Friday, June 24, 2022

WHAT SHE LIKES (2021, Shogo Kusano, Japan, A+30)

 

WHAT SHE LIKES (2021, Shogo Kusano, Japan, A+30)

 

Spoilers alert

--

--

--

--

--

 

1.เราได้ดูหนังเรื่องนี้ในวันที่ 21 พ.ค. แต่เพิ่งมีเวลาเขียนถึง เป็นหนึ่งในหนังที่ดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง ประทับใจอย่างสุดๆ เป็นเพราะหนังมันทำให้นึกถึงชีวิตของตัวเราเองอย่างมาก ๆ

 

2.สำหรับเรา มันเป็นหนังที่เหมือนเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง “ความเจ็บปวด” กับ “แฟนตาซี” น่ะ อาจจะคล้ายกับสิ่งที่เรารู้สึกกับหนังเรื่อง  TORCH SONG TRILOGY (1988, Paul Bogart) ซึ่งเป็น one of my most favorite gay films of all time ที่เหมือนเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง “ความเจ็บปวด” กับ “แฟนตาซี” สำหรับเราเหมือนกัน

 

เรารู้สึกว่าสำหรับเราแล้ว หนังเกย์หลาย ๆ เรื่องมันตอบสนองแฟนตาซีของเราได้ดีน่ะ โดยเฉพาะหนังเกย์ในยุคหลัง ๆ ซึ่งเป็นหนังที่สร้างขึ้นในยุคที่สังคมเปิดรับความเป็นเกย์มากขึ้น หนังที่สร้างขึ้นในยุคหลัง มันก็เลยสะท้อนสภาพสังคมตรงนั้น สังคมที่เปิดกว้างแล้ว เราดูแล้วก็ได้แต่อิจฉาเด็ก ๆ รุ่นใหม่ที่เกิดช้ากว่าเรา เราดูแล้วก็ได้แต่จินตนาการว่า ถ้าหากเราเกิดช้ากว่านี้สัก 20 ปี เราจะมีความสุขสักแค่ไหนนะ

 

คือถึงแม้เราจะชอบหนังเกย์ยุคใหม่มาก ๆ โดยเฉพาะการที่มันตอบสนองแฟนตาซีของเรา แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะขาดหายไปก็คือว่า หนังเกย์ยุคใหม่หลาย ๆ เรื่องจะไม่สามารถตอบสนองเราในแง่การทำให้เรา relate กับความเจ็บปวดของตัวละครได้มากเท่าหนังเกย์ยุคเก่าน่ะ เพราะความเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่เราเคยเจอในวัยเด็ก เป็นสิ่งที่ตัวละครในหนังเกย์ยุคใหม่หลาย ๆ เรื่อง (แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง) อาจจะไม่ต้องประสบพบเจออีกแล้ว สังคมมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว พวกเขาอาจจะไม่ต้องเจ็บปวดแบบเราอีก

 

เพราะฉะนั้นพอเราได้เจอ WHAT SHE LIKES ที่หันมาโฟกัสที่ความเจ็บปวดตรงจุดนี้อย่างเต็มที่ เราก็เลยร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง มันเหมือนเป็นสิ่งที่ THE CORNERED MOUSE DREAMS OF CHEESE (2020, Isao Yukisada) และ PORNOGRAPHER THE MOVIE: PLAYBACK (2021, Koichiro Miki) ไม่สามารถมอบให้ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของหนังสองเรื่องนี้นะ เพราะเราก็ชอบหนังสองเรื่องนี้อย่างสุด ๆ เหมือนกัน และเราก็ต้องการจะเห็นหนังเรื่องต่าง ๆ ตอบสนองเราในจุดที่แตกต่างกันไปน่ะแหละ เราต้องการจะดูทั้งหนังที่นำเสนอ “ชีวิตของคนอื่น ๆ ที่ไม่เหมือนกับเรา” และเราก็ต้องการจะดูหนังที่นำเสนอ “ชีวิตของตัวละครที่มีความคล้ายคลึงกับชีวิตของเรา เจ็บปวดทุกข์ทรมานเหมือนเรา” ด้วย ซึ่ง WHAT SHE LIKES ก็เข้าข่ายกลุ่มหลังนี้ มันก็เลยอาจจะโดดเด้งขึ้นมาจากหนังเกย์ยุคหลัง ๆ ที่อาจจะตอบสนองแฟนตาซีของเรา แต่ไม่ได้ relate กับความเจ็บปวดของเราอีก

