Saturday, November 23, 2019

OUR YOUTH IN TAIWAN

OUR YOUTH IN TAIWAN (2018, Fu Yue, Taiwan, documentary, A+30)

1.ชอบความบ้าผู้ชาย ของผู้กำกับหนังเรื่องนี้มากๆ เหมือนหนังเรื่องนี้ผสม "ความสนใจในการเมือง" เข้ากับ "ความเงี่ยนผู้ชาย" หนังมันก็เลยเข้าทางเราอย่างสุดๆ

2.ชอบที่หนังมันช่วยเตือนหนุ่มสาวที่เริ่มสนใจการเมืองว่า "อย่ายึดติดกับตัวบุคคล" แต่ให้เน้นที่อุดมการณ์ เพราะมนุษย์ทุกคนมันมีข้อเสียในตัวเองทั้งนั้น ถ้าเราไปยึดติดกับตัวบุคคลมากเพียงใด เราก็จะยิ่งผิดหวังมากเพียงนั้น

3.เรารับได้กับการที่หนังถ่ายทอดความฟูมฟายของตัวผู้กำกับออกมานะ เพราะเรารู้สึกว่า มันไม่ใช่หนังที่ "ผู้กำกับพยายาม manipulate ผู้ชมให้รู้สึกฟูมฟาย" แต่มันเป็น "หนังที่ผู้กำกับระบายความฟูมฟายในใจ" ออกมา ซึ่งเราจะรับอะไรแบบหลังได้ง่ายกว่า แต่จะไม่ค่อยชอบหนังแบบแรก

4. ดูแล้วแอบนึกถึง LOVE & LEARN (2007, Matchima Ungsriwong, Nat Aphipongcharoen, documentary) ในแง่หนังสารคดีที่กล้องตามถ่ายผู้ชายที่ผู้กำกับชอบเหมือนกัน (ถ้าจำไม่ผิดนะ)

5.อยากเป็นตุ๊กตาหมีที่ Chen Wei-ting นอนกอด :-)


THE TRIAL (2018, John Williams, Japan, A+30)
+ NEVER AGAIN เหยียบ ย่ำ ซ้ำ เดิน (2019, video installation, 27min)

ดูงานวิดีโอสารคดี NEVER AGAIN ได้ที่นี่
https://www.youtube.com/watch?v=D9jIg5ihOM8&fbclid=IwAR1K9fshKeSYvz95wEzppT2Qg0MXWjjjbvdGH9UV1wnUUo5L7i1YU_H6zMQ

1.ได้ดูหนังเรื่อง THE TRIAL ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ Franz Kafka ที่ Goethe เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว เราชอบหนังมากๆ หนังเล่าเรื่องของชายหนุ่มที่อยู่ดีๆก็ถูกดำเนินคดี และถูกรังควานจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างรุนแรง ทั้งๆที่เขาก็ไม่รู้ตัวว่าเขาทำอะไรผิด และคนรอบข้างก็มีท่าทีแปลกๆกับเขา ในขณะที่กระบวนการดำเนินคดีของรัฐ ก็เต็มไปด้วยอะไรที่พิลึกกึกกือ ขัดกับหลักเหตุผล

พอดูหนังจบแล้ว ผู้กำกับก็ได้รับฟังความเห็นจากชาวต่างชาติหลายคน ทั้งจากคนฝรั่งและคนญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มีคนไทยคนใดแสดงความเห็นในงานฉายหนังครั้งนี้ เราเองก็ไม่ได้แสดงความเห็นอะไรออกไป เพราะเราไม่ชอบพูดต่อหน้าสาธารณชน

แต่สิ่งที่เราคิดไว้ในใจก็คือว่า ถ้าหากเราได้ดูหนังเรื่องนี้เมื่อ 20-30 ปีก่อน เราคงรู้สึกว่าเหตุการณ์ในหนังมันพิสดารมากๆ เราอาจจะรู้สึกกับมันคล้ายๆกับตอนที่ดูหนังเรื่อง THE PHANTOM OF LIBERTY (1974, Luis Bunuel) และ THE DISCREET CHARM OF THE BOURGEOISIE (1972, Luis Bunuel) เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ที่เรารู้สึกว่า หนังสองเรื่องนี้มันโคตรจะพิสดารจริงๆ

แต่การได้มาดู THE TRIAL ในปีนี้ เราขอบอกตามตรงเลยว่า "เหตุการณ์ในหนัง มันเบากว่าความเป็นจริงในไทยมากๆ"

บางที อาจจะเป็นเพราะอะไรแบบนี้ด้วยกระมัง ที่ทำให้เราหันมาชอบหนังสารคดีเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะในหลายๆครั้ง เหตุการณ์ในหนังสารคดี มัน "รุนแรง" หรือ "พิสดาร" หรือ "ไร้เหตุผล" ยิ่งกว่าหนัง fiction หรือหนัง surreal หลายๆเรื่องไปแล้ว

2.ถ้าหากจะถามว่า ทำไม THE TRIAL ของ Franz Kafka จึง "เบา" หรือ "พิสดาร" น้อยกว่าเหตุการณ์ในไทย ก็ขอให้ดู video installation ในนิทรรศการ NEVER AGAIN ที่ WTF GALLERY ประกอบ หรือดูทางยูทูบก็ได้ แล้วก็จะรู้สึกเหมือนกับเราว่า คาฟก้ายังต้องไหว้ เมื่อเจอกับความเป็นจริงในประเทศไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

NEVER AGAIN เป็นสารคดีที่สัมภาษณ์คน 5 คน ซึ่งประกอบด้วย จ่านิว ในตอน "ส่องแสงหากลโกง" , ธีรวรรณ เจริญสุข ในตอน "ขันแดงแสลงใจ", วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ในตอน เลือกตั้งที่(รัก)ลัก, ประเวศ ประภานุกูล ในตอน ทนายสิทธิมนุษยชน และ ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ในตอน คดีประชามติบ้านโป่ง สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องเผชิญ บางทีมันอาจจะหนักกว่าใน THE TRIAL เสียอีก

หรือจะดูหนังอย่าง SASIWIMOL (2017, เรวดี งามลุน)
https://www.youtube.com/watch?v=X-rxU0k31FQ&fbclid=IwAR0ErTUvlLGegFUwTFmuQldmTWb0bLaeFLZTxrIqgbXaMba7BmqZ6SVfgdY

หรือ ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก (2017, จามร ศรเพชรนรินทร์) ประกอบด้วยก็ได้
https://www.youtube.com/watch?v=QAmkI-Q_1w0

---------
 นาฬิกาหมุดคณะราษฎร ในนิทรรศการ NEVER AGAIN อยากให้มีการผลิตนาฬิกาแบบนี้ออกขายเป็น mass products หรือทำเป็น application ในมือถือ แต่เพิ่ม functions ต่างๆขึ้นมาอีกอย่างน้อย  3 functions

1.บอกวันเดือนปีในปัจจุบัน

2. มีการนับว่า ตอนนี้ผ่านมานานกี่วัน กี่เดือน กี่ปีแล้ว จากวันที่ 24 มิ.ย. 1932

3.มี FUNCTION ที่นาฬิกาจะเดินหน้า ช่วงที่ไทยเป็นประชาธิปไตย แต่เดินถอยหลังเมื่อเป็นเผด็จการทหาร โดยนับตั้งแต่ 24 มิ.ย. 1932 เป็นต้นมา เราอยากรู้มากๆว่า ถ้าหากนับเวลาแบบนี้ ปัจจุบันนี้ประเทศไทยผ่านปี 1932 มานานแล้วกี่ปี หรือเวลาของไทยย้อนหลังไปสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19  แล้ว 555


No comments: