Thursday, October 29, 2015

SICKPACKERS (2015, Nattapol Waiprib, A+20)

SICKPACKERS (2015, Nattapol Waiprib, A+20)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ดูจบแล้วก็ไม่แน่ใจว่าหนังต้องการจะสื่ออะไรนะ แต่ชอบที่หนังมัน “ไม่ง่าย” ดี คือรู้สึกว่าผู้กำกับต้องใจแข็งพอประมาณ ถึงจะทำหนังที่กระตุ้นความคิด หรือเซอร์เรียลหน่อยๆแบบนี้ออกมาได้ คือเราคิดว่านักศึกษามหาลัยส่วนใหญ่ เวลาเขากำกับหนัง เขาก็อาจจะเลือกทำหนังที่ส่งสารง่ายๆกับผู้ชม, ตีความได้ง่าย หรือเน้นสร้างอารมณ์สนุกสนานเฮฮากับผู้ชมที่เป็นเพื่อนนักศึกษามหาลัยด้วยกันเป็นหลักน่ะ หรือไม่ก็ทำหนังที่จะปูทางไปสู่การทำงานสร้างภาพยนตร์บันเทิงกระแสหลักในอนาคตต่อไป แต่เราว่าหนังเรื่องนี้มันดูมีความทะเยอทะยานจะสร้างอะไรที่ไม่ “เอาใจผู้ชมส่วนใหญ่” ในระดับนึง มันเหมือนกับว่าผู้สร้างหนังต้องใช้ความคิดในระดับนึง มันถึงจะออกมาเป็นหนังเรื่องนี้ได้ และหนังก็กระตุ้นให้ผู้ชมใช้ความคิดมากๆตามไปด้วย ว่าจริงๆแล้วมันเกิดอะไรขึ้นในหนัง สิ่งต่างๆในเรื่องจริงๆแล้วมันคืออะไรกันแน่

2.ซึ่งแน่นอนว่าการที่ผู้ชมแต่ละคนตีความผิดหรือเข้าใจหนังผิด ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใดในสายตาของเรา สิ่งสำคัญคือการกระตุ้นให้ผู้ชมใช้ความคิดต่างหาก และเราว่าหนังเรื่องนี้มันดูเปิดกว้างดีในระดับนึง เพราะเราเองก็ดูแล้วไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหนังจะสื่อถึงอะไร

3.แล้วเวลาเราดูหนังเรื่องนี้ เราคิดถึงอะไรโดยที่หนังอาจจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจทำให้เราคิดถึงบ้าง สิ่งที่เราคิดถึงก็คือเรื่องของความต้องการจะหลีกหนีจากชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อหน่ายน่ะ คือเรามองว่าตัวละครอาจจะเป็นคนที่เบื่อหน่ายชีวิตประจำวันมากๆ และมันสะท้อนออกมาในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง เราว่าสภาพความเป็นอยู่ของเขาในโรงพยาบาลโรคจิต ที่ดูซึมกระทือมากๆ ดูไม่เป็นมิตรกับคนรอบข้างมากๆ (ยกเว้นกับเพื่อนสนิทเพียงคนเดียว) และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ก็มีเพียงแค่ดาดฟ้าธรรมดาๆท่ามกลางตึกรามมากมาย มันทำให้เราคิดถึงชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อหน่ายน่ะ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของนักศึกษาที่อาจจะไม่มีความสุขกับการเรียน หรือชีวิตของพนักงานออฟฟิศที่อาจจะทำงานไปเรื่อยๆเพียงเพื่อแค่ให้ตัวเองมีเงินเลี้ยงชีพเท่านั้น

การที่ตัวละคร “หนี” ไปเที่ยวในช่วงต้นเรื่อง มันก็เลยทำให้เรานึกถึงการหลีกหนีจากสภาพความเป็นจริงอันน่าเบื่อหน่ายเพียงชั่วครู่ชั่วยามน่ะ ซึ่งคนทั่วๆไปมักจะทำด้วยการไปเที่ยวทะเล, ภูเขากับเพื่อนๆ (ส่วนเราคือการหยุดงานเพื่อดูหนังในเทศกาลหนัง) มันคือการตัด “ความรับผิดชอบ” และความกังวลต่างๆในชีวิต หรือความน่าเบื่อหน่ายของชีวิตจริงไปชั่วขณะหนึ่ง แต่แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถลางานได้ตลอดไป หรือหยุดงานได้ตลอดไป พอถึงกำหนด พวกเราก็ต้องกลับมาทำงานประจำอันน่าเบื่อหน่ายในเมืองใหญ่ต่อไป

ส่วนเรื่องกุญแจมือนั้น มันทำให้เรานึกถึงความสัมพันธ์ขณะไปเที่ยวกับเพื่อนๆด้วยนะ คือบางทีมันก็รำคาญกัน อึดอัดกัน ไม่พอใจกัน อย่างเช่น อีเพื่อนบางคนอยากจะเดินช้อปปิ้งสักชั่วโมงนึง แล้วเราก็ต้องเดินตามมันไปด้วย ทั้งๆที่กูไม่ได้อยากจะช้อปปิ้งด้วยเลย อะไรทำนองนี้ แต่ถ้าหากเพื่อนที่ไปเที่ยวด้วยกัน สามารถรักษาระยะห่างกันได้เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ การไปเที่ยวก็จะราบรื่นมากขึ้น

แน่นอนว่าสิ่งต่างๆข้างต้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่หนังต้องการจะสื่อ แต่มันเป็นสิ่งที่เราคิดขึ้นมาเองขณะดูหนังเรื่องนี้ และถึงแม้เราจะตีความผิด หรือเข้าใจหนังผิด แต่เราก็ happy แล้วที่เราได้ใช้ความคิดกับหนังเรื่องนี้ และความที่เราไม่แน่ใจว่าหนังมันต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ ก็ทำให้หนังมันค้างคาใจเราได้นานขึ้นด้วย 555

ความรู้สึกของเราข้างต้นที่มีต่อหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงบทกลอน BIRCHES ของ Robert Frost ด้วยนะ มันเป็นบทกลอนของคนที่เห็นต้นเบิร์ช แล้วก็อยากจะปีนต้นเบิร์ชเล่น โหนต้นเบิร์ชเล่นแบบเด็กๆ ไต่ขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงสวรรค์ เพื่อจะได้หลีกหนีจากโลก, จากความเป็นจริง, จากความกังวลมากมาย, จากเส้นทางชีวิตที่มาถึงทางตัน, จากการร้องไห้, จากบาดแผลในชีวิต มันเป็นความรู้สึกของคนที่อยากจะหนีจากโลกไปสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับลงมาสู่โลกอีกครั้งเพื่อสู้ชีวิตต่อไป

อ่านบทกลอน BIRCHES ได้ที่นี่นะ

4.ชอบฉากที่ถ่ายด้านหลังตัวละครสองคน ทั้งที่บนกระท่อมและที่ดาดฟ้า และก็ชอบฉากที่ตั้งกล้องนิ่งถ่ายตัวละครนั่งกันในโรงพยาบาลด้วย ฉากจูบก็ชอบมาก 555

5.ฉากจบก็คลาสสิคมาก ชอบมาก เราเดาว่ามันเป็นการฟรีซภาพนะ เพราะก้อนเมฆไม่ขยับเลย ซึ่งในความเป็นจริงก้อนเมฆมันต้องขยับใช่ไหม เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าฉากนี้จะสื่อถึงอะไร แต่เราว่ามันทรงพลังดี ที่แช่ภาพก้อนเมฆกับเสาสัญญาณอะไรสักอย่างอย่างเนิ่นนานขณะนั้น ภาพในฉากนี้มันทำให้เรานึกถึงความน่าเบื่อของชีวิตในเมืองใหญ่ หรือจริงๆแล้วเราก็ไม่แน่ใจว่าหนังเรื่องนี้มันเป็นหนังการเมือง แล้วฉากสุดท้ายมันคือสภาพของการถูกแช่แข็งทางการเมืองหรือเปล่า 555

6.การที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้เล่าเหตุการณ์ตามความเป็นจริง แต่เล่าผ่านทางการเปรียบเปรยถึงอะไรสักอย่างผ่านทางการหนีไปเที่ยวทะเลและสภาพความเป็นอยู่ในโรงพยาบาลโรคจิต มันแสดงให้เห็นว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้มีการใช้ความคิดอะไรบางอย่างอย่างดีพอสมควรในการคิดสร้างสถานการณ์เซอร์เรียลแบบนี้ออกมาน่ะ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหนังต้องการจะสื่ออะไร แต่ก็อย่างที่เราเขียนไปข้างต้นแหละว่า มันทำให้เรานึกถึง “สภาพจิต” ของคนที่ต้องการหลีกหนีจากความน่าเบื่อหน่ายในชีวิตประจำวันน่ะ

แล้วมันทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องอะไรอื่นๆอีกบ้างที่ทำให้เรารู้สึกคล้ายๆกัน หนังที่เรานึกถึงก็คือเรื่อง THE ECLIPSE (1962, Michelangelo Antonioni) กับ RED DESERT (1964, Michelangelo Antonioni) น่ะ ในแง่การสะท้อนสภาพจิตของตัวละคร ผ่านทาง landscape และสภาพแวดล้อมของตัวละครเหมือนกัน คือในหนังกลุ่มนี้สภาพจิต,อารมณ์, ความรู้สึกของตัวละครจะไม่ได้ถูกสื่อสารออกมาผ่านทางบทสนทนา หรือผ่านทางการแสดงออกโดยตรง แต่มันจะถูกสื่อออกมาผ่านทางสภาพแวดล้อมและ landscape ซึ่งหนังเรื่อง SICKPACKERS ทำให้เรานึกถึงจุดนี้เหมือนกัน ทั้งสภาพแวดล้อมที่ชายทะเล, โรงพยาบาล และดาดฟ้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้ง real landscape และ emotional landscape เหมือนกับหนังบางเรื่องของ Antonioni


7.สรุปว่าชอบหนังเรื่องนี้มากพอสมควร เราว่าในแง่เทคนิคและการแสดง หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่ในแง่การใช้ความคิดและการเลือกใช้วิธีการที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อยในการสื่อสาร เราว่ามันน่าสนใจมาก 

No comments: