Thursday, August 23, 2018

SOMEONE FROM NOWHERE (2017, Prabda Yoon, A+30)


SOMEONE FROM NOWHERE (2017, Prabda Yoon, A+30)
มา ณ ที่นี้

ตู่” เป็นคำกริยา แปลว่า “กล่าวอ้างหรือทึกทักว่าของผู้อื่นเป็นของตัวเอง”

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ตอนดูจะนึกถึงหนัง 4 เรื่องด้วยกัน ซึ่งก็คือ DEATH AND THE MAIDEN (1994, Roman Polanski), THE HEADLESS WOMAN (2008, Lucrecia Martel, Argentina), THE PARTY AND THE GUESTS (1966, Jan Nemec, Czechoslovakia) และ “ความลักลั่นของงานรื่นเริง” (2007, Prap Boonpan)

ที่นึกถึง DEATH AND THE MAIDEN เป็นเพราะว่า SOMEONE FROM NOWHERE มันเป็นหนังการเมืองที่มีความ minimal คล้ายๆละครเวทีแบบ DEATH AND THE MAIDEN น่ะ คือใช้ตัวละครน้อยมาก และใช้ฉากน้อยมาก โดยที่ตัวละครนำคนนึงจะกล่าวหาตัวละครนำอีกคนนึง และคนดูก็จะลังเลใจอย่างน้อยก็ในช่วงแรกว่า สิ่งที่กล่าวหาเป็นจริงหรือไม่ ใครโกหก ใครพูดจริง ใครบ้า ใครสติดี

ที่นึกถึง THE HEADLESS WOMAN เป็นเพราะว่า เราว่านางเอกของ SOMEONE FROM NOWHERE อาจจะมีอะไรคล้ายๆนางเอกของ THE HEADLESS WOMAN น่ะ นั่นก็คือทั้งสองอาจจะเคยประกอบอาชญากรรม แต่ในที่สุดทั้งสองก็ “ลืม” อาชญากรรมที่ตัวเองเคยทำ ทั้งโดยความตั้งใจของตัวเองที่จะลืม และอาจจะด้วยความช่วยเหลือของคนรอบข้างที่พยายามลบล้างความทรงจำถึงอาชญากรรมนั้น

ที่นึกถึง THE PARTY AND THE GUESTS เป็นเพราะว่า เราว่าทั้ง SOMEONE FROM NOWHERE และ THE PARTY AND THE GUESTS เป็นหนังการเมืองที่มีลักษณะ absurd เหนือจริง และเหมือนหนังทั้งสองเรื่องตัดรายละเอียดจำเพาะของประเทศตนเองออกไปจากหนังมากพอสมควร (แต่อาจจะไม่ได้ตัดทิ้งทั้งหมด เพราะ SOMEONE FROM NOWHERE ก็มีบางสิ่งที่อ้างอิงถึงประเทศไทยอย่างตรงๆ) และพอหนังทั้งสองเรื่องตัดรายละเอียดจำเพาะของประเทศตนเองออกไป หนังก็เลยหันไปเน้นสถานการณ์และบทสนทนาที่กระตุ้นความคิดเชิงปรัชญาแทน และมันก็เลยทำให้หนังทั้งสองเรื่องดูมีความ “สากล” หรือมีความเปิดกว้างต่อการนำไปคิดต่อยอดถึงอะไรต่างๆได้มากขึ้น

คือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า ถ้าหากเราดู THE UNBEARABLE LIGHTNESS OF BEING (1988, Philip Kaufman) เราก็จะได้ดูหนังที่พูดถึงการเมืองเช็คโกสโลวาเกีย “อย่างเฉพาะเจาะจง” น่ะ แต่ถ้าหากเราดู THE PARTY AND THE GUESTS เราจะพบว่าสถานการณ์ในหนังมันไม่ได้ทำให้เรานึกถึงแต่ประวัติศาสตร์การเมืองของเช็คโกสโลวาเกียเท่านั้น แต่มันทำให้นึกถึงประเทศไทย หรือความจริงหลายๆอย่างในสังคมรอบตัวเราด้วย คือสถานการณ์ใน THE PARTY AND THE GUESTS มันดูสากล และ timeless มากๆน่ะ

หรือถ้าเปรียบเทียบกับหนังไทยด้วยกันเองนั้น SOMEONE FROM NOWHERE ก็มีบางส่วนที่ทำให้นึกถึง “ความลักลั่นของงานรื่นเริง” เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องการปะทะกันของตัวละครสองฝ่ายในห้องๆเดียวกันเหมือนกัน และเป็นการปะทะกันที่เริ่มต้นด้วยคำพูดที่โต้เถียงกันอย่างรุนแรง ก่อนที่ความรุนแรงจะลุกลามขึ้นเรื่อยๆจนกู่ไม่กลับ แต่ “ความลักลั่นของงานรื่นเริง” เป็นหนังที่ “จำเพาะเจาะจง” ถึงประเทศไทย ในขณะที่สถานการณ์ใน SOMEONE FROM NOWHERE ดูสากลกว่า และ timeless กว่า

และเราก็ชอบหนังทั้งสองเรื่องนี้มากๆในแบบที่ต่างกัน เพราะเราชอบ “ความลักลั่นของงานรื่นเริง” อย่างสุดๆในแง่ที่มันบันทึกสภาพสังคมไทย, ความคิดของคนไทย และปัญหาการเมืองไทย ณ ห้วงเวลาหนึ่งๆ ได้ดีมาก ส่วน SOMEONE FROM NOWHERE นั้น พอมันตัดรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆของสังคมไทยออกไป และนำเสนอสถานการณ์ในหนังในแบบที่ philosophical มากๆ มันก็เลยทำให้เรานึกถึงอะไรอย่างอื่นๆในชีวิตเราที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองไทยด้วย มันเหมือนหนังสองเรื่องนี้มีคุณประโยชน์ที่ทั้งเหมือนกันและต่างกันน่ะ

2.ในแง่ของการสะท้อนการเมืองไทยนั้น คิดว่า SOMEONE FROM NOWHERE คงเป็นหนังที่ตีความไปในทางนั้นได้ไม่ยาก และถ้าหากมองในแง่นี้ เวลาที่เราดูหนัง เราก็จะ identify ตัวเองเป็นพระเอก และมองว่านางเอกคือคนร้าย คนที่มาปล้นชิงตู่เอาอำนาจไปจากเราอย่างไม่ชอบธรรม

แต่สิ่งที่เราชอบสุดๆใน SOMEONE FROM NOWHERE อาจจะเป็นสิ่งที่หนังตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเราก็ไม่รู้ และสิ่งนั้นก็คือว่า เราเห็นว่าตัวเองมีความเหมือนกับ “นางเอก” ในบางแง่มุมด้วย

สิ่งที่ทำให้เราคิดว่าตัวเองเหมือนกับนางเอก มันเห็นชัดในฉากที่พระเอกบอกให้นางเอกหาหลักฐานมายืนยันว่าตัวเองเป็นเจ้าของห้อง ซึ่งนางเอกก็หาหลักฐานไม่เจอ แต่นางเอกก็ยืนยันว่าตัวเองเป็นเจ้าของห้อง ไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานมายืนยันก็ได้ ยังไงตัวเองก็เป็นเจ้าของห้องอยู่ดี

อะไรแบบนี้ในหนังเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกถึงตัวเองน่ะ คือเหมือนกับว่า ในทุกๆเช้า เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับ “ชุดความคิดของตัวเราเองที่มีต่อโลกของเรา” น่ะ ชุดความคิดนั้นก็อาจจะประกอบไปด้วยแนวคิดที่ว่า คนๆนี้ควรปฏิบัติกับเราอย่างไรถึงจะเรียกได้ว่า “ถูกต้อง”, การใช้ public space ควรเป็นอย่างไร, ปัญหาเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ป่าควรจัดการอย่างไร, การเวนคืนที่ดินแบบนี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่, คนแต่ละคนควรคิด, พูด, ทำอะไรยังไงถึงจะถูกต้องตามความเห็นของเรา ฯลฯ

และพอเราตื่นมาทุกเช้าด้วยชุดความคิดแบบนี้ เราก็จะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ เวลาเจอคนอื่นๆที่ไม่ได้คิด, พูด, ทำตามความเชื่อของเราน่ะ เพราะมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้มันก็ต้องมีอะไรสักอย่างที่คิดไม่ตรงกับเราอยู่แล้ว และเราก็หงุดหงิด หงุดหงิด จนลืมนึกถึงความจริงไปว่า มันมี “หลักฐาน” อะไรว่าความเชื่อของเราถูกต้อง คือเราเชื่อไปเองว่ามันถูกต้อง แต่มันไม่มีหลักฐานอะไรว่ามันถูกต้อง เพราะจริงๆแล้วคำสอนทางศาสนาหรือหลักศีลธรรมต่างๆก็เชื่อไม่ได้ทั้งหมด (ถึงแม้ว่าอาจจะเชื่อได้เป็นส่วนใหญ่) เพราะมันก็เป็นแค่สิ่งที่มนุษย์กลุ่มนึงอุปโลกน์กันขึ้นมาเองว่านี่แหละคือ “หลักศีลธรรม” กฎหมายก็ยิ่งเชื่อไม่ได้ใหญ่ โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่เป็นกฎหมายที่ออกโดยชนชั้นสูงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นสูงเอง และยิ่งไม่ต้องพูดถึงขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีอะไรต่างๆนานา ที่น่าจะเต็มไปด้วยสิ่งที่ “ทึกทักกันไปเองว่าถูกต้องดีงาม” คือพอเรามองถึงความจริงที่ว่า เราไม่สามารถอ้างได้ว่า ศาสนา, กฎหมาย, ประเพณี เป็น “หลักฐาน” ที่ยืนยันได้ว่าสิ่งใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างแท้จริง แล้วอะไรกันล่ะคือ “หลักฐาน” ที่จะยืนยันได้ว่าความเชื่อของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกับโลกใบนี้ อะไรกันล่ะคือ “หลักฐาน” ที่จะยืนยันได้ว่าสิ่งที่คนอื่นๆเชื่อเป็นสิ่งที่ผิด

คือพอเราดู SOMEONE FROM NOWHERE แล้วเห็นจุดนี้ เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ คือถ้าดูหนังเรื่องนี้แค่ในแง่ “การเมืองไทย” เราก็จะ identify ตัวเองกับพระเอก แต่พอดูหนังเรื่องนี้แบบเปิดกว้าง เรากลับพบว่า เรากลับมีส่วนคล้ายนางเอกอยู่ไม่น้อย เราตื่นขึ้นมาทุกเช้าพร้อมกับ “ความเชื่อของเราเอง” และก็ต้องพบเจอกับคนแต่ละคนที่มีความเชื่อไม่เหมือนกับเรา และเราก็หงุดหงิด ทั้งๆที่ลืมคิดไปว่า กูมี “หลักฐาน” อะไรเหรอ ว่าสิ่งที่กูคิดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่คนอื่นๆคิดเป็นสิ่งที่ผิด



No comments: