Monday, June 20, 2022

FIRST GRADE (2022, Sopawan Boonnimitra, Peerachai Kerdsint, documentary, A+30)

 

FIRST GRADE (2022, Sopawan Boonnimitra, Peerachai Kerdsint, documentary, A+30)

 

1.ชอบข้อมูลที่เราได้รับจากหนังเรื่องนี้ เพราะเราไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อนเลย 55555 เพราะเราไม่มีลูก และเราก็ไม่เคยรู้สึกว่าการสอบเข้าป.1 ในยุคของเรา (น่าจะประมาณปี 1979) เป็นปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้นสำหรับเรา แต่แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกันไป สิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับเราอาจจะกลายเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับคนอื่น ๆ ก็ได้ เป็นเรื่องธรรมดา เราก็เลยรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้ที่นำพาเราไปรับรู้ข้อมูลและความคิดของกลุ่มคนที่เราไม่เคยสนใจมาก่อน ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มองว่าไม่ควรมีการสอบเข้าป. 1 และโรงเรียนทางเลือกต่าง ๆ

 

2.หนึ่งในสิ่งที่ชอบสุด ๆ ก็คือว่า พอดูจบแล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกคล้อยตามความเห็นของ subject บางคนอย่างเต็มที่ว่าควรต้องมีการออกกฎหมายห้ามการสอบเข้าป.1  แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่า จริง ๆ แล้วเรื่องมันซับซ้อน เด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันมาก ผู้ปกครองแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันมาก โรงเรียนแต่ละโรงเรียนก็มีความแตกต่างกันมาก สังคมในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยก็มีความแตกต่างกันมาก  เพราะฉะนั้นประเด็นพวกนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราดูแล้วจะสรุปอะไรได้ง่าย ๆ 55555

 

3. เรื่องของโรงเรียนทางเลือก 3 โรงเรียนแรกน่าสนใจดี เพราะเราไม่เคยรู้เรื่องโรงเรียนพวกนี้มาก่อน เหมือนหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เราได้ดูที่พาเราไปรู้จักโรงเรียนพวกนี้ในไทย แต่เราก็ดูแล้วไม่รู้สึกอยากไปอยู่โรงเรียนพวกนี้หรอกนะ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ 2 ที่เหมือนเป็นโรงเรียนประจำ และโรงเรียนที่ 3 ที่มีการล้างตีนครูหรืออะไรทำนองนี้ ถ้าจำไม่ผิด 55555 คือคิดว่าโรงเรียนพวกนี้ไม่เหมาะกับเรา แต่คงเหมาะกับเด็ก ๆ คนอื่น ๆ

 

4. ส่วนโรงเรียนที่ 4 5 6 ก็เป็นเรื่องที่เราชอบมากเหมือนกัน ส่วนนี้ของหนังพูดถึงโรงเรียนในภาคใต้ที่สอนศาสนาด้วย, โรงเรียนในคลองเตย ที่มีปัญหาเด็กทะเลาะวิวาท, ผู้ปกครองเข้าข้างเด็กมากเกินไป และผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลเด็ก และโรงเรียนในเชียงรายที่เน้นสอนเด็กชนกลุ่มน้อย, เด็กที่ไม่มีใบรับรอง, เด็กที่ต้องการเรียนภาษาจีน

 

คือจริง ๆ แล้วประเด็นเรื่องโรงเรียนในภาคใต้สุดของไทย และโรงเรียนในภาคเหนือสุดของไทย มันเป็นประเด็นที่คล้าย ๆ กับที่เราเคยเห็นในหนังสั้นของไทยเรื่องอื่น ๆ มาแล้วแหละ และประเด็นเรื่องโรงเรียนในคลองเตย ก็ทำให้เรานึกถึงหนังสั้นและหนังยาวของคุณ Wattanapume Laisuwanchai ด้วย คือเราว่าส่วนนี้ของหนังอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่ใหม่สำหรับเรา แต่เราชอบมาก ๆ ที่หนังใส่เรื่องของโรงเรียนกลุ่มนี้เข้ามาในหนังด้วย

 

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เรารู้สึกว่าโรงเรียนที่ 1 2 3 มันทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาของชนชั้นกลางยังไงไม่รู้น่ะ คือถึงแม้เรื่องของโรงเรียนที่ 1 2 3 มันให้ข้อมูลที่น่าสนใจกับเรา ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราไม่เคยสนใจและไม่เคยรับรู้มาก่อน แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ปัญหาการสอบเข้าอะไรพวกนี้ มันเป็นปัญหาสำคัญเฉพาะในสายตาของชนชั้นกลางหรือเปล่า แล้วเด็กกลุ่มอื่น ๆ ในไทยล่ะ พวกเขามีปัญหาอะไรที่หนักหน่วงกว่าและควรได้รับการใส่ใจมากกว่าปัญหาการสอบเข้าหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเรื่องของโรงเรียนที่ 4 5 6 มันก็เลยเหมือนมาช่วย balance อะไรบางอย่างในใจเรา 55555

 

คือสรุปง่าย ๆ ก็เหมือนกับว่า เรื่องของโรงเรียนที่ 1 2 3 และเรื่องของเด็กคนที่ 7 ซึ่งเป็นเด็กโฮมสกูล เราชอบมันตรงที่มันให้ข้อมูลที่ “ใหม่” สำหรับเรา แต่มันดูเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง ปัญหาของชนชั้นกลาง และมันทำให้เราตั้งคำถามว่า ปัญหาอะไรพวกนี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับเด็กทั้งประเทศไทยจริงหรือ

 

ส่วนประเด็นเรื่องโรงเรียนที่ 4 5 6 ไม่ใช่ประเด็นใหม่สำหรับเรา แต่เราชอบที่หนังใส่โรงเรียนกลุ่มนี้เข้ามาในหนัง เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าหนังไม่ได้ละเลยความซับซ้อนและความแตกต่างหลากหลายของเด็กกลุ่มอื่น ๆ ในไทยด้วย

 

5.ดูแล้วนึกถึงสารคดีที่ชอบสุด ๆ เรื่องนึง ซึ่งก็คือ HUMAN FLOW (2017, Ai Weiwei) เพราะเราชอบที่ทั้ง FIRST GRADE และ HUMAN FLOW นำเสนอ “ภาพกว้าง” แทนที่จะนำเสนอ “ภาพลึก” น่ะ แต่เราไม่ได้มองว่าหนังที่นำเสนอ “ภาพกว้าง” ดีกว่าหนังที่นำเสนอ “ภาพลึก” นะ เรามองว่าหนังแต่ละเรื่องมันก็ดีกันคนละแบบ แต่ส่วนใหญ่แล้วเราได้ดูแต่หนังที่นำเสนอ “ภาพลึก” เป็นหลักน่ะ นาน ๆ ทีถึงจะได้ดูหนังที่นำเสนอ “ภาพกว้าง”

 

คืออย่างใน HUMAN FLOW เราชอบมาก ๆ ที่แทนที่มันจะนำเสนอแค่ “ปัญหาผู้ลี้ภัยซีเรีย” ประเด็นเดียว หรือปัญหาผู้ลี้ภัยโรฮิงยา ประเด็นเดียว มันกลับนำเสนอหลาย ๆ ปัญหาในหนังเรื่องเดียวกันไปเลย และมันก็ทำให้เราตระหนักว่า ในขณะที่หนังหลาย ๆ เรื่องในทศวรรษ 2010 เน้นพูดถึงแต่ผู้ลี้ภัยซีเรีย เราลืมไปแล้วหรือเปล่าว่าปัญหาปาเลสไตน์ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข spotlight มันส่องไปที่ซีเรียมากเกินไปหรือเปล่า จนผู้ลี้ภัยในส่วนอื่น ๆ ของโลกถูกมองข้ามไปเลย อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความผิดของหนังที่นำเสนอ “ภาพลึก” นะ ที่จะเน้นพูดถึงแต่ปัญหาของซีเรีย แล้วละเลยปัญหาปาเลสไตน์ แต่มันต้องอาศัยหนังที่นำเสนอ “ภาพกว้าง” น่ะ ที่จะช่วยให้เรามองเห็นความซับซ้อนหีแตกของโลกได้ดียิ่งขึ้น เราก็เลยมองว่าหนังที่นำเสนอภาพลึก กับหนังที่นำเสนอภาพกว้าง มันดีกันคนละแบบ

 

เราก็เลยชอบ FIRST GRADE ในแบบคล้าย ๆ กัน เพราะมันมีทั้งปัญหาของชนชั้นกลางและปัญหาของเด็กกลุ่มอื่น ๆ ในไทยด้วย เราชอบความรู้สึกที่ว่า หนังมันทำให้เรารู้สึกว่าปัญหาอะไรพวกนี้มันซับซ้อน ไม่อาจหาข้อสรุปอะไรได้ง่าย ๆ เพราะเด็กทั้งประเทศไทยมันมีความแตกต่างจากกันมาก ๆ

 

แต่พอหนังมันนำเสนอ “ภาพกว้าง” มันก็เลยจะไม่สามารถลงลึกได้แบบหนังที่เน้นนำเสนอ “ภาพลึก” แบบหนังของคุณ Wattanapume, หนังของกลุ่มบินข้ามลวดหนาม (ที่นำเสนอปัญหาในภาคเหนือ), หนังของโครงการทักษะวัฒนธรรม (ที่นำเสนอปัญหาในภาคใต้) หรือหนังที่เจาะลึกเด็กเป็นราย ๆ อย่างเช่น SO BE IT (2014, Kongdej Jaturanrasamee), LITTLE GIRL (2020, Sebastien Lifshitz) หรือหนังที่เจาะลึกโรงเรียนเดียวแบบ CHILDHOOD (2017, Margreth Olin, Norway) และ  SCHOOL LIFE (2016, Neasa Ni Chianain, David Rane, Ireland) น่ะ ซึ่งหนังที่เน้นนำเสนอ “ภาพลึก” แบบนี้มันก็ดีงามมาก ๆ และเราก็ชอบสุดๆ เหมือนกันน่ะแหละ แต่เราก็คิดว่าหนังมันไม่จำเป็นต้องนำเสนอ “ภาพลึก” ไปซะทุกเรื่องก็ได้ หนังที่นำเสนอ “ภาพกว้าง” แบบ FIRST GRADE และ HUMAN FLOW ก็เข้าทางเราอย่างสุด ๆ ได้เช่นกัน ถ้าหากหนังมันนำเสนอมุมมองที่สอดคล้องกับเราในแง่ที่ว่า โลกมันซับซ้อนหีแตกมาก ๆ จนเราไม่อาจหาข้อสรุปอะไรได้ง่าย ๆ 55555

 

6.ส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับหนังโดยตรงแต่อย่างใด แต่หนังเรื่องนี้ก็ทำให้เราได้คิดทบทวนถึงชีวิตวัยเด็กของตัวเองด้วย และเราก็รู้สึกว่าเราโชคดีที่เราได้เรียนในโรงเรียนประถมและมัธยมที่เหมาะกับตัวเอง แน่นอนว่ามันไม่ใช่โรงเรียนที่สมบูรณ์แบบ เพราะจนถึงตอนนี้เวลาผ่านมานาน 30-40 ปีแล้ว ความรู้สึกเกลียดชังครูบางคนในโรงเรียนประถมและมัธยม ก็ยังไม่เคยจางหายไปจากใจเราเลย แต่โรงเรียนเกือบทุกโรงเรียนก็คงมีทั้งครูเหี้ย ๆ และครูดีๆ ปะปนกันไปแบบนี้แหละมั้ง 55555

 

แต่เหมือนการได้เรียนในโรงเรียนมัธยมที่เหมาะกับตัวเอง ได้เจอกลุ่มเพื่อนสนิทในโรงเรียนมัธยม คือสิ่งที่ช่วยให้เราไม่ฆ่าตัวตายในวัยเด็กน่ะ การได้ไปเจอเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน, ได้กรี๊ด ๆ ๆ กับเพื่อน ๆ, ได้เมาท์มอยกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน มันคือสิ่งที่ช่วยต่ออายุเราไว้ได้ในตอนนั้นน่ะ ถ้าหากเราไม่ได้เรียนที่โรงเรียนนั้น ไม่ได้เจอเพื่อน ๆ เหล่านั้นที่โรงเรียน เราอาจจะฆ่าตัวตายไปตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบแล้วก็ได้ คงไม่ได้มีชีวิตอยู่รอดมาจนถึงอายุ 49 ปีแบบนี้

 

ในแง่นึง เราก็เลยรู้สึกว่า ถึงแม้เราจะโชคร้ายในด้านอื่น ๆ หลายด้าน แต่ในแง่โรงเรียนแล้ว เราโชคดีที่ได้เรียนในโรงเรียนที่เหมาะกับตัวเอง เพราะเพื่อน ๆ ที่เราได้เจอในโรงเรียนนั้น คือผู้ที่ได้ช่วยต่ออายุเราเอาไว้ในตอนนั้น

No comments: