Copy from screenout
--2046
ดิฉันชอบส่วนของกงลี่มากที่สุดใน 2046 ค่ะ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ดีมาก แต่ดิฉันไม่อินกับเรื่องมากเท่าไหร่ เดาว่าคงเป็นเพราะดิฉันไม่สามารถทำให้ตัวเองมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครอย่างเหลียงเฉาเหว่ยในเรื่องนี้ได้ ไม่เหมือนกับใน CHUNGKING EXPRESS (A+) ที่ดิฉันมีอารมณ์ร่วมกับหลินชิงเสียอย่างเต็มที่ และใน FALLEN ANGELS ที่ดิฉันมีอารมณ์ร่วมกับหลี่เจียซินอย่างเต็มที่
ช่วงของจางซิยี่เป็นช่วงที่ดิฉันมีอารมณ์ร่วมน้อยที่สุดค่ะ แต่ดูเธอในเรื่องนี้แล้วก็รู้สึกชอบเธอมากขึ้นเยอะเลย ดิฉันไม่ค่อยชอบเธอในหนังของจางอี้โหมวเท่าไหร่ แต่พอเธอมาอยู่ในหนังของหว่องคาร์ไวเรื่องนี้ ดิฉันก็รู้สึกดีกับเธอขึ้นเยอะ
เฟย์ หว่องในเรื่องนี้ดิฉันก็พอรับได้ค่ะ ดิฉันเคยรู้สึกต่อต้านเธอมากๆใน CHUNGKING EXPRESS แต่ในเรื่องนี้ดิฉันไม่รู้สึกต่อต้านเธออีก
ชอบหลิวเจียหลิงในเรื่องนี้มาก
พูดถึงผู้กำกับที่ไม่เปลี่ยนแนวตัวเอง ก็เลยทำให้นึกถึงทาเคชิ คิตาโน่ขึ้นมาค่ะ ตอนที่ดิฉันดู DOLLS (A-) กับ ZATOICHI (A-) ดิฉันก็รู้สึกงงๆเล็กน้อยว่าทำไมเขาเปลี่ยนแนวไปจากเดิม เพราะรู้สึกชอบหนังยากูซ่า/อาชญากรรมอย่าง SONATINE (A+) กับ HANA-BI (A/A-) ของเขามาก แต่พอได้ดู BROTHER (2000, TAKESHI KITANO, B+) ก็เลยเข้าใจว่าคิตาโน่คิดถูกแล้วล่ะที่เลิกทำหนังแนวยากูซ่า เพราะถึงแม้ BROTHER จะเป็นหนังที่น่าพอใจ แต่มันดูเหมือนคิตาโน่ “หมดมุก”, “หมดไฟ”, “หมดเชื้อเพลิง”, “หมดคลังสำรองไอเดีย” ในการทำหนังแนวนี้แล้ว เขาเปลี่ยนไปทำแนวอื่นๆบ้างก็ดีแล้วล่ะ
--ตัวละครแม่ใน RAY สง่าและให้อารมณ์รุนแรงมากๆค่ะ ดูเป็นตัวละครที่สง่าเกินคนจริงๆมาก พอฟังจากที่คุณแฟรงเกนสไตน์เล่ามาแล้ว ก็เลยทำให้คิดได้ว่าตัวละครตัวนี้อาจจะถูกใส่เข้ามาในเรื่องเพื่อส่งสารบางอย่าง มากกว่าจะเป็นการนำเสนอชีวิตตัวละครตัวนั้นจริงๆ การที่ตัวละครตัวนี้มีหน้าที่ “ส่งสาร” ก็เลยทำให้ตัวละครตัวนี้ดูห่างไกลจากความเป็นจริงเมื่อเทียบกับตัวละครอื่นๆในเรื่อง
--รอบที่ไปดู BLOOD AND BOYS (ขอเปลี่ยนชื่อให้หนังใหม่ เพราะปิ๊งหนุ่มญี่ปุ่น 3 คนในหนังเรื่องนี้) ไม่เจอหนุ่มญี่ปุ่นเลยค่ะ เจอแต่สาว (ที่เดาว่าอาจจะเป็นสาวญี่ปุ่น) ที่ไม่รู้ว่าเธอมีปัญหาอะไร เพราะเธอจะเดินเข้าเดินออกจากโรงอยู่ตลอดเวลา ตอนแรกเดาว่าเธออาจจะรับความรุนแรงในหนังไม่ได้ เพราะเนื้อหาในหนังรุนแรงมาก แต่ถ้าหากเธอรับความรุนแรงในหนังไม่ได้จริงๆ แล้วเธอจะเดินกลับเข้ามาดูในโรงเป็นระยะๆทำไม ทำไมไม่กลับบ้านไปเลย สรุปว่าก็เลยไม่รู้ว่าเธอเดินเข้าๆออกๆโรงเพราะอะไรกันแน่
ดู BLOOD AND BOYS วันนั้นเสร็จแล้วเจอสภาพรถติดสาหัสที่ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ค่ะ ก็เลยเดินจากโรง HOUSE มาที่สถานีรถไฟใต้ดินที่อโศก ใช้เวลาเดินประมาณ 20 นาที ดีที่อากาศไม่ร้อนมากนัก
--ดู LADIES IN LAVENDER แล้วร้องไห้เหมือนกันค่ะ ดูติดๆกับ 2046 แล้วก็รู้สึกเหมือนกันว่า 2046 มันมีความเป็นศิลปะสูงมาก แต่ดิฉันไม่อินกับความเจ็บปวดในหนังมากนัก ไม่เหมือนอย่าง LADIES IN LAVENDER, TARNATION และ CAPTURING THE FRIEDMANS ที่ดิฉันสามารถรับความเจ็บปวดจากหนังได้อย่างเต็มที่
LADIES IN LAVENDER เป็นหนึ่งในสุดยอดเซอร์ไพรส์ของดิฉันในช่วงนี้ค่ะ ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยได้ยินชื่อหนังเรื่องนี้มาก่อนเลย และขณะที่ดู ก็รู้สึกว่าหนังมันธรรมด๊า ธรรมดา เคยเห็นหนังอังกฤษที่ให้บรรยากาศอย่างนี้มาเยอะมากแล้ว แต่พอดูจบ ก็รู้สึกว่ามันสุดยอดมากๆ
ในขณะที่ “ความเจ็บปวดจากความรัก เพราะเวลาไม่ลงตัว” ใน 2046 ให้ความรู้สึกเหมือนมีดที่มาทิ่มแทงร่างกายหลายๆตลบ “ความเจ็บปวดจากความรัก เพราะเวลาไม่ลงตัว” ใน LADIES IN LAVENDER ให้ความรู้สึกเหมือนกระโดดหน้าผาลงมากระแทกโขดหินตาย มันเป็นความเจ็บปวดที่หนักหน่วงรุนแรงกระแทกกระทั้นมาก
หนังที่ได้ดูในวันนี้
1.KUNG FU HUSTLE (STEPHEN CHOW, A+)
นี่คือหนังที่ทำให้ดิฉันรู้สึก “มันในอารมณ์” มากที่สุดนับตั้งแต่ “เดชคัมภีร์เทวดาภาคสอง” (A+) และ “สวยประหาร” (1993, JOHNNY TO, A+) เป็นต้นมา ซึ่งนั่นเท่ากับว่านี่อาจจะเป็นหนังที่ดิฉันรอคอยมานานถึง 12 ปี เพราะตั้งแต่ได้ดู “สวยประหาร” ในปี 1993 ดิฉันก็ไม่เคยรู้สึกสนุกตื่นเต้นกับฉากบู๊ในหนังได้มากเท่านั้นอีก จนกระทั่งได้มาดูเรื่องนี้
หลังจาก “สวยประหาร” ดิฉันก็คาดหวังว่าจะได้ดูหนังที่มีฉากบู๊ที่ทำให้ดิฉันรู้สึกมีอารมณ์ร่วมด้วย แต่ก็พบว่าฉากบู๊ในหนังอย่าง THE STORMRIDERS (1998, WAI KEUNG LAU, B/B-), CROUCHING TIGER, HIDDEN DRAGON (A-), HERO (B+), HOUSE OF FLYING DAGGERS (B+/B), ELEKTRA (2005, ROB BOWMAN, A) ไม่ทำให้ดิฉันมีอารมณ์ร่วมด้วยเท่าไหร่ หนังเหล่านี้มีข้อดีมากมายในด้านอื่นๆ แต่ดิฉันก็อยากดูหนัง “มันๆ” แบบ “สวยประหาร” อีก
หวังว่าคงจะมีการสร้างหนังทำนองนี้ที่ได้คุณภาพอย่างนี้ออกมาอีก ถ้ามีการสร้าง KUNG FU HUSTLE ภาคต่อๆไป อยากให้ตัวละครหญิงที่มีพลังเสียงสิงโตคำราม เผชิญหน้ากับคู่ปรับคนสำคัญที่รับบทโดย “มารายห์ แครีย์”
2.จี้ (ธนิตย์ จิตนุกูล, B)
ชอบช่วงครึ่งหลังของเรื่องมาก ดูแล้วทำให้เข้าใจว่าวลี “ฮาขี้แตกขี้แตน” มันเป็นยังไง ช่วงครึ่งแรกของเรื่องก็ดูเพลินๆดีค่ะ รู้สึกชอบหนังเรื่องนี้มากกว่าหนังอีกหลายเรื่องของผู้กำกับคนนี้
SENSES OF CINEMA เล่มใหม่ออกแล้วนะคะ มีบทความเกี่ยวกับหนังหลายเรื่องที่เพิ่งมาฉายในเทศกาลในเดือนม.ค.ด้วย ทั้ง ANATOMY OF HELL, IN MY FATHER’S DEN และ WOMAN OF BREAKWATER
http://www.sensesofcinema.com/index.html
Tuesday, February 08, 2005
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment