Monday, August 20, 2018

BNK 48: GIRLS DON'T CRY


BNK 48: GIRLS DON’T CRY (2018, Nawapol Thamrongrattanarit, documentary, A+30)

1.เราคงไม่ต้องเขียนอะไรมาก เพราะแชร์ที่คนอื่นๆเขียนไปแล้ว 9 คน ทั้งของ The Standard, The Momentum, ปราปต์, Pongson Arunsintaweeporn, Pique Knoithi, Jutha Saovabha, Chanchana Khan, Fye Suthmahatayangkun, Kridpuj Dhansandors ชอบมากที่แต่ละคนมีความเห็นที่น่าสนใจหมดเลย ทั้งๆที่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่มีสัญลักษณ์อะไรให้แต่ละคนตีความแตกต่างกันไป มันเป็นหนังที่ตรงไปตรงมาสุดๆแล้ว แต่มันก็กระตุ้นให้ผู้ชมแต่ละคนแสดงความคิดที่แตกต่างกันออกมาได้

เพราะฉะนั้นเราก็จะเน้นเขียนแต่ความรู้สึกส่วนตัวนะ และคงไม่ต้องมาเสียเวลาบรรยายถึงความดีงามมากมายของหนังเรื่องนี้ที่คนอื่นๆได้เขียนไปเยอะแล้ว

สิ่งแรกที่เราอ่านแล้วพบว่า เรามีปฏิกิริยาแตกต่างจากผู้ชมบางคนก็คือว่า เรา “ไม่ได้รู้สึกเศร้า” กับสมาชิก BNK ในหนังเรื่องนี้มากเท่าไหร่น่ะ เพราะอย่างที่เราเขียนไปแล้วว่า เรา “ไม่เชื่อ” คำพูดของใครเลยในหนังเรื่องนี้ เราแค่รับฟังว่าใครพูดอะไร แต่เราจะไม่ลงความเห็นแต่อย่างใดทั้งสิ้นว่าเขาพูดออกมาจากใจจริงหรือเปล่า คือเราไม่ได้ตัดสินว่าใครพูดเท็จหรือตอแหลนะ เรามองแค่ว่ามันมีความเป็นไปได้ทั้งสองทางว่าแต่ละคนอาจจะพูดจริงหรือไม่ก็ได้ และเรายอมรับความเป็นไปได้ของทั้งสองสิ่งนี้ และจะไม่ลงความเห็นว่าใครพูดจริงหรือเท็จ ใคร fake หรือ sincere

คือพอเราแค่ “รับฟัง” แต่ไม่ปักใจเชื่อใคร โดยเฉพาะการร้องไห้ของแต่ละคนที่ไม่รู้ว่าเศร้าจริงหรือเป็น “การแสดง” (แบบสุเทพ เทือกสุบรรณ) อารมณ์ของเรามันก็เลยไม่ได้ไหลไปตาม subjects น่ะ เราจะตั้งคำถามตลอดเวลาว่า เขาน่าสงสารจริง หรือเขาสร้างภาพลักษณ์ว่าน่าสงสาร

สาเหตุหนึ่งที่เรารู้สึกแบบนี้เป็นเพราะว่าเราไม่เคยติดตามสมาชิกวงนี้และแทบไม่เคยมีความรู้ใดๆเกี่ยวกับวงนี้มาก่อนเลย เพราะเรามองวงนี้มาตลอดว่ามันเป็นสินค้าที่ผลิตมาเพื่อคนอื่นๆ ไม่ได้ผลิตมาเพื่อเรา เราก็เลยไม่คิดจะเสียเวลาทำความรู้จักอะไรกับวงนี้ เราเพิ่งได้รู้จักสมาชิกหลายคนในวงนี้ก็จากหนังเรื่องนี้นี่แหละ (ครั้งแรกที่เรารู้จัก อร ก็จากหนังเรื่อง APP WAR 555) เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่คิดที่จะปักใจเชื่อคำพูดของใครจากการได้ฟังเขาพูดเพียงแค่ 2 ชั่วโมง ประสบการณ์ของเราสอนเราว่า เพื่อนสนิทบางคนที่เรารู้จักมักคุ้นสนิทสนมกันมา 9 ปี ยังทรยศเราอย่างรุนแรงและคาดไม่ถึงได้เลย และขนาดคนที่เราสนิทที่สุดมา 9 ปียังทรยศเรา โกหกเราได้ แล้วเราจะเชื่อคำพูดของคนที่เราไม่รู้จักได้อย่างไร

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่ปักใจเชื่อใคร เป็นเพราะว่า “ความรู้สึกของผู้ชม” มันกลายเป็นสิ่งที่มี “มูลค่า” สำหรับสมาชิกวงนี้น่ะ คือการทำตัวน่าสงสาร หรือการพูดจาในแบบใดก็ตามที่ทำให้ตัวเองดูดี มันก็ช่วยเพิ่มความนิยมให้กับตัวผู้พูดได้ และมันส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในฐานะสมาชิกวงนี้ได้ เพราะฉะนั้นเราก็เลย treat สมาชิกวงนี้ในแบบที่ไม่เหมือน subjects ของหนังสารคดีเรื่องอื่นๆ เพราะ subjects ของหนังสารคดีเรื่องอื่นๆมันไม่ต้องพึ่งพา “ความชื่นชอบของผู้ชม” มากเท่ากับ subjects ของหนังสารคดีเรื่องนี้น่ะ

คือจริงๆตอนดูหนังเรื่องนี้ หนังที่ผุดขึ้นมาเปรียบเทียบกันในหัวเราตลอดเวลาคือ THE CHAMPIONS (2003, Christoph Huebner) ซึ่งเป็นหนังสารคดีที่ติดตามชีวิตนักฟุตบอลหนุ่มๆในเยอรมนีเป็นเวลาราว 4 ปี ถ้าจำไม่ผิด ซึ่งหนุ่มๆกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการเป็นตัวสำรอง และทุกคนก็ใฝ่ฝันที่จะพัฒนาฝีมือจนได้รับเลือกให้เป็นตัวจริงของทีม

แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนถึงตอนท้ายของ THE CHAMPIONS เราก็แทบร้องไห้ มันเศร้าสุดๆที่พบว่า ถึงเวลาจะผ่านมาหลายปีแล้ว พวกเขาหลายคนก็ยังคงเป็นได้แค่ “ตัวสำรอง” เหมือนเดิม หนุ่มๆหลายคนปรากฏตัวในช่วงแรกของหนังเรื่องนี้ด้วยดวงตาที่เป็นประกายสดใส เปี่ยมด้วยความหวัง ความฮึกเหิม ความใฝ่ฝันถึงความสำเร็จของชีวิต แต่หนุ่มๆหลายๆคนก็ปรากฏตัวในตอนท้ายของหนังสารคดีเรื่องนี้ ด้วยดวงตาที่ “ไม่มีความหวังใดๆหลงเหลืออยู่ในประกายตาของพวกเขาอีกต่อไป” พวกเขาต้องทำใจยอมรับความจริงของชีวิตว่าพวกเขาเป็นได้แค่ตัวสำรองเท่านั้น และคงต้องลำบากในการแสวงหาทางเลือกใหม่ให้กับการดำรงชีวิตต่อไป ชีวิตมันคือความทุกข์จริงๆ

คือตอนดู GIRLS DON’T CRY เราจะนึกถึง THE CHAMPIONS มากๆ แต่เราเศร้ากับหนุ่มๆเยอรมันใน THE CHAMPIONS มากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าพวกเขาคงไม่มา “แสดง” ต่อหน้ากล้องว่า กูไม่เก่งพอ กูเลยแทบไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นตัวจริงเลยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพราะการแสดงต่อหน้ากล้องแบบนั้นมันคงไม่น่าจะช่วยสร้าง “มูลค่า” ให้กับตัวพวกเขาสักเท่าไหร่

ในขณะที่ subjects ของ GIRLS DON’T CRY นั้น มันต้องพึ่งพาความนิยมจากประชาชนเป็นหลักน่ะ ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อพวกเธอมันกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าโดยตรงสำหรับพวกเธอ (อาจจะไม่ต่างจากนักการเมือง) เพราะฉะนั้น “ภาพลักษณ์” ที่แต่ละคนแสดงออกมา มันก็เลยมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็น “ภาพลักษณ์ที่ปั้นแต่งมาดีแล้ว” ทั้งภาพลักษณ์สวย, สง่า, ผู้ดี, น่ารัก, ใสๆ, โก๊ะๆ, น่าสงสาร, ใจดี, เกรี้ยวกราด, ใจสู้ ฯลฯ  ความรู้สึกของเราก็เลยถอยห่างออกจากตัว subjects ของหนังโดยอัตโนมัติ และคิดว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อใครในทันทีจะดีกว่าว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นออกมาจากใจจริง หรือ
เป็น “ภาพลักษณ์” ที่เขาพยายามสร้างขึ้นมา

ในแง่นึงเราก็เลย treat subjects ของหนังเรื่องนี้เหมือน subjects ในหนังสารคดีเกี่ยวกับคดีความทางกฎหมาย 555 อย่างเช่น  CAPTURING THE FRIEDMANS (2003, Andrew Jarecki), BROTHER’S KEEPER (1992, Jo Berlinger, Bruce Sinofsky) และ FAKE (2016, Tatsuya Mori) คือเราจะมองว่า subjects ในหนังเหล่านี้เป็นคนที่ “น่าสงสาร” มากๆ หรือบางทีเขาอาจจะไม่น่าสงสารจริงก็ได้ บางทีเขาอาจจะผิดจริงก็ได้ เราจะไม่เชื่อสิ่งที่เขาพูด 100% เต็ม อะไรทำนองนี้

2.หนังอีกกลุ่มที่เราคิดถึงมากๆตอนดู GIRLS DON’T CRY ก็คือหนังสารคดีที่กำกับโดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครน่ะ เพราะนักศึกษามหาลัยนี้ชอบทำหนังสารคดีเกี่ยวกับผู้หญิงที่ทำอาชีพที่ต้องใช้ความสวย ทั้งพริตตี้, นางแบบ, นักแสดง, นักร้องงานเลี้ยง และหนังสารคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการประกอบอาชีพที่ต้องใช้ความสวยเหล่านี้ จริงๆแล้วมันยากลำบากและมันหนักหนาสาหัส เลือดตาแทบกระเด็นมากเพียงใด

หนังสารคดีในกลุ่มนี้ก็มีเช่น MATOOM (2011, Benjamas Rattanaphech), ARISARA (2013, Charttakarn Wedchagit), NUDE DOCUMENTARY FILM (2014, Pimploy Sudlar), CHERRY (2016, Kantima Sirichusub) และ PARTY SINGER นักร้องงานเลี้ยง (2015, Thunwa Singkru)

แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า หนังสารคดีกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วกำกับโดย “เพื่อนสนิท” ของตัว subjects เองน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยจะเหมือนเชื่อคำพูดของตัว subjects ในหนังได้ง่ายกว่า เพราะ subjects เหมือนไม่ได้คุยกับผู้ชม แต่คุยกับเพื่อนสนิทที่อยู่หลังกล้อง

และอีกสิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า subjects ในหนังสารคดีกลุ่มนี้ ใช้แค่ความสวยของรูปร่างหน้าตาเป็นหลักในการทำอาชีพน่ะ (ยกเว้น “นักร้องงานเลี้ยง”) แต่ไม่ต้องใช้ “บุคลิก” หรือตัวตนข้างในในการสร้างมูลค่าให้ตัวเองมากนัก เพราะฉะนั้นถึงแม้ subjects ของหนังสารคดีกลุ่มนี้จะมีความใกล้เคียงกับ subjects ของ GIRLS DON’T CRY แต่ subjects ของหนังสารคดีกลุ่มนี้ก็ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องสร้าง “ภาพลักษณ์” ใดๆขึ้นมาต่อหน้ากล้องน่ะ เราก็เลยปักใจเชื่อคำพูดของ subjects ในหนังสารคดีกลุ่มนี้ได้ง่ายกว่า GIRLS DON’T CRY

3.แต่ถึงแม้เราจะไม่ปักใจเชื่อว่าใครพูดจริงหรือไม่จริงบ้างใน GIRLS DON’T CRY เราก็ชอบสิ่งที่ subjects หลายๆคนในหนังพูดนะ คือเรามองว่าสิ่งที่หลายคนพูดมันเหมือนกับ “น้ำใสในลำธาร” หรือไม่ก็ “น้ำที่ผ่านการ sterilzed มาอย่างดี” น่ะ คือเรารู้สึกเหมือนกับว่า สมาชิกอายุน้อยหลายๆคน พูดจาเหมือน “น้ำใสในลำธาร” คือเหมือนยังซื่อๆอยู่ และก็พูดอะไรออกมาตรงๆ ดู sincere ดี (ถึงแม้เราเผื่อใจให้กับความกังขาอยู่บ้าง) ส่วนสมาชิกวัย 20 up บางคนใน GIRLS DON’T CRY พูดจาเหมือน “น้ำที่ผ่านกระบวนการ sterilized มาอย่างดีแล้ว” น่ะ ซึ่งอันนี้ไม่ได้หมายถึงว่าพวกเธอตอแหลนะ แต่เป็นการชื่นชมว่าพวกเธอ “ฉลาด” มาก คือใจจริงของแต่ละคนเป็นยังไง เราก็ไม่อาจตรัสรู้ได้ แต่เราคิดว่าคำพูดคำจาของบางคนมันดูฉลาดดีน่ะ คือเหมือน “คิดไตร่ตรองดีแล้วภายในเวลาอันรวดเร็ว”, “คัดกรองเอาถ้อยคำที่อาจส่งผลลบต่อคะแนนนิยมตัวเองออกไปอย่างรวดเร็ว” และเมื่อ “คิดไตร่ตรองดีแล้ว” จึงค่อยพูดออกมา มันก็เลยกลายเป็นคำพูดที่เหมือนน้ำที่ผ่านการ sterilized มาอย่างดีแล้ว และแสดงให้เห็นถึงความฉลาดของคนพูด

4.อีกปัจจัยที่ทำให้เราไม่ได้เศร้าไปกับ subjects ของ GIRLS DON’T CRY ก็คือว่า เรารู้สึกเหมือนกับว่าความเจ็บปวดของคนที่พยายามจะเป็นไอดอลเหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า เราฟังนักมวยบอกว่า “ขึ้นชกมวยแล้วเจ็บตัว” น่ะ คือถ้าคุณเลือกเองว่าจะ “ต้องการชื่อเสียงโด่งดัง เพราะมันจะนำมาซึ่งเงินในการหาเลี้ยงชีพ ด้วยวิธีการแบบนี้ คุณก็ต้องยอมรับความเสี่ยงและความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจที่มาพร้อมกับอาชีพนี้” ไม่งั้นคุณก็ต้องเลือกอาชีพอื่น คือในแง่นึงเราก็เลยนึกถึงนักมวยน่ะ  คือถ้าเลือกเองว่าจะมาทางสายนี้ ก็ต้องกัดฟันทนยอมรับความเจ็บปวดมากมายที่จะตามมาให้ได้ และต้องชั่งน้ำหนักเองให้ได้ว่าจะเป็นนักมวยต่อไปหรือเปล่า หรือถ้าทนเจ็บไม่ไหวแล้ว ก็ต้องรีบเลิกซะ ก่อนที่จะสายเกินไป

เพราะฉะนั้นพอเราได้ฟังความเจ็บปวดของ subjects บางคนในหนัง เราก็เลยรู้สึกอุเบกขาหน่อยๆ คือเหมือนกับฟังนักมวยบอกว่าขึ้นชกแล้วโดนต่อย เจ็บมากเลยน่ะ เพราะเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องแลกกันอยู่แล้ว การจะเป็นนักมวย มันก็ต้องทนเจ็บตัวแบบนี้แหละ และการจะเป็นไอดอล มันก็ต้องแลกกับความเจ็บปวดแบบนี้เหมือนกัน

และในเมื่อคนเราทุกคนแตกต่างกัน เราไม่รู้ว่าคุณ “เจ็บ” มากแค่ไหน สภาพจิตของคุณมีพื้นฐานเป็นอย่างไร และคุณมีความจำเป็นทางการเงินมากน้อยแค่ไหน เราก็เลยไม่สามารถแนะนำนักมวยหรือไอดอลแต่ละคนได้ว่า คุณควรอำลาวงการได้แล้วยัง เพราะแต่ละคนต้องชั่งน้ำหนักด้วยตัวเองแหละว่า ทนเจ็บต่อไปแล้วมันคุ้มหรือเปล่า ถ้ามันไม่คุ้ม ก็เลิกซะ เพราะเรา “เลือก” ได้

5.ชอบวิธีการที่เต๋อเลือกในการกำกับหนังเรื่องนี้มากๆ ทั้งการให้ข้อมูลพื้นฐานต่างๆเกี่ยวกับวงนี้ เพราะเราแทบไม่เคยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับวงนี้มาก่อนเลย และชอบที่เต๋อเลือกใช้ talking heads เป็นหลัก เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นมิตรกับผู้ชมที่เป็นเกย์อย่างเรา 555

คือถ้าว่ากันตามตรง เวลาเราดูประกวด “ชายงาม” เราก็ชอบช่วงการประกวด “ชุดว่ายน้ำ” มากที่สุดน่ะ เพราะเราอยากดูผู้ชายหนุ่มหล่อกล้ามใหญ่ใส่ชุดว่ายน้ำเดินไปเดินมา แต่เวลาเราดูประกวด “นางงาม” เราก็ชอบช่วง “ตอบคำถาม หรือสัมภาษณ์” มากที่สุด ไม่ใช่ช่วงนางงามเดินใส่ชุดว่ายน้ำ อวดเรือนร่างหรือความ sexy เพราะมันไม่ตอบสนองความต้องการทางเพศของเรา

เพราะฉะนั้นการดู talking heads ใน GIRLS DON’T CRY ก็เลยสร้างความพึงพอใจให้กับเราเหมือนกับการดูช่วง “แข่งขันตอบคำถาม” เวลาประกวดนางงามน่ะ มันเป็นช่วงที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ความงามของ subjects เพียงอย่างเดียว แต่มันวัดกึ๋น วัดสมอง ส่อง “ข้างใน” ความคิด, จิตใจ, ไหวพริบ ของ subjects หรือผู้เข้าประกวดแต่ละคนด้วย และเราก็เพลิดเพลินกับอะไรแบบนี้มากๆ

และเราว่าการใช้ talking heads เพื่อส่องสะท้อนข้างในความคิดของ subjects แต่ละคนแบบนี้นี่แหละ มันเป็นวิธีที่ช่วยให้ปูเป้และจิ๊บโดดเด่นขึ้นมาได้ มันช่วยเปิดโอกาสให้ subjects บางคนที่มีดีที่ข้างใน ได้แสดงความสามารถนั้นออกมาด้วย

6.อีกจุดที่ชอบ GIRLS DON’T CRY ก็คือว่า มันช่วยบันทึกปรากฏการณ์ทางสังคมหรือวัฒนธรรมได้ดีน่ะ และมันเหมาะกับผู้ชมอย่างเรา ที่แก่แล้ว และไม่คิดจะไล่ตามโลกหรือเทคโนโลยีอีกต่อไป ชอบอะไรเชยๆและล้าสมัยเป็นหลัก การได้ดูหนังแบบ GIRLS DON’T CRY ที่บันทึกวัฒนธรรมของพ.ศ.นี้, MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY ที่บันทึกโลกทวิตเตอร์ หรือ FREELANCE ที่บันทึกชีวิตการทำงานของคนรุ่นใหม่ มันก็เลยช่วยให้เราที่ใช้ชีวิตอยู่กับความล้าสมัยเป็นหลัก ได้ทำความเข้าใจโลกยุคปัจจุบันได้มากขึ้น

ภาพประกอบจากนิตยสาร ฟิ้ว เล่ม 19 (ส.ค. 2008)

No comments: