Friday, August 09, 2013

GAYSA (2013, Surawee Worapoj, 14min, A+15)

GAYSA (2013, Surawee Worapoj, 14min, A+15)
เกศา (สุระวี วรพจน์)
 
มันมี “หนังรัก” ที่เราชอบสุดๆซ่อนอยู่ในหนังสยองขวัญเรื่องนี้ แต่เราขอพูดถึงประเด็นอื่นๆก่อนแล้วกัน
 
ดูหนังเรื่อง “เกศา” แล้วทำให้นึกถึงเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้
 
1.ชอบ setting อพาร์ทเมนท์ของพระเอกมากๆ เราว่ามันดูน่ากลัวมากๆ เราไม่รู้เหมือนกันว่าหนังเรื่องนี้ใช้การจัดแสงมากน้อยแค่ไหนในฉากทางเดินอพาร์ทเมนท์ แต่เราว่าบรรยากาศทางเดินอพาร์ทเมนท์ในหนังเรื่องนี้มันน่ากลัวมากๆเลย โดยเฉพาะแสงตามทางเดินที่ออกมาสลัวๆ หรือมีมุมมืดซ่อนอยู่ตามซอกหลืบต่างๆในระดับพอเหมาะ
 
2.การแต่งหน้าผีก็ออกมาใช้ได้นะ
 
3.ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหนังเรื่องนี้ต้องการเป็นหนังสยองขวัญล้วนๆ หรือตั้งใจให้มันตลกบ้างเล็กน้อย แต่เราว่ามันตลกดีตอนฉากผีมายืนทำเสียงคร่อกๆแคร่กๆอยู่หน้าห้องน่ะ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมฉากนี้ถึงออกมาดูแล้วตลก แต่มันก็ไม่ใช่ข้อเสียของหนังนะ เพราะเราคุ้นชินกับหนังผีไทยที่ปนความตลกอยู่แล้ว
 
4.ฉากผีปรากฏตัวตรงทางเดินอพาร์ทเมนท์หนแรก กับฉากผีมายืนข้างหลังพระเอกตอนไขประตูห้อง น่าตกใจดี เราว่า “จังหวะ” ตรงนี้แม่นดี การปรากฏอย่างฉับพลันของผีจึงทำให้มันดูน่าตกใจได้
 
5.ดูแล้วนึกถึงที่ใครบางคนเคยพูดว่า หนังผีหลายๆเรื่องของเอเชียสะท้อนความปรารถนาที่เก็บกดของเพศหญิง เพราะในอดีตผู้หญิงเอเชียไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียง หลายๆอย่างที่พวกเธอทำไม่ได้ในชีวิตจริง พวกเธอจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อตายไปแล้ว โดยเฉพาะการแก้แค้น เพราะฉะนั้นผีส่วนใหญ่ในหนังผีเอเชียจึงเป็นผีเพศหญิง
 
หนังเรื่อง “เกศา” ดูเหมือนจะพัฒนาต่อไปจากจุดนั้น ถ้าหากผีเป็นการเปล่งเสียงของผู้ด้อยสิทธิอย่างเช่นสตรี เกย์ก็ยิ่งเป็นผู้ด้อยสิทธิยิ่งกว่าสตรีอีก เพราะฉะนั้นการที่ผีในหนังเรื่องนี้เป็นเกย์ ไม่ใช่ผู้หญิงในแบบหนังผีไทยทั่วไป จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก และเกย์ในหนังเรื่องนี้ก็ใช้ชีวิตในสังคม homophobia อย่างเห็นได้ชัดด้วย (สะท้อนผ่านทางตัวละครลุงขายน้ำอัดลม)
 
สรุปว่าในขณะที่หนังผีเอเชียหลายๆเรื่องสะท้อนโครงสร้างทางสังคมที่ผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชายในอดีต หนังผีเรื่องนี้จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า มันสะท้อนโครงสร้างทางสังคมในลักษณะคล้ายคลึงกันหรือเปล่า
 
6.ไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วผู้ตายเคยปล้ำผู้ชายจริงๆหรือเปล่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้แสดงให้เราเห็นตรงๆ บางทีหนังอาจจะต้องการให้คนดูคิดเองก็ได้ แต่เราเข้าใจว่า บางทีช่างตัดผมอาจจะไม่เคยปล้ำผู้ชายเลยก็ได้ เขาแค่ผิดหวังในความรัก และพอผู้ชายที่เขารักทิ้งเขาไป เขาก็เลยฆ่าตัวตาย ส่วนเรื่องการปล้ำนั้นเป็นข่าวลือที่ตัวผู้ชายกุขึ้นมาเอง แต่อันนี้เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน
 
7.เราว่าหนังเรื่องนี้น่ากลัวในระดับนึงนะ คือน่ากลัวในระดับ A+ น่ะ แต่ยังไม่น่ากลัวถึงขั้น A+30 เราไม่แน่ใจว่าผู้ชมที่เป็นผู้ชาย straight จะกลัวหนังเรื่องนี้มากกว่าเราหรือเปล่า เพราะเราคิดว่าสาเหตุนึงที่เราไม่ได้กลัวหนังเรื่องนี้มากนัก เป็นเพราะเรา identify กับตัวผีมากกว่าตัวพระเอก ฮ่าๆๆ พอเรา identify กับตัวผี เราก็เลยไม่ค่อยกลัวผีในหนังเรื่องนี้มากนัก แต่เรากลับไปประทับใจกับความรักข้างเดียวของผีในหนังเรื่องนี้แทน ดูแล้วก็นึกถึง “พี่มากพระโขนง” อยู่เหมือนกัน ในแง่ที่ว่าเราก็ identify กับตัวนางเอกในพี่มากพระโขนงในฐานะคนนอกของสังคม แทนที่จะ identify กับตัวละครมนุษย์ในเรื่อง
 
8.แต่ความกลัวของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้ มันไม่ได้เกิดจากการที่เรากลัวผีจะมาทำร้ายเราเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดจากการที่เรารู้สึกว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับ “ความปรารถนาส่วนลึกในใจตัวเอง” ด้วย คือผีในหนังเรื่องนี้มัน want ผู้ชายเหมือนกับเราไง เพราะฉะนั้นสำหรับเราแล้ว ผีในหนังเรื่องนี้มันก็เหมือนกับเป็นความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ลึกๆในใจเรา และหนังเรื่องนี้ก็ทำความปรารถนาดังกล่าวให้ปรากฏเป็นรูปธรรมในรูปของผีหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว เพราะฉะนั้นพอเราเห็นผีมาลูบไล้ตัวพระเอกที่หน้าห้อง เราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับ “ความน่ากลัวที่ซ่อนอยู่ในใจตัวเราเอง”
 
เราว่าจุดนี้น่าสนใจดี เพราะหนังผีหลายๆเรื่องมัน work เพราะมันมีมิติทางจิตวิทยาซ่อนอยู่ด้วย
 
ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงหนังสยองขวัญเรื่องนึงที่เรากลัวที่สุดในชีวิต นั่นก็คือ JEEPERS CREEPERS (2001, Victor Salva, A+30) เพราะสัตว์ประหลาดในหนังเรื่องนี้ ก็มีลักษณะความเป็นเกย์สูงมากเช่นกัน
 
9. หนังเรื่อง “เกศา” ทำให้เราจินตนาการต่อไปได้อีกเยอะเหมือนกัน จินตนาการอันนึงก็คือว่า เราอยากดัดแปลงหนังเรื่องนี้ให้เป็นหนังจิตวิทยามากยิ่งขึ้น โดยให้ผีในเรื่องนี้อาจจะไม่มีตัวตนจริง แต่เป็นความปรารถนาส่วนลึกในใจของพระเอกแทน โดยในการดัดแปลงนี้ พระเอกจะเป็นคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ และเขาก็เริ่มรู้สึกชอบเพื่อนชายของเขามากขึ้นเรื่อยๆ แต่เขาก็พยายามปฏิเสธเสียงเรียกร้องส่วนลึกในใจของตัวเอง คือถ้าเป็นในกรณีนี้ ผีในเรื่องมันจะก้ำกึ่งระหว่าง “ผีที่มีตัวตนจริงๆ” กับ “ความเป็นเกย์ที่ซ่อนอยู่ในตัวพระเอกเอง”
 
10.อย่างไรก็ดี เราก็ไม่สามารถ identify ตัวเองกับผีในเกศาได้อย่างสมบูรณ์หรอกนะ เพราะถ้าหากเราเป็นผีในหนังเรื่องนี้ หนังก็คงไม่จบแบบนี้ ฮ่าๆๆ เพราะเราคงจะไม่มาตามรังควานพระเอกอีกต่อไป หลังจากตระหนักดีแล้วว่าพระเอกไม่ใช่คนที่เราเคยชอบ และไม่ได้เต็มใจที่จะมีอะไรกับเรา หรือไม่เราก็อาจจะทำตัวเป็นผีที่ดี คอยช่วยเหลือให้พระเอกได้สมหวังกับสาวคนรักหรืออะไรแบบนี้แทน ฮ่าๆๆ
 
อย่างไรก็ดี ผู้สร้างหนังเรื่องนี้ก็คงมีเหตุผลของตนเองที่เลือกให้หนังจบแบบนี้ แต่ตอนจบแบบนี้ก็ทำให้เราถอยห่างออกมาจากหนังเหมือนกันจ้ะ
 
11.เอาล่ะ เราขอพูดถึงจุดที่เราชอบสุดขีดในหนังเรื่องนี้แล้วกันนะ ซึ่งเป็นจุดที่เราไม่รู้ว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้ตั้งใจหรือเปล่า คือหนังเรื่องนี้มันทำให้เราจิ้น หรือจินตนาการหนังรักขึ้นมาอีกเรื่องนึงได้ทั้งเรื่องเลยน่ะ
 
สิ่งที่ดีมากๆในหนังเรื่องนี้คือความรักของชายแก่ คือถ้าหากให้เราเอาหนังเรื่องนี้มารีเมคนะ เราจะทำให้มันเป็นหนังรักที่ดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงไปเลย เพราะพอเราดู “เกศา” เสร็จ เราสามารถจินตนาการถึงชีวิต, ความรัก, อารมณ์, ความรู้สึกของตัวช่างตัดผมได้หมดเลยน่ะ สงสัยมันใกล้เคียงกับชีวิตของเรา ฮ่าๆๆ คือเราว่าตัวละครช่างตัดผมในเรื่องนี้มันน่าสนใจมากๆ เพราะเขาเป็นทั้งเกย์, เป็นทั้งคนแก่, เป็นทั้งคนจน และอาศัยอยู่ในสังคมที่มองเขาในทางลบ ตัวละครตัวนี้มันเป็นตัวละครที่น่าเห็นใจมากๆ และเหมาะอย่างยิ่งที่จะถูก treat ในฐานะพระเอกของเรื่อง เพียงแต่ว่ามันคงยากที่จะมีหนังไทยเรื่องไหนที่จะนำเสนอพระเอกที่มีสถานะแบบนี้ แต่ถ้าหากมีหนังไทยเรื่องไหนกล้าทำแบบนี้ และเข้าถึงความรักและความปรารถนาของตัวละครช่างตัดผมคนนี้จริงๆ หนังเรื่องนั้นคงทำให้เราร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงแน่นอน
 
(หนังโรแมนติกของไทยเกี่ยวกับเกย์วัยชราที่ดูแล้วดีมาก ตอนนี้เรานึกถึงเพียงแค่เรื่อง “ผลิรักไม่รู้โรย” ของณภัทร ใจเที่ยงธรรม และเราอยากให้มีการผลิตหนังแนวนี้ออกมาอีก
 
เราว่าชีวิตของช่างตัดผมในหนังเรื่องนี้มันขยายออกมาเป็นหนังยาวได้เรื่องนึงเลย และหนังยาวเรื่องนั้นอาจจะมีลักษณะคล้ายๆ DEATH IN VENICE (Luchino Visconti) หรือ LOVE AND DEATH ON LONG ISLAND (1997, Richard Kwietniowski) ด้วยก็ได้ เพราะหนังสองเรื่องนี้ก็พูดถึงความปรารถนาของชายชราที่มีต่อเด็กหนุ่มเหมือนกัน เพียงแต่ว่าชีวิตของช่างตัดผมในเกศามันดูรันทดและร้าวรานใจกว่าชีวิตของตัวละครในหนังฝรั่งสองเรื่องนี้อีก
 
12.ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็นึกได้ว่า จริงๆแล้วน่าจะมีคนศึกษาเรื่องบทบาทของเกย์ในหนังผีไทยอย่างจริงๆจังๆเหมือนกัน โดยหนังที่น่าศึกษาในกลุ่มนี้ก็รวมถึง
 
12.1 หอแต๋วแตกทุกภาค
 
12.2 กลางวันแสกๆ (2003, ทายาท เดชเสถียร + พิศาล แสงจันทร์, 10นาที) ที่เป็นเรื่องผีกะเทยตบกันเพราะแย่งผู้ชายในหอพัก
 
12.3 403 (2008, Pavis Saosi-on, 18min) ที่เป็นเรื่องของกลุ่มกะเทยโดนผีหลอกในอพาร์ทเมนท์
 
12.4 3 SOME (2011, Pitchanont Janebanjong, 21.24min)
 
12.5 กูอยู่ข้างหลัง (ตันหยง บุญธูป, A+30) ที่เป็นหนังเกี่ยวกับกะเทยโดนผีหลอก
 
12.6 เกศา เราว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้ ก็คือหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับเกย์ ไม่ใช่กะเทยตุ้งติ้งเหมือนหนังผีไทยเรื่องอื่นๆ
 
สรุปว่า “เกศา” เป็นหนังผีที่น่ากลัวพอสมควร, มีความตลกเจือปนอยู่บ้าง และเป็นหนังที่พอเราเอามาจินตนาการต่อด้วยตัวเองแล้ว เราสามารถสร้างหนังรักขึ้นมาในหัวได้เรื่องนึง หนังรักของเกย์แก่ๆ จนๆ ที่หลงรักหนุ่มหล่อคนนึง และเป็นความรักที่ไม่มีวันสมหวังได้
 

No comments: