Thursday, September 17, 2020

RABID DOG SPECIES

RABID DOG SPECIES พันธุ์หมาบ้า (1990, Saharat Wilainate, A+30)

 

1. ไม่เคยรู้เรื่องย่อของหนังเรื่องนี้มาก่อนเลย เห็นแต่โปสเตอร์ กับชื่อหนัง เราก็เลยเดาเรื่องย่อของหนังเรื่องนี้ผิดหมดเลย 555

คือก่อนเข้าไปดู เรานึกว่าหนังเรื่องนี้คงออกมาแนวเดียวกับ "ต้องปล้น" (1990, ชูชัย องอาจชัย) หรือ BAISE-MOI (2000, Virginie Despentes, Coralie Trinh-Thi) น่ะ เราเดาว่าคงเป็นเรื่องของสองหนุ่มที่มาเจอกัน แล้วกลายเป็นอาชญากร ทำอะไรที่รุนแรงบ้าระห่ำมากๆ

 

พอเข้าไปดูหนัง ช่วง 5 นาทีแรกเราก็ยังคงนึกว่า หนังมันจะออกมาแบบนั้น นึกว่าตัวละครมันต้องมารวมหัวกันทำอะไรที่รุนแรงมากแน่ๆ ปรากฏว่ามันไม่ทำแบบนั้นสักที ตัวละครมันใช้ชีวิตเรี่ยราด เมาหยำเป สำมะเลเทเมาไปเรื่อยๆตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง เราก็เลยชอบหนังอย่างสุดๆ เพราะมันผิดไปจากที่เราคาดไว้มากๆ 555

 

2.ชอบที่หนังไม่ได้เน้นตัวละครเอกแค่สองคนด้วย แต่เหมือนหนังค่อนข้างเกลี่ยบท ให้ความสำคัญกับตัวละครชายคนอื่นๆในกลุ่มมากกว่าที่คาด

 

3.สาเหตุนึงที่ทำให้เราชอบหนังเรี่องนี้มากๆ คือสาเหตุเดียวกับที่ทำให้เราชอบหนังเรื่อง EDEN (2014, Mia Hansen-Love, France) อย่างสุดๆ เพราะเรารู้สึกว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้นำเสนอชีวิตของตัวละครในระยะเวลาหลายปีแบบ "ปล่อยไปเรื่อยๆ" น่ะ แทนที่จะพยายามบิดเบือนชีวิตมนุษย์ให้เข้ากับโครงสร้างแบบ 3 องก์เหมือนหนังทั่วไป หรือพยายามสร้างเหตุการณ์ดราม่ารุนแรงเพื่อเร้าอารมณ์ผู้ชมแบบหนังทั่วไป หรือพยายาม manipulate อารมณ์ผู้ชมให้เป็นเส้นกราฟขึ้นๆลงๆตามแบบหนังทั่วไปน่ะ

 

เรารู้สึกว่าวิธีการเล่าชีวิตตัวละครแบบ "ไม่เค้น ไม่ดราม่ารุนแรง ปล่อยไหลไปเรื่อยๆ" แบบใน พันธุ์หมาบ้ากับใน EDEN มันดูสมจริงดีน่ะ แน่นอนว่ามันไม่ "สนุก" แบบหนังสูตรสำเร็จเรื่องอื่นๆ แต่วิธีการแบบนี้มันช่วยให้เราเห็นภาพชีวิตตัวละครได้อย่างสมจริงมากขึ้น เพราะชีวิตมนุษย์จริงๆหลายๆคนมันก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ "ไคลแม็กซ์เดียว" เป็นจุดศูนย์กลางของชีวิตอยู่แล้ว แต่เป็นชีวิตที่อาจจะไหลไปเรื่อยๆ เจอปัญหาใหญ่บ้างเล็กบ้างสลับกันไปเรื่อยๆ

 

4.สาเหตุสำคัญอีกอันที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ก็คือว่า เรารู้สึกว่าชีวิตของตัวละครในหนังมันแตกต่างจากหนังไทยทั่วไปที่เราได้ดูมาน่ะ เพราะมันดูเป็นปุถุชนคนธรรมดามากๆ มันไม่มีความเป็น hero อยู่ในตัวเลย มันไม่ได้เป็นนักศึกษาหนุ่มที่อยากออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท, มันไม่ได้มีคุณธรรมแบบตัวละครที่มักแสดงโดยสรพงษ์ ชาตรี, มันไม่ได้ซื่อแบบ “บุญชู” และมันก็ไม่ได้มีความเป็น “ผู้ร้าย” ชัดๆด้วย เราก็เลยรู้สึกว่าตัวละครในหนังเรื่องนี้มันดู “ใกล้” เรามากกว่าหนังไทยเรื่องอื่นๆที่ออกมาในยุคเดียวกัน โดยความ “ใกล้” ในที่นี้หมายถึงความที่มันดูเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้มีความดีงามโดดเด่น, ไม่ได้มีความเลวร้ายโดดเด่น และดูเหมือนไม่ได้มีเหตุการณ์ “ไคลแมกซ์” ในชีวิต

 

ซึ่งจริงๆแล้วเหตุการณ์ในชีวิตของตัวละครบางตัวมันก็รุนแรงนะ อย่างเช่นการฆ่าคนตาย หรือการนอกใจแฟน แต่เหมือนหนังไม่ได้พยายามบีบเค้นเอาอารมณ์จากเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้นน่ะ หนังทำเหมือนกับว่าเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้นเป็น “หนึ่งในมรสุมชีวิต” ที่พัดเข้ามา แล้วก็จะพัดออกไป

 

5.ดูแล้วทำให้นึกถึงชีวิตตัวเองมากๆด้วย คือเราอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตแบบตัวละครในหนัง แต่การใช้ชีวิตแบบไม่เป็นโล้เป็นพายของตัวละคร ทำให้เรานึกถึงตัวเองในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1990 มากๆ อย่างที่เราเคยเขียนไปแล้วว่า เราเคยเสพติดการเที่ยว DJ Station อย่างรุนแรง มีบางเดือนเราชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินเดือนไม่พอใช้ ต้องเอาของไปเข้าโรงจำนำ ต้องหยิบยืมเงินเพื่อนๆมาใช้ 

https://www.facebook.com/photo?fbid=10223870150765037&set=a.10223045281543822

 

พอได้ดู “พันธุ์หมาบ้า” เราก็เลยนึกถึงตัวเอง มันเหมือนตัวละครในพันธุ์หมาบ้ารักการกินเหล้าริมชายหาดมากๆ มากจนไม่ได้ตั้งใจทำงานหาเงินอย่างขยันหมั่นเพียรเหมือนคนทั่วๆไป ซึ่งก็เหมือนกับเราเมื่อ 25 ปีก่อนที่เสพติดการเที่ยวเธค มันเหมือนเป็นช่วงชีวิตของคนวัยหนุ่มสาวที่หลงติดกับความสุขบางอย่างมากเกินไป แต่ในที่สุดสภาพสังขารและเงื่อนไขต่างๆในชีวิตก็จะบีบให้เราต้องกลับมาตั้งใจทำงานหาเงินในที่สุด

 

ขอนอกเรื่องต่ออีกนิด คือนอกจาก “พันธุ์หมาบ้า” แล้ว fiction ของไทยอีกอันนึงที่เรารู้สึกว่าบันทึกช่วงชีวิตของเราในทศวรรษ 1990 ได้ดีที่สุด ก็คือละครทีวีเรื่อง “จุดนัดฝัน”  (1995, อิสริยะ จารุพันธ์) ที่เป็นเรื่องของหนุ่มสาวที่เพิ่งจบมหาลัย และเข้ามาทำงานในระบบทุนนิยมในสาขาอาชีพต่างๆกันไป และก็พบกับความผิดหวังมากมายในชีวิต

 

คือมองเผินๆแล้ว “จุดนัดฝัน” กับ “พันธุ์หมาบ้า” เหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกันน่ะ พันธุ์หมาบ้าเหมือนจะพูดถึงกลุ่มคนที่ไม่ยอมเข้าทำงานในระบบทั่วไป ไม่ได้ทำงานออฟฟิศ หรือเป็นลูกจ้างบริษัท แต่เน้นกินเหล้าริมชายหาดไปเรื่อยๆ หรือเปิดร้านขายของกิ๊กก๊อกไปเรื่อยๆ ส่วนจุดนัดฝันพูดถึงหนุ่มสาวที่เข้าไปทำงานในระบบทุนนิยม เพราะฉะนั้นหนังกับละครสองเรื่องนี้ก็เลยเหมือนพูดถึงคนที่เลือกเส้นทางชีวิตที่ดูเหมือนตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงในทศวรรษ 1990

 

แต่เราดูหนัง+ละครสองเรื่องนี้แล้วกลับเห็นตัวเองในทั้งสองเรื่อง 555 เพราะเราก็ทำงานออฟฟิศตั้งแต่ปี 1995 และเราก็เสพติดการเที่ยวเธคอย่างรุนแรงด้วย เพราะฉะนั้นหนัง+ละครทีวีสองเรื่องนี้ก็เลยทำให้เรานึกถึง “ชีวิตการทำงาน” และ “ชีวิตที่เสพติดความสำราญ” ของตัวเองในทศวรรษ 1990 ควบคู่กันไป

 


No comments: