Saturday, September 26, 2020

TESLA (2020, Michael Almereyda, A+30)

 

TESLA (2020, Michael Almereyda, A+30)

 

กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด

 

1.ติดอันดับประจำปีแน่นอน กราบขอบพระคุณใครก็ตามที่นำหนังเรื่องนี้เข้ามาฉาย หนังถูกจริตเรามากๆ ชอบสไตล์ของหนังอย่างสุดๆ นึกว่าหนัง essay film + Derek Jarman + Hans-Jürgen Syberberg และปรากฏว่าพอดูจบแล้วเรากลับร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงด้วย คือชอบทั้งสไตล์และผลกระทบทางอารมณ์ที่มีต่อตัวเราอย่างรุนแรง

 

2.เหมือนเป็นภาคต่อของ THE CURRENT WAR (2017, Alfonso Gomez-Rejon, A+30) แต่หนังออกมาคนละสไตล์กันเลย ซึ่งเราก็ชอบ THE CURRENT WAR มากๆ แต่ชอบ TESLA มากกว่า

 

ความชอบที่แตกต่างกันของเราที่มีต่อหนังสองเรื่องนี้ มันคล้ายๆกับความชอบของเราที่แตกต่างกันที่มีต่อ REIGN OF ASSASSINS (2010, Su Chao-Bin) และ THE ASSASSIN (2015, Hou Hsiao-hsien)  น่ะ คือเรารู้สึกกับ THE CURRENT WAR คล้ายๆกับที่รู้สึกกับ REIGN OF ASSASSINS นั่นก็คือมัน “สนุกสุดขีด” แต่หนังสองเรื่องนี้มันก็เล่าเรื่องแบบหนัง narrative ทั่วไป ในขณะที่เรารู้สึกกับ TESLA คล้ายๆกับที่รู้สึกกับ THE ASSASSIN นั่นก็คือ หนังสองเรื่องนี้มันเลือกที่จะ “ไม่เร้าอารมณ์ตื่นเต้น” แบบหนังทั่วไป แต่มันมีการแหกขนบการเล่าเรื่องในแบบของมันเอง และมันเหมือนเน้นจับ “โทนอารมณ์” บางอย่างที่ตัวผู้กำกับชื่นชอบเป็นหลัก ซึ่งโชคดีที่โทนอารมณ์ใน THE ASSASSIN และ TESLA มันมี wavelength ที่ตรงกับเราพอดีมากๆๆ

 

3.ชอบความ “ไม่ต้องปลอมตัวเป็นหนังพีเรียดอีกต่อไป” ของหนังเรื่องนี้มากๆ โดยผ่านทางการใส่ข้อมูลจากกูเกิลโดยตรง ซึ่งมันทำให้หนังเรื่องนี้มีลักษณะคล้าย essay film, การให้เอดิสันใช้โทรศัพท์มือถือในฉากนึง, การใส่ดนตรีที่ผิดยุคผิดสมัย และการใช้ฉากหลังที่เน้นความไม่สมจริง คือเราชอบหนังที่ไม่ต้องแคร์กับ “ความสมจริง” อะไรแบบนี้น่ะ มันถูกจริตกับเรามากกว่า

 

4.ชอบการใช้ฉากหลังแบบไม่สมจริงอย่างสุดๆ ดูแล้วนึกถึงหนังหลายๆเรื่องของ Hans-Jürgen Syberberg โดยเฉพาะ HITLER: A FILM FROM GERMANY (1977, 7hours 22min)

 

เราก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไม แต่เหมือนพอเราดูหนังแบบหนังของ Syberberg, หนังเรื่อง BREMEN FREEDOM (1972, Rainer Werner Fassbinder) และหนังเรื่องนี้ ที่เน้นการใช้ฉากหลังแบบไม่สมจริงเหมือนกัน (ซึ่งรวมถึง PERSONA (1966, Ingmar Bergman) ในบางฉาก) มันเหมือน trigger อะไรบางอย่างในหัวเราหรือในความรู้สึกของเราได้อย่างรุนแรงกว่าหนังทั่วๆไปที่ใช้ฉากหลังแบบสมจริงน่ะ มันเหมือนกับว่าการดูหนังแบบทั่วๆไปที่ใช้ฉากหลังแบบสมจริง มันทำให้เราเพริดไปกับเนื้อเรื่องและตัวละคร แต่มัน trigger อะไรบางอย่างในหัวเราไม่ได้ ในขณะที่หนังที่เน้นความไม่สมจริงอย่างจงใจแบบหนังของ Syberberg มัน trigger อะไรบางอย่างในหัวเราได้

 

5.ชอบความ minimal และการใช้เพลงแบบผิดยุคผิดสมัยด้วย ดูแล้วนึกถึงหนังหลายๆเรื่องของ Derek Jarman ทั้ง THE TEMPEST (1979), EDWARD II (1991) และ WITTGENSTEIN (1993)

 

6.ชอบ “ความไม่สมจริงทางบทสนทนา” ด้วย เพราะนางเอกพูดอะไรที่เป็นปรัชญาชีวิตตลอดเวลา และหนังก็ไม่แคร์อะไรอีกต่อไปในจุดนี้

 

7.เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือชอบความหม่นเศร้าของหนังเรื่องนี้ คือเหมือนแทนที่หนังเรื่องนี้จะเน้นความสนุกตื่นเต้น หนังกลับไปเน้นความหม่นเศร้าของชีวิตตัวละครแทน และเราก็รู้สึกว่าเกือบทุกตัวละครเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและผิดหวัง ทั้งเอดิสันและเทสลา และผู้หญิงสองคนที่เข้าใกล้เทสลา ซึ่งก็คือ Anne Morgan และ Sarah Bernhardt ต่างก็ได้รับแต่ความเจ็บปวดและผิดหวังจากเทสลาไป

 

8.ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง มันเหมือนหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกเศร้ากับโลกและชีวิตมนุษย์มั้ง คือเรารู้สึกว่าเทสลาในหนังเป็นคนไม่ค่อยน่าคบ แต่เขาก็ไม่ได้เป็นคนเลว คือเหมือนเขาเกิดมาเป็นคนแบบนี้เอง เกิดมาเพื่อหมกมุ่นกับการคิดประดิษฐ์สิ่งต่างๆเหล่านี้ จนทำให้ไม่มีใจที่จะรักคนอื่นๆ หรืออุทิศตัวให้กับความรักหญิงใด เพราะเขารักการประดิษฐ์คิดค้นมากกว่า และ “การประดิษฐ์คิดค้น” ก็คงไม่ยอมเป็น “เมียน้อย” ให้แก่หญิงใดในใจเขาแน่ๆ

 

และเราก็เศร้ากับชีวิตมนุษย์ที่มันเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์แบบ มันเหมือนกับว่า “ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น” สิ่งต่างๆของเทสลา เป็นทั้ง “พรสวรรค์” และ “คำสาป” ในเวลาเดียวกันน่ะ เทสลาสามารถคิดประดิษฐ์สิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกได้มากมาย แต่เหมือนความสามารถนี้ทำให้เขาหมกมุ่นกับมันมากเกินไป และมันก็เลยกลายเป็นเหมือนคำสาปที่ทำลายชีวิตเขาในที่สุด

 

คือเรารู้สึกว่าอะไรแบบนี้จริงๆแล้วเราสามารถเห็นได้ทั้งในตัวเองและคนอื่นๆนะ มันเหมือนกับว่าคนแต่ละคนจะมีความรักความหลงใหลในอะไรบางอย่าง ซึ่งมันให้ทั้งประโยชน์และโทษกับชีวิตเราได้ โดยมันมักจะให้โทษกับเรา เมื่อความหลงใหลนั้นกระตุ้นให้เราพยายามทำอะไรที่ใหญ่จนเกินตัว

 

ยกตัวอย่างง่ายๆก็อย่างเช่นตัวเราเองที่เคยหลงใหล “หนังทดลอง” มากๆ ซึ่งไอ้ความหลงใหลนี้มันก็ไม่เคยให้โทษอะไรกับเรา มันให้แต่ความสุขกับเรา จนกระทั่งในปี 2012 เราก็คิดที่จะเขียนบทความภาษาอังกฤษ MYSTERIOUS OBJECTS FROM THAILAND เพื่อพูดถึงหนังทดลองยุคนั้นในไทย โดยชวนเพื่อนคนอื่นๆมาเขียนด้วย ปรากฏว่าเขียนไปเขียนมาแล้วกูเครียดมาก จนอยากฆ่าตัวตาย เราก็เลยได้รับบทเรียนว่า เออ นี่แหละ ไอ้การทำอะไรแบบนี้มันเกิดความสามารถของเรา เราก็จะได้ไม่ทำอีก ไม่เขียนอะไรแบบนี้อีก เราก็เลยไม่ต้องฆ่าตัวตาย และมีชีวิตอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ 555

 

9.และเราก็เศร้ากับ “ความเป็นไปของโลก” ด้วย ที่คนแบบ Tesla, Van Gogh, Georges Méliès อะไรแบบนี้ ต้องใช้ชีวิตอย่างยากจนเข็ญใจ

 

คือก่อนหน้านี้เรามักคุ้นเคยแต่กับวลี “ศิลปินไส้แห้ง”นะ แต่จริงๆแล้ว “นักวิทยาศาสตร์บางคนก็ไส้แห้ง” เหมือนกัน โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์อย่างเทสลา โลกมันไม่ยุติธรรมจริงๆ

 

10.ฉากเทสลาที่สนามเทนนิส แล้วต่อด้วยฉากเทสลาร้องเพลง นี่มันเป็นอะไรที่หนักสุดๆสำหรับเรา คือเราร้องไห้ในช่วงสองฉากนี้แหละ

 

11.พอดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้อยากกลับไปดู THE PRESTIGE (2006, Christopher Nolan) อีกรอบ เพราะ Tesla เป็นตัวละครใน THE PRESTIGE

 

12.เสียดายที่เราเพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 3 ของ Almereyda ก่อนหน้านี้เราเคยดูแค่ TWISTER (1989) ที่เคยมาฉายที่ห้องสมุดธรรมศาสตร์ กับ HAMLET (2000) รู้สึกว่าหนังของเขาน่าสนใจมากๆ

 

อยากให้มีคนจัด retrospective หนังของ Michael Almereyda มากๆ เหมือนนักวิจารณ์บอกว่าหนังบางเรื่องของเขาจงใจเน้นความไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะความไม่ต่อเนื่องด้านบทสนทนา, ความไม่ต่อเนื่องด้านสไตล์ภาพ และความไม่ต่อเนื่องด้านการเล่าเรื่อง เหมือนเขารัก “ความไม่ต่อเนื่อง” มากเป็นพิเศษ ซึ่งเราว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจสุดๆ

No comments: