Friday, August 17, 2018

AFTERIMAGE (2016, Andrzej Wajda, Poland, A+30)


AFTERIMAGE (2016, Andrzej Wajda, Poland, A+30)

ดูแล้วสมาธิหลุดเป็นระยะๆ แต่ไม่ใช่เป็นเพราะว่าหนังไม่ดี แต่เป็นเพราะว่าเหตุการณ์ในหนังมันทำให้นึกถึงเมืองไทยตลอดเวลา โดยเฉพาะเมืองไทยในตอนนี้ ซึ่งเป็นยุคที่เราเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างรุนแรงเพื่อความปลอดภัยของชีวิต

ชอบที่จริงๆแล้วชีวิตตัวละครมันหนักหนาสาหัสรุนแรงมาก แต่หนังมันไม่ฟูมฟายเลย มันไม่พยายามบีบคั้นอารมณ์เราให้ร้องไห้เลย คือพระเอกมันขาขาดข้างนึง แขนก็ขาดข้างนึง คือแค่พระเอกใช้ชีวิตประจำวันก็หนักมากๆแล้ว แต่พระเอกยังถูกทางการโปแลนด์ยุคสตาลินกลั่นแกล้งเล่นงานอย่างรุนแรงอีก

รู้สึกว่าหลายๆซีนในหนังนี่ ถ้าหากเป็นผู้กำกับบางคนทำ เขาคงจะใส่ดนตรีเศร้าๆ เร้าอารมณ์หนักๆ เพื่อให้คนดูร้องไห้ หรือเน้นกระตุ้นอารมณ์คนดูให้เกลียดชังตัวละครผู้ร้ายอย่างเต็มที่ แต่ไวดาใจหินมากๆ เพราะเขาไม่ทำแบบนั้นเลย เขาเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวละคร โดยตัดอารมณ์ที่ไม่จำเป็นทิ้งไปเกือบหมด

ดูแล้วก็คิดว่า “อังเดร ไวดา” เป็นผู้กำกับหนังการเมืองที่เราชอบสุดๆคนนึง แต่เขาก็มีความถนัดเฉพาะตัวนะ เพราะหนังการเมืองของเขาที่เราได้ดูส่วนใหญ่ มันต้องอาศัยตัวละครที่มีลักษณะเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรี ที่ต้องเผชิญกับความเลวร้ายอย่างรุนแรงจากระบอบเผด็จการน่ะ เหมือน “พลัง” ในหนังการเมืองหลายเรื่องของเขา มันใช้สูตรเคมีคล้ายๆกัน คือการนำเอาสารเคมีหลักสองตัวที่ตรงข้ามกันมาปะทะกันอย่างรุนแรง และสารเคมีหลักสองตัวนั้นก็คือ protagonist ที่มีความเข้มแข็งกล้าหาญ กับระบอบการปกครองที่กดขี่ประชาชนอย่างเลวร้าย ซึ่งอาจจะรวมถึงหนังเรื่องนี้ และหนังอย่าง MAN OF MARBLE (1977), MAN OF IRON (1981), A LOVE IN GERMANY (1983), DANTON (1981)

แต่การที่เขาชอบทำหนังอะไรแบบนี้ มันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้นะ เพราะเขาคงเติบโตมากับความเลวร้ายของระบอบนี้น่ะ ทั้งในยุคนาซีและยุคคอมมิวนิสต์ ประสบการณ์ชีวิตของเขามันก็เลยหล่อหลอมให้เขาชอบทำหนังแบบนี้

ดูแล้วก็สงสัยว่า บางทีปัญหาการเมืองที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ มันอาจจะส่งผลให้ forms หรือ styles ของผู้กำกับหนังการเมืองในแต่ละประเทศแตกต่างกันไปด้วยหรือเปล่า เหมือนอย่าง Rithy Panh ก็ทำหนังสไตล์นึง, Ken Loach ก็ทำหนังสไตล์นึง, Lav Diaz ก็ทำหนังสไตล์นึง, Jean-Luc Godard ก็ทำหนังสไตล์นึง, Jafar Panahi ก็ทำหนังสไตล์นึง, หนังเชคนิวเวฟก็เป็นอีกสไตล์นึง ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะปัญหาการเมืองของแต่ละประเทศมันไม่เหมือนกัน สไตล์ของหนังก็เลยแตกต่างกันไปด้วยหรือเปล่า

 หรือแม้แต่ในไทยเองนั้น บรรยากาศทางการเมืองที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ก็คงส่งผลกระทบต่อสไตล์ หรือ forms ของหนังการเมืองแต่ละยุคไปด้วย ในบางทศวรรษเราอาจจะมีหนังการเมืองที่ตัวละครถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมา อย่างเช่นหนังของ Prap Boonpan และในบางทศวรรษเราอาจจะมีหนังการเมืองที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ดูแล้วต้องตีความกันเอาเอง เพราะอย่างที่ AFTERIMAGE ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า “การเมือง” กับ “การแสดงออกทางศิลปะ” มันส่งผลกระทบต่อกันอย่างรุนแรงขนาดไหน



No comments: