COMING OF AGE (2013, Niwes Srisoontorntai + Theerapipat
Siriwachsiri, 13.37min, A+)
COMING OF AGE (2013, นิเวศ ศรีสุนทรไท + ธีรพิพัฒ
สิริวัชร์สิริ)
ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงประเด็นดังต่อไปนี้
1.เราชอบหนังที่มี dilemma และหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอ dilemma
ได้น่าสนใจดี แต่อาจจะไม่น่าสนใจแบบถึงขีดสุด ที่เราว่า dilemma
ในหนังเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะว่าตัวทนายในเรื่องนี้
ไม่ใช่คนเลวแบบเลวบริสุทธิ์ แต่เป็นคนที่มีความลังเลใจที่จะทำเลว
การสร้างตัวละครเทาๆแบบนี้ทำให้ผู้ชมหลายคนต้องหันมาพิจารณาตัวเองว่า
ตัวเองมีอะไรที่คล้ายคลึงตัวละครตัวนี้หรือเปล่า
คือถ้าหากทนายในหนังเรื่องนี้เป็นทนายหิวเงินตั้งแต่ต้นเรื่อง
ผู้ชมหลายคนก็จะผลักหนังเรื่องนี้ออกห่างในทันที เพราะมองว่า “ไอ้นี่เลว
เราไม่เหมือนไอ้นี่หรอก” แต่พอทนายในหนังเรื่องนี้มีทางเลือกสองทาง คือ
1.1 ไม่รับทำคดีนี้ต่อ เพื่อกระตุ้นให้ลูกความยอมความ
1.2 รับเงินใต้โต๊ะ แล้วก็รับทำคดีนี้ต่อ เพื่อให้ลูกความแพ้คดี อีลูกความก็สมควรได้รับผลแบบนี้ด้วย
เพราะอยู่ดีๆก็มาด่าเราก่อน ทั้งๆที่เราพยายามช่วยด้วยความจริงใจในตอนแรก
มันก็เลยเป็นทางเลือกที่น่าสนใจดี เพราะทางเลือกที่สองมันดูเลว
แต่มันไม่ได้เลวสุดๆ
อย่างไรก็ดี ที่เราว่า dilemma ในหนังเรื่องนี้ น่าสนใจ
แต่ไม่น่าสนใจถึงขีดสุด ก็เป็นเพราะว่า เราว่าก็คงมีผู้ชมหลายคนแหละ ที่มองว่าถ้าหากตัวเองเป็นทนายในหนังเรื่องนี้
ตัวเองก็คงปฏิเสธไม่รับเงินในทันทีอยู่ดี
สรุปว่า เราชอบ dilemma ในหนังเรื่องนี้มากพอสมควรจ้ะ
แต่มันก็เป็น dilemma ประเภทที่แยกดำขาวได้ง่ายอยู่เหมือนกัน
คือคนดูดูปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าการรับเงินเป็นสิ่งผิด
ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาเดียวกับที่เราพบใน “สามเหลี่ยมกลับหัว” ที่เอาเข้าจริงๆมันก็แยกถูกผิดดำขาวได้ง่ายพอสมควร
คือเราว่าหนังสองเรื่องนี้มีความพยายามที่ดีในการสร้างตัวละครสีเทา,
สามารถสร้าง dilemma ที่น่าสนใจให้แก่ตัวละคร, สามารถสร้างแรงจูงใจที่น่าเชื่อถือให้กับตัวละครในการทำผิด,
ไม่ได้ดูถูกเหยียดหยามตัวละครที่ทำผิดแต่มองว่าเขาเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ
และเราก็ชอบหนังสองเรื่องนี้ในจุดต่างๆเหล่านี้มากๆ
แต่ปัจจัยนึงที่ทำให้เรายังไม่ชอบหนังสองเรื่องนี้ในระดับ A+30 ก็เป็นเพราะว่า dilemma
หลักในหนังสองเรื่องนี้
มันยังไม่ทำให้เราลังเลใจในการตัดสินใจว่าใครถูกใครผิดนั่นแหละจ้ะ
และเราว่าผู้ชมหลายคนก็คงเป็นแบบเดียวกัน นั่นก็คือคงตัดสินใจได้ในทันทีว่า “การรับเงินเป็นสิ่งผิด”,
“การโกงข้อสอบเป็นสิ่งผิด”
ถึงแม้หนังสองเรื่องนี้จะสร้างแรงจูงใจในการทำผิดได้น่าเชื่อถือมากๆก็ตาม
อย่างไรก็ดี เรายอมรับว่าการสร้างหนังเกี่ยวกับ dilemma ที่ตัดสินใจได้ยากนั้น
ก็เป็นเรื่องที่ยากมากๆจ้ะ มันต้องอาศัยคนเขียนบทหรือผู้กำกับขั้นเทพเหมือนกัน
ที่จะคิด dilemma ที่น่าสนใจสุดขีดขึ้นมาได้ เราเองก็คงคิด dilemma
แบบนี้ไม่ได้เหมือนกัน
ตัวอย่างของ dilemma ที่เราว่าน่าสนใจสุดขีดในความเห็นของเรา
ก็คือในหนังเรื่อง HEART STATION (2013, Pimpaka Towira, A+30) จ้ะ เพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าหากเราเป็นชาวบ้านในหนังเรื่องนี้
เราจะตัดสินใจอย่างไร และเราสามารถประณามพี่สาวนางเอกในหนังเรื่องนี้ได้หรือไม่
ว่าเป็นคนเลวที่ใช้วิธีการแบบนี้ในการจัดการกับปัญหา
สรุปว่าเราว่า “สามเหลี่ยมกลับหัว” และ “COMING OF AGE” เหมือนจะมาถูกทางแล้วล่ะ
ในการสร้าง dilemma ให้แก่ตัวละคร
แต่ถ้าหากผู้สร้างหนังสองเรื่องนี้สามารถคิดค้น dilemma ที่ตัดสินใจได้ยากจริงๆแบบใน
HEART STATION ในหนังเรื่องต่อๆไป
หนังเรื่องนั้นก็คงจะน่าสนใจมากๆจ้ะ
2.ถึงแม้ผู้ชมหลายๆคนสามารถตัดสินใจได้ในทันทีว่าตัวเองคงไม่ทำตัวแบบทนายในหนังเรื่องนี้
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า
ทนายในหนังเรื่องนี้มีลักษณะบางอย่างที่น่าจะเหมือนกับผู้ชมหลายๆคน รวมทั้งตัวเรา
นั่นก็คือการพยายาม justify ตัวเอง
จุดที่เราชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็คือจุดนี้นี่แหละ ตรงที่เราได้ยินเสียงความคิดของทนายในทำนองที่ว่า
“เราไม่ได้ทำผิดหรอก ยังไงคดีนี้ก็แพ้อยู่แล้ว”
เราว่าจุดนี้มันดูเป็นมนุษย์มากๆเลยนะ คือเวลาคนเราทำผิด มันจะรู้สึกผิดอยู่ลึกๆน่ะ
และก็จะพยายามหาเหตุผลต่างๆนานามาปลอบใจตัวเองว่า เราไม่ได้ทำผิดหรอก
เราไม่ได้ทำผิดหรอก แต่การที่เราพยายาม justify ตัวเองนี่แหละ
มันเหมือนเป็นการยอมรับอยู่กลายๆว่า จริงๆแล้วเรารู้ดีว่าเราทำผิด
เราว่าเวลาเราทำผิด เราก็พยายามคิดปลอบใจตัวเองด้วยการหลอกตัวเองแบบนี้เหมือนกัน
มันทำให้เรานึกถึงตอนที่เราจะไปดูหนังเรื่อง THE STOOL PIGEON (2010, Dante Lam)
ที่โรงหนังลิโดเมื่อประมาณสองปีก่อนน่ะ ตอนนั้นเราจะรีบไปดูหนังที่โรงนี้
แต่ต้องเดินฝ่าแผงขายของที่แน่นขนัดก่อนถึงโรงหนังลิโด
และเราก็เกลียดอีแผงขายของเหล่านี้มากที่มันมาขวางทางเรา ด้วยความโมโหและความเร่งรีบ
เราก็เลยเดินชนคนที่เลือกซื้อของตรงแผงเหล่านี้อย่างแรงมาก
เพื่อที่เราจะได้ไปถึงโรงลิโดทันเวลาฉาย
แต่พอเข้าไปดูหนังในโรง
เราก็เหมือนเสียสมาธิในการดูหนังช่วงครึ่งชั่วโมงแรกไปเลย เพราะเรามัวแต่ justify ตัวเองว่าเราทำถูกหรือผิดที่ชนคนซื้อของเหล่านั้น
คือจริงๆแล้วเราคงรู้ตัวเองน่ะแหละว่าเราทำผิด แต่เราก็พยายามหาเหตุผลต่างๆมาเถียงกันในหัวตัวเองโดยอัตโนมัติเพื่อที่เราจะได้ไม่รู้สึกผิด
เราเราพยายามบอกตัวเองว่าอีพวกที่ซื้อของตรงนี้แล้วยืนขวางทางคนอื่น
มันสมควรโดนแล้วล่ะ แต่เนื่องจากในใจเราคงรู้สึกผิดจริงๆ
เพราะฉะนั้นถึงเราจะพยายามหาเหตุผลมาบอกตัวเองยังไง ใจเราก็ไม่สงบอยู่ดี เพราะฉะนั้นรู้งี้เราเดินช้าๆมาดูหนังเลทไปนิดนึงยังจะดีซะกว่า
เพราะเราจะได้ไม่ทำผิด, ไม่รู้สึกผิด, ไม่ต้องสู้รบกับความรู้สึกผิดของตัวเองในหัว
และไม่เสียสมาธิในการดูหนัง
สรุปว่าที่เขียนไปนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับหนังเรื่องนี้เลย ฮ่าๆๆ
เราเพียงแต่จะบอกว่า เราชอบมากๆที่ตัวทนายในหนังเรื่องนี้พยายามจะ justify การกระทำผิดของตัวเอง
เพราะเราว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเองก็ทำ และผู้ชมหลายคนก็อาจจะเคยทำ
ผู้ชมหลายคนอาจจะตัดสินใจได้ในทันทีว่า “การรับเงินเป็นสิ่งผิด”
แต่ผู้ชมหลายคนน่าจะเคยทำผิดอะไรเล็กๆน้อยๆ และคงจะเคยพยายาม justify ตัวเองเหมือนทนายในหนังเรื่องนี้
3.หนังผูกเรื่องได้น่าสนใจดี เพราะมันพยายามกระตุ้นให้เราคิดว่า
เด็กในเรื่องมันเป็นใคร ตอนแรกเรานึกว่าเด็กในเรื่องคือทนาย
เพราะทนายมีรอยแผลที่มือจากการช่วยหมา แต่พอกลางเรื่องเราก็คิดว่าเด็กอาจเป็นเตอร์
เพราะเตอร์พูดถึงเพื่อนอ้วนๆดำๆหรืออะไรทำนองนี้
แต่พอตอนท้ายสุดถึงค่อยเฉลยว่าเด็กในเรื่องเป็นลูกของทนาย หรือบางทีหนังอาจจะเปิดให้คิดก็ได้ว่า
เด็กในเรื่องอาจจะเป็นได้ทั้ง 3 สถานะก็ได้ (เป็นทนายวัยเด็ก, เป็นเตอร์วัยเด็ก,
เป็นลูกของทนาย) ซึ่งเราว่าสถานะแรก (เป็นทนายในวัยเด็ก) น่าสนใจสุด
และดูเจ็บปวดที่สุด ตรงที่คนที่เคยเป็น hero ในวัยเด็ก ได้กลายมาเป็นมนุษย์ผู้อ่อนแอทางศีลธรรมในปัจจุบัน
4.ตอนแรกที่เราได้ยินเด็กพูดว่า “เพราะพ่อเราสอนว่าเราต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง”
เราก็นึกขึ้นมาในทันทีว่า พระเอกในอุดมคติของเราคงจะไม่พูดแบบนี้ แต่คงจะพูดว่า “เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”
โดยไม่ต้องอ้างคำสั่งสอนของพ่อหรือของใคร แต่พอตอนท้ายเรื่อง เราถึงเข้าใจว่า
การที่เด็กอ้างคำสั่งสอนของพ่อในการทำความดี มันเป็น irony แบบนี้นี่เอง
ฮ่าๆๆ เราก็เลยเข้าใจจ้ะว่าเพราะเหตุใดเด็กถึงต้องพูดแบบนั้น
5.ชอบหน้าตา+แววตาของลูกความหญิงตอนแพ้คดีและมองมาที่ทนายมากๆ
เราว่ามันเป็นหน้าตากับแววตาที่คงหลอกหลอนทนายคนนั้นไปอีกนานเลยทีเดียว
6.สิ่งที่ไม่เข้าทางเราในหนังเรื่องนี้ ก็คงจะเป็นเพลงประกอบในช่วงครึ่งหลังของเรื่องนี่แหละจ้ะ
เพลงประกอบตั้งแต่นาทีที่ 8 เป็นต้นไป เราว่ามันเป็นการเน้นย้ำหรือพยายามขีดเส้นใต้อารมณ์ในหนังมากเกินไปน่ะจ้ะ
แต่หลายคนอาจจะชอบก็ได้นะ แต่ถ้าเป็นเรา เราจะลดการใช้เพลงประกอบตั้งแต่นาทีที่ 8
เป็นต้นไปจ้ะ
7.สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากใน COMING OF AGE และสามเหลี่ยมกลับหัว
ก็คือการนำเสนอตัวละครที่เป็นคนดีในตอนเริ่มเรื่อง และค่อยๆกลายเป็นคนเลวในตอนจบ
เราชอบพัฒนาการของตัวละครแบบนี้มากๆจ้ะ
8.อย่างไรก็ดี สาเหตุอันนึงที่เราไม่ได้ชอบหนังสองเรื่องนี้ในระดับ A+30 มันก็เป็นเพราะว่ามันขาดอารมณ์อะไรบางอย่างที่เราชอบมากๆน่ะจ้ะ
ซึ่งสิ่งนี้ก็อธิบายได้ยากเหมือนกันว่ามันขาดอารมณ์อะไรไป ฮ่าๆๆ
เราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันขาดอะไรไป
มันถึงทำให้เราไม่รู้สึกพีคสุดๆกับหนังสองเรื่องนี้
แต่ถ้าให้เราเดา เราก็มองว่า COMING OF AGE ไม่ได้นำเสนอความอ่อนแอของมนุษย์ด้วยสายตาที่ค่อนข้างสงบนิ่งน่ะจ้ะ
คือ COMING OF AGE นำเสนอความอ่อนแอของมนุษย์ได้น่าสนใจก็จริง
แต่เหมือนมันยังมีการเร้าอารมณ์หรือการเน้นย้ำอะไรบางอย่างที่ล้นๆเกินๆไปหน่อยสำหรับเรา
ถ้าหากจะถามว่า มีหนังเรื่องอะไรที่สามารถนำมาเทียบเคียงกับหนังสองเรื่องนี้
แต่เป็นหนังที่เราชอบแบบสุดๆ เราก็ขอตอบว่าเป็นเรื่อง L’ARGENT (1983, Robert Bresson,
A+30) จ้ะ เพราะ L’ARGENT ก็เป็นหนังที่มีแง่มุมทางศีลธรรม
สั่งสอนคนไม่ให้ทำผิดเหมือนกัน และพระเอกของเรื่องก็เป็นคนดีในช่วงต้นเรื่อง
ก่อนที่อะไรต่างๆนานาจะผลักดันให้เขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงท้ายเรื่อง
เราคิดว่าอารมณ์แบบที่เราชอบสุดขีด มันมีในหนังเรื่อง L’ARGENT นี่แหละ มันเป็นการตีแผ่ความอ่อนแอทางจิตใจหรือทางศีลธรรมของมนุษย์ปุถุชนด้วยสายตาที่ค่อนข้างสงบนิ่ง,
เข้าใจ, เยือกเย็น และในท้ายที่สุดมันก็สามารถสร้างความสะเทือนใจให้เราได้อย่างรุนแรงสุดขีด
โดยที่เรารู้สึกว่าหนังมันไม่ได้พยายามเร้าอารมณ์อะไรเรามากเกินควรเลย :-)
No comments:
Post a Comment