Saturday, August 10, 2013

YOY (2013, Tossaphon Riantong, 50min, A+15)


YOY (2013, Tossaphon Riantong, 50min, A+15)

หยอย (ทศพร เหรียญทอง)

 

หนังเรื่อง “หยอย” ทำให้นึกถึงประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้

 

1.ไปๆมาๆแล้ว สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ อาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักของเรื่อง (ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการค้นหาตัวตนหรือการกำหนดตัวตน) แต่เป็นอะไรเดิมๆที่เรามักชอบในหนังเรื่องอื่นๆ นั่นก็คือการที่เราสามารถ identify ตัวเองเข้ากับความปรารถนาทางเพศของนางเอก ฮ่าๆๆ คือหนังเรื่องนี้สร้าง character พระเอกออกมาได้ตรงสเปคเรามากพอสมควร ทั้งหน้าตาและบุคลิก แต่สิ่งที่สำคัญก็คือนางเอกหนังเรื่องนี้เธอเป็นฝ่ายรุก เป็นฝ่ายที่พยายามเสยตัวเองเข้าหาพระเอกตลอดเวลา นางเอกหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็น object of desire แต่เธอเป็น subject ในขณะที่พระเอกตกเป็น object of desire ของทั้งนางเอกและคนดูอย่างเต็มๆ (จริงๆแล้วเราก็ไม่แน่ใจว่านางเอกคิดอะไรยังไงกับพระเอกมากน้อยแค่ไหน เพราะนางเอกก็ชอบรุ่นพี่ด้วย เราก็เลยไม่แน่ใจว่านางเอกเธอต้องการเป็นเพื่อนของพระเอก, หรือต้องการเป็นแฟน, เธอรักพระเอก หรือว่าเธอแค่ want want แต่ไม่จริงจังอะไรมากนัก)

 

อย่างไรก็ดี การที่เราได้เห็นนางเอกหนังเรื่องนี้พยายามหาช่องทางตีสนิทกับพระเอกต่างๆนานา มันจึงเหมือนเป็นการปลดปล่อยความต้องการทางเพศของเราไปโดยปริยาย ฮ่าๆๆ คือเราคงไม่สามารถทำแบบนางเอกได้ในชีวิตจริง แต่นางเอกหนังเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่แทนเรา เธอทำกับพระเอกในสิ่งที่เราอยากจะทำกับพระเอก และการที่เราได้เจอตัวละครที่คิด, พูด, ทำแทนเราแบบนี้ มันก็ทำให้เรามีความสุขมากๆ

 

พฤติกรรมอย่างนึงของนางเอกที่ทำให้เรานึกถึงตัวเองมากๆ คือการที่เธอพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อพระเอกน่ะ เธอเปลี่ยนสไตล์การแต่งหน้าของตัวเองใหม่ และพยายามอ่านการ์ตูนเรื่องเดียวกับที่พระเอกอ่าน เธอพยายามเปลี่ยน “ตัวตน” ของเธอ แต่ดูเหมือนว่าในที่สุดเธอจะฝืนทำมันได้ไม่สำเร็จ

 

ความพยายามจะเปลี่ยนตัวเองของนางเอกทำให้เรานึกได้ว่า เราเองก็เคยทำอะไรคล้ายๆอย่างนี้เหมือนกัน เพราะผู้ชายที่เราแอบหลงรักเขาชอบโพสท์ข่าวการเมืองบน wall ของเขา เราก็เลยพยายามตามอ่านข่าวการเมืองที่เขาโพสท์ แต่นานๆเข้าเราก็ค่อยๆอ่อนล้าและหมดแรงในการฝืนตัวเองให้อ่านสิ่งที่เราไม่ได้สนใจจริงๆ และในที่สุดเราก็ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเปลี่ยนตัวเองเพื่อเขา

 

การที่นางเอกกับพระเอกไม่ได้ลงเอยกันในตอนท้ายของเรื่อง มันก็เป็นจุดที่เราทั้งชอบและไม่ชอบ เราชอบที่ว่ามันดูสมจริงดี และมันก็ถูกต้องแล้วล่ะที่ลงเอยเหมือนชีวิตจริงแบบนี้ ชีวิตจริงที่เรามักไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนาเสมอไป แต่ในอีกแง่นึง เราก็ยอมรับว่าความสมจริงมันต้องแลกด้วย “ความพาฝัน” อยู่เหมือนกัน เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าหากหนังเรื่องนี้พาฝันเราไปจนสุดทาง เราจะชอบมันมากขึ้นหรือน้อยลง (ตัวอย่างหนังที่พาฝันเราไปสุดทางแล้วเราชอบมากๆ คือเรื่อง “ความรู้สึกที่หายไป” (LOST IN EMOTION) (2008, โสรญา ดวงเทพ, 16min, A+30) ที่เป็นเรื่องของสาวออฟฟิศที่อยากได้ยามรักษาความปลอดภัยหนุ่มหล่อ แล้วก็ได้ในตอนจบ ถ้าจำไม่ผิด)

 

ถึงแม้เราจะ identify ตัวเองกับความ want ของนางเอก แต่เราก็ไม่ได้ identify ตัวเองกับพฤติกรรมอื่นๆของนางเอก และไม่ได้ identify ตัวเองกับหน้าตาของนางเอกด้วย ฮ่าๆๆ คือถ้าหากนางเอกหนังเรื่องนี้เป็นสาวอ้วนดำแบบนางเอกหนังเรื่อง “สวัสดีมานพ” (2013, ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก + วันดี ตะบูนพงศ์, A+30) ที่ want ผู้ชายมากๆเหมือนกัน เราก็อาจจะ identify ตัวเองกับนางเอกและความ want ของนางเอกได้มากยิ่งขึ้น คือนางเอกของ “หยอย” มันยังมีความเป็นพิมพ์นิยมของชนชั้นกลางอยู่สูงน่ะ และนิสิตหญิงจุฬาส่วนใหญ่ก็คง identify ตัวเองกับนางเอกคนนี้ได้สบายๆ แต่ไม่ใช่เรา (ในแง่ของหน้าตาและบุคลิก)

 

2.อย่างไรก็ดี เราก็ชอบนางเอกหนังเรื่องนี้ในแง่ที่ว่า เธอดูคิกขุ แต่ไม่น่ารำคาญนะ มันเป็นลักษณะเดียวกับที่พบในนางเอกหนังเรื่อง CLUELESS (1995, Amy Heckerling) และ LEGALLY BLONDE (2001, Robert Luketic)  คือผู้หญิงคิกขุหลายคน มันดูน่ารำคาญมากๆในชีวิตจริง แต่นางเอกของหยอย, CLUELESS และ LEGALLY BLONDE มันดูคิกขุ แต่ไม่น่ารำคาญ

 

3.เรา identify ตัวเองไม่ได้กับพฤติกรรมบางอย่างของนางเอก แต่นั่นคืออีกจุดที่เราชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ คือนางเอกหนังเรื่องนี้มันมีด้านมืด หรือมีความเป็นนางอิจฉาอยู่ในตัว คือถ้าหากหนังเรื่องนี้เปลี่ยนโฟกัสไปที่ตัวละครรุ่นพี่กับรุ่นน้องที่เป็นเกย์ปุ๊บ สถานะของตัวละครเชอรี่ในเรื่องนี้จะกลายเป็นนางอิจฉาในทันที

 

พฤติกรรมของนางเอกที่เรารับไม่ได้ คือเรื่องที่เธอแอบถ่ายรูปในห้องน้ำน่ะ เราว่ามันเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายและล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นมากๆ อย่างไรก็ดี การที่นางเอกทำแบบนี้มันก็ทำให้ตัวละครนางเอกดูกลมมากขึ้น และดูน่าสนใจมากขึ้นด้วย เธอไม่ใช่ตัวละครสาวใสซื่อใจบริสุทธิ์อีกต่อไป แต่เธอกลายเป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีศักยภาพในการทำความเลวซ่อนอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ใดจะกระตุ้นให้เธอปลดปล่อยความเลวออกมา

 

แต่นางเอกก็มีจุดที่ดีมากๆอยู่ในตัวเหมือนกัน จุดที่เราชอบมากคือตอนที่เธอพูดกับเพื่อนในทำนองที่ว่า เราไม่ควรไปก้าวก่ายความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนตัวสูงกับอาจารย์ชาย เราเห็นด้วยกับนางเอกมากๆในจุดนั้น และไม่เห็นด้วยกับเพื่อนสนิทของนางเอกที่พยายามจะเข้าไปก้าวก่ายความรักระหว่างศิษย์-อาจารย์ของเพื่อนตัวเอง

 

4.ฉากที่ติดตาติดใจเรามากที่สุดในหนังเรื่องนี้ คือฉากที่ล้อตำนานซินเดอเรลล่า ด้วยการให้นางเอกวิ่งลงบันไดมา แล้วทิ้งรองเท้าไว้ข้างนึง เราว่ามันล้อตำนานนี้ได้น่าสนใจมาก เพราะในฉากนี้ เชอรี่ทำพฤติกรรมแบบนางอิจฉา ไม่ใช่นางเอก การวิ่งลงบันไดของเธอเหมือนกับการดิ่งลงสู่นรกในจิตใจเธอเอง และรองเท้าที่เธอทิ้งไว้ไม่ได้ทำให้เธอได้พบกับเจ้าชายในฝัน แต่มันเป็นหลักฐานมัดตัวเธอในฐานะผู้กระทำผิด

 

5.ประเด็นหนึ่งที่เราชอบมากในหนังเรื่องนี้ ก็คือโครงสร้างของสังคมที่เอื้อให้มีการกดขี่กันเป็นทอดๆ ซึ่งในที่นี้คือระบบที่รุ่นพี่มีสิทธิในการตั้งชื่อใหม่ให้รุ่นน้อง

 

ในตอนแรกนั้น นางเอกตกเป็นเหยื่อของระบบนี้ เธอดูน่าสงสาร แต่หนังเรื่องนี้ดีมาก ที่ในเวลาต่อมา นางเอกก็กลายเป็นคนที่ทำร้ายคนอื่นโดยอาศัยประโยชน์จากระบบนี้เสียเอง

 

การที่นางเอกตั้งชื่อใหม่ให้ศัตรูหัวใจของเธอว่าหยอย จึงเป็นการสะท้อนด้านมืดของมนุษย์และโครงสร้างสังคมที่น่าสนใจมาก และมันทำให้เราย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เราเคยทำแบบนางเอกหนังเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า เราเคยทำร้ายคนอื่นในแบบที่เราเคยถูกคนอื่นทำร้ายหรือเปล่า

 

6.เรา identify ตัวเองกับตัวพระเอกของเรื่องด้วยเหมือนกัน เพราะเราเคยเรียนคณะบัญชี และเราทนการซ้อมเชียร์ในคณะนี้ไม่ได้ เราซ้อมเชียร์อยู่ 3 วันแล้วก็ไม่เข้าซ้อมเชียร์อีกเลย แต่เราไม่เคยลุกขึ้นมาโต้เถียงกับรุ่นพี่เหมือนพระเอกของเรื่องนี้นะ

 

อีกอย่างที่เรา identify กับพระเอกของเรื่อง ก็คือการที่เราแทบไม่มีเพื่อนในคณะ ตอนเรียนบัญชีเรามีปัญหาบางอย่าง ทำให้เราแทบไม่มีเพื่อนเลย แต่ปัญหาของเราจบลงด้วยการลาออกแล้วเอนท์ใหม่เข้าคณะอักษรแทน

 

ตัวละครพระเอกของเรื่องนี้ ก็เลยทำให้เรานึกถึงตัวเอง บางทีเราก็เคยจินตนาการว่า ถ้าหากเราเรียนบัญชีต่อไป ชีวิตเราจะเป็นยังไง เราจะตกอยู่ในสถานะคล้ายๆพระเอกหนังเรื่องนี้หรือเปล่า

 

7.อีกสิ่งที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ ก็คือว่ามันเหมือนกับเป็นภาคสองของหนังเรื่อง VICIOUS CYCLE (2013, อรุณกร พิค, 22.30min, A+30) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนิสิตหนุ่มที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับระบบ SOTUS และการซ้อมเชียร์ที่โหดเกินไป

 

คือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีหนังอย่างน้อย 3 เรื่องที่นำเสนอประเด็นเดียวกัน ซึ่งก็คือ THE PASSION OF FRESHY (2008, Pirun Anusuriya, 11min), A TRAGEDY OF DIFFERENT MIND (โศกนาฏกรรมแห่งความคิด) (2011, Thanawate Sunyanuchit, 15min) และ VICIOUS CYCLE โดยหนังสามเรื่องนี้พูดถึงนิสิตหนุ่มที่ลุกขึ้นต่อต้านระบบ SOTUS เหมือนกับพระเอกเรื่องหยอย แต่หนังสามเรื่องนี้นำเสนอเพียงแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียว และไม่ได้นำเสนอมิติอื่นๆในชีวิตของพระเอกนอกจากประเด็นนี้ คือคนดูจะไม่รู้หรอกว่า หลังจากพระเอกต่อต้าน SOTUS เสร็จแล้ว ชีวิตในอีก 2 ปีข้างหน้าของพระเอกจะเป็นยังไง

 

เราชอบหนัง 3 เรื่องนั้นมากๆ และเราว่าหนังสามเรื่องนั้นก็บรรลุวัตถุประสงค์ของมันเองในการ anti sotus แต่หยอยคือหนังที่ก้าวไปไกลกว่านั้น หยอยตอบคำถามที่ว่า ชีวิตของพระเอกในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

 

8.ในขณะที่หยอยนำเสนอมิติอื่นๆในชีวิตของพระเอกนอกจากการเป็นคน anti sotus แล้ว หยอยก็นำเสนอหลายๆแง่มุมในชีวิตของนางเอกด้วย และเราก็ชอบตรงจุดนี้มากๆ คือหนังเรื่องอื่นๆอาจจะเน้นพูดเพียงแค่ประเด็นเดียว แง่มุมเดียว แต่หยอยทำให้เราเห็นชีวิตนางเอกรอบด้านดี และมันก็เลยทำให้หยอยเหมือนเป็นการรวมประเด็นที่น่าสนใจที่ตรงกับหนังหลายๆเรื่องมาไว้ด้วยกัน อย่างเช่น

 

8.1 ประเด็นเรื่องการ anti sotus เหมือนหนังเรื่อง VICIOUS CYCLE

 

8.2 ความผิดหวังที่ชายที่หลงรักเป็นเกย์ ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง BE-WHERE (2013, พรศิริ ทองใบศรี, A+30)

 

8.3 ความสับสนเรื่องเส้นทางการเรียนที่ตัวเองจะเลือกเดิน และเส้นทางการเรียนที่เพื่อนสนิทจะเลือกเดิน ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง THE WAY I WANT วันที่ฝันเป็นจริง (2013, สุภาณี ลิ้มโรจน์นุกูล, 27.42min)


 

8.4 ปัญหาจุกจิกในการทำงานกลุ่มและการออกกองถ่ายหนัง ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง FAIR…FAIR (2013, ฉันทนา ทิพย์ประชาติ, 12min) และ “ความลำบากยากเย็นในช่วงชีวิตของนายบิว” (2013, ธนพฤทธิ์ ประยูรพรหม, 64min, A+30)

 

คือหยอยมันไม่ได้คล้ายกับหนังที่เราระบุชื่อมาหรอก เราแค่จะเน้นย้ำว่าหยอยมันอาจจะนำเสนอชีวิตของนางเอกได้ “รอบด้าน” มากกว่าหนังอีกหลายๆเรื่องน่ะ เพราะหนังหลายๆเรื่องมันเสนอเพียงแค่แง่มุมเดียวหรือปัญหาเดียวในชีวิตนางเอกเท่านั้น

 

9.ชอบความแตกต่างกันระหว่างพระเอกกับนางเอกด้วย คือถึงแม้ทั้งคู่จะเป็นคนนอกของเอกภาพยนตร์เหมือนกัน ทั้งคู่ก็มีบางอย่างที่ตรงข้ามกัน เพราะเชอรี่พยายามจะ fit in ให้ได้ในสังคมใหม่นี้ ในขณะที่พระเอกไม่พยายามทำตรงนี้เลย และในขณะที่เชอรี่ไม่พอใจกับการที่คนอื่นๆเรียกเธอว่าหยอย พระเอกกลับต้องการให้คนอื่นๆรู้จักเขาในชื่อ “ไอ้ตัวซวย”

 

10.ชอบที่หนังเรื่องนี้นำเสนอพฤติกรรมของคนในสังคมเล็กๆที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน เราไม่เคยรู้ว่าเวลาเลือกวิชาเอกในบางคณะ แล้วเราจะต้องพยายามตีสนิทกับเพื่อนในเอกเดียวกันแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจดี เราไม่เคยเห็นหนังเรื่องอื่นๆหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูด

 

11.ชอบการเล่าย้อนเวลาไปมาในเรื่องนี้มาก เราว่าหนังเรื่องนี้จับจังหวะอารมณ์ได้ถูกต้องในการ flash back แต่ละครั้ง

 

12. อีกจุดที่ชอบมากๆในเรื่องนี้ คือการสร้าง character ตัวละครประกอบแต่ละตัว เราว่าตัวประกอบหลายๆตัวในเรื่องนี้มันดูเป็นมนุษย์หรือมันดูจริงมากกว่าตัวละครประกอบในหนังทั่วๆไป เราชอบตัวละครกลุ่มเพื่อนสนิทนางเอกและกลุ่มเพื่อนที่ออกกองถ่ายเดียวกับนางเอกมากๆ เราไม่รู้เหมือนกันว่าหนังเรื่องนี้ทำยังไง แต่ตัวละครประกอบเหล่านี้มันออกมาดูมีชีวิตมากๆน่ะ หรือว่าพวกเขาเล่นเป็นตัวเอง ฮ่าๆๆ

 

13.อีกจุดที่น่าสนใจคือชีวิตนางเอกดูเหมือนไม่ใช่ชีวิตที่แรงที่สุดในเรื่อง คือปกติแล้วตัวละครนางเอกในหนังส่วนใหญ่ จะเป็นตัวละครที่มีชีวิตรุนแรงที่สุดในหนังเรื่องนั้น แต่เราว่าปัญหาชีวิตต่างๆที่นางเอกประสบในหนังเรื่องนี้ มันดูไม่รุนแรงมากนัก ในขณะที่ชีวิตของรุ่นพี่กับรุ่นน้องเกย์ และชีวิตเพื่อนนางเอกที่มีความสัมพันธ์กับอาจารย์ มันดูเป็นชีวิตที่น่าจะ dramatic กว่านางเอกมากๆ เราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจดีที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ dramatize หรือ melodramatize ชีวิตนางเอกอย่างเต็มที่ หรือไม่ได้เลือกนำเสนอชีวิตตัวละครที่ dramatic กว่านางเอก

 

14.ปรากฏว่าที่เขียนมาเราแทบไม่ได้พูดถึงประเด็นสำคัญในหนังเลย ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นเรื่องการกำหนดตัวตนของตัวเองด้วยตัวเอง หรืออะไรทำนองนี้ คือเราว่าเราอาจจะไม่ได้อินอะไรมากนักกับประเด็นนี้ในหนังเรื่องนี้ สิ่งที่เราประทับใจมากๆในหนังเรื่องนี้ จึงกลายเป็นองค์ประกอบยิบย่อยต่างๆในหนังแทน

 

15.เพราะเหตุใดเราถึงชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+15 แต่ไม่ใช่ A+30 นั่นก็เป็นเพราะว่าถึงแม้เราจะ identify ตัวเองได้กับพระเอกและนางเอกของหนังเรื่องนี้ในบางจุด หนังเรื่องนี้ก็ไม่มีจุดใดที่ทำให้เรารู้สึกพีคสุดๆหรือสะเทือนใจเราอย่างรุนแรง คือถ้าหากเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้เป็นอาหาร เราก็รู้สึกว่ามันเป็นอาหารที่อร่อยและมีรสชาติ “กลมกล่อม” แต่ไม่มีรสชาติ “จัดจ้าน” น่ะ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวของเราเองนะ ในแง่นึงมันก็ทำให้เรานึกถึงหนังของ Céline Sciamma เรื่อง TOMBOY (2011) กับ WATER LILIES (2007) ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่นที่ให้รสชาติ “กลมกล่อม” เหมือนกัน คือหนังฝรั่งเศสสองเรื่องนี้มันดูเหมือนจะแรง แต่พอดูจริงๆแล้วมันไม่แรงเท่าที่คาด แต่โดยรสนิยมส่วนตัวของเรา เราต้องการหนังที่รสชาติจัดจ้านจัญไรเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่นแบบหนังอย่าง LOVELY RITA (2001, Jessica Hausner) มากกว่า

 

สรุปว่าหนังที่เราชอบที่สุดของทศพร เหรียญทอง ยังคงเป็นเรื่อง MY NOON (เพลงวันเกิด) กับ FLUSH TANK (น้าโอมอยากมีผัว) จ้ะ แต่หยอยก็เป็นพัฒนาการที่น่าสนใจ และน่าติดตามต่อไปว่าหนังเรื่องต่อๆไปของทศพรจะคลี่คลายออกมาในแนวใด


 
เพิ่มเติมจ้ะ
 
16.คิดไปคิดมาแล้วก็รู้สึกว่า อีกจุดนึงที่ตัวเองชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ ก็คือการที่หนังเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับ “ความสับสนว่าจะเลือกเรียนเอกอะไรดี” ซึ่งมันสะท้อนความสับสนในการเลือกเส้นทางชีวิตของคนทั่วๆไปได้ด้วย และหนังเรื่องนี้สะท้อนปัจจัยหลายประการที่สร้างความสับสนให้กับการเลือกเส้นทางชีวิตตรงจุดนี้ อย่างเช่น
 
16.1 รุ่นพี่ที่ชอบ
 
16.2 เพื่อนชายที่ชอบ
 
16.3 เส้นทางชีวิตที่เพื่อนสนิทเลือกเดิน
 
16.4 ความเข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้กับเพื่อนๆในภาค
 
ความสับสนในการเลือกว่าจะเรียนเอกอะไรดี มันทำให้เรานึกถึงตัวเองด้วยเหมือนกัน เราอาจจะไม่ได้ประสบปัญหานี้ตอนเรียนมหาลัย เพราะตอนนั้นเราได้เรียนคณะที่อยากเรียน และได้เรียนเอกที่อยากเรียน “ณ ขณะนั้น” แต่หลังจากจบจากมหาลัยมาแล้ว เราถึงพบว่าจริงๆแล้วเราอาจจะมี passion กับภาพยนตร์ มากกว่า passion กับวรรณคดีต่างๆที่ร่ำเรียนมา ความสับสนของเชอรี่อาจจะไม่ตรงกับความสับสนของเราซะทีเดียว แต่ “ความสับสนในการเลือกว่าจะเรียนอะไรดี” มันเป็นประเด็นที่น่าสนใจจริงๆ และเป็นเรื่องดีที่ประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงในหนังเรื่องนี้
 
 

No comments: