Thursday, October 31, 2013

CHALOEMKIAT SAEYONG'S FILM WILL BE SCREENED IN NEW DELHI





EMPLOYEES LEAVING THE LUMIERE FACTORY (Chaloemkiat Saeyong) will be screened in TRANSMISSIONS, a film festival in New Delhi, on November 16. The festival will also screen films by Roberto Rossellini, Jocelyn Saab, Paolo + Vittorio Taviani, Barbara Loden, Gurvinder Singh, and Dan Sallitt.
 
Here is what I wrote about Chaloemkiat Saeyong’s EMPLOYEES LEAVING THE LUMIERE FACTORY:
 
More information about Chaloemkiat Saeyong can be found here:
 

TROPICAL PRURITUS SYNDROME (2013, Teerath Whangvisarn, A+15)



TROPICAL PRURITUS SYNDROME (2013, Teerath Whangvisarn, A+15)

โรคคันคะเยอเขตร้อน (ธีรัช หวังวิศาล)

 

SPOILERS ALERT

 

หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้

 

1.ก่อนอื่นเราต้องบอกว่า เราอาจจะไม่ได้เข้าใจหนังเรื่องนี้ทั้งหมดนะ เรารู้สึกว่าหนังอาจจะมีอีก layer หนึ่งหรืออาจจะมีความหมายอีกชั้นหนึ่งซ้อนอยู่หรือซ่อนอยู่ในสิ่งที่เราดู และเราอาจจะไม่ได้เข้าใจมัน เราไม่แน่ใจว่าภาพจากกล้องวงจรปิดที่แทรกเข้ามาเป็นระยะๆคืออะไร, มุมกล้องที่ส่ายไปส่ายมาคืออะไร และฉากที่อาจารย์ติดแหง็กอยู่ในรถคืออะไร ฯลฯ

 

แต่ถึงแม้เราอาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อ เราก็ชอบหนังเรื่องนี้อย่างมากๆอยู่ดี ถึงแม้ว่าความรู้สึกหรือความคิดของเราที่มีต่อสิ่งต่างๆในหนังอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจไว้ก็ตาม

 

2.สิ่งที่ชอบที่สุดในหนังก็คือฉากอาจารย์ติดแหง็กอยู่ในรถช่วงท้ายเรื่อง เราไม่แน่ใจว่าเธอประสบปัญหารถติดหรือเปล่า ฉากนี้มันกระตุ้นความคิดดีมากๆสำหรับเรา เราไม่รู้ว่าฉากนี้มีความหมายอะไร แต่มันเป็นฉากประเภทที่ทิ้งอารมณ์ค้างคาให้อยู่ในใจเรา

 

ความรู้สึกของเราที่มีต่อฉากนี้อาจจะแยกเป็นข้อๆได้ดังนี้

 

2.1 ตอนแรกเราเดาว่าฉากนี้อาจจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ แล้วมันสะท้อนถึงอะไรกันล่ะ “ภาวะกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” อย่างนั้นเหรอ หรือ “ภาวะติดแหง็ก ไม่ก้าวไปข้างหน้า”, “ภาวะที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรให้มันดีขึ้นได้” , “ภาวะที่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรออย่างเบื่อหน่ายไปเรื่อยๆ” แล้วมันเกี่ยวอะไรกับวลี “โตไปไม่โกง” หรือมันเกี่ยวอะไรกับจุดยืนทางการเมืองของนิสิตแต่ละคนในเรื่องนี้

 

ในแง่นึงฉากนี้มันก็ทำให้เรานึกถึงหนังไทย 4-5 เรื่องในช่วงที่ผ่านมา ที่มีฉากกิจกรรมอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่พอมันถูกนำมาใส่ในหนัง กิจกรรมเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์และกระตุ้นให้ผู้ชมนำไปคิดตีความต่อในทันที ตัวอย่างหนังในกลุ่มนี้ก็มีเช่น

 

2.1.1 3-0 (2006, Anocha Suwichakornpong, 8min, A+30)

หนังการเมืองเรื่องนี้ทำให้นึกถึง TROPICAL PRURITUS SYNDROME มากที่สุด เพราะกิจกรรมของตัวละครสามคนในหนังเรื่องนี้ ก็คือภาวะติดแหง็ก ไม่ก้าวไปข้างหน้า เหมือนอาจารย์ใน TROPICAL PRURITUS SYNDROME

 

2.1.2 GONE โกน (2009, Siripan Jentrakoollert, 7min, A+)

ฉากชายหนุ่มโกนหนวดขณะฟังข่าวการเมืองในหนังเรื่องนี้ แปลว่าอะไร

 

2.1.3 IN APRIL THE FOLLOWING YEAR, THERE WAS A FIRE (2012, Wichanon Somumjarn)

ฉากผู้คนที่ดำเนินชีวิตไปตามปกติตรงสี่แยกคอกวัวและสี่แยกราชประสงค์ในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ สื่อถึงอะไร

 

2.1.4 MUNDANE HISTORY (2009, Anocha Suwichakornpong)

ความพยายามจะสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองของพระเอกในเรื่องนี้ มีความหมายอะไรหรือเปล่า

 

2.1.5 A STRANGER FROM THE SOUTH (2007, Phuttiphong Aroonpheng, 20min, A+30)

มีชายหนุ่มคนหนึ่งลักลอบเข้าไปในบ้านของผู้ชายที่เพิ่งฆ่าตัวตาย ในขณะที่ทีวีรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาไฟใต้ การกระทำของพระเอกในเรื่องนี้ แปลว่าอะไร

 

2.1.6 UNTITLED (SON OF A BITCH) (2013, Namfon Udomlertlak, video installation, A+30)

เราไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังการเมืองหรือเปล่า แต่ฉาก “เด็กทารกจะเกิด แต่ถูกดูดกลับเข้าช่องคลอดไปอย่างช้าๆ” ในหนังเรื่องนี้ กระตุ้นให้นำไปตีความต่อในทางการเมืองได้เหมือนกัน

 

2.1.7 ดุจดั่งจะคายคืน (2013, Sineenadh Keitprapai, A+25)

ฉากนางเอกแสดงอาการอยากอาเจียนในเรื่องนี้แปลว่าอะไร

 

ที่เราลิสท์รายชื่อหนังเหล่านี้มา ก็เพราะเราคิดว่าอากัปกิริยาของตัวละครในหนัง 7 เรื่องนี้ รวมทั้งใน TROPICAL PRURITUS SYNDROME มันน่าสนใจดี เราว่านักวิจารณ์บางคนน่าจะนำประเด็นเรื่อง “ฉากที่อาจจะมีหรืออาจจะไม่มีความหมายทางการเมืองในหนังไทย” ขึ้นมาศึกษาอย่างละเอียดเหมือนกัน

 

2.2 อย่างไรก็ดี เราไม่ใช่ผู้ชมที่เชี่ยวชาญในการตีความสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับความหมายเชิงสัญลักษณ์ของฉากสุดท้ายในเรื่อง คือไม่ว่าฉากนี้มันจะมีความหมายว่าอะไรหรือไม่ เราก็ชอบมันมากๆอยู่ดี เพราะมันติดตาตรึงใจเรา มันค้างคาอยู่ในใจเรา เราว่าการใส่ฉากนี้เข้ามามันได้อารมณ์ที่ใช่เลย

 

2.3 ถ้าหากเรามองข้ามความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆในเรื่อง เราก็ชอบฉากสุดท้ายของเรื่องมากๆในแง่ที่ว่า มันทำให้ตัวละครอาจารย์ในเรื่องนี้ดูเป็นมนุษย์มากๆ เพราะฉากนี้มันดูเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งในกรุงเทพและปริมณฑลที่มักเจอปัญหารถติดเป็นประจำ ไม่ว่ามนุษย์ธรรมดาคนนั้นจะมีแนวคิดทางการเมืองอะไรยังไงก็ตาม

 

3.ฉากสุดท้ายมันเกี่ยวโยงกับสิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ แต่ก่อนอื่นเราขอสรุปคร่าวๆก่อนแล้วกันว่า สิ่งที่เราชอบมากๆในหนังเรื่องนี้อาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 สิ่งใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ

 

3.1 การต่อต้านหนังกลุ่ม “โตไปไม่โกง” เรื่องอื่นๆ โดยผ่านทางการแสดงความเห็นของนิสิตหญิง

 

3.2 การสะท้อนภาพสังคมการศึกษาของไทย ผ่านทางการขอขมาของนิสิตหญิง และการแสดงความเห็นของ “สองสาวปัญญาอ่อน” หน้าชั้นเรียน

 

3.3 วิธีการ treat ตัวละครอาจารย์ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมาก แม้เราจะไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจจุดประสงค์ของผู้กำกับถูกต้องหรือไม่ก็ตาม เราชอบที่ตัวละครอาจารย์ในเรื่องนี้ไม่ถูกทำให้เป็นผู้ร้ายเลวทราม แต่ถูกทำให้เป็นมนุษย์ธรรมดาๆคนหนึ่ง เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆในสังคมที่มีส่วนร่วมสร้างวาทกรรมที่ผิดพลาด และมีส่วนคล้ายนิสิตหญิงตัวเอกในบางแง่มุมด้วย

 

4.เราขออธิบาย 3.3 อย่างละเอียดตรงนี้แล้วกัน เพราะมันเป็นจุดที่เราชอบที่สุดในหนัง คือถ้าหากไม่มีส่วน 3.3 หนังเรื่องนี้ก็มีคุณค่าน่าสนใจมากพอแล้ว เพราะมันเป็นหนังที่ทั้งสะท้อนสังคม และ anti หนังบางกลุ่มที่ถูกผลิตออกมามากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ถ้าหากหนังเรื่องนี้จะเอาดีกับการเป็นเพียงแค่ “หนังที่แสดงความเห็นทางสังคมการเมือง” หนังเรื่องนี้ก็อาจจะไปได้ไม่สุดทางในด้านนี้ เพราะนิสิตหญิงตัวเอกของเรื่องไม่ได้มีโอกาสอธิบายตีแผ่อย่างชัดๆหรืออย่างละเอียดว่าการโกงที่เป็นนามธรรมที่คนไทยเจอกันมานั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง คือถ้าหากหนังเรื่องนี้สามารถผลักตัวเองไปได้สุดทางในด้านนี้ด้วยการเน้นการ debate อย่างรุนแรงในประเด็นนี้ มันก็จะกลายเป็นหนังการเมืองที่น่าสนใจมากๆเหมือนอย่าง THE BANGKOK BOURGEOIS PARTY (2007, Prap Boonpan, A+30) หรือ I WANNA BE A NAIVE (2012, Viriyaporn Boonprasert, A+30)


 

สิ่งที่เราชอบมากในหนังคือการแสดงความเห็นของตัวนิสิตหญิง แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนัง สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังกลับเป็นการที่หนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ทำตัวเป็นเพียงแค่ “หนังแสดงความเห็นทางสังคมการเมือง” แต่กลับมีลักษณะ humanism อยู่ด้วย เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้ treat ตัวนิสิตหญิงเป็น hero ชัดๆ และไม่ได้ treat ตัวอาจารย์เป็นผู้ร้าย แต่กลับทำให้ทั้งสองคนดูเป็นมนุษย์ธรรมดา และมีบางจุดที่คล้ายกัน

 

นิสิตหญิงในเรื่องนี้ไม่ได้เป็น hero ชัดๆ แต่กลับดูเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เพราะเธอดูเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน, ค่อนข้างดูถูกเพื่อนร่วมชั้น (ผ่านทางการฟังเพลงในชั้นเรียน แทนที่จะฟังเพื่อนพูด), ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ (ผ่านทางการพูดคำหยาบ) และต้องยอมประนีประนอมกับสังคมในระดับหนึ่งในที่สุด (ผ่านทางการขอขมา)

 

ส่วนอาจารย์ในเรื่องนี้ดูเป็นคนธรรมดามากๆ เราไม่รู้ว่าเธอมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร เธอไม่ได้ดูเป็นทั้งคนใจดีและคนใจร้าย การที่เธอไล่นิสิตหญิงออกจากห้องก็ดูเหมือนไม่ได้ทำไปด้วยอารมณ์โกรธ แต่เหมือนเป็นการทำตามหน้าที่มากกว่า ห้องทำงานของเธอก็โสมาก

 

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเราก็คือว่า ถ้าหากหนังเรื่องนี้เลือกจะทำตัวเป็นหนังการเมืองทั่วไป นิสิตหญิงกับอาจารย์ในเรื่องนี้ก็อาจจะถูก treat ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันหรือมีสิ่งที่ตรงข้ามกันมากๆ แต่หนังเรื่องนี้กลับทำให้เรารู้สึกว่าทั้งสองคนเป็นมนุษย์เท่าๆกัน และมีส่วนที่คล้ายกันเสียด้วยซ้ำ ซึ่งส่วนที่คล้ายกันก็คือว่า

 

4.1 ทั้งสองถูกจับจ้องมองดูด้วยกล้องวงจรปิดเหมือนกัน ทั้งในห้องเรียน, ในลิฟท์ (นิสิตหญิง), ในห้องทำงาน (อาจารย์) สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่า ทั้งสองก็เป็นเพียงคนตัวเล็กๆในสังคมที่ถูกอำนาจที่ใหญ่กว่ากดทับหรือเฝ้าจับผิดอยู่ แต่แตกต่างกันตรงที่ว่านิสิตหญิงเลือกที่จะไม่ทำตัวเป็นฟันเฟืองของอำนาจที่เลวร้าย แต่อาจารย์ทำตัวเป็นฟันเฟืองต่อไป

 

4.2 ทั้งสองดูเหมือนจะทำหน้าที่ของตัวเองไปอย่างแกนๆเหมือนกัน นิสิตหญิงก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนในคลาสนี้ ส่วนอาจารย์ก็ดูเหมือนสอนตามหน้าที่ให้มันจบๆกันไป อาจารย์คนนี้ไม่ได้เป็นคนที่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะปลูกฝังความคิดที่ผิดๆให้แก่นิสิต เธอเป็นเพียงอาจารย์ที่ใครบอกให้เธอสอนอะไร เธอก็สอนไปตามหลักสูตรเท่านั้นเอง

 

4.3 ทั้งสองต่างก็ติดแหง็กอยู่ในอะไรบางอย่าง และต้องหนีจากมันด้วย “การฟังเพลง” เหมือนกัน โดยนิสิตหญิงฟังเพลงทั้งในลิฟท์และในชั้นเรียน ส่วนอาจารย์ก็เปิดเพลงฟังในรถขณะรถติดอย่างรุนแรง การที่ตัวละครทั้งสองต่างดูเหมือนต้องทนใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่ตัวเองไม่ชอบแบบนี้ ทำให้ตัวละครทั้งสองดูคล้ายกัน, ดูเป็นมนุษย์ธรรมดามากๆ และทำให้หนังเรื่องนี้ดูมีคุณค่าสำหรับเรามากกว่าการเป็นเพียงแค่ “หนังที่แสดงความเห็นทางสังคม+การเมือง”

 

5.ในช่วงครึ่งแรกของเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นลูกหลานหรือเครือญาติของหนังเรื่อง STATUS (2013, Chantana Tiprachart) ที่นำเสนอสภาพการเรียนการสอนในมหาลัยไทยในยุคปัจจุบันออกมาได้ดีมากๆเหมือนกัน แต่พอเข้าสู่ช่วงท้ายเรื่อง เราก็พบว่าหนังเรื่องนี้เลือกจุดโฟกัสที่แตกต่างจาก STATUS มากพอสมควร เพราะอาจารย์ในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ถูก treat ให้เป็นขั้วตรงข้ามของนางเอก แต่ถูก treat แบบมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

 

6.มีบางฉากที่เรารู้สึกก้ำกึ่งในเรื่องนี้ นั่นก็คือฉากโคลสอัพปากของนิสิตหญิง เพราะมันดูเหมือนเน้นย้ำมากเกินไป แต่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการโคลสอัพปากในเรื่องนี้มีจุดประสงค์อะไร บางทีผู้กำกับอาจจะไม่ได้ต้องการเน้นย้ำสารในฉากนี้ แต่อาจจะชอบการโคลสอัพปากเป็นการส่วนตัวก็ได้ เพราะถ้าเราจำไม่ผิด หนังเรื่อง DAMNED LIFE OF YOI (2010, Teerath Whangvisarn, A+30) ก็มีฉากโคลสอัพปากเหมือนกัน

 

แต่ฉากที่โคลสอัพมือของนิสิตสาวปัญญาอ่อน เราชอบมากๆนะ

 

7.ฉากที่นิสิตต้องไปขอขมาครู เป็นฉากที่เราชอบมากๆ เพราะมันทำให้เรานึกถึงเรื่องราวในชีวิตมัธยมของเรา ที่มีเด็กนักเรียนบางคนต้องไปขอขมาครูเหี้ยๆบางคน คือฉากนี้มันทำให้เรานึกถึงโครงสร้างเหี้ยๆในสังคมไทยน่ะ

 

8.การเคลื่อนกล้องขึ้นลง หรือส่ายไปส่ายมาในบางฉากในเรื่องนี้ น่าสนใจดี เราไม่รู้ว่ามันสื่อถึงอะไร และเราก็ไม่แน่ใจด้วยว่าเราชอบมันหรือเปล่า แต่มันแปลกดี

 

9.ถ้าหากเปรียบเทียบกับหนังของธีรัชยุคแรกๆ เราว่าหนังระยะหลังของธีรัชดูเหมือนจะคลี่คลายหรือพัฒนาไปในแนวทางที่น่าสนใจเหมือนกัน คือหนังปี 2010 ของธีรัชนั้น เป็นหนังที่เราชอบสุดๆ เพราะมันมีพล็อตเรื่องหรือบทภาพยนตร์ที่ซับซ้อน,แน่นหนามากๆ จุดเด่นของหนังอาจจะอยู่ที่ความซับซ้อนของบทภาพยนตร์และ “สไตล์” แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่า บทภาพยนตร์มันไม่ได้ซับซ้อนหรือแน่นหนามากเท่ากับหนังยุคแรกของธีรัช แต่มันดูผ่อนคลายมากขึ้น และมันก็ไม่ได้มีจุดเด่นที่ “สไตล์” เหมือนอย่าง MIZU หรือ LESBIAN FANTASY แต่มันมีลักษณะของความเป็นมนุษย์มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่เราชอบมากๆ

 

สรุปว่าเราชอบ TROPICAL PRURITUS SYNDROME มากๆจ้ะ ทั้งในส่วนที่มันเป็นการต่อต้านหนังกลุ่มโตไปไม่โกง, ส่วนที่มันสะท้อนโครงสร้างทางอำนาจในสังคมไทย และส่วนที่มัน treat ตัวละครนิสิตหญิงและอาจารย์ในแบบที่ดูเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ

 

Tuesday, October 29, 2013

SIAM BELOVED (2013, Ninart Boonpothong, stage play, A+20)

 
SIAM BELOVED (2013, Ninart Boonpothong, stage play, A+20)
ปีศาจอาดูร
 
SPOILERS ALERT
 
 
 
ละครเวทีเรื่องนี้ทำให้นึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
 
1.ละครเวทีเรื่องนี้อาจจะเหมือนกับละครเวทีอีกหลายๆเรื่องของคุณนินาท ตรงที่มันมีความซับซ้อนสูงมาก และดูจบแล้วเราอาจจะไม่เข้าใจมันทั้งหมด หรือไม่แน่ใจว่าธีมหลักของเรื่องมันคืออะไร แต่มันก็กระตุ้นความคิดเรามากๆ และสิ่งที่สำคัญสำหรับเราไม่ใช่ว่าเราเข้าใจมันจริงๆหรือไม่ แต่เป็นจุดที่ว่ามันกระตุ้นความคิดเราได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งต่างๆที่เราคิดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจก็ได้
 
2.สิ่งหนึ่งที่ SIAM BELOVED ทำให้เราคิดถึงโดยที่ผู้กำกับอาจจะไม่ได้ตั้งใจ คือเรื่องของคำว่า “หลอก” คือช่วง 15 นาทีแรกของละครเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกว่าละครเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “ผีหลอกคน” แต่พอดูไปดูมาจนถึงตอนจบ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราชอบมากๆในเรื่องนี้คือเรื่องของ “คนหลอกคน” โดยเฉพาะ “คนที่สร้างเรื่องผีขึ้นมาหลอกคน” และมันก็ทำให้เราคิดขึ้นได้ว่า คำว่า “หลอก” ในภาษาไทยมันอาจจะมีสองความหมายที่แตกต่างกันในภาษาอังกฤษ เพราะในคำว่า “ผีหลอกคน” นั้น หลอกมันคือ to scare , to frighten หรือทำให้ตกใจกลัว แต่ในกรณีของคนหลอกคนนั้น หลอกมันคือ to deceive และมันก็น่าสนใจมากที่ละครเรื่องนี้ใช้คำว่าหลอกในทั้งสองความหมาย โดยที่ในตอนแรกนั้น เรานึกว่าสิ่งที่น่ากลัวคือการที่ผีหลอกคน แต่พอเราดูจนถึงตอนจบ เรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ “คนที่สร้างเรื่องผี, เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือตำนานขึ้นมาเพื่อหลอกลวงคนเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง” โดยเฉพาะตัวละครแม่ที่ทำเป็นผีเข้าและทำเป็นอัลไซเมอร์เพื่อหลอกลวงลูกชาย เพื่อล่อให้ลูกชายตกเป็นทาสของตัวเองต่อไป
 
เราว่าตัวละครแม่นี่น่ากลัวกว่า “ผู้สร้างรายการทีวีผี” และ “คู่สามีภรรยาที่กุเรื่องผีเทวี” ขึ้นมาเสียอีก เพราะผู้สร้างรายการทีวีผี และคู่อรชุนกับจิตรานั้น สร้างเรื่องผีขึ้นมาเพื่อหลอกลวง “เงิน” จากคนอื่น แต่ตัวละครแม่พระเอกนี่ใช้ทั้งเรื่องผีเข้า, เรื่องอาการป่วยของตนเอง และเรื่องความทุกข์ยากของตัวเองในอดีตในการหลอกลวงทั้ง “เงิน”, “ความสงสาร” และ “ความรัก” หรือ “ความสัมพันธ์ทางใจ” จากลูกชาย
 
3.ตัวละครแม่อัลไซเมอร์ในเรื่องนี้รุนแรงมาก มันทำให้เราตั้งคำถามตามมาว่า “แม่ที่สร้างเรื่องผี, เรื่องเหนือธรรมชาติ, เรื่องอาการป่วยในปัจจุบัน และเรื่องความทุกข์ยากของตนเองในอดีตขึ้นมาเพื่อหลอกลวงลูกชายให้ตกเป็นทาสของตนเองต่อไป” ในเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกถึงอะไรในสังคมบ้างหรือเปล่า และมันนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องเล่าของอุมาในบางแง่มุมได้ด้วยหรือไม่
 
น่าสนใจดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างแม่อัลไซเมอร์กับลูกชายโปรดิวเซอร์ในเรื่องนี้ตั้งอยู่บนฐานของความหลอกลวง  ในแง่นึงมันก็ทำให้เรานึกถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวใน LOVE APPETITE (2012, Ninart Boonpothong) ด้วยเหมือนกัน เพราะตัวละครผู้ใหญ่ใน LOVE APPETITE ก็หลอกลวงลูกหลานของตนเองมาโดยตลอดด้วยเหมือนกัน ถ้าจำไม่ผิด
 
4.การใช้ “ผี” ใน SIAM BELOVED น่าสนใจมากๆ ในแง่นึงมันก็ทำให้เรานึกถึงหนังไตรภาคของมณฑล อารยางกูรเรื่อง “ผีคนเป็น” (2006), “บ้านผีสิง” (2007) และ I MISS U (2012) เพราะผีในหนังสามเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่ผีน่ากลัว แต่ดูเหมือนเป็นผีที่แฝงความหมายเชิงสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง และกระตุ้นความคิดของผู้ชมเหมือนๆกัน
 
ผีที่น่าสนใจที่สุดกลุ่มหนึ่งใน SIAM BELOVED คือผีที่ตามติดอุมามา โดยไม่ว่าอุมาจะย้ายไปอยู่บ้านหลังไหน ผีพวกนี้ก็จะตามเธอไป เพราะผีพวกนี้ไม่ได้สิงอยู่ในบ้าน หรือสิ่งของ แต่มันตามติดอุมาไปเรื่อยๆ
 
ผีกลุ่มนี้คืออะไร เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่มันดูเหมือนจะเป็นผีปู่ย่าตาทวดของเธอ และมันเกี่ยวพันกับการที่ต้นตระกูลของเธอเคยเป็นทาสมาก่อน ผีในที่นี้อาจจะเป็น “ความทรงจำของบรรพบุรุษ” ที่ย่อมตามติดคนทุกคน ผีในที่นี้มันเกิดจาก “สิ่งที่พ่อแม่เล่าให้ลูกๆฟังเกี่ยวกับประวัติของครอบครัวของตัวเอง”
 
ถ้าหากผีในที่นี้คือ “ประวัติศาสตร์ของครอบครัว” ที่ตามหลอกหลอนคนบางคน เราก็อาจตั้งคำถามตามมาว่า แล้วความสัมพันธ์ของพระเอกกับแม่ มันคล้องจองหรือมันสะท้อนอะไรกับความสัมพันธ์ของอุมากับครอบครัวของเธอหรือไม่ ถ้าหากแม่พระเอกกุเรื่องผีเข้าและพยายามใช้ประวัติความทุกข์ยากของตนเองในอดีตในการหลอกลวงลูกชายให้ตกเป็นทาสของตนเองต่อไป แล้ว “ประวัติศาสตร์ของครอบครัว” ที่ตามหลอกหลอนอุมาในรูปของผีล่ะ มันทำหน้าที่แค่ “หลอกหลอน” หรือมัน “หลอกลวง” ด้วย
 
5.สิ่งที่น่าสนใจมากๆในประวัติศาสตร์ของครอบครัวที่ตามหลอกหลอนอุมาคือ “ความลักลั่น” ของมัน เพราะเรื่องเล่าของย่าทวดอุมาจบลงแบบ happy ending แต่ถ้าหากมัน happy ending จริง แล้วทำไมผีบรรพบุรุษของเธอถึงยังตามมาหลอกหลอนเธอจนถึงบัดนี้ล่ะ ทำไมผีบรรพบุรุษของเธอถึงไม่สงบ หรือว่าเรื่องที่เล่ามามันไม่เป็นความจริง สิ่งที่ตามหลอกหลอนอุมาคือ “เรื่องโกหก” หรือ “ประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นความจริง” หรือเปล่า หรือว่าอุมาโดนทั้งผีหลอกและคนหลอก เธอถูกผีหลอกเพราะวิญญาณบรรพบุรุษของเธอไม่สงบจริง ชีวิตของพวกเขาไม่ได้ลงเอยด้วยการที่ปัญหาได้รับการคลี่คลายแบบในเรื่องที่เธอเล่า และอุมาก็โดนคนหลอกด้วย ซึ่งคนที่หลอกเธอก็คือใครก็ตามที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของครอบครัวในอดีตให้เธอฟัง เธออาจจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับพระเอกก็ได้ นั่นก็คือโดนหลอกลวงมาโดยตลอด
 
6.เราว่าละครเรื่องนี้นำเสนอชีวิตพระเอกได้รอบด้านดี เพราะชีวิตครอบครัวของเขามันหนักมากๆ และชีวิตการทำงานของเขาก็กดดันมากๆเหมือนกัน คือนอกจากละครเรื่องนี้จะทำให้เรานึกถึงคำว่า “หลอกหลอน” กับ “หลอกลวง” แล้ว ละครเรื่องนี้ยังทำให้เรานึกถึงเรื่องคำว่า “ความเป็นทาส” กับ “ความเป็นไท” ด้วย และชีวิตของพระเอกก็ดูเหมือนจะขาดอิสระอย่างมากๆหรือโดนกดขี่อย่างมากๆทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
 
7.ชอบช่วง 15 นาทีแรกของเรื่องนี้มากๆ ที่เป็นเรื่องผีจริงๆ มันน่ากลัวมากๆ โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัวที่มีผีอยู่ในบ้านชั้นสอง เราว่าละครใช้สถานที่ได้ดีมากๆ เพราะสถานที่นี้มันหลอนมากๆ มันดูเหมือนเป็นพื้นที่ที่มีประวัติยาวนาน 200 ปีเท่าอายุกรุงเทพ และละครเรื่องนี้ก็ใช้ความมืดได้ทรงพลังมากๆด้วย
 
สรุปว่าชอบ SIAM BELOVED มาก ทั้งในช่วง 15 นาทีแรกของเรื่อง ที่มันน่ากลัวสุดๆ และในช่วงต่อๆมาของเรื่อง ที่มันกระตุ้นให้เราตั้งคำถามตามมามากมาย ทั้งในเรื่องที่ว่า “เรากำลังถูกหลอกหลอนด้วยประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นความจริงหรือไม่” , “ใครกุเรื่องผีขึ้นมาหลอกเรา”,  “เขามีจุดประสงค์อะไรในการกุความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติขึ้นมาหลอกเรา”  และ “เราเป็นไทในทางจิตวิญญาณจริงๆหรือเปล่า หรือเราถูกใครบางคนสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อหลอกให้เราตกเป็นทาสของเขาโดยไม่รู้ตัวต่อไป”
 

Sunday, October 27, 2013

LIFE ON MARS (2013, Natchanon Vana, 30min, A+10)

LIFE ON MARS (2013, Natchanon Vana, 30min, A+10)
 
SPOILERS ALERT
 
 
 
 
 
หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
 
1.ชอบช่วง 1 นาทีแรกของหนังมากๆ ตอนช่วง 1 นาทีแรกของหนัง เรานึกว่าหนังเรื่องนี้มันจะออกมาเป็นหนัง feel bad แบบ SPRING BREAKERS (2012, Harmony Korine, A+30) เราชอบการตัดต่อในช่วง 1 นาทีแรกด้วย ที่ตัดจากภาพคนนอนสลบไสลมาเป็นภาพนางเอกในอ่างอาบน้ำในทันที การตัดต่อตรงนี้มันให้อารมณ์กระโดดๆ แต่เป็นอารมณ์แบบที่เราชอบมาก
 
2.ช่วงครึ่งแรกของหนัง เป็นช่วงที่เราชอบในระดับประมาณ A+10 จ้ะ (หมายถึงชอบมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ) เราชอบที่หนังสะท้อนความรู้สึกสูญเสียของนางเอก และทำออกมาได้จริงดี คือมันทำให้เรารู้สึกว่านางเอกสูญเสียจริงๆ และเจ็บปวดจริงๆ เราว่าหนังซื่อตรงต่ออารมณ์ของนางเอกตรงจุดนี้ได้ดีมาก
 
3.แต่พอช่วงครึ่งหลังของหนัง ที่เป็นฉากแฟนตาซี ความชอบของเราก็ลดลงสู่ระดับ A+ (หรือชอบมาก)  ที่เราชอบมากเพราะเราชอบความเหวอของมัน และมันทำให้เราตั้งคำถามต่างๆ ตามมามากมาย โดยที่หนังไม่ได้ให้คำตอบ
 
คำถามที่อยู่ในหัวเราก็คือ ตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในช่วงครึ่งหลัง มันมี choices มากมายที่อาจเป็นไปได้ อย่างเช่น
 
3.1 ผิงกับนิสาใช้นักแสดงคนเดียวกันเล่นใช่หรือไม่ ถ้างั้นเกิดอะไรขึ้นในตอนจบ นางเอกหันมารักผิงแทนนิสาหรือเปล่า นางเอกพบรักใหม่กับผิงใช่ไหม การที่นางเอกพบความสุขอีกครั้งกับคนรักใหม่ มันเกี่ยวข้องกับการที่ดาวศุกร์มีสองชื่อหรือเปล่า
 
3.2 นางเอกตายและวิญญาณของเธอได้พบกับวิญญาณของนิสา หรือไม่นางเอกก็ถอดจิตออกจากร่างและไปพบกับวิญญาณของนิสา 555 เพราะสิ่งที่นางเอกทำในช่วงกลางเรื่อง เหมือนกับการไปปักกลดปฏิบัติธรรมกลางทุ่ง
 
3.3 นางเอกพบกับนิสาในโลกจินตนาการของนางเอกเอง
 
3.4 นางเอกเมายาเสพติดและพบกับนิสาในหัวของเธอเอง
 
3.5 นางเอกได้ไปยังดวงดาวโบราณนั้นจริงๆ
 
4.เราชอบฉากที่นางเอกพบกับนิสาในสตูดิโอถ่ายรูปหรือถ่ายหนังด้วย มันเป็นฉากที่ใช้ setting ซ้ำกับฉากที่เราเห็นในช่วงครึ่งแรก แต่ถ่ายด้วยระยะที่ห่างมากขึ้น ซึ่งทำให้เราเห็นไฟสปอตไลท์ และอุปกรณ์การถ่ายต่างๆ มันเป็นฉากที่ตอกย้ำคนดูว่ากำลังดูหนังอยู่ เราไม่รู้เหมือนกันว่าฉากนี้มันหมายความว่าอะไรกันแน่ แต่มันดูแปลกๆ, เหวอๆ และน่าประทับใจดี
 
การที่นางเอกโกหกนิสาในฉากนั้นว่าต้นไม้ของนิสายังสบายดีอยู่ มันก็น่าสนใจดี มันเหมือนจะล้อกับช่วงต้นเรื่องที่ผิงบอกกับนางเอกว่า นิสาน่าจะยังสบายดีอยู่
 
5.แต่การที่เราชอบครึ่งหลังของหนังแค่ในระดับชอบมาก แต่ไม่ใช่มากสุดขีด เกิดจากสาเหตุบางประการ อย่างเช่น
 
5.1 เนื้อหาเกี่ยวกับตำนานดวงดาวอะไรทำนองนี้ มันดูเพ้อๆสำหรับเราน่ะ เราไม่อินกับอะไรทำนองนี้ มันทำให้เรานึกถึงหนังสั้นอย่าง “คล้ายคลึงกับ...” (A POSTCARD FROM PLUTO) (2008, Titipun Tubthong, 27min, B+) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงสาวที่คิดว่าตัวเองโดดเดี่ยวที่สุดในจักรวาล จนกระทั่งได้รับโปสการ์ดจากดาวพลูโต เธอก็เลยไม่คิดฆ่าตัวตาย คือเราจะไม่รู้สึกอินกับเนื้อหาอะไรประเภทนี้น่ะจ้ะ
 
5.2 ภาพของสาวสวยในชุดขาวกลางท้องทุ่งในหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้เรานึกถึงภาพในหนังบางเรื่องของไทยที่ออกมาในทำนองใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่ไม่ใช่ว่าภาพพวกนี้มันไม่ดีนะ เพียงแต่ว่าภาพหรือฉากพวกนี้มันไม่ได้ตอบสนองอะไรเราเป็นการส่วนตัวน่ะ แต่เราคิดว่าภาพของ “หญิงสาวชุดขาวกลางท้องทุ่ง” มันต้องเป็นภาพที่ผู้ชมบางกลุ่มและนักทำหนังบางคนชื่นชอบมากๆแน่ๆเลย มันถึงได้มีการผลิตฉากทำนองนี้ออกมาให้เราได้เห็นเป็นระยะๆ
 
ถ้าจำไม่ผิด ฉากหญิงสาวสวยใส่ชุดขาวเดินกลางท้องทุ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นท้องทุ่งในจินตนาการ อาจจะพบได้ในหนังอย่าง PARTS (2007, Vasuphon Kriangprapakit, 21min), NIRVADA (2008, Faifu Pataranawat, 17min) และเราไม่แน่ใจว่าในหนังเรื่อง SOME RECOLLECTIONS OF YOU (ความทรงจำระหว่างเรา) (2013, Chatrawut Chalayondech, 28min, A+/A) ก็มีฉากในทำนองเดียวกันหรือเปล่า
 
อย่างไรก็ดี ฉากนี้ใน LIFE ON MARS อาจจะแตกต่างจากหนังกลุ่มข้างต้น ตรงชุดที่ตัวละครหญิงใส่ เพราะชุดที่ตัวละครหญิงสองคนใส่ในฉากนี้ใน LIFE ON MARS ดูเซ็กซี่และมีดีไซน์ที่เก๋ไก๋มาก ในขณะที่ฉากแบบนี้ในหนังเรื่องอื่นๆ ตัวละครหญิงมักจะใส่ชุดสีขาวที่ทำจากผ้าพลิ้วๆฟูฟ่องจ้ะ
 
5.3 ฉากท้องทุ่งในช่วงครึ่งหลัง มันทำให้นึกถึงการถ่ายแบบในนิตยสารด้วย คือมันสวยดี แต่มันดูสวยแบบขาดชีวิตจิตใจยังไงไม่รู้สำหรับเราน่ะ
 
5.4 อย่างไรก็ดี เรายอมรับว่า เราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้ในระดับชอบสุดขีดหรือ A+30 ก็ได้ ถ้าหากหนังเรื่องนี้เปลี่ยนจากหนังเลสเบียนเป็นหนังเกย์ และมีฉากชายหนุ่มหล่อล่ำสองคนใส่กางเกงในสีขาวเดินกลางท้องทุ่งในช่วงครึ่งหลังแทน 55555
 
คือเราว่าองค์ประกอบที่สำคัญมากอันนึงใน LIFE ON MARS คือความอีโรติก และเราก็ว่าหนังทำตรงนี้ออกมาได้ดีมากนะ แต่เราไม่ใช่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลักของหนังน่ะจ้ะ เราว่าผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลักน่าจะเป็นผู้ชาย และอาจจะรวมถึงเลสเบียนด้วย เราไม่แน่ใจว่าผู้ชมเพศอื่นๆดูแล้วจะรู้สึกอะไรยังไงกันบ้าง แต่สำหรับตัวเรา เราว่าหนังอีโรติกดี แต่มันไม่ได้ตอบสนองความต้องการทางเพศของเราจ้ะ เพราะเราไม่ใช่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย
 
6.ชอบบุคลิกนางเอก ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด เธอเป็นครูโรงเรียนอนุบาล แต่เธอมีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากครูโรงเรียนอนุบาลที่คนมักนึกถึงกัน เพราะเธอเป็นทั้งเลสเบียน, ชอบกินเหล้าเมายา และเสียงเธอก็ห้าวมาก
 
เราว่าเสียงนางเอกที่ห้าวๆแบบนี้มันน่าสนใจดี มันทำให้เรานึกถึงเสียงของตัวละครที่เป็น net idol ใน  “อวสานโลกสวย” (2013, Pun Homchuen + Onusa Donsawai, 37min, A+30) ด้วย
 
7.การใช้แมวในหนังก็น่าสนใจดี ตอนแรกเรานึกว่าแมวในเรื่องไม่มีความสำคัญ ตอนหลังเราถึงพบว่าในตำนานดวงดาวของเรื่องนี้ แมวมีความสำคัญ และผิงก็น่าจะทำหน้าที่คล้ายแมวสีเทาในตำนาน
 
8.ตำนานเรื่องดวงดาวและฉากท้องทุ่งในช่วงครึ่งหลัง ทำให้เรานึกถึงประเด็นบางประเด็นที่อยากให้มีนักวิจารณ์หนังมาศึกษาอย่างละเอียดเหมือนกัน นั่นก็คือประเด็นความแตกต่างระหว่างหนังไทยยุคก่อนกับยุคปัจจุบัน ในส่วนของอิทธิพลของศาสนาและ atheism ในหนังไทยน่ะ
 
สิ่งที่เราว่าน่าสนใจใน LIFE ON MARS และหนังสั้นไทยบางเรื่องในยุคปัจจุบัน ก็คือการที่มันไม่โดนครอบงำด้วยความเชื่อทางศาสนาแบบหนังไทยยุคเก่าๆน่ะ คือฉากท้องทุ่งในช่วงครึ่งหลังมันดูกึ่งๆจะเป็น “สวรรค์” เพราะมันดูสงบร่มรื่นดี แต่มันก็ไม่ใช่สวรรค์ตามความเชื่อทางศาสนา และหนังเรื่องนี้ก็ไม่มีพระเจ้าด้วย มีแต่ดวงดาวและพลังของดวงดาว นอกจากนี้ ตำนานดวงดาวของเรื่องนี้ ยังทำหน้าที่แทนเรื่องปลอบประโลมใจทางศาสนาด้วย คือถ้าหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นด้วยผู้กำกับบางคนที่นับถือพุทธ ผิงก็อาจจะปลอบใจนางเอกด้วยตำนานของนางปฏาจารา แทนที่จะปลอบใจนางเอกด้วยตำนานของดวงดาว 55555
 
9. LIFE ON MARS ทำให้นึกถึง DARLING, MORNING, GOODNIGHT (2012, Natchanon Vana, A+30) ด้วยในบางแง่มุม อย่างเช่น
 
9.1 หนังทั้งสองเรื่องเหมือนแบ่งออกได้เป็นสอง part ใหญ่ นั่นก็คือ part ที่เป็นฉากในบ้านหรือในเมืองใหญ่ กับฉากที่เป็นธรรมชาติ โดยในส่วนของ DARLING, MORNING, GOODNIGHT นั้นเป็นฉากน้ำตกหรือลำธาร ส่วนใน LIFE ON MARS นั้นเป็นท้องทุ่ง นอกจากนี้ ฉากที่เป็นธรรมชาติในหนังทั้งสองเรื่องนี้ ยังทำหน้าที่เหมือนเป็นโลกแฟนตาซีเหมือนๆกันด้วย หรือเป็น mental landscape เหมือนๆกัน
 
9.2 การแต่งหน้าในหนังทั้งสองเรื่องนี้รุนแรงมาก
 
9.3 หนังทั้งสองเรื่องนี้มีการให้ความสำคัญกับกิจวัตรประจำวันบางอย่างมากกว่าหนังปกติทั่วไป โดยใน DARLING, MORNING, GOODNIGHT นั้นเน้นไปที่การซักผ้า ส่วน LIFE ON MARS เน้นไปที่การรดน้ำต้นไม้, ต้นไม้ของคนรักเก่า และเพลงประกอบที่พูดถึงต้นลีลาวดี
 
9.4 LIFE ON MARS ดูเข้าใจง่ายกว่า DARLING, MORNING, GOODNIGHT แต่นั่นอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบ LIFE ON MARS น้อยกว่า เพราะมันกระตุ้นจินตนาการเราน้อยกว่า คือการที่เราไม่เข้าใจหนังเรื่อง DARLING, MORNING, GOODNIGHT มันทำให้หนังเรื่องนี้ค้างคาในใจเรา และมันก็เปิดพื้นที่ให้เราจินตนาการถึงหนังเรื่องนี้ไปได้ต่างๆนานา ในขณะที่ LIFE ON MARS จะไม่ได้กระตุ้นเราในแบบนั้นมากนัก
 
10. ถ้าหากเปรียบเทียบ LIFE ON MARS กับหนังของผู้กำกับคนอื่นๆ หนังเรื่องนี้ก็มีจุดนึงที่ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง 2413482: THE NUMBER YOU HAVE DIALED IS NOT AVAILABLE NOW (2013, Suphisara Kittikunarak, 25min, A+30) เพราะหนังสองเรื่องนี้พูดถึงการสูญเสียคนรักเหมือนกัน และมีการโยงไปถึงเรื่องจักรวาล และมีฉากท้องทุ่งเหมือนกัน แต่หนังสองเรื่องนี้แตกต่างกันตรงที่ว่า 2413482 พูดถึงคนรักที่หายสาบสูญไป (ในเชิงสัญลักษณ์?) ไม่ใช่ตายจากไป และท้องทุ่งและจักรวาลใน 2413482 ทำหน้าที่ตรงกันข้ามกับ LIFE ON MARS เพราะดูเหมือนท้องทุ่งและจักรวาลใน 2413482 จะเป็นสิ่งที่ทำร้ายนางเอก ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้นางเอกพบกับความสุขอีกครั้ง
 
11.อีกประเด็นหนึ่งที่เราว่าน่าศึกษาใน LIFE ON MARS และหนังหลายๆเรื่องในยุคปัจจุบันทั้งหนังไทยและหนังต่างชาติ ก็คือว่าโครงสร้างของหนังกับโครงสร้างของดนตรีน่ะ
 
คือเราว่าฉากบางฉากใน LIFE ON MARS และหนังอย่าง  THE KINGS OF SUMMER (2013, Jordan Vogt-Roberts, A) มันน่าสนใจ ตรงที่ฉากบางฉากมันไม่ได้เล่าเรื่องเป็นเส้นตรง แต่มันตัดหลายๆฉากมาเรียงร้อยต่อเข้าด้วยกันพร้อมกับเพลงประกอบเพราะๆ ฉากประเภทนี้จะเจอได้ในช่วงต้นเรื่องของ LIFE ON MARS หรือตรงกลางเรื่อง THE KINGS OF SUMMER
 
ฉากที่มีลักษณะคล้ายมิวสิควิดีโอเหล่านี้ มันทำให้เรานึกถึงสิ่งที่พี่สนธยา ทรัพย์เย็นแห่งสำนัก Filmvirus เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หนังไทยยุคก่อนกับยุคปัจจุบันมันมีโครงสร้างที่ต่างกัน เพราะผู้กำกับหนังยุคก่อนกับยุคปัจจุบันเติบโตมาไม่เหมือนกัน อย่างเช่น
 
11.1 ผู้กำกับหนังไทยยุคเก่าหลายๆคนเติบโตมากับการอ่านนิยาย เพราะฉะนั้นพวกเขาก็เลยมักจะทำหนัง narrative ที่เน้นการเล่าเรื่องเหมือนนิยาย
 
11.2 ผู้กำกับหนังไทยยุคปัจจุบันไม่ได้เติบโตมากับการอ่านนิยาย แต่เติบโตมากับการอ่านการ์ตูน เพราะฉะนั้นหนังไทย mainstream หลายเรื่องจะมีลักษณะของการ์ตูน อย่างเช่นหนังของ GTH บางเรื่อง
 
11.3 ผู้กำกับหนังสั้นไทยหลายคนจริงๆแล้วเป็นนักดนตรีด้วย และส่วนใหญ่แล้วพวกเขามักจะทำดนตรีแบบหลอนๆหน่อย อย่างเช่นทศพล บุญสินสุข เพราะฉะนั้นหนังของพวกเขาจะไม่ได้เล่าเรื่องแบบนิยาย แต่จะมีลักษณะคล้ายๆดนตรี เราว่าหนังของผู้กำกับกลุ่มนี้น่าสนใจมาก เพราะ mood กับ tone ของผู้กำกับหนังกลุ่มนี้จะดีมากๆ เข้าทางเรามากๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดในหนังกลุ่มนี้ไม่ใช่เนื้อเรื่อง แต่เป็น “บรรยากาศ”, mood+tone
 
เราว่าหนังของผู้กำกับกลุ่มนี้จะมีลักษณะ lyrical คือมันจะอยู่กึ่งกลางระหว่างหนัง narrative กับหนัง poetic แบบหนังทดลอง
 
11.4 ผู้กำกับหนังฝรั่งหลายคนในยุคปัจจุบันน่าจะเติบโตมากับวิดีโอเกม เราว่าหนังอย่าง SPRING BREAKERS และหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่องก็มีลักษณะแบบวิดีโอเกมผสมอยู่ด้วยเหมือนกัน
 
สรุปว่าเราชอบ LIFE ON MARS มากพอสมควร แต่เราอาจจะไม่ใช่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลักของหนัง อย่างไรก็ดี เราคิดว่า LIFE ON MARS และ DARLING, MORNING, GOODNIGHT แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้กำกับหนังสองเรื่องนี้มีฝีมือจริง และมีความโดดเด่นเฉพาะตัว และถ้าหากเขากำกับหนังต่อไปเรื่อยๆ เขาก็น่าจะกลายเป็น auteur อีกคนของไทยอย่างแน่นอน