WANG PLOENG INTERSECTION (2012, Natpakhan Khemkhao, 20min, A+30)
สี่แยกวังเพลิง (ณัฐปคัลภ์ เข็มขาว)
สิ่งที่นึกถึงหลังจากดูหนังเรื่องนี้
1.ชอบสุดๆเพราะปัจจัยหลายๆอย่าง
อย่างแรกก็คือประเด็นของหนังที่เกี่ยวกับความเลวร้ายของกฎหมายวิดีทัศน์
เราเคยได้ยินคดีของคนจนๆที่ซวยเพราะกฎหมายนี้เมื่อหลายปีก่อน
แต่หลังจากนั้นเราก็ลืมเลือนเรื่องนี้ไป
หนังเรื่องนี้ช่วยย้ำเตือนเราไม่ให้ลืมเรื่องนี้
และเราจะได้ไม่เผลอกระทำผิดจนต้องตกเป็นเหยื่อของกฎหมายนี้เหมือนตัวละครในเรื่องด้วย
2.หนังวิพากษ์ความเลวร้ายในหลายๆจุดได้ดี
เพราะนอกจากปัญหาจะเกิดจากตัวกฎหมายเองแล้ว
สองสามีภรรยาคู่นี้ยังประสบปัญหาต่างๆจาก
2.1 การรับเงินของตำรวจ
เพราะสิ่งที่ตำรวจทำก็คือต้องการไถเงินจากสองสามีภรรยาคู่นี้
โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ถ้าตำรวจไม่ต้องการไถเงิน สองสามีภรรยาคู่นี้ก็ไม่ต้องชีวิตล่มแบบนี้
(หนังสื่อถึงจุดนี้ผ่านทางประโยคที่ตัวละครแม่พระเอกพูดเพียงประโยคเดียว
ซึ่งแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว
โดยไม่มีความจำเป็นต้องจำลองฉากที่ตำรวจต้องการรีดเงินตรงๆแต่อย่างใด)
2.2 ทนายความก็ดูเหมือนจะไม่เต็มใจช่วยสองสามีภรรยาคู่นี้เท่าไหร่
สังเกตได้จากฉากที่นางเอกโทรศัพท์ไปหาทนาย อย่างไรก็ดี ถึงแม้ทนายความเต็มใจจะช่วย
ผลของคดีก็อาจจะออกมาเหมือนเดิม
2.3 อำนาจอันจำกัดของสภาทนายความ โดยในหนังเรื่องนี้
สภาทนายความไม่ได้ทำอะไรผิด
แต่หนังก็แสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจของสิ่งที่สภาทนายความจะยื่นมือเข้าไปช่วยได้
2.4 เพื่อนบ้านที่ดูเหมือนจะไม่ให้พระเอกยืมเงิน
ซึ่งหนังนำเสนอตรงจุดนี้ได้ดี เราจะเห็นว่าเพื่อนบ้านหลบอยู่ในบ้าน
ไม่ยอมออกมาหาพระเอก แต่พอพระเอกเดินจากไปแล้ว
เพื่อนบ้านถึงค่อยแง้มหน้าต่างออกมาดู
เราชอบมากที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ด่าประณามเพื่อนบ้านคนนั้นว่าเป็นคนเลวที่ไม่ให้พระเอกยืมเงิน
เพราะเพื่อนบ้านคนนั้นอาจจะเป็นคนใจดำจริงๆ
หรือเขาอาจจะมีเหตุผลของตัวเองก็ได้ที่ไม่ให้พระเอกยืมเงิน
หนังแสดงให้เห็นว่าว่าปัญหาของพระเอกอาจจะบรรเทาลงได้ถ้าหากเพื่อนบ้านยอมให้ความช่วยเหลือ
หรือมีฐานะมากพอที่จะให้ความช่วยเหลือ
แต่หนังก็ไม่ได้ตัดสินอย่างง่ายๆว่าคนที่ไม่ช่วยพระเอกจะต้องกลายเป็นคนเลวโดยอัตโนมัติ
3.ประเด็นที่ติดใจคนดูหลายคนก็คือการ ellipsis หรือการที่หนังดูเหมือนจะเล่าข้ามฉากที่โดยปกติแล้วจะต้องมีในหนังทั่วๆไป
นั่นก็คือฉากที่แสดงให้เห็นว่าขาพระเอกหายไปไหน
ในหนังเรื่องนี้ ดูเหมือนว่าขาพระเอกจะหายไปในช่วงกลางเรื่อง
แล้วหนังก็ไม่บอกว่าเพราะอะไร ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้าหากให้เราเดา
เราก็เดาว่าพระเอกคงบาดเจ็บที่ขามาตั้งแต่ช่วงต้นของเนื้อเรื่องแล้ว
(สังเกตได้จากการเดินกะเผลกเล็กน้อยของพระเอกในฉากท้ายสุดของหนัง
ซึ่งถ้าหากเรียงตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ในเรื่อง
เหตุการณ์ในฉากสุดท้ายน่าจะเป็นเหตุการณ์แรกสุดของหนังเรื่องนี้)
และอาการบาดเจ็บคงลุกลามในเวลาต่อมาจนเขาต้องตัดขาทิ้งไป
สิ่งที่เป็นปริศนาอีกอย่างนึงก็คือว่า การตัดขาของเขาเป็นผลพวงมาจากการที่เขาไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล
เพราะต้องเก็บเงินไว้จ่ายค่าปรับของนางเอกหรือไม่ อันนี้เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน
หรือว่าการตัดขาของเขาจะเป็นสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง
สรุปว่าไม่ว่าขาของพระเอกจะหายไปไหน เราก็คิดว่าจุดนี้มันน่าสนใจดี
และเทคนิคการ ellipsis แบบนี้
หรือการเล่าเรื่องแบบข้ามจุดสำคัญแบบนี้ มันก็ทำให้เรานึกถึงหนังที่เราชอบสุดๆ
อย่างเช่นเรื่อง AU HASARD BALTHAZAR (1966, Robert Bresson) กับเรื่อง LORNA’S SILENCE (2008, Jean-Pierre Dardenne + Luc
Dardenne) ด้วย
4.ชอบที่หนังไม่เร้าอารมณ์เราโดยไม่จำเป็น
ชีวิตของพระเอกในหนังเรื่องนี้มันสาหัสสากรรจ์มากอยู่แล้ว
คือแค่ตัวเนื้อเรื่องมันก็รันทดและเศร้าสุดๆอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นหนังก็ไม่จำเป็นต้องเร้าอะไรเรามากไปกว่านี้อีก
และพอหนังมันไม่เร้าอารมณ์เราโดยไม่จำเป็น
เราก็จะยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดในหนังเรื่องนี้มันจริงมากๆ
เราจะรู้สึกว่ามันต้องมีชีวิตคนจริงๆที่เป็นแบบนี้แน่นอน
แทนที่จะรู้สึกว่ามันเป็นเพียงแค่เรื่องของ “ตัวละครสมมุติ” กลุ่มหนึ่ง
การที่หนังเรื่องนี้ไม่เร้าอารมณ์มากเกินไป หรือไม่ฟูมฟาย
ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เรานึกไปถึงหนังของ Robert Bresson กับสองพี่น้อง
Dardenne ด้วยเหมือนกัน
และเราก็หวังว่าในอนาคตจะมีหนังไทยที่ออกมาในสไตล์ของ Bresson กับ Dardenne อีก
5.ชอบการแคสติ้งในหนังเรื่องนี้ด้วย
หนังเลือกผู้แสดงที่สมจริงมากๆ คือการแสดงของบางคนอาจจะดูแข็งๆ
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญเลยในหนังเรื่องนี้ (เช่นเดียวกับในหนังของ Bresson)
เพราะหน้าตาและบุคลิกของคนแสดงที่ดูสมจริงมันก็เพียงพอแล้ว
6.การตัดสลับเหตุการณ์ในเรื่องก็น่าสนใจดี
ถ้าเรียงตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง
เหตุการณ์แรกสุดน่าจะเป็นฉากสุดท้าย, เหตุการณ์ที่สองน่าจะเป็นฉากรองสุดท้าย,
เหตุการณ์ที่สามน่าจะเป็นฉากที่สองของหนัง และเรียงตามนั้นไปเรื่อยๆ ส่วนฉากแรกสุดของหนังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกลางเรื่อง
ตอนที่เราดูรอบแรก การเรียงสลับฉากกันไปมาแบบนี้ เราว่ามันน่าสนใจดีนะ
มันทำให้เราอยากรู้ว่า จริงๆแล้วผัวเมียคู่นี้เจอปัญหาจากกฎหมายอะไร
และเราไม่รู้ว่าเขาทำผิดจริงหรือไม่ผิดจริงในสายตาของเราหรือเปล่า
ก่อนที่เราจะรู้ในช่วงท้ายของเรื่องว่า เขาทำผิดกฎหมายจริงๆ แต่เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลยในสายตาของเรา
แต่น้องอุ้ย Ratchapoom ก็นำเสนอไอเดียที่ดีมากๆเหมือนกันว่า
ถ้าหากหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลา จุด focus ของหนังอาจจะเปลี่ยนไป
ซึ่งอาจจะทำให้หนังดีขึ้นก็ได้
สรุปว่า โดยส่วนตัวแล้ว เราคิดว่าเราคงชอบทั้งสองแบบน่ะแหละ
เราชอบทั้งสี่แยกวังเพลิงเวอร์ชั่นปัจจุบัน ที่ไม่ได้เล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลา
แต่ถ้าหากหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลา เราก็คงชอบมากๆเหมือนกัน
7.ชอบการ zoom out ในฉากแรกของเรื่อง ที่พอพระเอกตัดสินใจฆ่าตัวตายแล้ว
กล้องก็ zoom out ออกมาจากห้องนั้นจนเห็นลูกพระเอกนั่งดูทีวีอยู่
มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้พระเอกอยากฆ่าตัวตาย
โดยใช้เทคนิคทางกล้องที่ดูเหมาะสมดี
8.ชอบอะไรเล็กๆน้อยๆในหลายๆฉาก อย่างเช่น
8.1 ฉากที่ลูกชายเอาพัดลมมาจ่อที่พระเอก
มันเป็นการแสดงความรักระหว่างพ่อลูกที่ดีมากๆ
8.2 ฉากที่ลูกสาวถามแม่ว่าต้องล้างผักมั้ย มันเป็นการแสดงความเหนื่อยหน่ายของตัวนางเอกได้ดีมากๆ
8.3 ฉากที่เห็นรูปถ่ายของพระเอกนางเอกกับลูกในสมัยก่อน
มันเป็นภาพความสุขที่เจ็บปวดมากๆ
เพราะชีวิตมันไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้ว
9.มีหนังไทยหลายๆเรื่องที่ทรงพลังแบบนี้ และนำเสนอด้วยสไตล์หนังแบบนี้
แต่หนังกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะนำเสนอปัญหาทางกฎหมายของชนกลุ่มน้อย อย่างเช่นเรื่อง OVERSEAS (2012, Wichanon Somumjarn
+ Anocha Suwichakornong) หรือไม่ก็เป็นหนังสารคดีไปเลย สี่แยกวังเพลิงก็เลยมีความน่าสนใจสำหรับเราในแง่ที่ว่า
มันเป็นหนังที่นำเสนอปัญหาสำหรับคนไทยโดยทั่วไป
แต่เรามักไม่ค่อยพบสไตล์แบบนี้ในหนังทั่วๆไปในยุคปัจจุบัน
เรากลับพบสไตล์แบบนี้ในหนังเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยเป็นส่วนใหญ่
สรุปว่าเราชอบประเด็นของหนังเรื่องนี้มากๆ และก็ชอบสไตล์ของหนังเรื่องนี้มากๆด้วย
หนังเรื่องนี้ไม่เร้าอารมณ์, ไม่ฟูมฟาย
และนำเสนออะไรหลายๆอย่างในหนังได้ด้วยวิธีการที่กระชับ, รัดกุมมากๆ
No comments:
Post a Comment