 

3.แต่เราก็มองว่าทั้ง WHAT SHE LIKES และ TORCH SONG TRILOGY มันก็ตอบสนอง “แฟนตาซี” ของเราไปด้วยในเวลาเดียวกันนะ ไม่ได้มีแค่ความเจ็บปวดอย่างเดียว 55555 เพราะพระเอกของ WHAT SHE LIKES หล่อมาก เพราะฉะนั้นการหาผัวของเขาก็เลยเป็นเรื่องง่าย ส่วนตัวละครเอกของ TORCH SONG TRILOGY ก็ได้ผัวหนุ่มหล่อถึงสองคน เพราะฉะนั้นถึงแม้ตัวละครนำของทั้งสองเรื่องนี้จะเจ็บปวดคล้ายกับเรา พวกเขาก็มีชีวิตที่ดีกว่าเราในบางด้าน เป็นแฟนตาซีให้เราอิจฉาได้เหมือนกัน

 

4.อีกสิ่งหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจมาก ๆ ใน WHAT SHE LIKES ก็คือการที่พระเอกเหมือนจะมีความเป็น bisexual อยู่ในตัวด้วย เขาก็เลยสับสน งง ๆ คือเขารู้ตัวว่าเขาชอบมีเซ็กส์กับผู้ชายแน่ ๆ แต่เขาไม่แน่ใจว่าเขาจะรู้สึกแบบนั้นกับผู้หญิงด้วยหรือเปล่า ความไม่แน่ใจของเขาตรงจุดนี้ก็เลยทำให้เขาต้องทดลองสำรวจตรงจุดนี้ และมันก็นำมาซึ่งความเจ็บปวดของตัวละครหลาย ๆ ตัว ซึ่งเราก็เห็นใจทั้งพระเอกและนางเอกนะ คือถ้าหากพระเอกรู้เลยว่าตัวเองไม่ต้องการมี sex กับผู้หญิง หรือถ้าหากพระเอกรู้ตัวเองเลยว่า ตัวเองมี sex ได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง มันก็จะไม่ต้องนำมาซึ่งเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ แบบในหนังเรื่องนี้

 

5. แต่หนังก็มีจุดที่เราไม่ relate ด้วยอยู่เหมือนกันนะ ซึ่งก็คือฉาก speech ของนางเอก ที่เราว่ามันเหมือนหนังเมื่อ 20-30 ปีก่อนแบบ GET REAL (1998, Simon Shore, UK) ที่เราว่ามันดูโอเวอร์เกินไป และที่แน่ ๆ ก็คือการปกปิดตัวตนของเราในบางสถานการณ์ มันไม่ได้เกิดจากเหตุผลแบบที่นางเอกพูดบนเวทีน่ะ คือนางเอกบอกว่า พระเอกปกปิดตัวตน เพราะเห็นใจสังคม ต้องการลด friction ในสังคม ซึ่งก็โอเค มันก็เป็นเรื่องของพระเอกน่ะนะ แต่การที่เราเคยปกปิดตัวตนของเราในบางสถานการณ์ มันไม่ได้เกิดจากเหตุผลเดียวกับพระเอกแน่ ๆ ค่ะ มันเกิดจากความต้องการมีชีวิตรอดน่ะค่ะ

 

อีกจุดที่เราไม่ relate ก็คือว่า เรารู้สึกว่าตัวละคร Ono (Ryota Miura) ได้รับการลงโทษน้อยเกินไป

 

6. ต่อไปนี้เป็นการพูดถึงจุดที่หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึก relate เป็นการส่วนตัว

 

6.1 กลายเป็นว่า ตัวละครที่เราอาจจะ relate ด้วยได้มากที่สุดใน WHAT SHE LIKES ก็คือตัวละครที่ฆ่าตัวตายน่ะ เราชอบสุด ๆ ที่หนังใส่ตัวละครตัวนี้เข้ามาด้วย เหมือนหนังเรื่องนี้ไม่ลืมว่า มันมีคนที่คล้าย ๆ เราอยู่บนโลกนี้ด้วย

 

6.2 การที่พระเอกรู้สึกอยากมีลูก หรืออะไรทำนองนี้ ก็ทำให้เรานึกถึงเกย์บางคนที่เรารู้จักเมื่อ 30 ปีก่อนนะ เหมือนเกย์บางคนขณะที่ยังเป็นวัยรุ่น ก็เหมือนจะสับสนอยู่เหมือนกันว่า หลังจากนี้จะใช้ชีวิตแบบเป็นเกย์อย่างเปิดเผย หรือจะปกปิดตัวเองและแต่งงานกับผู้หญิงดี เพราะพวกเขาก็รู้สึกอยากมีลูกอยู่เหมือนกัน ซึ่งตัวเราเองไม่เคยรู้สึกสับสนแบบนี้ แต่เพื่อน ๆ เกย์บางคนที่เรารู้จักเคยรู้สึกสับสนแบบนี้ขณะยังเป็นวัยรุ่น หนังเรื่องนี้ก็เลยทำให้เรานึกถึงจุดนี้

 

6.3 ตัวละครคู่รักของพระเอก ก็ทำให้นึกถึงเกย์บางคนที่เราเคยเจอเมื่อ 20 กว่าปีก่อน 55555 เหมือนตอนนั้นเราเคยคุยออนไลน์กับเกย์ฝรั่งคนนึงที่เขามีลูกเล็ก ๆ อยู่คนนึง ช่วงนั้นเราก็เลยแอบจินตนาการว่า ถ้าหากเราได้เขาเป็นผัว เราก็ต้องกลายเป็น “แม่เลี้ยง” สินะ ต้องคอยดูแลลูกติดของเขา แล้วเราจะเข้ากับ “ลูกเลี้ยง” ได้ไหมนะ 55555 แต่หลังจากนั้นเรากับเขาก็ไม่ได้คุยกันอีก จบ

 

7. ส่วนฉากในหนังที่ทำให้เราร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงที่สุด ก็คือฉากที่เรียวเฮ เพื่อนสนิทของพระเอก (Oshiro Maeda) ไม่ทอดทิ้งพระเอกหลังจากรู้ว่าพระเอกเป็นเกย์นี่แหละ ฉากนั้นมันซึ้งสุด ๆ เลยสำหรับเรา หลงรักผู้ชายแบบเรียวเฮมาก ๆ ค่ะ

 

LONG DAY’S JOURNEY INTO NIGHT (2018, Bi Gan, China, A+30)

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

1. ดูมานานแล้ว แต่ไม่มีเวลาเขียนถึง ก็เลยไม่รู้ว่าตัวเองจำอะไรผิด ๆ ถูก ๆ ไปมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราจำอะไรตรงไหนผิดไป ก็ comment มาได้เลยนะ ดูแล้วก็รู้สึกตกตะลึงพรึงเพริด รู้สึกว่าหนังงดงามมาก ๆ ช่วงครึ่งหลังของหนังนี่มันมหัศจรรย์จริง ๆ ไม่รู้ว่าถ่ายทำได้ยังไง

 

2. ชอบ Huang Jue มาก ๆ ตรงสเปคมาก ๆ ฉันรักเขา 55555

 

3.พอหนังใช้โครงสร้างการเล่าเรื่องเป็นแบบนี้ ก็เลยทำให้นึกถึงทั้ง LOST HIGHWAY (1997, David Lynch) และ TROPICAL MALADY (2004, Apichatpong Weerasethakul) ที่มีการแบ่งเป็นครึ่งแรกกับครึ่งหลังเหมือนกัน และทั้งสองส่วนเหมือนมีอะไรบางอย่างที่ล้อกัน มีความทับซ้อนกันระหว่างความจริงกับความฝัน หรืออะไรทำนองนี้

 

4.ชอบดนตรีที่เหมือนเพลงสวดในช่วงครึ่งหลังมาก ๆ เหมือนดนตรีนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกตอนที่พระเอกโรยตัวลงไปที่หมู่บ้าน และเราก็ได้ยินดนตรีนี้อีก 2-3 ครั้งมั้งในเวลาต่อมา

 

5.ชอบที่พระเอกให้นาฬิกากับนางเอก แล้วนางเอกบอกว่านาฬิกามันเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนิรันดร์ แต่นางเอกให้ “ไฟเย็น” กับพระเอก แล้วบอกว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วครู่ชั่วยาม

 

เหมือนจุดนี้ของหนังทำให้เรานึกถึงประเด็นที่ชอบสุด ๆ ที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจพูดถึงแต่อย่างใดน่ะ นั่นก็คือเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยาม จบสิ้นไปแล้ว แต่ “ความทรงจำ” ของเราที่มีต่อเหตุการณ์นั้น บางทีมันคงอยู่ตลอดไปอาจจนกระทั่งถึงวันตายของเราน่ะ เหมือนความทรงจำของเราทำให้ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยามในอดีต” ดำรงอยู่ตลอดไปจนถึงวันตายของเรา เหมือนมันยังไม่จบไม่สิ้น เป็นนิรันดร์สำหรับเรา

 

เหมือนเราที่รู้สึกว่า ช่วงปี 1989-ต้นปี 1990 เป็นช่วงที่เรามีความสุขที่สุดในชีวิตน่ะ เป็นปีที่เราเรียนม.4-ม.5 ช่วงสุดท้ายที่เราได้ใช้ชีวิตมัธยม คือเหตุการณ์ในตอนนั้นมันจบสิ้นไปแล้วในเดือนเม.ย. 1990 เมื่อเราเริ่มสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาลัย มันอาจจะเป็นเหตุการณ์ชั่วครู่ชั่วยาม ดำเนินอยู่เพียงแค่ราว 15 เดือน จบสิ้นไป 32 ปีแล้ว แต่มันยังไม่เคยจบสิ้นลงเลยในความทรงจำของเรา เรายังคงนึกถึงช่วงเวลาในปี 1989 อยู่เสมอ ราวกับว่าปี 1989 มันกลายเป็นนิรันดร์ไปแล้วในความทรงจำของเรา เรายังคง replay มันอยู่เสมอในหัวสมอง ในใจ ในความทรงจำของเรา ปี 1989 สำหรับเรา มันก็เลยเป็นทั้ง “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยาม” ในความเป็นจริง แต่มีความเป็นนิรันดร์อยู่เสมอในใจเรา

 

ก็เลยชอบจุดนี้ของหนังอย่างสุด ๆ ที่มันทำให้เรานึกถึงความจริงข้อนี้ของชีวิตมนุษย์หรือของชีวิตเราขึ้นมา ถึงแม้หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจแต่อย่างใด

 

6.ในส่วนของครึ่งแรกของหนังนั้น ดูแล้วงงมาก ๆ ค่ะ จับต้นชนปลายอะไรไม่ถูกเลย รู้สึกว่าตัวเองคงต้องเข้าใจเนื้อเรื่องของหนังผิดไปจากความเป็นจริงมาก ๆ แน่ ๆ เราก็เลยคิดว่า เราจะพยายามจดไว้ก่อนแล้วกันว่าเราจำอะไรได้จากครึ่งแรกของหนังบ้าง เผื่อเราจำผิดหรือเข้าใจผิดอะไรตรงไหน เพื่อน ๆ จะได้ช่วยบอกเราได้

 

สิ่งที่เรายังพอจำได้ในตอนนี้

 

-- ตอนที่พระเอกยังเด็กๆ แม่ของพระเอกชอบไปขโมยน้ำผึ้งป่าของเพื่อนบ้านมากิน หรืออะไรทำนองนี้

 

การพูดถึงน้ำผึ้งป่าในช่วงครึ่งแรก ทำให้เรานึกถึงคบเพลิงที่ตัวละครหญิงผมแดง (จางอ้ายเจีย) ถือในช่วงครึ่งหลังด้วย เพราะคบเพลิงเหมือนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาน้ำผึ้งป่า

 

--แม่พระเอกบอกพระเอกว่า คนที่กินแอปเปิลจนหมดลูก คือคนที่มีความทุกข์มาก หรืออะไรสักอย่าง เราอ่าน subtitle ตรงนี้ไม่ทัน แล้วภาพของหนังก็ฉายให้เห็น Wildcat กินแอปเปิลจนหมดลูก โดยมีผู้หญิงคนนึงซบอยู่ที่ไหล่ของ Wildcat เราไม่แน่ใจว่าผู้หญิงคนนั้นคือ Pager ที่ช่วยพระเอกตามหาคนหรือเปล่า

 

แล้วในช่วงครึ่งหลัง เราก็เหมือนเห็นพระเอกกินแอปเปิลจนหมดลูกมั้ง

 

--ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด นางเอก หรือ Wan Qiwen เป็นเพื่อนสนิทกับผู้หญิงคนนึง (Yanmin Bi) ตอนเป็นวัยรุ่น ทั้งสองได้แอบลักลอบเข้าไปในบ้านของคู่รักคนนึงตอนที่คู่รักไม่อยู่ เพื่อกะจะขโมยของ แต่คู่รักเกิดกลับเข้าบ้านมาพอดี นางเอกกับเพื่อนก็เลยหยิบสิ่งของมาได้แค่นิดเดียว แล้ววิ่งหนีเข้าไปในป่า ปรากฏว่านางเอกหยิบได้หนังสือปกเขียวมา มีคำกลอนในหนังสือ เหมือนกับว่าถ้าใครอ่านคำกลอนนี้แล้วบ้านจะหมุนได้ หรืออะไรทำนองนี้

 

หลังจากนั้นนางเอกกับเพื่อนก็แยกย้ายกันไปตามเส้นทางชีวิตของแต่ละคน นางเอกเคยแวะมาเยื่ยมเพื่อน แล้วให้รูปถ่ายของตัวเองไว้ แต่ต่อมาเพื่อนคนนี้ที่เป็นมิจฉาชีพ ก็ติดคุก โดยที่เธอเอารูปถ่ายนางเอกเข้าคุกไปด้วย คนในคุกเห็นรูปนี้ก็บอกว่า รูปนี้ถ่ายแถวร้านนี้ที่เมือง Kaili มั้ง เพื่อนนางเอกก็เลยส่งรูปนี้ไปยังร้านดังกล่าว เพื่อหวังว่าจะได้ติดต่อนางเอกอีก โดยเขียนชื่อตัวเองกับเบอร์โทรศัพท์ของเรือนจำไว้หลังรูปด้วย โดยที่ร้านนั้นเป็นร้านของพ่อพระเอก

 

--พระเอกมีเพื่อนสนิทชื่อ Wildcat แล้วก็มีมาเฟียชื่อ Zuo Hongyuan ยืมปืนที่เคยเป็นของพ่อของ Wildcat ไปใช้ฆ่าคนมั้ง แล้ว Wildcat ก็เลยจะใช้ปืนนี้ blackmail Zuo มั้ง

 

พระเอกเพิ่งหย่าจากเมีย ก็เลยมีอาการใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว Wildcat มาบอกให้พระเอกช่วยขนเกวียนใส่แอปเปิลหรืออะไรสักอย่าง แต่พระเอกดันลืม แล้วต่อมาพระเอกก็พบว่า Wildcat ถูก Zuo ฆ่าตาย แล้วพระเอกก็พบปืนกระบอกนึงซ่อนอยู่ในเกวียนใส่แอปเปิลนั้น

 

พระเอกก็เลยคิดจะแก้แค้นให้ Wildcat มั้ง แต่ Zuo หายไปจากเมือง เขาก็เลยสะกดรอยตามแฟนของ Zuo ไป ซึ่งก็คือนางเอก นางเอกบอกว่าไม่รู้เหมือนกันว่า Zuo หายไปไหน พระเอกถามนางเอกว่า เธอคือคนเดียวกับผู้หญิงในรูปถ่ายที่ถูกส่งมาที่ร้านของพ่อของเขาหรือเปล่า เพราะลิปสติกของผู้หญิงในรูปถ่ายมันเลอะ ๆ ปากเหมือนกัน แต่นางเอกไม่ได้ตอบรับ เหมือนเธอจะให้หนังสือปกเขียวกับพระเอกด้วย แล้วไป ๆ มา ๆ พระเอกกับนางเอกก็รักกัน จนเธอตั้งท้อง และไปทำแท้ง พระเอกบอกว่าถ้าหากเขามีลูก เขาจะสอนให้ลูกเล่นปิงปอง และตั้งชื่อลูกว่า Wildcat

 

Zuo กลับมาในเมือง และจับพระเอกไปทรมาน และหยุมหัวนางเอก พร้อมกับที่เขาร้องเพลงคาราโอเกะไปด้วย

 

พระเอกกับนางเอกวางแผนจะฆ่า Zuo ในโรงหนัง โดยจะยิง Zuo ตอนที่ตัวละครยิงกันในจอหนังพอดี เพื่อให้เสียงปืนมันดังจังหวะเดียวกัน พระเอกชวนนางเอกว่าให้หนีไปด้วยกัน หลังจากนั้นพระเอกก็ฆ่า Zuo ตายในโรงหนังมั้ง แต่นางเอกหายไปไหนไม่รู้ ไม่ได้หนีไปด้วยกันกับพระเอก

 

ไม่แน่ใจว่าเรื่องราวระหว่างพระเอกกับนางเอกเกิดขึ้นในปี 2000 หรือเปล่า เหมือนเราจำได้ราง ๆ ว่า มันมีการพูดว่าปีนี้เป็นปี 2000 แต่เราจำไม่ได้ว่า มันเป็นฉากไหนที่ตัวละครพูดกันถึงปี 2000

 

พระเอกเดินทางออกจากเมืองไปราว 10 ปีหรือเปล่า เราไม่แน่ใจ ไปทำงานเป็นผู้จัดการคาสิโน พอพ่อของเขาตาย เขาก็เลยกลับมาเมืองเก่าเพื่อมางานศพพ่อ แม่เลี้ยงของเขาตกลงกับเขาเรื่องมรดก โดยเธอจะเอาร้านของพ่อ ซึ่งเป็นร้านที่ตั้งตามชื่อแม่ของพระเอก ส่วนพระเอกได้รถอะไรสักอย่างไปเป็นมรดก พระเอกเอานาฬิกาในร้านมาด้วย โดยมีรูปถ่ายของนางเอกเก็บซ่อนไว้ด้านหลังนาฬิกา

 

เบอร์โทรที่อยู่ด้านหลังรูปเป็นเบอร์ของเรือนจำ พระเอกก็เลยไปคุยกับผู้หญิงที่ติดคุกอยู่ ที่น่าจะเป็นเพื่อนของนางเอก ทั้งสองได้คุยกันถึงที่มาของหนังสือปกเขียว แล้วพอพระเอกออกจากคุกมาได้แป๊บนึง พัศดีก็รีบวิ่งมาตาม และบอกชื่อของคนคนนึง เราเข้าใจว่าน่าจะเป็นชื่อใหม่ของนางเอกที่เพื่อนนางเอกบอกมา

 

พระเอกแวะไปเยี่ยมแม่ของ Wildcat ที่แสดงโดยจางอ้ายเจีย แม่ของ Wildcat บอกว่าเธอจะไม่มีวันย้อมผมเป็นสีแดง ซึ่งก็เลยเป็นการล้อกับครี่งหลังของหนังที่เธอย้อมผมแดง

 

พระเอกให้ Pager ช่วยสืบหาผู้หญิงที่มีชื่อตรงกับชื่อที่นักโทษสาวบอกมา แล้วก็พบว่าคนที่มีชื่อตรงกัน และเข้าเค้า น่าจะเป็นเมียของเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้ทางรถไฟ พระเอกก็เลยไปหาเจ้าของโรงแรมคนนี้ เจ้าของโรงแรมเล่าว่า ผู้หญิงคนนี้มาพักที่โรงแรม แต่บางครั้งเธอไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง เธอก็เลยจ่ายค่าเช่าห้องด้วยการเล่านิทานให้เขาฟังแทน ต่อมาเธอกับเขาก็แต่งงานกัน และหย่ากัน เหมือนเธอไปเป็นนักร้องที่อีกเมืองนึง เจ้าของโรงแรมมีลูกชายคนนึง พระเอกถามเขาว่าเป็นลูกที่เกิดจาก Wan Qiwen หรือเปล่า และเหมือนในโรงแรมจะมีหมาชื่อ Kaili ด้วยมั้ง

 

พระเอกไปตามหานักร้องคนนั้น แล้วก็เจอกับร้านที่กำลังจะถูกทุบทิ้งในวันรุ่งขึ้น แต่นักร้องในร้านยังไม่เริ่มทำงาน เขาก็เลยแวะเข้าไปดูหนังในโรงเพื่อฆ่าเวลาก่อน แล้วก็เลยฝันไปแบบในครี่งหลังของหนัง

 

เหมือนครึ่งหลังของหนังก็เลยเป็นการล้อกับครึ่งแรก และเหมือนเป็นการช่วยเติมเต็มบางอย่างที่พระเอกไม่สามารถบรรลุได้ในชีวิตจริง อย่างเช่น พระเอกได้เจอกับคนที่เป็นเหมือนตัวแทนของลูกชายที่เขาไม่สามารถมีกับนางเอกได้ เด็กชายที่ชื่อ Wildcat เขากับเด็กได้เล่นปิงปองกัน พระเอกได้เจอคนที่เหมือนนางเอก เขาช่วยเธอจากการระรานของอันธพาลหนุ่ม ๆ ได้ และเขาก็ช่วยให้หญิงบ้าผมแดงได้หนีไปกับผู้ชายด้วย

สรุปว่าเป็นหนังที่ magic สุด ๆ ถึงแม้เราจะงง ๆ กับเนื้อเรื่องของหนังอย่างรุนแรงก็ตาม ถ้าหากเราจำอะไรตรงไหนผิดไปก็บอกมาด้วยนะ เพราะเรางงมาก 55555

 

DETECTIVE CONAN THE MOVIE 25: THE BRIDE OF HALLOWEEN (2022, Susumu Mitsunaka, Japan, animation, A+30)

+

FIREHEART (2022, Theodore Ty, Laurent Zeitoun, France/Canada, animation, A+25)

 

SERIOUS SPOILERS ALERT มีการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของผู้ร้ายในหนังทั้งสองเรื่อง

--

--

--

--

--

--

--

--

--

--

 

หลังจากเราใส่ชื่อหนัง DETECTIVE CONAN THE MOVIE 24: THE SCARLET BULLET กับ SHOCK WAVE 2 เข้าไปไว้ในรายชื่อหนัง “ทฤษฎีคลื่นกะหล่ำ” หรือหนังที่ออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน แล้วมีพล็อตเรื่องคล้ายกันโดยบังเอิญแล้วนั้น ปรากฏว่าในภาคต่อมา DETECTIVE CONAN THE MOVIE 25 เราก็พบว่ามันมีพล็อตบางจุดคล้ายกับ FIREHEART โดยบังเอิญอย่างน่าสนใจมาก ๆ เหมือนกัน เราก็เลยใส่รายชื่อหนังสองเรื่องนี้เข้าไปในลิสท์ฮา ๆ ของเราด้วย

https://www.facebook.com/photo/?fbid=10224847974130010&set=a.10221574828503415

 

จุดที่เราพบว่าหนังสองเรื่องนี้คล้ายกันโดยบังเอิญ ก็คือเรื่องของตัวผู้ร้ายนี่แหละ เพราะว่า

 

1.ผู้ร้ายของทั้งสองเรื่องเป็นผู้หญิง

 

2.ผู้ร้ายของทั้งสองเรื่องเป็นเหมือนหนึ่งในคนที่พระเอก/นางเอกของทั้งสองเรื่อง ต้องไปคอยคุ้มครองอารักขาในตอนแรก โดยใน CONAN นั้น พวกโคนันต้องไปคอยคุ้มครองคู่สมรส ส่วนใน FIREHEART นั้น เหมือนพวกของนางเอกก็ต้องคอยไปจับตาดูนักแสดงละครบรอดเวย์กับคนสนิท

 

3.ผู้ร้ายของทั้งสองเรื่องทำทีว่าตัวเองก็ตกเป็นเหยื่อหรืออาจจะตกเป็นเหยื่อของคนร้าย

 

4.ผู้ร้ายของทั้งสองเรื่องวางแผนหรือล่อหลอกให้ “ฝ่ายตรงข้าม” มารวมตัวกันในจุดนึง โดยใน CONAN นั้น ผู้ร้ายหลอกล่อให้ฝ่ายตรงข้ามมารวมตัวกันในจุดนึงในเมือง เพื่อจะได้กำจัดให้หมดในทีเดียว ส่วนใน FIREHEART นั้น ผู้ร้ายวางเพลิงทีละจุด แล้วค่อย ๆ ล่อหลอกนักดับเพลิงในเมืองให้มาติดกับทีละกลุ่ม ๆ  จนนักดับเพลิงทั้งหมดในเมืองมาติดกับของเธอจนหมด

 

5.ผู้ร้ายของทั้งสองเรื่องต่างก็เป็นนักก่อวินาศกรรมที่ก่อเหตุมาแล้วหลายครั้งมาก โดยใน CONAN นั้นผู้ร้ายเป็นนักวางระเบิด ส่วนใน FIREHEART นั้น ผู้ร้ายเป็นนักวางเพลิง

 

6.การก่อเหตุใหญ่ครั้งสุดท้ายของผู้ร้ายทั้งสองเรื่อง อาศัยวัตถุคล้าย ๆ ทรงกลมจำนวนหลาย ๆ ลูก เหมือน ๆ กัน 55555 โดยใน FIREHEART นั้น ผู้ร้ายใช้วัตถุทรงกลมหลายลูกจำนวนมากในการก่อวินาศกรรมตอนไคลแมกซ์ ส่วนใน CONAN นั้น ผู้ร้ายใช้ลูกฟักทองจำลองสำหรับงานฮัลโลวีนหลาย ๆ ลูกเป็นวัตถุในการวางระเบิด

 

7.พระเอก/นางเอกของทั้งสองเรื่อง ต้องใช้ความช่วยเหลือจาก “กลุ่มคนพิเศษ” ในการปฏิบัติภารกิจยับยั้งผู้ร้ายรายนี้ โดยใน CONAN นั้น พระเอกได้รับความช่วยเหลือจากสมาชิกบางคนในกลุ่มห้าพยัคฆ์นักเรียนตำรวจหนุ่มหล่อ ส่วนใน FIREHEART นั้น นางเอกได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มนักดับเพลิงรุ่นใหม่

 

8.นอกจากผู้ร้ายสำคัญของทั้งสองเรื่องจะเป็นผู้หญิงแล้ว ศัตรูสำคัญของผู้ร้ายทั้งสองเรื่องก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน โดยใน FIREHEART นั้น ศัตรูสำคัญของผู้ร้ายก็คือตัวนางเอกเอง ส่วนใน CONAN นั้น ศัตรูสำคัญของผู้ร้ายก็คือ Yelenika จากรัสเซีย

 

ก็เลยรู้สึกว่าหนังสองเรื่องนี้มันมีอะไรที่บังเอิญตรงกันอย่างน่าสนใจดี เราก็เลยใส่รายชื่อหนังสองเรื่องนี้เข้าไว้ในรายชื่อหนังทฤษฎีคลื่นกะหล่ำด้วย 55555

 

แต่พอดูหนังสองเรื่องนี้เทียบกันแล้ว มันก็เห็นได้ชัดเลยนะว่า ทำไมเราถึงอินกับการ์ตูนญี่ปุ่น มากกว่าการ์ตูนฝรั่งน่ะ เพราะการ์ตูนญี่ปุ่นมันโหดจริง ดาร์คจริงน่ะ ส่วนการ์ตูนฝรั่ง มันจะแคร์ผู้ชมที่เป็นเด็กมาก ๆ เนื้อเรื่องมันเลยไม่กล้าโหดเกินไป และต้องมีการสร้าง motivation ให้ตัวละครผู้ร้ายเพื่อให้ผู้ร้ายมีความน่าสงสารน่าเห็นใจในบางแง่มุมด้วย ส่วน CONAN นั้น ตัวละครผู้ร้ายโหดเหี้ยมสุด ๆ ไม่มีเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้นในการฆ่าคนมากมาย นอกจากทำเพื่อเงินค่าจ้าง และเธอยังวางแผนจะฆ่ากลุ่มเด็ก ๆ ด้วย (การล่อให้กลุ่มเพื่อน ๆ ของโคนันไปโดนระเบิด) ก็เลยรู้สึกว่า เสน่ห์ของหนังการ์ตูนญี่ปุ่นมันคือจุดนี้น่ะแหละ มันโหดกว่าการ์ตูนฝรั่งมากๆ

 

TANGRAM (2016, Katharina Huber, Austria, animation, A+30)

 

WALKING MEN (2019, Komson Nookiew, video installation, A+15)

 

MINIATURE (2021, Doris Jauk-Hinz, Austria, video installation, A+)

https://www.youtube.com/watch?v=EDMuRrs9lCQ

VIRTUAL MOON (2022, Nithiphat Hoisangthong, video installation, A+30)

No comments: