Tuesday, October 20, 2015

CRIMSON PEAK (2015, Guillermo del Toro, A+30)

CRIMSON PEAK (2015, Guillermo del Toro, A+30)

ตอนที่ดูจะนึกถึงหนังหลายๆเรื่อง ตั้งแต่ THE PRINCE AND ME (2004, Martha Coolidge), COSMOPOLIS (2012, David Cronenberg), ข้างหลังภาพ และขมิ้นกับปูน เพราะหนังหรือนิยายกลุ่มนี้มันมีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “ศักดินากับ เศรษฐีใหม่หรือ ชนชั้นกลางเหมือนๆกัน โดยใน THE PRINCE AND ME, COSMOPOLIS และข้างหลังภาพนั้น ความสัมพันธ์จะดำเนินไปในทางบวก อย่างเช่นใน COSMOPOLIS พระเอกที่เป็นเศรษฐีใหม่ได้แต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นเหมือนชนชั้นศักดินาจากยุโรป และพอพระเอกมีท่าทีจะล้มละลาย ตัวภรรยาก็บอกว่าเธอสามารถให้เงินช่วยเหลือพระเอกได้ แต่ต้องหย่ากัน อะไรทำนองนี้ แต่สิ่งที่เราชอบมากๆใน CRIMSON PEAK ก็คือว่า ความสัมพันธ์ระหว่างศักดินากับเศรษฐีใหม่ในหนังเรื่องนี้ ดูเหมือนจะเป็นไปในทางปฏิปักษ์ต่อกันอย่างรุนแรงมากๆ และหนังนำเสนอการล่มสลายของชนชั้นศักดินาได้ในแบบที่สะใจเราอย่างสุดๆ ถึงแม้หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจเช่นนั้นก็ตาม

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ตอนแรกที่ดูจะนึกถึงนิยายของจินตวีร์ วิวัธน์ และหนังแนว gothic horror อย่าง THE WOMAN IN BLACK 2: ANGEL OF DEATH (2014, Tom Harper, A+30) เพราะมันใช้ setting คล้ายๆกัน 

2.แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หนังส่งสัญญาณในช่วงต้นเรื่องว่า

2.1 นางเอกเขียนนิยายที่มีผี แต่เธอย้ำว่า ผีไม่สำคัญในนิยายของเธอ ผีเป็นแค่ metaphor ถึงอดีตเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้มันสะท้อนตัวหนังเรื่องนี้ด้วย เพราะผีในหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีบทบาทเป็นตัวร้ายหลักของเรื่องเหมือนอย่างหนัง gothic horror เรื่องอื่นๆ

2.2 นางเอกแสดงท่าทีเหมือนเกลียดชังชนชั้นศักดินาในช่วงต้นเรื่อง โดยเธอแสดงความเห็นว่าพวกศักดินาเก่าในยุโรปเป็นพวกเอารัดเอาเปรียบคนจน ซึ่งบทสนทนาแบบนี้มันฟังแล้วสะดุดหูมากๆ เพราะมันไม่ค่อยเจอในหนัง/นิยาย gothic horror เรื่องอื่นๆ และอะไรที่มัน โดดขึ้นมาจากสิ่งที่พบเห็นได้ตามปกติใน genre ของมันนี่แหละ ที่มันมักจะสะท้อนสิ่งที่น่าสนใจมากๆในตัวหนังเรื่องนั้น 

และหนังก็แสดงให้เห็นว่า พอนางเอกทรยศต่ออุดมการณ์ เกลียดชนชั้นศักดินาเก่าของตนเองในช่วงต้นเรื่อง นางเอกก็ได้รับบทลงโทษอย่างไรบ้างในเวลาต่อมา

2.3 นางเอกแสดงท่าทีไม่ค่อยชอบนิยายของ Jane Austen ในช่วงต้นเรื่องด้วย ซึ่งก็น่าสนใจดี เพราะเนื้อเรื่องแบบ CRIMSON PEAK มันเหมือนเป็นการพลิกตลบเนื้อเรื่องทำนอง PRIDE AND PREJUDICE ที่นางเอกได้พบรักกับหนุ่มผู้ดีเก่า และ สามารถประนีประนอมกับผู้ดีเก่าได้ในที่สุดซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยดังกล่าวทำให้เราไม่ได้ชอบนิยายของJane Austen มากนัก

3.ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนสายเลือดเดียวกันในหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้นึกถึงพวกราชวงศ์ยุคเก่าที่มีการแต่งงานกันระหว่างพี่น้องหรือภายในเครือญาติเดียวกันเองด้วย 

4.เราไม่เห็นคนงานเหมืองในหนังเรื่องนี้ แต่สีแดงที่ซึมขึ้นมาจากพื้นดินใต้บ้านของศักดินาเก่า ก็ทำให้เรานึกถึงอะไรพวกนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ

5.สิ่งที่สะใจมากๆในตอนจบของหนังเรื่องนี้ ก็คือการใช้ พลั่วเป็นอาวุธสังหารในท้ายที่สุด เพราะพลั่วมันทำให้นึกถึงชนชั้นแรงงาน นึกถึงมือที่หยาบกร้านของชนชั้นแรงงานที่ต้องใช้พลั่วขุดดิน (ซึ่งแตกต่างจากมืออันอ่อนนุ่มของโธมัส ชาร์ปในช่วงต้นเรื่อง) 

จริงๆแล้ว CRIMSON PEAK อาจจะไม่ได้ตั้งใจพูดเรื่องชนชั้นศักดินา-เศรษฐีใหม่ก็ได้นะ แต่มันทำให้เรานึกถึงโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจน่ะ 

6.ตอนเด็กๆเราประหลาดใจมากๆว่าทำไมหลายๆคนถึงชอบละครทีวีเรื่อง บ้านทรายทองทั้งๆที่เราดูแล้วไม่ชอบเลย แต่พอเราโตขึ้น แล้วเราได้ดูหนังอย่าง LA CEREMONIE (1995, Claude Chabrol) และ CRIMSON PEAK มันก็เลยทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเราไม่ชอบละครทีวีเรื่อง บ้านทรายทองเพราะมันดูแล้วไม่สะใจน่ะ ถ้า บ้านทรายทองมันจะสะใจเรา มันก็ต้องจบแบบ LA CEREMONIE หรือ CRIMSON PEAK นี่แหละ

No comments: