Tuesday, August 13, 2013

A VAGRANT SINGING BEGGAR (2013, Poopaan Sornwismongkol, documentary, 33.13min, A+30)

 
A VAGRANT SINGING BEGGAR (2013, Poopaan Sornwismongkol, documentary, 33.13min, A+30)
วณิพกพเนจร (ภูพาน สรวิศมงคล)
 
ดูแล้วนึกไปถึงหนังรัสเซียเรื่อง PALMS (1993, Artur Aristakisyan, A+30) ที่นำเสนอภาพชีวิตคนจน, ขอทาน หรือคนในสลัมได้ทรงพลังสุดๆแบบนี้เหมือนกัน
 
ในความเป็นจริงนั้น เราไม่เคยหยุดฟังวณิพกเขาเล่นเพลงจริงๆจังๆเลย แต่พอได้มาดูหนังเรื่องนี้ ก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ เพราะสิ่งที่สำคัญมันอาจจะไม่ได้อยู่ที่ ความไพเราะของเพลงแต่มันเหมือนเป็นการสื่อสารทางจิตถึงความลำบากยากเย็นของชีวิตระหว่างคนดูกับคนเล่นดนตรี คือในขณะที่เราฟังคอนเสิร์ตปกติ สิ่งที่สำคัญคือการปล่อยใจไปกับเสียงดนตรีที่เราได้ยิน แต่เวลาเราดูหนังเรื่อง วณิพกพเนจรกับหนังเรื่อง รังไหมดิบ สยาม ไทรโศก” (กำกับโดยธีรนิติ์ เสียงเสนาะ) ที่จับภาพวณิพกขณะเล่นดนตรีเป็นเวลานานๆ เรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญมันเป็นมากกว่าเสียงดนตรี แต่มันเป็นชีวิตหรือจิตวิญญาณของคนเล่นดนตรี ชีวิตที่เราอาจจะไม่รู้หรอกว่าจริงๆแล้วเขาผ่านความทุกข์ยากอะไรมาบ้าง แต่ภาพที่เราได้เห็นมันก็กระตุ้นจินตนาการเรามากๆว่าชีวิตเขาเคยเจออะไรมาบ้าง และชีวิตของเขาก็อาจจะแตกต่างจากเรามากพอสมควร การดูหนังเรื่องนี้มันเหมือนเป็นการปะทะกับโลกของคนที่อาจจะมีชีวิตแตกต่างจากเรามาก แต่เขาก็เป็นมนุษย์คนนึง และหนังเรื่องนี้ก็เปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสเศษเสี้ยวของจิตวิญญาณเขาชั่วขณะหนึ่ง และมันก็เป็นประสบการณ์ที่ทรงพลังมากๆ
 
ชอบช่วงที่มีผู้ชายอีกคนนึงเอาเสื่อหรือของอะไรบางอย่างมาให้วณิพกด้วย มันดูน่าประทับใจมาก
 
หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง “สามัญชน” (THE PORTRAIT OF A YOUNG MAN) (2006, Manussa Vorasingha, 30min, A+30) ด้วย เพราะ THE PORTRAIT OF A YOUNG MAN จับภาพของชายเร่ร่อนคนหนึ่งอย่างนิ่งนาน และให้ความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูกเหมือนกัน มันเป็นความรู้สึกคล้ายๆจะหดหู่ แต่ก็ไม่ได้หดหู่แบบหนังสงคราม หรือหนังที่ตีแผ่ความชั่วร้ายของมนุษย์ แต่เป็นความเศร้าต่อโลกมนุษย์ในแบบที่เรายังนึกหาคำเหมาะๆไม่ได้
 
ถ้าหากเอาหนังในกลุ่มนี้มาเทียบเคียงกันแล้ว PALMS อาจจะมีลักษณะความเป็นกวีสูงสุด ส่วน “รังไหมดิบ สยาม ไทรโศก” ทำให้เราร้องไห้มากที่สุด เพราะมันมีการเร้าอารมณ์ด้วยกล้อง, ด้วยผู้คนในสยามสแควร์ ด้วยเสารถไฟฟ้าที่ใหญ่มหึมา และด้วยการเอาเพลงไทรโศกไปใส่ไว้ในรถไฟฟ้าตอนช่วงแรกๆของเรื่อง (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจุดนี้ถึงมีส่วนในการทำให้เราร้องไห้ แต่มันเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่า ถึงคุณไม่ได้ยินเสียงเพลงนี้ด้วยหูของคุณ เพลงนี้ก็อาจจะอยู่ในจิตวิญญาณของคุณ หรือความอาดูรของโลกนี้มีอยู่ในทุกๆแห่ง) ในขณะที่จุดดีของวณิพกพเนจร คือการไม่เร้าอารมณ์ และเปิดโอกาสให้ subject ของเรื่องได้แสดงตัวตนของตัวเองออกมามากกว่า “รังไหมดิบ สยาม ไทรโศก”
 
น่าเสียดายที่เราจำรายละเอียดใน THE PORTRAIT OF A YOUNG MAN ไม่ได้แล้ว แต่เราสงสัยมานานแล้วว่าหนังเรื่องนี้มันเป็นสารคดีหรือมีความเป็นสารคดีผสมอยู่ด้วยหรือเปล่า
 
The photo you see is from PALMS.
 

No comments: