Sunday, September 20, 2020

SEBERG

 

INTRUDER (2020, Sohn Won-Pyung, South Korea, A+30)

 

SPOILER ALERT

--

--

--

--

--

1.อินมากๆ เหมือนเรามักจะอินกับตัวละครที่มี Cassandra Complex มั้ง นั่นก็คือตัวละครที่พูดความจริง แต่ไม่มีใครเชื่อ เราก็เลยอินกับพระเอกหนังเรื่องนี้มาก

 

2.ชอบที่มันเป็นเหมือนด้านกลับของ PARASITE เพราะตัวละครกลุ่มผู้ร้ายในหนังเรื่องนี้ ทำอะไรหลายๆอย่างคล้ายๆกลุ่มพระเอกใน PARASITE เลย นั่นก็คือการเข้ามาในบ้านคนรวย แล้วค่อยๆดึงพรรคพวกของตัวเองเข้ามาในบ้านคนรวยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผ่านทางคำโกหกและเล่ห์กลต่างๆ และผ่านทางการกำจัดแม่บ้านคนเก่าให้พ้นทาง

 

เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆตรงที่มันเหมือนจะเลียนแบบความสำเร็จของ PARASITE แต่ไม่ได้เลียนแบบอย่างโง่ๆ แต่เลียนแบบด้วยการเอาองค์ประกอบของ PARASITE มาพลิกคว่ำคะมำหงายไปในทางตรงกันข้าม

 

3.เหมือนหนังมันยำใหญ่หนังหลายเรื่องเข้ามาไว้ด้วยกัน เพราะนอกจาก PARASITE แล้ว เราก็นึกถึง HEREDITARY (2018, Ari Aster) ด้วย ในขณะที่การสะกดจิตในหนังก็ทำให้นึกถึง GET OUT (2017, Jordan Peele) และเงาดำคนหลายๆคนที่อยู่นอกบ้านก็ทำให้นึกถึง US (2019, Jordan Peele)  นอกจากนี้ เนื้อเรื่องประเภท “เราไว้ใจคนใกล้ตัวไม่ได้ เพราะเขาอาจจะเป็นฆาตกรโรคจิต” ก็ทำให้นึกถึงหนังฮอลลีวู้ดยุคปลายทศวรรษ 1980-ต้นทศวรรษ 1990 ด้วย พวกหนังประเภท THE HAND THAT ROCKS THE CRADLE (1992, Curtis Hanson) อะไรทำนองนี้ แต่หนังเรื่อง INTRUDER นี้มันเป็นการยำใหญ่ที่ไม่น่าเกลียด เหมือนมันผสมกันออกมาได้สนุกดี

 

SEBERG (2019, Benedict Andrews, A+30)

 

1.กราบ Jean Seberg คือก่อนหน้านี้เราเคยรู้ประวัติชีวิตเธอมาแล้วจากหนังสารคดีเรื่อง FROM THE JOURNALS OF JEAN SEBERG (1995, Mark Rappaport) เราก็เลยสงสัยว่าหนังเรื่อง SEBERG นี้จะให้ข้อมูลใหม่อะไรกับเราไหม ซึ่งหนังก็ไม่ได้ให้ข้อมูลใหม่อะไรกับเรามากนัก แต่พอหนังเรื่องนี้มันนำเสนอชีวิตการต่อสู้กับรัฐบาลสหรัฐของ Jean Seberg ในรูปแบบของหนัง fiction มันก็เลยเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของเธอ และความเจ็บปวดของเธอได้อย่างลึกซึ้งมากๆ ในขณะที่หนังสารคดีมันสร้างระยะห่างทางอารมณ์ระหว่างเรากับตัว subjectมากกว่า

 

2.ชอบผู้หญิงหัวแข็งแบบนี้มากๆ ชอบที่ Seberg พยายามช่วยเหลือกลุ่ม Black Panther ที่เรียกร้องสิทธิคนดำในยุคนั้นด้วยการทำตัวเป็นท่อน้ำเลี้ยงเธอนำเงินจำนวนมากที่เธอหามาได้ไปบริจาคให้กับกลุ่ม Black Panther แต่ทางรัฐบาลสหรัฐมองว่ากลุ่ม Black Panther เป็นกลุ่มก่อการร้าย ทางรัฐบาลสหรัฐก็เลยส่งคนมาดักฟังเธอ และพยายามหาทางกลั่นแกล้งเธอต่างๆนานา จนทำให้เธอมีอาการทางจิตและเกือบจะกลายเป็นบ้า

ไม่นึกมาก่อนว่ารัฐบาลสหรัฐจะเหี้ยขนาดนี้ คือในแง่นึงมันก็ตรงข้ามกับ BLACKKKLANSMAN (2018, Spike Lee) ที่สร้างจากเรื่องจริงเหมือนกัน เพราะ BLACKKKLANSMAN นำเสนอภาพ “เจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐ” ว่าเป็นคนดีที่พยายามต่อสู้กับพวก Klu Klux Klan แต่ SEBERG ที่สร้างจากเรื่องจริงเหมือนกันแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่เอฟบีไอในยุคนั้นมองว่า “พวกที่เรียกร้องสิทธิคนดำ” ถือเป็นผู้ก่อการร้าย และใครที่สนับสนุน “ผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน” เหล่านี้ก็ควรถูกทำลายด้วยวิธีการต่างๆกันไป ซึ่งรวมถึงดาราภาพยนตร์ด้วย

 

3.ฉากเอฟบีไอกินข้าวกับครอบครัวเป็นฉากที่ค้างคาในความรู้สึกเรามากๆ รู้สึกว่ามันโหดมาก ถึงแม้มันจะโหดแบบ clicheในการ portray ภาพพวก อนุรักษ์นิยม/บูชาปิตาธิปไตยก็ตาม

 

4.อีกปัจจัยที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะเราเหมือนเติบโตมากับความหวาดกลัว “เครื่องดักฟัง” ตั้งแต่เด็กๆ หรือตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ซึ่งเราก็ถูกปลูกฝังความกลัวเรื่องนี้มาจากเพื่อนๆในโรงเรียนมัธยมนั่นแหละ แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า “ความหวาดระแวงว่าจะมีเครื่องดักฟังติดอยู่ตามจุดต่างๆ” นั้น มันมีสาเหตุมาจากไหนกันแน่ และคนรุ่นถัดๆจากเราเป็นเหมือนเราหรือเปล่า

 

อย่างน้อยหนังเรื่องนี้ก็ช่วยให้เราอุ่นใจ หรือไม่ก็ทำให้เราหวาดระแวงมากยิ่งขึ้นว่า “ความหวาดกลัวเครื่องดักฟัง” ที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นั้น มันไม่ใช่เรื่องเหลวไหลไร้สาระ แต่มันเป็นเรื่องจริง 555 กูไม่ได้หวาดระแวงไปเอง

 

หรือบางทีคนรุ่นถัดๆจากเรา เขาอาจจะเติบโตมากับ “การรับรู้ว่ามีกล้องวงจรปิด” จับตาดูอยู่ก็ได้มั้ง และคนรุ่นถัดจากนั้น ก็เติบโตมากับ “การรับรู้ว่าข้อมูลในคอมพิวเตอร์อาจจะถูก hack ได้” มันก็เลยเป็นความหวาดระแวงที่แตกต่างจากคนรุ่นทศวรรษ 1980 ไปอีกแบบนึง คือเหมือนความหวาดระแวงพวกนี้มัน “จำกัดควบคุมการแสดงออกของเราในทางอ้อมตั้งแต่เด็ก”น่ะ  แต่คิดว่าคนแต่ละรุ่นอาจจะ “หวาดระแวงตั้งแต่เด็ก” ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป อย่างรุ่นเราก็หวาดกลัวเครื่องดักฟัง แต่เรายังไม่ได้หวาดกลัวกล้องวงจรปิดหรือการบันทึกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก

 

5.อันนี้ไม่เกี่ยวกับหนังโดยตรง แต่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญที่ตลกดี เพราะในหนังสารคดีเรื่อง FROM THE JOURNALS OF JEAN SEBERG นั้น หนังมีการเปรียบเทียบชีวิตแบบโศกนาฏกรรมของ Jean Seberg กับ Romy Schneider เข้าด้วยกัน

 

เพราะฉะนั้นตอนที่เราดู SEBERG เราก็เลยนึกถึง FROM THE JOURNALS OF JEAN SEBERG แล้วก็นึกถึง Romy Schneider แล้วก็นึกถึงหนังที่พูดถึงชีวิตรันทดของ Romy Schneider ซึ่งก็คือหนังเรื่อง THREE DAYS IN QUIBERON (2018, Emily Atef, Germany, A+30) ซึ่งก็เคยเข้าฉายที่ Bangkok Screening Room  เหมือนกันด้วย รู้สึกขอบคุณ Bangkok Screening Room มากๆที่นำหนังแบบ SEBERG และ THREE DAYS IN QUIBERON มาฉาย

No comments: