Wednesday, August 07, 2013

DARLING, MORNING, GOODNIGHT (2012, Natchanon Vana, 28.48min, A+30)

 
DARLING, MORNING, GOODNIGHT (2012, Natchanon Vana, 28.48min, A+30)
ทิวทัศน์ รุจิสยา สุขใจ
 
ชอบโลกเซอร์เรียลในหนังเรื่องนี้มากๆ เราว่าหนังเรื่องนี้สร้างโลกเซอร์เรียลที่มีลักษณะเฉพาะตัวดี และโลกเซอร์เรียลในหนังเรื่องนี้ก็มีเสน่ห์น่าดึงดูดในแบบแปลกๆดีด้วย
 
ตอนช่วงแรกๆของหนัง เรานึกว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังแนวผัวเมียละเหี่ยใจในแบบที่นักศึกษาหลายคนทำ ซึ่งส่วนใหญ่จะออกมาไม่สมจริง และตัวละคร/นักแสดงดูขาดมิติความเป็นมนุษย์อย่างมากๆ โดยหนังพวกนี้มักจบด้วยการสั่งสอนศีลธรรมสำเร็จรูปอะไรบางอย่าง
 
แต่พอดูไปได้สักพักนึง เราก็พบว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการความสมจริงแต่อย่างใด ตัวละครในเรื่องแต่งกายผิดปกติ และแสดงปฏิกิริยาต่อกันอย่างชืดชาเกินกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะทำกัน หนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในโหมดสมจริง แต่อยู่ในโหมดเซอร์เรียล และดูเหมือนจะกระตุ้นให้ผู้ชมคิดหรือตีความอะไรบางอย่าง หรือบางทีหนังอาจจะไม่ได้ซ่อนสาระสำคัญอะไรไว้ก็ได้ สิ่งที่อยู่ในหนังอาจจะเป็นเพียงความฟุ้งฝัน, state of mind, state of consciousness, index of feelings, etc. ที่เชื้อเชิญให้เราสัมผัสและดำดิ่งลงไปในภวังค์ของมัน หรือถ้าหากเราอยากจะตีความมัน เราก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน
 
สิ่งที่เราชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ประกอบด้วย
 
1.การแต่งหน้าแบบผิดปกติมนุษย์ โดยเฉพาะในช่วงท้ายหรือช่วงของ “สุขใจ” การแต่งหน้าเหมือนได้กลายเป็นจุดสนใจหลักของ part นี้ เพราะเราสังเกตว่า ในตอนแรกนั้น “สุขใจ” เขียนหางตาดำเป็นปื้น และทาขอบตาสีฟ้าๆเขียวๆ แต่พอเขาได้คุยกับรุจิสยา หางตาที่ดำเป็นปื้นของเขาก็หายไป ในขณะที่รุจิสยาทาปากสีดำ มันก็เลยเหมือนกับว่ารุจิสยาดูดซับเอาเครื่องสำอางบนใบหน้าของสุขใจไปเรื่อยๆ เพราะต่อมาขอบตาสีฟ้าๆเขียวๆของสุขใจก็หายไปด้วย และใบหน้าของสุขใจค่อยๆกลับคืนมาคล้ายใบหน้าของ “ทิวทัศน์” มากยิ่งขึ้น
 
เราไม่รู้หรอกว่าความพิสดารของการแต่งหน้าในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะในช่วงท้ายของหนัง มันสื่อถึงอะไร แต่เราชอบมากๆที่อยู่ดีๆการแต่งหน้าก็กลายเป็นจุดสนใจหลักของหนัง เพราะมันมีหนังน้อยมากที่เล่นกับ element ตรงนี้ เราชอบที่หนังเรื่องนี้ทำให้เราต้องเพ่งความสนใจไปที่การแต่งหน้าของตัวละคร โดยเฉพาะในช่วงท้ายเรื่อง
 
ความพิสดารของการแต่งหน้าในช่วงท้ายเรื่อง มันทำให้เรานึกถึงฉากนึงใน THE COOK, THE THIEF, HIS WIFE & HER LOVER (1989, Peter Greenaway) เพราะถ้าจำไม่ผิด มันจะมีฉากนึงที่สีเครื่องแต่งกายของ Helen Mirren เปลี่ยนไปเรื่อยๆโดยไม่มีเหตุผล (หรือจริงๆแล้วมีเหตุผล แต่ต้องอาศัยการวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง)
 
 
 
2.ทรงผมของรุจิสยาในเรื่องนี้ก็เซอร์เรียลดีมาก มันเป็นทรงผมที่ไม่ได้เซอร์เรียลด้วยตัวมันเอง เพราะมันดูเป็นทรงผมปกติเวลาออกงานสังคม แต่การที่รุจิสยาไว้ทรงผมแบบเต็มยศเวลาอยู่ในบ้าน กับเวลาไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต มันก็ทำให้รู้สึกแปลกๆดี บางทีอาจจะมีผู้หญิงหลายคนที่ทำแบบนี้ในชีวิตจริงก็ได้นะ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เราไม่ค่อยเห็นผู้หญิงที่ไว้ทรงผมแบบนี้ในหนังไทยสักเท่าไหร่
 
3.การแสดงแบบชืดชา เราชอบการแสดงแบบนี้มากๆ มันดูเป็น style เฉพาะตัวที่ประหลาดดี เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการที่พระเอกนางเอกแสดงอาการชืดชาต่อกันในหนังเรื่องนี้มันเป็นเพราะอะไร แต่มันกระตุ้นให้เราคิดอะไรต่ออะไรไปได้อีกหลายอย่าง อย่างเช่น
 
3.1 บางทีหนังเรื่องนี้อาจจะต้องการสะท้อนความสัมพันธ์ของสามีภรรยาชนชั้นกลางในยุคปัจจุบัน ที่แต่ละคนเหมือนทำตามหน้าที่อะไรบางอย่าง และขาดความรักความผูกพันกันจริงๆ บางทีทั้งสองอาจจะแต่งงานกันเพราะเงินและฐานะเป็นปัจจัยหลัก ไม่ใช่เพราะความรักก็ได้ เหมือนกับคู่สามีภรรยาใน COSMOPOLIS (2012, David Cronenberg, A+30) และบางทีทั้งสองอาจจะโหยหาธรรมชาติชนบทแบบที่ชนชั้นกลางในกรุงเทพชอบเป็นกัน
 
3.2 หรือบางทีหนังเรื่องนี้อาจจะต้องการเน้นย้ำอาการ emotional numbness ของคนในยุคปัจจุบัน
 
4.การตัดต่อ ถ้าจำไม่ผิด มันมีการตัดต่อในฉากนึงที่มันดูกระโดดมาก และเราชอบมากๆ นั่นก็คือฉากที่ตัวละครอยู่ในห้องหรือระเบียง แล้วอยู่ดีๆก็ตัดไปเป็นตัวละครอยู่ที่น้ำตกในทันทีเลย โดยไม่มีการบอกอะไรทั้งสิ้นว่าตัวละครเดินทางไปน้ำตกตั้งแต่เมื่อไหร่
 
การตัดต่อในฉากนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่า หรือว่าจริงๆแล้วน้ำตกกับห้องนั้น มันเป็นสถานที่เดียวกัน หรือว่าน้ำตกไม่มีจริง มันเป็นเพียง mental landscape ของตัวละครเท่านั้น ตัวละครถึงได้โผล่จากห้องไปที่น้ำตกได้ในทันที จุดนี้ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง “แสนนาน” (2008) ของทศพล บุญสินสุข ที่อยู่ดีๆก็มีป่าดงดิบปรากฏอยู่ในห้องของตัวละคร ซึ่งป่านั้นน่าจะเป็น mental landscape เหมือนกัน
 
5.การที่พระเอกหมกมุ่นกับการซักผ้า ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าทำไม และการซักผ้ากับการที่พระเอก “ถอดเสื้อ” ขณะอยู่ที่น้ำตก มันมีอะไรสัมพันธ์กันหรือเปล่า
 
6.มันเหมือนมีมวลอารมณ์ที่น่าสนใจบางอย่าง ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศของหนังเรื่องนี้ มันไม่ใช่มวลอารมณ์ของความสุข มันไม่ใช่ความโรแมนติก มันคล้ายๆเหมือนจะเป็นความเหินห่าง ความไม่ใส่ใจ หรือความเข้ากันไม่ได้ระหว่างสามีภรรยา แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าใช่มันหรือเปล่า สรุปว่ามันเป็นมวลอารมณ์อะไรบางอย่างที่บรรยายไม่ถูกจ้ะ ในแง่นึงมันก็ทำให้เรานึกถึง “บรรยากาศของความอึดอัด” ระหว่างตัวละครที่ไม่รู้จะพูดอะไรกันดีในฉากสุดท้ายของหนังเรื่อง LET’S EAT (2011, Wasunan Hutawach, A+30)
 
7.สิ่งหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจ ก็คือการที่หนังเรื่องนี้เหมือนจะมีอะไรบางอย่างที่คล้าย “หนังแอคท์เท่ ที่ชอบให้ตัวละครทำมาดเท่ๆ คูลๆ” อย่างเช่นการที่หนังให้ความสำคัญกับฉากตัวละครสูบบุหรี่เป็นเวลายาวนาน อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ไปไกลกว่าหนัง “เท่ๆ คูลๆ” เป็นอย่างมากในความเห็นของเรา การแสดงหรือมาดของตัวละครในหนังเรื่องนี้มันดู stylized มากๆก็จริง แต่มันมีพลังบางอย่างซ่อนอยู่ใน style เหล่านั้น มันมีพลังบางอย่างอยู่ในฉากสูบบุหรี่ หรือฉากอื่นๆ ตัวละครในหนังเรื่องนี้ไม่ได้สูบบุหรี่เพราะต้องการแสดงความเท่อยู่หน้ากล้อง หรือเพิ่มความเท่ให้กับหนัง แต่ฉากสูบบุหรี่ของพวกเขามีพลังดึงดูดที่น่าพิศวงบางอย่างอยู่จริงๆ
 
8.เนื่องจากเราไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่ออะไร หรือผู้กำกับมีจุดประสงค์อะไรในการสร้างหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้จึงกระตุ้นความคิดและจินตนาการของเราอย่างมากๆ หนังเรื่องนี้ทำให้เราตั้งคำถามหลายอย่างตามมามากมาย และกระตุ้นให้เราหยิบจับเอา elements หลายๆอย่างในหนังมาประกอบแต่งเรื่องใหม่ตามใจชอบ
 
จินตนาการและคำถามที่อยู่ในหัวของเราหลังจากดูหนังเรื่องนี้ มีเช่น
 
8.1 หลายๆฉากในหนังเรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวตามความเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง นั่นก็แสดงว่า ทิวทัศน์เป็นผู้ชายที่มีสองบุคลิกภาพอย่างนั้นหรือ นั่นก็คือบุคลิกภาพทิวทัศน์กับสุขใจ ซึ่งบุคลิกภาพหลังดูเหมือนจะเป็น cross-dresser แต่การแต่งหน้าอย่างพิสดารในช่วงหลังของเรื่อง เหมือนจะสื่อว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เล่าเรื่องราวตามความเป็นจริง หรือสื่อว่าสิ่งที่เราเห็นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแบบเป๊ะๆ
 
8.2 หรือว่าช่วงของสุขใจคือความฝัน เพราะในความฝัน identity ของเราเองกับของคนที่เรารู้จัก มักจะแปรผันไปจากความเป็นจริงอย่างประหลาด และบางทีความฝันอาจจะสะท้อนสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจเรา บางทีความฝันอาจจะสะท้อนสิ่งที่ทิวทัศน์อยากจะทำ
 
8.3 ถ้าให้เราแต่งเรื่องขึ้นมาเองโดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้ เราจะแต่งเรื่องว่า จริงๆแล้วรุจิสยาตายไปแล้ว และเรื่องทั้งหมดคือการที่ทิวทัศน์พยายามจะรำลึกถึงภรรยาที่ตายไป ภรรยาที่เขาเคยทำตัวชืดชาใส่ตอนที่เธอมีชีวิตอยู่ หรือเคยให้เวลากับเธอไม่มากพอ ภรรยาที่เขาเคยอยากพาไปเที่ยวน้ำตกด้วย
 
สาเหตุที่เราจินตนาการออกมาแบบนี้ เป็นเพราะว่า
 
8.3.1 เราไม่เห็นรุจิสยาในช่วงต้นเรื่องและท้ายเรื่อง แต่เห็นทิวทัศน์เหมือนจะถ่ายรูปห้องของตัวเอง มันก็เลยเหมือนกับว่าทิวทัศน์พยายามเก็บความทรงจำของสถานที่ที่เคยมีรุจิสยาอาศัยอยู่ แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่แล้ว
 
8.3.2 รุจิสยาชอบใส่ชุดดำ ซึ่งตามท้องเรื่องนั้นเหมือนเธอจะใส่ชุดดำเพราะเธอไปงานศพเพื่อน แต่ในอีกแง่นึงมันก็ทำให้เราจินตนาการว่าเธอตายไปแล้ว
 
8.3.3 ความเซอร์เรียลต่างๆเกิดจากการที่เนื้อหาของหนังเรื่องนี้เป็นความทรงจำ + จินตนาการของตัวละคร ไม่ใช่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริง
 
อย่างไรก็ดี จินตนาการของเราก็อาจจะไม่เข้ากับหนังอยู่ดี เพราะถ้าหากทิวทัศน์นึกถึงภรรยาเก่าด้วยความรู้สึกเศร้าเสียใจแบบที่เราจินตนาการ ภาพความทรงจำของเขามันคงไม่ออกมาดูเย็นชาแบบนี้ แต่น่าจะออกมาโรแมนติกเหมือน TO THE WONDER (Terrence Malick) มากกว่า
 
สรุปว่า เราไม่เข้าใจหนังเรื่องนี้จ้ะ แต่เราชอบหนังเรื่องนี้แบบสุดๆไปเลย เพราะเราว่าโลกเซอร์เรียลในหนังเรื่องนี้มันดูเป็นตัวของตัวเองดี, มันเป็นโลกที่มีเสน่ห์ดึงดูดสูงสำหรับเรา และมันก็กระตุ้นทั้งความคิดและจินตนาการของเราอย่างมากๆ

No comments: