Monday, December 11, 2017

SUPERBUG (2017, Wachara Kanha, 22min, A+30)

SUPERBUG (2017, Wachara Kanha, 22min, A+30)

1.วชรยังคงเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่เราชอบมากที่สุดเหมือนเดิม เพราะเขาเป็นคนทำหนังแนวกวีที่ดูเหมือนจะมีคนไทยทำน้อยมาก และเขาก็ทำออกมาได้ดีมากๆด้วยในสายตาของเรา

หนังเรื่องนี้ของวชรเป็นการนำภาพสามัญธรรมดามากมายที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน มาเรียงร้อยเข้าด้วยกันได้อย่างงดงาม โดยมีเสียง voiceover เป็นการอ่านบทกวี (หรือบทรำพึงรำพัน) ของรอนฝัน ตะวันเศร้า โดยตัวบทกวีจะพูดถึงการรอคอยนาน 10 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 9 เดือน 9 จนถึงวันที่ 19 เดือน 9 ก่อนที่จะพบว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับความหมายของหนังเรื่องนี้ในความเห็นของเรานั้น เราขอไม่เขียนถึงนะ คิดว่าผู้ชมแต่ละคนควรจะตีความด้วยตัวเองจะดีกว่า
                                                   
เราชอบการเรียงร้อยภาพธรรมดาสามัญที่ไม่เกี่ยวข้องกันแบบนี้เข้าด้วยกันมากๆ เราว่ามีผู้กำกับหนังไทยเพียงไม่กี่คนที่ทำแบบนี้ได้ คือผู้กำกับหนังไทยที่ทำแบบนี้ได้เท่าที่เราเคยดูก็มีแค่ Teeranit Siangsanoh, Arnont Nongyao, Tanatchai Bandasak, Jutha Saovabha, Tanakit Kitsanayanyong และก็อาจจะมีอีกไม่กี่คนที่เรายังนึกชื่อไม่ออกในตอนนี้น่ะ คือเราว่าประเทศไทยขาดแคลนผู้กำกับหนังแนวนี้มากๆ (แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้นะ เพราะการทำหนังแนวนี้ไม่สามารถทำเงินได้น่ะ มันไม่ใช่หนังที่สามารถแปรมูลค่าเป็นตัวเงินได้)

ในส่วนของตัวภาพนั้น เราได้เห็นภาพของกองดิน, หน้าต่างหอศิลป์กทม., พุ่มไม้ในซอกตึก, ผ้าม่าน, คนจำนวนมากยืนนิ่งก่อนที่จะนั่งลง, วชรนั่งอยู่เฉยๆ, การเผาหญ้า, ปูว่ายน้ำ, เด็กชาวเขา, เด็กนักเรียนประถมในชนบท, ถังแดง, เด็กมุสลิม, งานศพ, ฯลฯ ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่เราดูหลายรอบได้ไม่เบื่อ คือมันไม่ได้เป็นภาพที่งดงามแบบสุดๆ หรือเป็นภาพที่ freeze แล้วจะเหมือน painting แต่มันเป็นภาพที่ “มีความเป็นอิสระ” และ “มีความเป็นธรรมชาติ” อยู่ในตัวมันน่ะ มันเหมือนเป็นภาพที่ไม่ได้ถูกครอบไว้ด้วยความหมายที่ชัดเจน แล้วถ้าหากเราตีความความหมายของภาพออก เราก็จะเข้าใจสารทั้งหมด คือเราว่าภาพที่เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายในหนังบางเรื่อง มันจะหมดรสชาติ หรือหมดคุณค่าไป เมื่อเราเข้าใจมันน่ะ คือพอเราเข้าใจมันแล้ว มันก็เหมือนภาพนั้นเป็นกล่องนมที่เราดูดนมออกไปหมดแล้ว เราได้รับทุกอย่างจากมันไปแล้ว แล้วมันก็หมดคุณค่าไป แต่ภาพในหนังของวชร และ Teeranit มันเหมือนยังมีความเป็นอิสระและความมีชีวิตอยู่ในตัวมันด้วย คือแน่นอนว่าภาพแต่ละภาพหรือซีนบางซีนในหนังของสองคนนี้มันอาจจะมีความหมายแฝงอยู่ แต่ความหมายของภาพหรือความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของภาพมันไม่ได้ครอบภาพไว้ทั้งหมดน่ะ ภาพแต่ละภาพมันยังมีลมหายใจของมันที่มากไปกว่าการเป็นสัญลักษณ์อยู่ด้วย และเราก็ชอบภาพหรือหนังแบบนี้มากๆ เพราะเราไม่ใช่คนที่ชอบตีความสัญลักษณ์ 555

อย่างเช่นภาพเด็กนักเรียนในหนังเรื่องนี้ คือดูภาพเด็กนักเรียนในหนังเรื่องนี้แล้วเราก็ไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่ามันจะสื่อถึงอะไร หรือผู้กำกับต้องการให้เรารู้สึกอย่างไรกับภาพที่เห็น และพอมันเกิดความไม่แน่ใจทางความหมายและอารมณ์แบบนี้ มันก็เลยเกิดความรู้สึกที่ “เป็นอิสระ” ขึ้นมาสำหรับเรา และเราชอบอะไรแบบนี้มากๆ เราจะตีความภาพเด็กนักเรียนนี้อย่างไรก็ได้ หรือเราจะรู้สึกอย่างไรก็ได้ เราอาจจะรู้สึกสิ้นหวังและสงสารเมื่อเห็นภาพเด็กนักเรียนในประเทศที่ล่มสลายแห่งนี้ก็ได้ โดยที่หนังไม่จำเป็นต้องบอกเรา หรือเราอาจจะ enjoy การจับสังเกตปฏิกิริยาของนักเรียนแต่ละคนก็ได้ ซึ่งมันก็อาจจะคล้ายกับการดูหนังเรื่องแรกของโลกอย่าง WORKERS LEAVING THE LUMIERE FACTORY (1895, Louis Lumiere) ที่หนังไม่จำเป็นต้องสื่อว่าชีวิตสาวโรงงานมันดีหรือเลว เราแค่มองภาพคนเดินออกจากโรงงาน โดยไม่ต้องเอาความหมายใดๆไปครอบมันไว้ หรือไปกำหนดว่าเราต้องรู้สึกอย่างไรกับภาพที่เห็น และปล่อยให้ภาพมันมีชีวิตและลมหายใจของมันเอง

2.ตัวบทกวีของรอนฝัน ตะวันเศร้านั้นก็น่าสนใจดี เราว่ามันดีมากๆเลยที่มีการเอาบทกวีมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ได้แบบนี้ ซึ่งเราว่ามันเป็นเรื่องที่ยากมากๆในการดัดแปลงบทกวีออกมาเป็นหนัง

ท่อนที่ชอบมากในบทกวีนี้ก็คือท่อนที่พูดถึง “พื้นที่คุยกับฉัน” และท่อนที่พูดว่า “ความคิด วิเคราะห์ แยกแยะของฉัน และควยอันแสนเศร้าของฉัน ยังคงคุยกับเศษหนังกำพร้าของคณะราษฎร์ เราคุยถึงพุทธศักราช 2475 ที่หายไป”

เราว่าการนำบทกวีมาดัดแปลงเป็นหนัง มันควรทำออกมาเป็นหนังแบบนี้แหละ คือไม่ใช่การสร้างภาพตามที่บทกวีบอกน่ะ เพราะถ้าหนังแค่จำลองภาพตามสิ่งที่บทกวีเขียนถึง แล้วจะทำหนังออกมาทำไม เราแค่อ่านบทกวีแล้วจินตนาการภาพเองก็พอแล้ว แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำก็คือภาพที่เห็นกับเสียง voiceover ที่พูดบทกวีไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันเสมอไป มันคือการสร้างอีก layer นึงซ้อนทับขึ้นมาจากบทกวี และบางทีสมองของผู้ชมก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับทั้งบทกวี, ภาพที่เห็น, ความเชื่อมโยงกันระหว่างภาพแต่ละภาพในหนัง และความเชื่อมโยงกันระหว่างบทกวีกับภาพไปด้วย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ

3.แต่ถ้าหากเทียบกับหนังของวชรและสำนักงานใต้ดินด้วยกันเองแล้ว นี่ก็อาจจะไม่ใช่หนังที่เราชอบมากที่สุดนะ 555 เพราะเราว่าเราชอบ PHENOMENON (2012, Teeranit Siangsanoh), ชิงชัง (2012, Wachara Kanha),  ภาษาที่เธอไม่เข้าใจ (2014, Wachara Kanha) มากกว่าหนังเรื่องนี้น่ะ อันนี้เทียบกันเฉพาะ “หนังที่เป็นการเรียงร้อยภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกัน” เหมือนหนังเรื่องนี้ แต่มันไม่ใช่ว่าหนังเรื่องนี้มีจุดบกพร่องอะไรตรงไหนนะ เพียงแต่ว่า PHENOMENON, ชิงชัง และภาษาที่เธอไม่เข้าใจส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อเราอย่างรุนแรงมากกว่า

ถ้าหากเทียบกับหนังของผู้กำกับคนอื่นๆแล้ว เราชอบหนังเรื่องนี้ในแบบเดียวกับที่เราชอบหนังหลายๆเรื่องของ Taiki Sakpisit, Arnont Nongyao, Eakalak Maleetipawan และ Pathompon Tesprateep น่ะ คือเราว่าผู้กำกับกลุ่มนี้ทำหนังการเมืองแนวกวีเหมือนกัน ซึ่งมันจะต่างจากหนังการเมืองแนวที่ให้ข้อมูลกับผู้ชมอย่างเป็นรูปธรรม อย่างหนังของ Prap Boonpan, Viriyaporn Boonprasert, Ratchapoom Boonbunchachoke คือหนังการเมืองบางเรื่องมันดูมีประเด็นที่เป็นรูปธรรมมากๆสำหรับเรา ในขณะที่หนังของ Apichatpong Weerasethakul + Chulayarnnon Siriphol อาจจะมีความเป็นรูปธรรมครึ่งนึง นามธรรมครึ่งนึง ส่วนหนังของ Wachara Kanha, Teeranit Siangsanoh, Taiki Sakpisit, Arnont Nongyao, Eakalak Maleetipawan, Tanatchai Bandasak, Pathompon Tesprateep จะดูมีความเป็นนามธรรมมากๆสำหรับเรา คือหนังของผู้กำกับกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ให้ข้อมูลใหม่ๆอะไรแก่เราในทางการเมือง (เพราะบางทีข้อมูลเหล่านี้เราควรหาอ่านจากข่าวหรือบทความทางวิชาการอาจจะดีกว่า) แต่มันกระตุ้นความคิด และมันส่งผลกระทบทางอารมณ์ความรู้สึกต่อเราอย่างมากในแบบที่ยากจะอธิบายได้

ใครอยากดูหนังเรื่องนี้ ก็ติดต่อผู้กำกับดูได้นะ เขาอาจจะส่งลิงค์มาให้เข้าไปดู

No comments: