Tuesday, August 14, 2018

ON THE EDGE OF THE WORLD


101 DALMATIANS (1961, Clyde Geronimi, Hamilton Luske, Wolfgang Reitherman, animation, A+30)

หนังสวยมาก ชอบลายเส้นและสีสันของหนังมากๆ

ชอบไอเดียเรื่อง TWILIGHT BARK ที่ให้หมาเห่าหอนกระจายข่าวบอกต่อๆกันด้วย รู้สึกว่าเป็นไอเดียที่เก๋มาก

เหมือนหนังจะแอบสอนผู้ชมที่เป็นเด็กๆด้วยว่า อย่ากินอาหารเยอะไป และอย่าดูโทรทัศน์มากเกินไป คือหนังเหมือนใช้วิธีการสอนที่แยบยลดีน่ะ เพราะตัวละครลูกหมาตัวนึงที่กินเยอะไป และลูกหมาอีกตัวที่มัวแต่ดูโทรทัศน์ เป็นลูกหมาสองตัวที่ประสบปัญหาในการหนีผู้ร้ายเพราะจุดอ่อนของตัวเอง เราว่าวิธีการสอนเด็กแบบนี้เป็นวิธีที่ดีมาก คือแทนที่จะสอนตรงๆ เราก็สามารถสอนเด็กในทางอ้อมด้วยวิธีนี้ได้

ON THE EDGE OF THE WORLD (2013, Claus Drexel, France, documentary, 98min, A+30)

1.หนักมาก ชอบเรื่องราวของคนไร้บ้านในหนังเรื่องนี้มากๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้กำกับต้องไปคลุกคลีหรือทำความรู้จักกับ subjects นานมากเท่าไหร่ ถึงสามารถทำให้ subjects แต่ละคนเผยชีวิตของตนเองแบบนี้ออกมาได้

ชอบที่มันเป็นหนังยาวด้วย มันเลยมีเวลาให้แต่ละคนพูดอะไรได้เยอะ เพราะจริงๆแล้วเนื้อหาเรื่องคนไร้บ้านแบบนี้ ก็มีหนังสารคดีไทยทำออกมาบ้างแล้วเหมือนกัน อย่างเช่น BANGKOK GHOST STORIES (2016, Wachara Kanha, 20min) และ “บ้านไม่มีเลขที่” (2012, Abhichon Rattanabhayon, 25min) แต่พอหนังไทยสองเรื่องนี้มันเป็นหนังสั้น มันเลยทำได้แค่นำเสนอภาพรวมของ “คนกลุ่มนึง” น่ะ เราไม่มีเวลาในการทำความรู้จักกับ subjects แต่ละคนได้ดีพอ ในขณะที่หนังยาวมันจะเปิดโอกาสให้ subjects แต่ละคนมีเลือดมีเนื้อมีชีวิตจิตใจได้มากขึ้น และ subjects แต่ละคนจะไม่กลายเป็นเหมือน “ข้อมูลสถิติเชิงสังคมศาสตร์” เท่านั้น

2.ชอบ “คุณป้า” ในหนังเรื่องนี้มากที่สุด เหมือนในหนังเรื่องนี้มีผู้หญิงสองคน คนนึงจะใส่แว่นและดูเหมือนชอบพูดอะไรแปลกๆ ส่วนอีกคนนึงเป็นคุณป้าที่เล่าว่าตัวเองเคยมีบ้าน มีผัว มีลูกๆมาก่อน แต่ครอบครัวของเธอโดนทำร้ายเพราะอะไรสักอย่าง และตอนนี้ลูกๆของเธอก็เป็นคนไร้บ้านเหมือนกัน

ไม่รู้ว่าสิ่งที่คุณป้าคนนี้พูดเป็นความจริงหรือความเท็จมากแค่ไหน แต่ตัวเธอดูเป็นมนุษย์ที่น่าสนใจมากๆ คือเธอต้องมีอดีตที่รุนแรงอะไรสักอย่าง ถึงทำให้เธอต้องมาตกอยู่ในสภาพแบบนี้ได้

3.หนังแตะจุดที่สำคัญมากๆ นั่นก็คือการรับมือกับหน้าหนาว เพราะเราก็สงสัยมากๆว่า คนไร้บ้านจะอยู่กันยังไงในประเทศในยุโรปที่มีหิมะตก พวกเขาไม่แข็งตายกันหรือ

และเราก็เห็นว่าพวกเขาก็ทนอยู่กันจริงๆ บางคนก็กางเต็นท์อยู่ท่ามกลางหิมะ ส่วนคุณป้าก็ห่อตัวเองด้วยผ้าห่มอวกาศและผ้าห่มธรรมดา คือเธอดูเหมือนถูกห่อด้วยกระดาษและผ้าและกลายเป็นเหมือนของขวัญที่ถูกทิ้งหรืออะไรสักอย่าง คือสภาพของเธอมันดูรุนแรงมากๆ อนาถาอาถรรพณ์มากๆ

ชอบมากๆที่เธอเล่าว่า เธอหนาวก็จริง แต่เธอจะไม่ใช้ผ้าห่มทั้งหมดในทันที เพราะเธอต้องฝึกตัวเองให้ทนรับกับความหนาวให้ได้ ไม่งั้นเธอจะรับมือกับช่วง peak ของฤดูหนาวไม่ได้

ตอนดูจะนึกถึงหนังอย่าง WILL IT SNOW FOR CHRISTMAS? (1996, Sandrine Veysset) และ IT ALL STARTS TODAY (1999, Bertrand Tavernier) ด้วย เพราะหนังสองเรื่องนี้ก็นำเสนอชีวิตคนจนเหมือนกัน แต่เป็นคนจนที่ยังมีบ้านอยู่ และถ้าเราจำไม่ผิด หนังเรื่องใดเรื่องนึงในสองเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่า ขนาดคนจนที่มีบ้านอยู่ แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้า พวกเขายังแข็งตายในหน้าหนาวได้เลย แล้วจะนับประสาอะไรกับคนไร้บ้าน ไม่รู้พวกเขาต้องทุกข์ทรมานมากแค่ไหนถึงจะอยู่รอดได้ในหน้าหนาวในยุโรป

4.เหมือนหนังเรื่องนี้ทำให้เรามองตำรวจฝรั่งเศสในแง่ดีขึ้นแฮะ โดยที่ไม่รู้ว่าหนังตั้งใจหรือเปล่า เพราะถึงแม้จะมีตำรวจมาไล่ที่คนไล่บ้านคนนึงในหนังเรื่องนี้ หนังก็ไม่ได้ฉายให้เห็นภาพความรุนแรง แต่เหมือนเป็นการทำตามหน้าที่ของตำรวจมากกว่า

แต่สิ่งที่ประทับใจมากๆก็คือเรื่องของคนไร้บ้านคนนึงที่เล่าว่า มีตำรวจใจดีเคยเอาของขวัญมาให้เขามากมายในช่วงคริสต์มาส

5.แมวในหนังขโมยซีนมากๆ

6.ชอบการนำเสนอภาพคนไร้บ้านที่นอนในซอกอุโมงค์ใต้ดินด้วย คือการถ่ายภาพคนไร้บ้านคนนี้นึกว่าเป็น paintings เมื่อ 200 ปีก่อนน่ะ มันเป็นสถานที่ที่โสโครกมากๆ แต่ใบหน้าของคนไร้บ้านคนนี้มันมีพลังรุนแรงเหมือน paintings เมื่อ 200-300 ปีก่อนมากๆ หรือเหมือนกับว่าเขาหลุดออกมาจากหนังของ Bela Tarr หรืออะไรทำนองนี้


7.ถ้าไม่ดูหนังเรื่องนี้ เราก็ไม่รู้มาก่อนว่ามีคนไร้บ้านแบบนี้ในฝรั่งเศสด้วย เพราะก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยดูหนังอย่าง VAGABOND (1985, Agnès Varda) ก็จริง แต่พอมันเป็นหนัง fiction เราก็เลยไม่ได้นึกว่ามันจะมีคนไร้บ้านอยู่จริงเป็นจำนวนมากแบบนี้

ส่วนหนังอย่าง THE GLEANERS AND I (2000,  Agnès Varda) นั้น ก็นำเสนอคนคุ้ยเขี่ยขยะในฝรั่งเศส ซึ่งโดยรวมแล้ว สถานะของคนเหล่านี้ก็ดีกว่าคนไร้บ้านน่ะ เพราะคนคุ้ยเขี่ยขยะหลายคนก็ดูเหมือนจะมีบ้านอยู่ เพียงแต่ว่าพวกเขาเล็งเห็นประโยชน์จากขยะเท่านั้นเอง

เวลาเราดูหนังเกี่ยวกับผู้อพยพในฝรั่งเศส เราก็พบว่า พวกเขาจะได้อยู่ในโรงแรมเล็กๆนะ เราก็ไม่รู้เรื่องระบบของฝรั่งเศสเหมือนกัน แต่เหมือนกับว่าทางการฝรั่งเศสจะจัดสรรที่พักเป็นโรงแรมเล็กๆให้พวกผู้อพยพอยู่กันไปก่อนจนกว่าจะได้สถานะผู้ลี้ภัยหรืออะไรทำนองนี้น่ะ เพราะฉะนั้นผู้อพยพพวกนี้ก็เลยไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกแบบคนไร้บ้านในหนังเรื่องนี้

หนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนกับว่า แตะจุดต่ำสุดจุดนึงของสังคมฝรั่งเศสจริงๆ

8.ชอบสไตล์ของผู้กำกับด้วย คือหนังมันดูเรียบง่ายมากๆในแง่นึง คือหนังแค่ปล่อยให้ผู้อพยพแต่ละคนพูดไปเรื่อยๆ เรื่อยๆเท่านั้นเอง พร้อมกับนำเสนอสภาพแวดล้อมของพวกเขา แต่แค่นี้มันก็หนักที่สุดแล้ว

สไตล์เรียบง่ายแต่ทรงพลังอย่างรุนแรงแบบนี้ ทำให้นึกถึงหนังหลายๆเรื่องของ Raymond Depardon ด้วย ทั้ง CAUGHT IN THE ACTS (1994), THE 10TH DISTRICT COURT (2004) และ MODERN LIFE (2008) คือหนังเหล่านี้เหมือนปล่อยให้ subjects พูดไปเรื่อยๆ แต่มันกลับกลายเป็นหนังที่ทรงพลังและดีงามสุดๆในความเห็นของเรา เหมือนผู้กำกับมันมีวิธีการบางอย่างในการทำให้การพูดของ subjects แต่ละคน หรืออากัปกิริยาสีหน้าสีตาท่าทางของ subjects แต่ละคน มันสะท้อนอะไรหลายๆอย่างและสะท้อนความเป็นมนุษย์หรือแก่นแท้ของ subjects แต่ละคนออกมาได้

9.รู้สึกว่าหนังที่สามารถปะทะกับหนังเรื่องนี้ได้ในแง่ “ความรุนแรงของชีวิต” คือ TONDO, BELOVED: TO WHAT ARE THE POOR BORN? (2011, Jewel Maranan, Philippines, documentary) ที่นำเสนอชีวิตคนจนครอบครัวนึงในฟิลิปปินส์ คือครอบครัวนี้มีบ้านอยู่ก็จริง แต่มันก็เป็นบ้านที่เล็กสุดๆ และความยากแค้นแสนเข็ญของครอบครัวนี้ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าของ subjects ใน ON THE EDGE OF THE WORLD แต่อย่างใด

10.ดู “หน้าหนาว” ในหนังสารคดีฝรั่งเศสเรื่องนี้ แล้วทำให้นึกถึงกลอนที่ชอบมากๆด้วย นั่นก็คือกลอน QUARANTINE ของ Eavan Boland ที่เล่าเรื่องของชายหญิงไร้บ้านคู่นึงที่มีคนพบศพทั้งสองนอนแข็งตายในหน้าหนาว โดยขณะที่พวกเขาแข็งตายนั้น ฝ่ายชายเอาเท้าฝ่ายหญิงมาซุกไว้ที่แผงอกของเขา เพื่อพยายามทำให้เท้าฝ่ายหญิงอุ่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความอบอุ่นจากแผงอกของเขาคือของขวัญชิ้นสุดท้ายที่เขาสามารถมอบให้เธอได้ ก่อนที่ทั้งสองจะหนาวตายไปด้วยกัน

“In the worst hour of the worst season

of the worst year of a whole people

a man set out from the workhouse with his wife.

He was walking-they were both walking-north.

She was sick with famine fever and could not keep up.

He lifted her and put her on his back.

He walked like that west and north.

Until at nightfall under freezing stars they arrived.

In the morning they were both found dead.

Of cold. Of hunger. Of the toxins of a whole history.

But her feet were held against his breastbone.

The last heat of his flesh was his last gift to her.

Let no love poem ever come to this threshold.

There is no place here for the inexact

praise of the easy graces and sensuality of the body.

There is only time for this merciless inventory:

Their death together in the winter of 1847.

Also what they suffered. How they lived.

And what there is between a man and a woman.

And in which darkness it can best be proved."

No comments: