Saturday, August 02, 2014

LONG WAY HOME (Siroros Damjun, documentary, A+20)

 
LONG WAY HOME (Siroros Damjun, documentary, A+20)
 
เราแสดงความเห็นถึง “หล๊อบบ้าน” (LONG WAY HOME) ไว้ในวิดีโอที่คงจะมีการอัพโหลดในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้จ้ะ แต่เดี๋ยวเราเขียนไว้ในนี้ด้วยแล้วกัน เพราะเวลาเราพูดในวิดีโอ เราจะเรียบเรียงความคิดของตัวเองไม่ได้ดีเท่าไหร่
 
จริงๆแล้วเราไม่รู้ว่า “หล๊อบบ้าน” เป็นหนังดีหรือเปล่า แต่การที่เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆเพราะเราเอามันไปเปรียบเทียบกับหนัง fiction ไทยหลายๆเรื่อง คือหนังสารคดีเรื่องนี้มันมีสิ่งที่หนัง fiction ของไทยหลายๆเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวไม่มี นั่นก็คือ “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกหลายๆคนในครอบครัว”  และ “การดำรงอยู่ของตัวบุคคลเพื่อตัวบุคคลนั้นเอง แทนที่จะดำรงอยู่เพื่อรองรับธีมหนัง, หรือเพื่อเสริมตัวละครหลัก, หรือเพื่อ manipulate อารมณ์คนดู”
 
คือเวลาเราดูหนัง fiction ของไทย โดยเฉพาะหนังสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัว เราจะเจอปัญหาดังต่อไปนี้
 
1.หนังจะนำเสนอเฉพาะความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว กับตัวละครเอก โดยที่ตัวละครเอกจะเป็นแกนกลางมากๆ คือสมมุติตัวละครเอกชื่อเอ เราจะเห็นเฉพาะความสัมพันธ์ของเอกับบี, เอกับซี, เอกับดี, เอกับอี แต่จะไม่ค่อยเห็นความสัมพันธ์ของบีกับซี ซีกับดี บีกับอี ซีกับอี  ฯลฯ
 
แต่ใน LONG WAY HOME เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกคนต่างๆในครอบครัวตลอดเวลา เราก็เลยชอบจุดนี้มากๆ มันเหมือนกับว่าคนถ่ายหนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเกินไป
 
2.ใน LONG WAY HOME เราเห็นสมาชิกหลายๆคนในครอบครัว มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองน่ะ (แทนที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อรองรับธีมหนัง) คือเรารู้สึกว่าหลายฉากในหนังเรื่องนี้มันถ่ายทอดชีวิตคนอย่างที่เขาเป็น และในหลายๆครั้งเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าใครเป็นใครกันแน่ในครอบครัวนี้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ดี เพราะเราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องนี้ก็ได้
 
คือเวลาเราดู LONG WAY HOME เรารู้สึกว่า “มันมีอากาศไหลเวียน” อยู่ในหนังน่ะ ในขณะที่หนัง fiction เกี่ยวกับครอบครัวหลายๆเรื่องทำให้เรารู้สึก “อึดอัด” เหมือนกับว่าโลกที่อยู่ในหนังเรื่องนั้นเป็น “โลกที่ได้รับการจัดวาง ออกแบบมาอย่างดี แต่มีโดมแก้วครอบโลกนั้นไว้ จนทำให้เราที่อยู่ในโดมแก้วรู้สึกว่าขาดอากาศหายใจ”
 
คือเรารู้สึกว่าหลายๆฉากใน LONG WAY HOME มันเป็นเพียงแค่การถ่ายเสี้ยวเล็กๆในชีวิตคนในครอบครัวออกมา โดยไม่ได้รองรับธีมอันยิ่งใหญ่, ไม่ได้ต้องการนำเสนอประเด็นอันยิ่งใหญ่, ไม่ได้ต้องการสร้างความซาบซึ้ง, ไม่ได้ต้องการสั่งสอนผู้ชม เราก็เลยรู้สึกโอเคกับมันมากๆ เวลาเราดูฉากที่เป็นการถ่ายเสี้ยวชีวิตเล็กๆออกมาอย่างที่มันเป็น โดยไม่ได้รองรับอะไรแบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกปลอดโปร่งน่ะ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการถ่ายและฝีมือการตัดต่อด้วยนะ คือยิ่งถ่ายดีและตัดต่อเรียบเรียงเข้าด้วยกันได้อย่างดี มันก็จะยิ่งออกมาดีมาก
 
คือการถ่ายเสี้ยวชีวิตเล็กๆออกมาร้อยเรียงกัน โดยไม่ได้ต้องการบอกคนดูให้เชื่ออะไรหรือให้รู้สึกอะไรแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ และมันจะแตกต่างจากหนัง fiction หลายๆเรื่อง คือหนัง fiction หลายๆเรื่องมันทำให้เรารู้สึกอึดอัดเหมือนอยู่ใน “โลกอันสวยงามภายใต้โดมแก้ว” เพราะบางทีเรารู้สึกว่าบางฉากในหนังเรื่องนั้น หรือบางตัวละครในหนังเรื่องนั้น มัน “ดำรงอยู่” เพียงแค่เพื่อรองรับธีมเรื่อง, ประเด็นหลักของเรื่อง, ตัวละครหลักของเรื่อง หรือเพื่อ manipulate อารมณ์บางอย่างของคนดูเท่านั้น มันไม่ได้มีชีวิตอยู่แบบคนจริงๆ มันเป็นตัวละครที่ถูกคิดขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นเครื่องมือบางอย่างของผู้สร้างหนังเท่านั้น
 
ซึ่งสิ่งนี้จะไม่มีใน LONG WAY HOME คือเรารู้สึกว่าสมาชิกครอบครัวมากมายที่ปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้ มันมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง มันไม่ได้มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อรองรับอะไรข้างต้น
 
ปัญหานี้ไม่ได้มีแค่กับหนัง fiction นะ หนังสารคดีบางเรื่องก็เป็น คือหนังสารคดีบางเรื่องมันต้องการนำเสนอเพียงแค่ประเด็น “ความรักของปู่กับย่า” หรือ “อาการป่วยไข้ของแม่” เท่านั้น แล้วมันก็นำเสนอแต่ประเด็นนี้จริงๆ และมันก็ตัด “เสี้ยวชีวิตในด้านอื่นๆ” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักของหนังออกไปหมดเลย มันก็เลยกลายเป็นหนังที่ “ตรงประเด็น” แต่เวลาเราดูเราจะรู้สึกอึดอัดกับหนังประเภทนี้มากๆ
 
ในขณะเดียวกัน หนัง fiction บางเรื่องที่ผู้กำกับเก่งจริงๆ ก็จะทำให้เราไม่รู้สึกอึดอัด อย่างเช่นเรื่อง “มโนขณะ” (เอกลักษณ์ อนันตสมบูรณ์, A+30) เพราะหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่า เราได้เห็นเพียงแค่เสี้ยวชีวิตของสมาชิกครอบครัวในหนังเรื่องนี้เท่านั้น และมันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า สมาชิกครอบครัวในหนังเรื่องนี้ มันมี “ส่วนอื่นๆของชีวิตที่ไม่ได้ถูกเล่าในหนัง” ด้วย นั่นก็คือมันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าตัวละครในหนังเรื่องนี้มันเป็นเหมือนคนจริงๆ
 
หนัง fiction เรื่องอื่นๆที่เราว่าประสบความสำเร็จในการนำเสนอ “เสี้ยวชีวิตของสมาชิกครอบครัวที่เหมือนกับเป็นคนจริงๆ” ก็มีเช่นเรื่อง
 
1.KEEP IT QUIET (1999, Benoit Jacquot)
2.THOSE WHO LOVE ME CAN TAKE THE TRAIN (1998, Patrice Chereau)
3.A CHRISTMAS TALE (2008, Arnaud Desplechin) จริงๆแล้วเราไม่ได้ชอบหนังเรื่อง A CHRISTMAS TALE มากนัก แต่เราว่า Desplechin เก่งในการทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าตัวละครมันเป็นคนจริงๆ
 
(รูปจาก THOSE WHO LOVE ME CAN TAKE THE TRAIN)
 
 

No comments: