในโฆษณา/หนัง/ละคร” จริงๆแล้วเขาควรได้รับความเห็นอกเห็นใจหรือเปล่า
 
“สาวนั่งรถเข็น” ใน STOCKHOLM! ทำให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจในทันทีเพราะเราเห็นว่าเธอนั่งรถเข็น แต่จริงๆแล้วมันควรเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า
 
3.4.2 การขึ้นชื่อ Alfred Hitchcock ในหนังเรื่องนี้ ทำให้เรานึกถึงประเด็นหนึ่งที่สำคัญในหนังของ Hitchcock นั่นก็คือ “การทำให้ผู้ชมเอาใจช่วยผู้ร้ายโดยที่ผู้ชมไม่รู้ตัว” ซึ่งเราว่าประเด็นนี้มันดูเหมือนจะนำมาเทียบเคียงกับ Stockholm Syndrome ได้ด้วย
 
พอ STOCKHOLM! พูดถึงทั้ง Stockholm Syndrome และ Hitchcock มันก็เลยทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า “จริงๆแล้วมันมีสื่อหลายๆอย่างหรือเปล่า โดยเฉพาะสื่อในเมืองไทย ที่ทำให้เราเอาใจช่วยผู้ร้ายโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยใช้วิธีหลอกเราว่าผู้ร้ายคนนั้นเป็นคนดี”
 
หรือในแง่นึง เราเองก็เหมือนกับเป็นเชลยที่ถูกผู้ก่อการร้ายจับตัวไว้หรือเปล่า โดยผู้ก่อการร้ายในที่นี้คือ “สื่อต่างๆในไทย หนังสือเรียนในไทย แบบเรียนชั้นประถมในไทย ฯลฯที่พอเราอยู่กับมันนานๆเข้า ความคิดของเราก็เริ่มบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เราเริ่มมองเห็นว่า คนที่ถือปืนควบคุมตัวพวกเราอยู่ คนที่ปิดกั้นเสรีภาพของเรา คนที่กดหัวพวกเราอยู่ เป็นวีรบุรุษของเรา
 
หรือในแง่นึง พอเราใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารนานๆเข้า และพบว่าเราสามารถหาความสุขได้เล็กๆน้อยๆภายใต้ระบอบนี้ ตราบใดที่เราไม่ไม่พยายามหนีไปจากกรอบที่พวกเขากักขังเราไว้ เราเริ่มมองเผด็จการทหารในแง่ดีขึ้น เมื่อเรากลายเป็นคนเช่นนั้น เรากำลัง suffer จาก Stockholm Syndrome หรือเปล่า
 
4.บทนางเอกของ Chidapa Bangnachad ในเรื่องนี้เป็นบทที่น่าสนใจสุดๆ จริงๆแล้วเธอเป็นตัวละครหญิงที่น่าสนใจที่สุดในหนังไทย เพราะเธอเป็นทั้งฆาตกรโรคจิต, คนพิการ และ “นางเอกที่มีความต้องการทางเพศ และกล้าที่จะเปิดเผยความต้องการทางเพศของตนเอง” ซึ่งในกรณีที่สามนี้ ตัวละครประเภทนี้เป็นตัวละครปกติในหนังฝรั่ง แต่เป็นตัวละครที่หาได้ยากมากๆในหนังไทย เพราะนางเอกหนังไทยไม่ค่อยกล้าเปิดเผยความต้องการทางเพศของตนเอง นางเอกคนไหนที่กล้าเปิดเผยความต้องการทางเพศของตนเอง ก็มักจะได้รับการลงโทษในภายหลัง อย่างเช่นอีพริ้งในคนเริงเมือง (แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจมากที่หนังไทยยุคหลังๆเริ่มมีตัวละครนางเอกแบบนี้ออกมามากยิ่งขึ้น อย่างเช่นนางเอกใน “เธอ เขา เรา ผี”)
 
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตัวละครนางเอกของ STOCKHOLM! อาจจะมีความน่าสนใจอย่างสุดๆในทางทฤษฎี (เพราะคุณสมบัติของตัวละครตัวนี้มันรุนแรงมาก) แต่ในทางปฏิบัติแล้วตัวละครตัวนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบในทางอารมณ์เท่าใดนัก เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอตัวละครตัวนี้และตัวอื่นๆในเรื่องในฐานะมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อชีวิตจิตใจจริงๆ แต่นำเสนอตัวละครเหล่านี้ในฐานะเครื่องมือในการสื่อสารไอเดียบางอย่างเท่านั้น ตัวละครเหล่านี้ก็เลยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเราในแง่ “อารมณ์ความรู้สึก” เหมือนอย่างนางเอกในหนังเรื่องอื่นๆที่เป็นฆาตกรโรคจิตเหมือนกัน อย่างเช่นในเรื่อง MIDNIGHT RAINBOW (2008, Patha Thongpan), NEW GENERATION เด็กโจ๋ (2008, Pakwan Suksomthin) และ BAISE-MOI (2000, Virginie Despentes + Coralie Trinh-Thi)
 
ถ้าหากพูดถึงหนังเกี่ยวกับ “ผู้หญิงถือปืน” แล้ว หนังที่นำเสนอตัวละครประเภทนี้ได้อย่างเป็นมนุษย์มากที่สุดในความเห็นของเรา คือเรื่อง BANG (1997, Ash) แต่นางเอกของเรื่องนี้ไม่ได้เป็นฆาตกรโรคจิตนะ เธอเป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาที่วันนึงขโมยชุดตำรวจกับปืนตำรวจไป แล้วในวันนั้นเธอก็เลยได้ทำอะไรหลายๆอย่างที่เธอไม่ได้ทำในชีวิตประจำวัน เพราะปืนตำรวจกับชุดตำรวจทำให้ชีวิตประจำวันของเธอเปลี่ยนไป
 
ที่เรานึกถึง BANG ขึ้นมา เพราะว่านางเอกของ STOCKHOLM! ก็ขโมยปืนมาเหมือนกัน และเอาปืนไปทำเหี้ยๆห่าๆเหมือนกัน แต่วิธีการนำเสนอของหนังสองเรื่องนี้ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง โดย BANG นำเสนอนางเอกในฐานะมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจิตวิญญาณอย่างเต็มที่ แต่ STOCKHOLM! นำเสนอนางเอกในฐานะ “เครื่องมือในการสะท้อนความคิดของผู้กำกับ” แต่เราก็ชอบหนังมากๆทั้งสองเรื่อง
 
นอกจาก BANG แล้ว นางเอกของ STOCKHOLM! ยังทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องอื่นๆด้วย อย่างเช่น
 
4.1 UNE PARTIR DE PLAISIR (1974, Claude Chabrol) เพราะหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอความไม่จริงใจของผู้ชายที่มีต่อพฤติกรรมฟรีเซ็กส์เหมือนกัน เพราะผู้ชายในเรื่องนี้ปากก็บอกว่าสนับสนุนฟรีเซ็กส์ แต่พอเมียตัวเองไปมีอะไรกับคนอื่นๆ ตัวสามีก็เกิดหึงหวงขึ้นมา
 
4.2 TROPICAL PRUTITUS SYNDROME (2013, Teerath Whangvisarn)  เพราะนางเอกของหนังสองเรื่องนี้ ได้สาธยายความคิดของตัวเองต่อหน้ากล้องเหมือนกัน และมีลักษณะเป็นขบถต่อสังคมเหมือนกัน
 
5.Chidapa Bangnachad กลายเป็นนางเอกหนังอินดี้ที่น่าจับตามองไปแล้ว เพราะคุณ Chidapa เคยเล่นหนังเรื่อง A POSTERIORI (2012, Kasiti Sangkul, A+30) และก็รับบทที่เฮี้ยนสุดๆเหมือนกันในหนังเรื่องนั้น
 
6.สไตล์ของ STOCKHOLM! เก๋ไก๋มาก นอกจากมันจะทำให้นึกถึงหนังของ Jean-Luc Godard แล้ว มันยังทำให้นึกถึงหนังญี่ปุ่นยุค 1960 อย่างหนังของ Seijun Suzuki ด้วย นอกจากนี้ การ jump cut แบบรุนแรงในหนังเรื่องนี้ ยังทำให้นึกถึงหนังเรื่อง BOILING POINT (1990, Takeshi Kitano) และ KISS OR KILL (1997, Bill Bennett, Australia) ด้วย
 
สรุปว่าชอบ STOCKHOLM! มากๆ ถึงแม้ว่าเราจะไม่เข้าใจหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับองค์ประกอบต่างๆที่ผิดที่ผิดทางไปจากหนังทั่วๆไป และทำให้เราตั้งคำถามหลายคำถามกับตัวเรา อย่างเช่นคำถามที่ว่า “การเห็นด้วยกับรัฐประหารถือเป็น stockholm syndrome หรือเปล่า”, “สื่อต่างๆในไทยมีส่วนหล่อหลอมเราให้มองคนชั่วเป็นดีหรือเปล่า” , “ทำไมคนบางคนถึงชอบหลงผิดว่าตัวเองทำความดี ทั้งที่จริงๆแล้วมันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นๆ” และเราก็ได้ข้อคิดอีกด้วยว่า “เมื่อเราเห็นคนที่ดูเหมือนอ่อนแอ เราควรจะระวังตัวให้ดี เพราะเขาอาจจะไม่ได้อ่อนแออย่างที่เราคิด” 555
 

No comments: