Sunday, August 12, 2018

OVER DRIVE (2018, Eiichiro Hasumi, Japan, A+30)


OVER DRIVE (2018, Eiichiro Hasumi, Japan, A+30)

1.ผัว ผัว ผัว ผัว ผัว ผัว ผัว นี่คือสิ่งที่คิดอยู่ในหัวตลอดเวลาที่ดูหนังเรื่องนี้ ต้องขอบคุณน้องเวฟมากๆที่บอกเราว่าพระเอกถอดเสื้อโชว์กล้ามบ่อยมากในหนัง เราก็เลยตัดสินใจถ่อไปดูที่เมเจอร์ สำโรง และก็ไม่ผิดหวังจริงๆ 555

เป็นหนังที่รวมดาราหล่อๆไว้ได้ดีมาก ทั้ง Masahiro Higashide, Mackenyu, Takumi Kitamura, Keita Machida และยังมีนักแสดงที่เราอยากกินอีก 3 คนในหนังด้วย ซึ่งก็คือคนที่เล่นเป็นเจ้านายนางเอก, เพื่อนร่วมงานของนางเอก และหนุ่มใหญ่หุ่นหมีคนนึงที่อยู่ในทีมงานของพระเอก

จำ Mackenyu ไม่ได้เลย เขาเปลี่ยนไปเยอะมาก ล่ำบึ้กทรมานใจชายมากๆ หวังว่าสิ่งที่เราเห็นในหนังเป็น body ที่แท้จริงของเขานะ ไม่ใช่ CG เพราะ search หารูปเขาถอดเสื้อในเน็ตไม่ได้เลย

2. ในแง่นึง มันก็เป็นหนังสูตรสำเร็จแบบญี่ปุ่น ที่มักเล่าเรื่องราวของตัวละครที่มุ่งมั่นกับความสำเร็จในหน้าที่การงาน,กีฬา, การแข่งขันอะไรบางอย่าง แต่เรามักจะค่อนข้างชอบหนังสูตรสำเร็จกลุ่มนี้ ถ้าหากหนังมันลงลึกในการทำงานนั้นจริงๆ หรือถ้าหากหนังมันทุ่มเทเอาจริงเอาจังให้กับอาชีพหรือกีฬานั้นๆ  และ OVER DRIVE ก็สอบผ่านตรงจุดนี้ เพราะหนังมันดูเอาจริงเอาจังกับ "การพัฒนาเครื่องยนต์ของรถ" มากๆ หนังมันไม่ได้มีแต่ดราม่าโง่ๆไปเรื่อยๆ แต่มันเหมือนมีความหลงใหลในเครื่องยนต์กลไกของรถยนต์อยู่ด้วย

สาเหตุที่เราชอบหนังกลุ่มนี้ อาจจะเป็นเพราะว่า เราเติบโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น และละครทีวีญี่ปุ่นแบบนี้ก็ได้มั้ง ทั้งการ์ตูนอย่าง หงส์ฟ้า, หน้ากากแก้ว, สู้เขามายูโกะ (อาชีพช่างตัดผม), ตากล้องที่รัก, ยอดรักจอแก้ว (อาชีพพิธีกรรายการโทรทัศน์) หรือละครทีวีอย่าง ยอดหญิงชิงโอลิมปิก, เงือกสาวจ้าวสระ, ยอดตำรวจหญิง, WHO WILL WEAR THE WEDDING DRESS? (อาชีพดีไซเนอร์) หรือละครทีวีเกี่ยวกับอาชีพแอร์โฮสเตส, นักดนตรี ฯลฯ อะไรต่างๆมากมาย

 และพอเราเติบโตมากับละครทีวีและการ์ตูนญี่ปุ่นแบบนี้ เราก็เลยชอบหนังญี่ปุ่นที่มันทุ่มเทให้กับอาชีพของตัวละครตามไปด้วย ทั้งหนังอย่าง BAKUMAN (2015, Hitoshi One) ที่เจาะอาชีพนักเขียนการ์ตูน, KISEKI: SOBITO OF THAT DAY (2017, Atsushi Kaneshige) ที่พูดถึงนักดนตรี, SATOSHI: A MOVE FOR TOMORROW (2016, Yoshitaka Mori) ที่พูดถึงนักเล่นหมากรุกญี่ปุ่น, TOMORROW'S JOE (2011, Fumihiko Sori) ที่พูดถึงนักมวย, NORIBEN -- THE RECIPE FOR FORTUNE (2009, Akira Ogata) ที่พูดถึงนักทำข้าวกล่องเบนโตะ และ THE LAST RECIPE (2017, Yojiro Takita) ที่พูดถึงเชฟ คือโครงเรื่องหลักของหนังกลุ่มนี้มันอาจจะมีความสูตรสำเร็จก็จริง แต่ถ้าหากหนังมันทุ่มเทให้กับรายละเอียดในการประกอบอาชีพของตัวละคร เราก็มักจะรักหนังเรื่องนั้น

3.ขำตัวละครนางเอก คือจริงๆแล้วตัดเธอทิ้งไปจากหนังก็ได้ 555 คือเธอเหมือนมาเพื่อทำหน้าที่เป็น “ตัวแทนคนดู” ในการเข้าไปเริ่มทำความรู้จักกับหนุ่มหล่อคนต่างๆในหนัง มากกว่าที่จะเป็นตัวละครที่ส่งผลกระทบอะไรอย่างแท้จริงกับเนื้อเรื่อง

แต่อาชีพของนางเอกแปลกดีนะ คือเธอเป็น “ตัวแทนของสปอนเซอร์” ที่ถูกส่งมาคุมความประพฤติของพระเอก คือพระเอกเป็นนักแข่งรถที่รับเงินจากการเป็น presenter โฆษณาให้บางบริษัท บริษัทก็เลยต้องส่งคนมาคุมความประพฤติของพระเอกด้วย

4.พอดูหนังญี่ปุ่นเมนสตรีมที่ตัวละครเน้น “มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับความสำเร็จในอาชีพ” และดูหนังฝรั่งเมนสตรีมอย่าง MARY POPPINS (1964, Robert Stevenson), CHRISTOPHER ROBIN (2018, Marc Forster),THE FAMILY MAN (2000, Brett Ratner) และหนังคริสต์มาสต่างๆ มันก็เลยเหมือนเห็นค่านิยมที่แตกต่างกันระหว่างญี่ปุ่นกับฝรั่ง เพราะหนังฝรั่งจะชอบสอนในสิ่งที่ตรงกันข้าม เพราะหนังฝรั่งชอบสอนว่า “อย่าทำงานมากเกินไป ควรให้เวลากับครอบครัวบ้าง” คือหนังญี่ปุ่นเหมือนชอบกระตุ้นในทางอ้อมว่า “จงมุมานะอย่างเต็มที่” แต่หนังฝรั่งเหมือนจะกระตุ้นในทางอ้อมว่า “อย่าวัตถุนิยมมากเกินไป ครอบครัวสำคัญกว่า”

โดยส่วนตัวแล้ว เราก็ไม่ได้อินกับทั้งสองคำสอนนี้นะ เพราะเราไม่ได้ผูกพันกับครอบครัว, เราไม่ใช่คนวัตถุนิยม และเราก็ไม่ชอบการแข่งขันด้วย มันก็เลยเหมือนกับว่าคำสอนทั้งสองคำสอนนี้ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเราโดยตรง

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ในขณะที่ OVER DRIVE และหนังญี่ปุ่นหลายเรื่อง พยายามกระตุ้นให้คนมุมานะตั้งใจทำงานในอาชีพของตนเองให้ดีที่สุดนั้น สปอนเซอร์หลักของหนังเรื่อง OVER DRIVE คือบริษัท Dentsu ซึ่งเป็นบริษัทที่ตกเป็นข่าวฉาวโฉ่ เพราะพนักงานทำงานหนักจนตาย (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิดนะ เพราะเราเห็นชื่อ Dentsu เด่นมากในหนัง)

No comments: