Tuesday, September 15, 2020

SNATCHER

 BLAZING FLOWER ดอกแย้มบาน (2020, Peeradon Atiroj, 37min, A+30)


1.ชอบการที่หนังเหมือนผสม genre เข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือ genre หนังเด็กชนบทไทย และอาจจะแอบมีความ homoerotic แบบ "ยามน้ำฟ้า ตกมาสู่เฮา"  (2017, Watjakorn Hankoon) กับ genre หนังลึกลับสยองขวัญ และหนังเรื่องนี้ก็ผสมกันออกมาได้ดี นุ่มนวล และมีความ unique  เป็นตัวของตัวเอง

2.เหมือนเป็นหนัง ปอบ เรื่องแรกที่ออกมาในแบบ เพื่อนรัก อบอุ่น แบบนี้ เพราะหนังปอบเรื่องอื่นๆที่เราเคยดูมา แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ซึ่งก็คือ กลุ่มหนังสยองขวัญ, กลุ่มหนังตลก กับกลุ่มหนังสะท้อนสังคม หนังเรื่องนี้ก็เลยเป็นหนังปอบเรื่องแรกที่ออกมาในโทนอบอุ่นแบบนี้

3.แต่ปอบในเรื่องนี้ก็มีลักษณะแตกต่างไปจากหนัง/ละครเรื่องอื่นๆนะ เพราะปอบในหนังเรื่องอื่นๆมักจะเข้าสิงมนุษย์ และใช้ร่างมนุษย์เป็น "กายหยาบ" ในการกระทำต่างๆ แต่ปอบในหนังเรื่องนี้เหมือนอยู่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นกายหยาบ/กายทิพย์

4.ตอนแรกเราไม่ได้คิดอะไร แต่ชอบมากที่คนดูบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ปอบในหนังอาจจะเป็นเพียงเพื่อนในจินตนาการก็ได้ เพราะพอพระเอกเริ่มเข้ากับพ่อได้ ปอบก็จากไป มันก็เลยเหมือนกับว่า ปอบเป็นสิ่งที่พระเอกจินตนการขึ้นมาเพื่อคลายความเปล่าเปลี่ยวเท่านั้น

SNATCHER (2020, Chaipat Eamraksa, 30min, A+30)

1.ชอบสุดๆ อย่างแรกเลยชอบที่หนังพูดถึงการทำงานตัดต่อ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยเจอในพระเอก/นางเอกหนัง

2.ชอบการตีแผ่การขโมยไอเดียกันในวงการภาพยนตร์

3.สิ่งที่ชอบมากๆคือการที่หนังมาใน genre แนว "การแข่งขัน" ที่ไม่ใช่กีฬา ซึ่งจริงๆแล้วมันเป็น genre ที่เราชอบสุดๆ เพราะเราเติบโตมากับการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นทำนองนี้ แต่เสียดายที่มันไม่ค่อยมีการทำหนังแนวนี้ออกมา ยกเว้นหนังเกี่ยวกับ "การแข่งขันกีฬา"  "การแข่งขันเต้นรำ step dance" และการแข่งขันกันทำอาหาร

คือตอนเด็กๆเราเติบโตมากับการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นที่นางเอกต้องพัฒนาตัวเองอย่างสุดฤทธิ์เพื่อจะได้คว้าบทนำในการแสดงละครเวที (หน้ากากแก้ว), บัลเล่ต์ (หงส์ฟ้า) หรือเพื่อได้รับเลือกให้ได้ตำแหน่งดีๆในอาชีพต่างๆ อย่างเช่น ตากล้อง (ตากล้องยอดรัก), พิธีกรรายการโทรทัศน์ (ยอดรักจอแก้ว), ช่างตัดผม (สู้เขามายูโกะ) ฯลฯ อะไรทำนองนี้น่ะ  ซึ่งนางเอกในการ์ตูนเหล่านี้ก็มักจะต้องแข่งขันกับคู่แข่งภายใต้ "โจทย์เดียวกัน" แต่ต้องตีความออกมาให้ได้แตกต่างกัน อย่างใน สู้เขามายูโกะ นางเอกกับเหล่าคู่แข่งก็ต้องดู "คลิปม้าหมุนในสวนสนุก" แล้วผู้แข่งขันแต่ละคนก็ต้องออกแบบทรงผมโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากคลิปม้าหมุนนั้น อะไรทำนองนี้

เราก็เลยชอบมากที่หนังเรื่องนี้คิดพล็อตให้ตัวละครแข่งขันกัน "ตัดต่อ footage" เราว่ามันเป็นพล็อตที่สนุกมาก ลุ้นมากสำหรับเรา และมันทำให้นึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราเคยอ่านตอนเด็กๆด้วย

THANKS FOR SAVING MY LIFE ชีวิตนี้ฉันมีเธอดั่งความฝัน (2020, Ploychompu Dejprdang, documentary, A+30)

จริงๆแล้วรู้สึกว่าหนังมันยังไม่ครบ 555 เหมือนมันน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ เพราะการสัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 2 คน แล้วนำเสนอออกมาเท่านี้ มันยังดูขาดๆอะไรบางอย่าง

แต่สาเหตุที่ชอบหนังสุดๆเพราะเหตุผลส่วนตัวมากๆ เพราะผู้ให้สัมภาษณ์คนนึงในหนังพูดในทำนองที่ว่า เธอมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อแมวตัวนั้นของเธอ คือเหมือนเธอใช้แมวตัวนั้นเป็นหลักยึดเหนี่ยวให้ตัวเองมีกำลังใจมีชีวิตอยู่ต่อไป ใช้แมวตัวนั้นเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า "ตอนนี้ฉันมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร"

 พอดูฉากนี้เราก็เลยนึกถึงตัวเองมากๆ เพราะถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า เราก็ใช้กลไกทางจิตคล้ายๆกันนี้ในการหลอกตัวเองให้มีชีวิตอยู่ต่อไปเหมือนกัน อย่างที่เราเคยเขียนไปแล้วว่า เราชอบจินตนาการให้ตุ๊กตาหมีของเราพูดกับเราว่า "คุณแม่ช่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหนึ่งวันเพื่อผมนะครับ" แล้วพอเราจินตนาการว่าตุ๊กตาหมีพูดแบบนี้กับเรา เราก็จะมีกำลังใจมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหนึ่งวัน แล้วเราก็หลอกตัวเองมาได้นานหลายปีแล้ว 555

สรุปว่า หนังเรื่องนี้อาจจะดู "ขาดๆ" ในสายตาของเรา แต่ก็มีจุดนั้นในหนังที่โดนเราอย่างสุดๆ

No comments: