Thursday, October 08, 2015

ANNA BOLEYN (1920, Ernst Lubitsch, Germany, A+30)

ANNA BOLEYN (1920, Ernst Lubitsch, Germany, A+30)

--อันนี้เป็นหนังเรื่องที่ 4 ของ Lubitsch ที่ได้ดู และทำให้เราแน่ใจว่า Lubitsch เป็นผู้กำกับที่ถูกโฉลกกับเราจริงๆ ส่วนอีก 3 เรื่องที่เราเคยดูคือ I DON’T WANT TO BE A MAN (1918, A+10), THE DOLL (1919) และ THE OYSTER PRINCESS (1919, A+30) ซึ่งหนัง 3 เรื่องนั้นเป็นหนังที่เล่าเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แต่ ANNA BOLEYN เป็นหนังที่เล่าเรื่องที่เรารู้ดีอยู่แล้ว เพราะเรารู้ดีอยู่แล้วก่อนจะดูหนังว่าชีวิตของแอนน์ โบลีย์นมันจะลงเอยยังไง ซึ่งหนังที่เล่าเรื่องที่ผู้ชมรู้ดีอยู่แล้วนี้ มันง่ายมากๆที่จะออกมาน่าเบื่อ แต่ปรากฏว่าเรากลับดูหนังเรื่องนี้อย่างเพลิดเพลินมากๆในเกือบทุกๆฉากทุกๆตอน ทั้งๆที่เรารู้ล่วงหน้าว่าเนื้อเรื่องมันจะเป็นยังไงต่อไป เพราะฉะนั้นเราก็เลยแน่ใจว่า Ernst Lubitsch เป็นผู้กำกับที่มีอะไรบางอย่างที่ถูกโฉลกกับเราจริงๆ เพราะความเพลิดเพลินของเราที่ได้จากหนังเรื่องนี้ มันไม่ขึ้นอยู่กับเนื้อเรื่อง แต่มันขึ้นอยู่กับการกำกับ, วิธีถ่ายทอดเรื่องราว, ลักษณะการสร้างตัวละครหญิง และอะไรต่างๆนานาที่แสดงให้เห็นว่า Lubitsch มี wavelength ที่ตรงกับเรามากๆ

--บางทีปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราถูกโฉลกกับ Lubitsch อาจจะเป็นเพราะตัวละครหญิงของเขามีอะไรบางอย่างที่เข้าทางเรามากๆ คือตัวละครหญิงใน I DON’T WANT TO BE A MAN นี่มันจิ๋มกะหล่ำมากๆ ส่วนตัวละคร Anna Boleyn ในเรื่องนี้ก็แข็งแกร่งมากๆ แต่ไม่ใช่แข็งแกร่งทางร่างกายหรือจิตใจเหี้ยมหาญอะไรทำนองนี้นะ แต่มันเหมือนกับว่าเธอมีแก่นแท้อะไรบางอย่างในตัวเธอที่มัน “แข็ง” พอสมควรน่ะ เราก็เลยชอบตัวละครหญิงในหนังเรื่องนี้มากๆ

--ถ้าเข้าใจไม่ผิด เหมือนหลายคนจะมองว่า Lubitsch ถนัดทำหนัง romantic comedy และจริงๆแล้วเขาไม่ได้ถนัดทำหนัง period drama แบบนี้ แต่พอเราได้ดูจริงๆ เรากลับพบว่า ANNA BOLEYN มันดีมากๆเลย หรือจริงๆแล้วอาจจะเป็นเพราะว่าตัวเราไม่ได้ชอบเนื้อหาแบบ romantic comedy ก็ได้มั้ง แต่เราชอบเรื่องราวเกี่ยวกับ “ความอยุติธรรม” และ ANNA BOLEYN นี่มันก็สะท้อนความเลวทรามต่ำช้าของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอังกฤษยุคนั้นออกมาได้อย่างทรงพลังมากๆ

--ตัว Anna Boleyn ในช่วงท้ายหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึง THE PASSION OF JOAN OF ARC (1928, Carl Dreyer) และเนื้อหาการตบกันของสตรีในราชสำนักในหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้นึกถึงละครทีวีเรื่อง “เพลิงพระนาง” ด้วย

--เห็นนักวิจารณ์บอกว่า Ernst Lubitsch เป็นผู้กำกับที่ให้ความสำคัญกับ “ประตู” มากเป็นพิเศษ และพอเราสังเกตดู เราก็พบว่ามัน “จริง” เพราะในหนังเรื่องนี้ ตัวละครมักจะเดินเข้าออกประตูเป็นประจำ และการเข้าออกประตูแต่ละครั้ง มันมักจะมาพร้อมกับการเดินหน้าของพล็อตเรื่องไปเรื่อยๆ

--หนังของ Ernst Lubitsch หลายเรื่อง มีให้ดูใน Youtube ถ้าใครว่างและสนใจ ก็เชิญหาชมกันได้ใน Youtube นะจ๊ะ


--ส่วน ANNA BOLEYN นี้ จะฉายที่ห้องสมุดธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันอาทิตย์ที่ 11 ต.ค. เวลา 14.30 น.จ้ะ

No comments: